‘สุคิริน’ หม่องนี่…มีคนอีสาน #ขุมทรัพย์แห่งโต๊ะโมะ

ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ดินแดนสุดปลายด้ามขวาน แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ท่ามกลางพื้นที่ไข่แดงของเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้

แต่ที่นี่กลับมี “ชุมชนคนอีสาน” ที่ย้ายรกรากมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ที่ได้รับการจัดสรรให้ทำกินมากว่า 50 ปี สร้างชีวิตใหม่ให้กับหลายครอบครัว ส่งต่อมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน กลายเป็นสังคมใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีผู้คนต่างศาสนา ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

ไม่เพียงวิถีชีวิต รายได้เลี้ยงปากท้อง ที่แลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการทำสวนผลไม้ สวนยางพารา แต่ที่ ต.ภูเขาทอง ยังมีขุมทรัพย์ “แร่ทองคำ” ซ่อนตัวอยู่ในลำน้ำคลองโต๊ะโมะ แหล่งน้ำสายหลักของชุมชน ซึ่งเกิดจากกระบวนการทำเหมืองทองโต๊ะโมะในอดีต จนชาวบ้านได้หาอยู่ หากินกับการ “ร่อนทอง” เลี้ยงตัวเอง และครอบครัว มาจนทุกวันนี้


คลองโต๊ะโมะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี กั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย เป็นหนึ่งในต้นน้ำของ “แม่น้ำสายบุรี” แหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้
คลองโต๊ะโมะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี กั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย เป็นหนึ่งในต้นน้ำของ “แม่น้ำสายบุรี” แหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้
คลองโต๊โมะ กลายเป็นขุมทรัพย์ของชาวบ้านมายาวนาน เพราะที่นี่เต็มไปด้วย "แร่ทองคำ" ซึ่งเกิดจากกระบวนการถลุงแร่ของเหมืองโต๊ะโม เหมืองทองเก่าแก่ในอดีต
แทบทุกวันคลองโต๊ะโมะ มีชาวบ้านใน ต.ภูเขาทอง และพื้นที่ใกล้เคียง แวะเวียนมา “ร่อนทอง” ตลอดลำน้ำ
37 ปีเต็ม ที่ “บุญทัน อังคณา” ชาว จ.บุรีรัมย์ วัย 58 ปี ย้ายรกรากมาสร้างครอบครัว และทำมาหากินอยู่ที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคีริน จ.นราธิวาส แน่นอนว่า กรรมวิธีการร่อนทองในคลองโต๊ะโมะ คือสิ่งที่เธอได้รับการถ่ายทอด และเรียนรู้ มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน แล้วมาบุกเบิกทำกินในพื้นที่แห่งนี้
ในวัย 65 ปี “ประไพ ยอดแสงจันทร์” ชาว จ.อุบลราชธานี ยังคงคล่องแคล่วกับการลุยน้ำ ขุดดิน ขุดทรายในคลองขึ้นมาใส่ในกระทะร่อนทอง ที่บุญทัน ก้มหน้าก้มตา ร่อนหาทองอย่างตั้งใจ
ทุกวันหลังเสร็จภารกิจกรีดยางในสวนสองสามีภรรยา จะใช้เวลาค่อนวัน อยู่ในคลองโต๊โมะ ช่วยกันร่อนทอง นี่คืออีกช่องทางรายได้ที่อย่างน้อย ก็คุ้มค่ากับแรงกายที่ใช้ไป
เศษดินทราย เศษหิน ที่ถูกตักขึ้นมาจากก้นคลองโต๊ะโมะจำนวนมหาศาล แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเจอแร่ทองคำเสมอไป
รอบนี้ดินที่ถูกร่อนจนหลุดออกคืนสู่ท้องน้ำ เหลือไว้เพียงเศษสีเหลือง ๆ ที่มองยังไงก็ไม่ต่างจากเศษหิน แต่นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านทุกคนตามหา "แร่ทองคำ" ที่ปรากฎขึ้น ทำให้พวกเขายิ้มได้ แม้มีเพียงน้อยนิดก็ตาม บุญทัน บอกว่า ถ้าขยันอย่างน้อย ๆ ต้องมีค่ากับข้าวกลับเข้าบ้าน หรือถ้าวันไหนดวงดี ทองที่ร่อนได้อาจมีมูลค่าหลักพัน หลักหมื่น นี่จึงเป็นวิถีอาชีพที่ต้องลงแรง ใจเย็น และอดทน ที่สำคัญคือโชคต้องเข้าข้างด้วย
ครอบครัวนี้ก็ย้ายจากบุรีรัมย์ มาตั้งรกรากอยู่ที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน… 40 กว่าปี ที่ชีวิตผูกพันธ์กับลำคลองโต๊ะโมะ จากเด็กน้อยที่ติดตามพ่อแม่มา ตอนนี้พวกเขากลายเป็นมืออาชีพที่ร่อนทองได้ไม่แพ้ใคร
เพราะเลือกทำเลในคุ้งน้ำที่มีความลึก “พี่มิตร” จึงต้องใช้ “กระโบก” หรือ พลั่วด้ามยาว ขุดทรายจากก้นคลองโต๊โมะ มาร่อนหาทอง
กระโบกจากพี่มิตร ถูกส่งต่อให้กับ “พี่ต๊อก” น้องชาย ที่อาสาดำลงไปใต้น้ำ เพื่อช่วยการขุดดิน ขุดทรายในน้ำลึกทำได้ง่ายขึ้น โดยมีภรรยาคอยร่อนหาทอง
ใช้เวลาร่อนไม่นาน "แร่ทองคำ" ที่มาพร้อมกับเศษดินทรายในคลอง ก็เผยตัวตนสีเหลืออร่ามให้เห็น “พี่มิตร” บอกว่า ถึงตอนนี้ทองจะขึ้นเอาขึ้นเอา แต่ในธรรมชาติแบบนี้ ก็ไม่ได้หากันง่าย ๆ ซึ่งเทียบไม่ได้กับในอดีต
เศษแร่ทองคำที่ร่อนได้เพียงน้อยนิดในแต่ละครั้ง อย่างน้อยถ้าขยันหา ขยันร่อน เก็บรวบรวมไว้ทีละนิด 2-3 วัน ก็อาจเห็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับความเหนื่อยที่เสียไป
และนี่คือ "ทองคำ" ที่ได้จากวิถีของชาวบ้านที่ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ซึ่งธรรมชาติรังสรรค์ขุมทรัพย์ ไว้อยู่คู่กับพวกเขามาเนิ่นนาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น