มาตุ้ม มาโฮม : กลับมาเติมที่ว่างให้สมบูรณ์

คนแก่ดูแลเด็ก คือภาพชินตาที่เกิดขึ้นในชนบท โดยเฉพาะภาคอีสาน หนุ่มสาววัยแรงงานทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมือง การไม่มีที่ดินทำกิน รายได้ในชุมชนไม่มากพอที่จะขยับฐานะความเป็นอยู่ หรือส่งลูกเรียนได้ เป็นแรงผลักให้ต้องออกจากบ้านไปขายแรงงาน . หนึ่งในนั้นคือ “บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี” . ข้อมูลรายได้ต่อหัวของประชากร จากสภาพัฒน์ เมื่อปี 2562 ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้น - ภาคเหนือ 114,287 บาท คน/ปี - ภาคใต้ 153,659 บาท คน/ปี - ภาคตะวันออก 502,471 บาท คน/ปี - ภาคตะวันตก 163,129 บาท คน/ปี - ภาคกลาง 271,360 บาท คน/ปี - กรุงเทพฯ และปริมณฑล 474,004 บาท คน/ปี . ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ต่อหัว แค่ 86,171 บาท คน/ปี เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นคือ ต่ำที่สุดในประเทศไทย . ความเจริญทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัว เป็นแรงจูงใจที่ปฏิเสธไม่ได้ ประชากรหนุ่มสาววัยแรงงานภาคอีสานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทิ้งบ้านเกิด หิ้วกระเป๋าเดินทางเข้าไปขายแรงในเมืองใหญ่ เหลือเพียงผู้สูงอายุและเด็กอยู่ที่บ้าน เกิดช่องว่าง ที่เรียกว่า การแหว่งกลางของครอบครัว
“บ่มีไร่ บ่มีนา มีแต่อาชีพหาปลาอยู่บ้านเฮา จำเป็นที่เขาต้องไปทำการทำงาน อยากให้กลับมาอยู่ แต่ก็มาบ่ได้คือเก่า มันบ่มีแนวให้เฮ็ดอยู่บ้านเฮา” ชายวัย 60 เอ่ยถึง ลูกสาว ลูกชาย ที่จำต้องยอมออกจากบ้าน และฝากหลานไว้ให้เลี้ยง
.
การเฝ้ารอเพื่อพบกันอย่างพร้อมหน้าของครอบครัว มีเพียงช่วงวันหยุดยาวตามเทศกาล แต่การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้การเงินคนทางไกลติดขัดไปด้วย บางคนก็ไปอยู่ไกลถึงต่างประเทศ
.
ทุกครั้งที่คิดถึง ก็ทำได้เพียงพูดคุยผ่านออนไลน์ แม้ในใจจะอยากให้ลูก ๆ กลับมาอยู่ด้วยแค่ไหนก็ตาม
“มันบ่ได้มีอิหยังกว้างใหญ่คือในเมือง ถ้ารับจ้างในเมือง มันก็ได้หลายงานต่อเนื่อง บ้านเฮาก็บ้านน้อย ๆ จ้างกันแหน่ หากันแหน่ มันก็เลยบ่ได้เต็มที่ ก็เลยต้องไปเมืองกรุง”
.
.
'หมี' รับหน้าที่ดูแลลูก ๆ อยู่ที่บ้าน เพราะสามีของเธอไปเป็นกรรมกรอยู่ในเมืองกรุง หวังนำเงินกลับมาสร้างบ้านเป็นของตัวเอง และให้ลูก ๆ ได้เรียนตามที่ตั้งใจไว้
เงื่อนไขของครอบครัวเธอคือที่ดินทำกิน และหากจะรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่บ้าน งานที่มีก็อาจไม่ต่อเนื่อง บางครั้งเป็นงานคนรู้จักกัน ก็แทบไม่คิดค่าแรง
“มีลูก 4 คน ก็ไปกันหมดทุกคน เขาก็ส่งมาให้คนละ 500 - 600 บาท รวม ๆ กันแล้วเดือนหนึ่งก็พอได้ใช้ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดทุกอย่าง เขาก็บอกว่าเป็นหนี้เป็นสินอะไรหลายอย่าง ยายก็บ่รู้กับเขา”
.
.
‘มี ขยันการ’ หญิงสูงอายุบ้านตามุย เจ้าของประโยคข้างต้น เล่าให้เราฟังว่า เธออาศัยอยู่กับหลาน 2 คน เลี้ยงทั้งคู่มาตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่ของเด็ก ๆ ไปเป็นแรงงานในเมืองใหญ่
.
ส่วนเธอไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง พื้นที่ปลูกบ้านตอนนี้ก็เป็นเขตป่าสงวน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทางเลือกของเธอจึงมีไม่มากนัก ชีวิตที่ดิ้นรนจนแก่เฒ่า แต่ไม่เคยหลุดพ้นได้เลย แม้จะผ่านมาตลอดช่วงอายุของเธอแล้วก็ตาม ชีวิตหลังจากนี้เธอปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา แล้วแต่ฟ้าจะลิขิต
.
การที่หลานมีโอกาส ได้กิน ได้เล่น ได้เรียนอย่างคนอื่น คือสิ่งที่ “ยายมี” ปรารถนาให้เกิดกับหลานที่เธอรัก
บ้านหลายหลังในหมู่บ้านตามุย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จะถูกทยอยต่อเติมก็ต่อเมื่อมีเงินส่งเสียมาจากแดนไกล 
.
หากนับถอยหลัง ระหว่างบ้านที่ถูกก่อสร้างเสร็จสวยงาม กับครอบครัวที่ได้อยู่กันพร้อมหน้า และไม่ต้องต่อสู้กับความยากจนอีกต่อไป พวกเขาจะเลือกเส้นทางไหน?
“พ่อก็คิดบ่ออก ว่าต้องเฮ็ดจังได๋ ลูกที่ออกจากเฮือนไปเฮ็ดงาน สิได้กลับมาตุ้มโฮมกัน เพราะว่า ที่ดิน สวน ที่ไร่ ที่นา มันบ่มีเฮ็ดคือเขา ถ้ามาอยู่บ้าน เขาสิเฮ็ดหยัง”
.
.
'สุเทียน แก้วมี' อายุ 53 ปี ทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ปกติจะตระเวนทำงานไปตามต่างจังหวัด ความบังเอิญของบทสนทนานี้เกิดขึ้นได้ เพราะเขานำเงินที่ได้จากการทำงานก่อนหน้านี้ กลับมาต่อเติมบ้าน
'สุเทียน' เข้าไปขายแรงงานในเมืองกรุงตั้งแต่อายุ 16 ปี ดิ้นรนเอาแรงเข้าสู้งานหนัก เพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้มีความรู้ และโอกาส ที่จะไปทำงานในห้องแอร์
.
“ที่ สวน รั้ว อิหยังก็บ่มีนำเขา มีแต่ที่ปลูกเฮือน ก็ต้องไปเป็นกรรมกร พอฤดูเฮ็ดนาก็ เฮ็ดนา เฮ็ดนาแล้วก็ไปอีก ต้องดิ้นอยู่แบบนั้น ทุกมื้อก็เป็นแบบนั้น”
.
เขามีลูก 4 คน คนโตและคนรอง เรียนจบ ม.6 ก็ต้องไปทำงานที่อื่น เพราะการเงินขัดสนไม่สามารถส่งให้เรียนได้ตามที่ตั้งใจไว้ ส่วนอีก 2 คน กำลังเรียนมหาวิทยาลัย และมัธยม จึงต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งมาเป็นทุนให้กับลูก ๆ ได้เรียน
'แสงเพชร ตุ้มทอง' คู่ชีวิตของ 'สุเทียน แก้วมี' เขาสองคนร่วมกันสร้างและต่อเติมบ้านหลังนี้มานานกว่า 20 ปี หวังให้เป็นที่พักพิงของลูก ๆ เพียงอยากมีที่อาศัยมั่นคง
.
“ตอนนั้นแม่คิดแค่ว่า อยากมีบ้านสักหลังต้องเฮ็ดจังได๋?”
.
บ้านหลังนี้ เธอและสามีช่วยกันเลื่อยไม้และค่อย ๆ ช่วยกันสร้าง จนได้บ้านเป็นหลัง กระทั่งมีลูก เธอและสามีก็ช่วยกันต่อเติมขยาย
.
“จากบ้านไม้ กลายเป็นบ้านปูน”
.
แม้ตอนนี้ครอบครัวจะยังอยู่กันไม่ครบ แต่การสร้างบ้านรอการกลับมาของคนไกล ยังคงเดินไป ด้วยน้ำพักน้ำแรง และความหวัง ว่าสักวันจะต้องเป็นที่พักพิง ยามป่วยไข้และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก ๆ ได้
“คิดฮอดลูกทุกปี ยามเทศกาลก็อยากให้มา แต่บางครั้งลูกก็ยุ่ง ๆ มาบ่ได้ ก็บ่บังคับเขา”
“นับมื้อพ่อคือสิเฒ่าไปเรื่อย ๆ เบิดแฮง สิหารับจ้างแบบเก่าคือสิบ่มีคนจ้างดอก คนเฒ่า”
.
อายุที่มากขึ้น แรงกายที่ลดถอยแล้ว หากจะอาศัยการรับจ้างก็คงจะไม่ได้แล้ว เพราะคงไม่มีคนจ้าง ยิ่งเมื่อพูดถึงการมีเงินทองจนร่ำรวย 'สุเทียน' มองว่ามันเป็นไปได้เพียงความคิดเท่านั้น
.
“เว้าถึงความรวยมันก็ไกลเกิน ความอยากรวย อยากอยู่ อยากให้ลูกให้เต้าอยู่พร้อมหน้า บ่อยากให้ไปร่อนเร่รับจ้างต่างถิ่น ยามคิดฮอดมันก็ได้แต่โทร”
.
และในบั้นปลายสุดท้าย เขาปรารถนาให้ลูกได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้า ในบ้านที่เขาและภรรยา ร่วมกันสร้างด้วย 2 แรงคน และ 4 แรงใจ
หากจะมีบ้านสักหลังก็ต้องเอาแรงกายเข้าแลก คือภาพจำที่คุ้นเคยของแรงงานในอีสาน วัสดุอุปกรณ์ ที่กำลังก่อร่างสร้างบ้านเป็นหลัง ล้วนต้องแลกมากับการที่ลูกหลานของพวกเขาต้องออกจากบ้านเพื่อเก็บเงินส่งกลับมา การจำยอมต้องทิ้งลูกเล็ก ไปเป็นคนใช้แรงงานต่างถิ่น พวกเขาเหล่านี้ต้องดิ้นรนให้ได้มาซึ่งความมั่นคงชีวิต
.
หากทิศทางการพัฒนาประเทศสามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงได้มากขึ้น คนชนบทก็จะลดความเสี่ยง ไม่ต้องไปขายแรงงานในเมืองอย่างที่คนส่วนใหญ่เป็นในเวลานี้ และภาพปะของผู้คนที่หายไปก็อาจจะถูกเติมเต็ม เป็นภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น