180 วันอันตราย ระวังผิดกฎหมายเลือกตั้ง!

กกต. เตือน ผู้ลงสมัคร – พรรคการเมือง เตรียมนับถอยหลังหมดอายุสภาฯ อะไรทำได้ – ทำไม่ได้ พบข้อห้ามหาเสียงเพียบ เสี่ยงผิดทั้งจำทั้งปรับ

ผ่านเวลามาใกล้จะครบ 4 ปี สำหรับอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 23 กันยายน 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เวลาเปิดข้อกำหนด มาย้ำเตือนให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองได้รับทราบ เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องตามประกาศ เพราะหากพลาดทำผิดขึ้นมา อาจยุ่งถึงขั้นการเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หรืออาจลามไปเดือดร้อนพรรคการเมืองด้วย The Active รวบรวมข้อห้าม “การหาเสียงเลือกตั้ง” มาให้ทุกคนทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

180 วันก่อนครบอายุสภา หรืออาจนับก่อนหาก “ยุบสภา”

เนื่องจาก มาตรา 68 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เแทนราษฎร หรือ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. ได้กำหนดเอาไว้ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คณะกรรมการ กําหนดวิธีการหาเสียงเลือกต้ังให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว ให้มีผลภายในกําหนดเวลา ดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทําได้ ตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
  2. ในกรณีที่เป็นการเลือกต้ังทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้กระทําได้ตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตําแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
  3. ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้กระทําได้ตั้งแต่วันที่มีคําสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
  4. ในกรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่ คณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคํานึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม

สำหรับ “วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง” หากพิจารณาตาม พรป.เลือกตั้ง ส.ส. พบว่ามาตราที่อธิบายลักษณะการหาเสียงได้ใกล้เคียงที่สุด คือ มาตรา 73 ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
  2. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือ โดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
  3. ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
  4. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
  5. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด
  6. ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

นอกจากนี้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 80 ยังกำหนดให้ กกต. กําหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมืองเอาไว้ด้วย ซึ่งปรากฎในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 โดยระเบียบ กกต. ฉบับนี้ ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงไว้ในข้อ 17 และ 18 คือ

  • ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง 
  • ห้ามใช้ นักแสดง นักร้อง พิธีกร สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง
  • ห้ามแจกเอกสารด้วยการวาง หรือ โปรยในที่สาธารณะ
  • ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่ “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “หยาบคาย” หรือ “ปลุกระดม”
  • ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวณเงินได้ ให้แก่ผู้ใดตามงานประเพณีต่างๆ

ทั้งนี้ เมื่อ กกต. พบเห็น ให้สั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล และให้แจ้งคำสั่งให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหรือผู้ใดที่กระทำการไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยเร็ว หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหรือผู้ใดไม่แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด ถือเป็นการ “ฝ่าฝืน” ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 158 และ มาตรา 159)

ถือว่าใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยหากไม่มีการแก้ไขระเบียบ ข้อปฏิบัติออกมาเพิ่มเติม ข้อห้ามเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่นักการเมือง “พึงระวัง” เพราะ อาจกระทำในลักษณะที่ก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจน อาจเป็นต้นเหตุให้ถูกร้องเรียนให้มีความผิดได้ด้วย ซึ่งหากต้องพลาดท่าด้วยข้อกำหนดยิบย่อยหลายประเด็นเช่นนี้ อาจทำให้คนที่คาดหวังให้ท่านเข้าไปทำหน้าที่สำคัญในสภาต้องผิดหวังไปด้วยนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์