6 ชั่วโมง ของการอ่านคำพิพากษาคดีการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ กปปส. เมื่อปี 2556 – 2557 ด้วยข้อหาสำคัญ กบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ
แม้เป็นคำตัดสินของศาลชั้นต้น และยังมีสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา แต่กลับส่งผลทันทีต่ออนาคตทางการเมืองของ 5 ส.ส. และในจำนวนนี้ พ่วงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยถึง 3 คน
ลำพังแค่ใช้ สิทธิทางการเมือง ในการจัดชุมนุม ไม่ใช่เหตุผลที่นำมาสู่คำพิพากษาศาลอาญา เพราะการชุมนุมโดยสงบ แม้ตั้งเวทีปราศรัยหรือเคลื่อนขบวนเพื่อกดดันการทำงานของรัฐบาล ศาลเห็นว่า เป็นสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงไม่มีเจตนาความผิดฐานกบฏ แต่ศาลพิจารณาจากการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา ที่ต้องแยกการกระทำเฉพาะราย ส่งผลให้ทั้ง 39 คน ได้รับโทษแตกต่างกัน และใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานถึง 6 ชั่วโมง
“รูปแบบ” และ “วิธีการ” ที่เคลื่อนขบวนไปให้หน่วยงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการขัดขวาง ปิดกั้น และบังคับให้ข้าราชการหยุดงาน ศาลเห็นว่า เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนไม่สามารถติดต่อราชการได้ และข้าราชการเป็นกลไกรัฐ ไม่ได้รับใช้ ระบอบทักษิณ ตามที่ใช้เป็นเหตุผลในการชุมนุมทางการเมือง ทำให้พฤติการณ์ต่าง ๆ ผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จึงกระทบต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” และตั้งตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ด้วยพฤติการณ์ เช่น ยึดสถานที่ราชการ, ออกประกาศให้ข้าราชการเข้ารายงานตัว, ขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดิน ฯลฯ และที่สำคัญ การ “ขัดขวางการเลือกตั้ง” ลิดรอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้อื่น ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ
39 คน 9 ข้อหา 5 ผลลัพธ์ หลังศาลอ่านคำพิพากษา
สำหรับ 9 ข้อหา ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก รวม 39 คน ศาลพิพากษาจำเลยบนฐานความผิดใน 7 ข้อหา คือ
- ร่วมกันยุยงให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล
- ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ
- ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ
- ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้ใดผู้หนึ่งมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก
- ร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น
- ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
- ร่วมกันกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้
ขณะที่ ความผิดฐานกบฏ ศาลวินิจฉัยว่าไม่มีเจตนา ส่วน ความผิดฐานก่อการร้าย (สุเทพและชุมพล) ศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักที่จะลงโทษจำเลยตามความผิดดังกล่าวได้ เนื่องจากพฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร
ทั้ง 7 ฐานความผิด ครอบคลุมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคสอง, 206, 358, 365 (2) (3), 362, 364 ประกอบ 83, 86 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152
จำเลยในคดีนี้ มีทั้งหมด 39 คน 1 คน เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดี, โทษจำคุก 14 คน, โทษจำคุกและปรับ แต่รอลงอาญา 2 ปี 12 คน และศาลยกฟ้อง 12 คน โดยจำเลยที่ศาลให้รอการลงโทษนั้น เพราะเห็นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือแม้บางคนเป็นแกนนำ แต่กระทำความผิดน้อยกว่าบุคคลอื่น และไม่เคยปรากฎพฤติการณ์รุนแรง ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
ในจำนวนนี้ยัง ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 7 คน ส่งผลให้รัฐมนตรี 1 คน คือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ต้องหลุดจากตำแหน่ง “รมว.กระทรวงศึกษาธิการ” ส่วน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ถาวร เสนเนียม รมช.ว่าการกระทรวงคมนาคม แม้ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยทันที ส่วนสมาชิกภาพ ส.ส. ของทั้ง 3 รัฐมนตรีก็สิ้นสุดลงด้วย เพราะศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว เหลือเพียงขั้นตอนที่ กกต. จะต้องวินิจฉัยสมาชิกสภาพ และส่งเรื่องมายังสภาผู้แทนราษฎร
“ผมน้อมรับคำพิพากษา พรุ่งนี้ไปขนของออกจากระทรวงคมนาคม พร้อมลาพี่น้องข้าราชการ จากนั้นเขียนคำอุทธรณ์ศาลให้พิจารณาคำพิพากษา ด้วยความเคารพศาล แต่ไม่เห็นด้วย ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ยื่นได้ จะรีบคัดคำพิพากษามาใช้เขียนคำอุทธรณ์ หลังจากนี้ผมทำหน้าที่ ส.ส. ไม่น้อยอก น้อยใจ ยังมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชน ในบทบาทการเป็น ส.ส. ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ห่วงใยทุกคน”
ถาวร เสนเนียม กล่าวไว้ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษา แต่หลังจากนั้น เขาเป็น 1 ใน 8 จำเลย ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจากศาลชั้นต้น
อีก 2 ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งและต้องสิ้นสุดสมาชิกสภาพโดยทันทีเช่นกัน คือ ชุมพล จุลใส ส.ส.จังหวัดชุมพร เขต 1 และ อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ และบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 26 – 27 จักรพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ และ นราพัฒน์ แก้วทอง จ่อคิวขึ้นมาแทนที่ถาวรและอิสสระ เช่นเดียวกับ ยุทธนา โพธสุธน และ ต่อศักดิ์ อัศวเหม บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 21 – 22 ที่อาจขึ้นมาแทนณัฏฐพลและพุทธิพงษ์ ที่พ้นจากการเป็น ส.ส. ด้วย ทั้งนี้ มีตัวแปรสำคัญ คือ การคำนวณสัดส่วนคะแนนที่จะได้จากการเลือกตั้งซ่อมด้วย
ส่วนอีก 4 คน แม้ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมีประเด็นน่าสนใจว่า 1 ในนี้ คือ ทยา ทีปสุวรรณ ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ ว่าเธออาจลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”
39 จำเลย “กปปส.” ใครรับโทษแบบไหนบ้าง?
โทษจำคุก 20 เดือน – 9 ปี
- สุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี
- ชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี
- อิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- ถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี
- ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- สมศักดิ์ โกศัยสุข จำคุก 3 ปี
- สุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ) จำคุก 4 ปี 8 เดือน / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ จำคุก 4 ปี 16 เดือน / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- คมสัน ทองศิริ จำคุก 2 ปี
- สาวิทย์ แก้วหวาน จำคุก 2 ปี
- สุริยะใส กตะศิลา จำคุก 2 ปี
- สำราญ รอดเพชร จำคุก 2 ปี 16 เดือน / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- อมร อมรรัตนานนท์ จำคุก 20 เดือน
จำคุก ปรับ แต่รอลงอาญา 2 ปี
- วิทยา แก้วภราดัย จำคุก 1 ปี เเละปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- เอกนัฏ พร้อมพันธ์ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- อัญชะลี ไพรีรัก จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- ถนอม อ่อนเกตุพล จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- สาธิต เซกัลป์ จำคุก 2 ปี ปรับ 26,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- มั่นแม่น กะการดี จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- พิเชษฐ พัฒนโชติ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- กิตติชัย ใสสะอาด จำคุก 4 เดือน ปรับ 6,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี
- ทยา ทีปสุวรรณ จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี / เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ยกฟ้อง
- สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
- ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์
- รังสิมา รอดรัศมี
- แก้วสรร อติโพธิ
- ไพบูลย์ นิติตะวัน
- ถวิล เปลี่ยนศรี
- พลเอก ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์
- พิภพ ธงไชย
- สุริยันต์ ทองหนูเอียด
- พันตำรวจโท ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์
- สมบูรณ์ ทองบุราณ
- เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดี
- พลเอก ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ