คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง
- หนึ่งในข้อเสนอซึ่งเป็นประเด็นร่วมจากทุกพื้นที่ในโครงการวิจัยชุด “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” คือ การสร้างสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยุติธรรม เมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะ “คนจนเมือง” ที่มีมิติสัมพันธ์กันทั้งที่อยู่อาศัย ที่ประกอบอาชีพ และการกระจายอำนาจ
- คณะนักวิจัยยังชี้ว่า “เมือง” ต้องตระหนักศักดิ์ศรีของ “คนแบกเมือง” ซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจมากถึง 40 – 60% ของ GDP เพราะนอกจากจะเดินหน้าสู่เมืองยุติธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว นี่ยังจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย
- ภายหลังการนำเสนอการสรุปผลวิจัยในโครงการดังกล่าว เวทีสาธารณะ เปิดวงสนทนาร่วมกับ ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย พร้อมคณะนักวิจัย 5 ภูมิภาค ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึง รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน และ นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมแลกเปลี่ยนและหาข้อคำถามใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจ “คนจนเมือง”
ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย ระบุว่า ตลอดช่วงของการเก็บข้อมูลทำงานวิจัยร่วมกับทีมตลอด 2 ปี มี 5 ประเด็นสำคัญที่นักวิจัยได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย
- เข้าใจ “ความสลับซับซ้อน” ของ “คนจนเมือง”
- เข้าใจ “การด้นชีวิต” ของ คนจนเมือง ทั้งเก่าและใหม่
- ภาพลวงตาของการพัฒนาเมือง
- สังคมที่แยกส่วน
- การสร้างสรรค์ความเป็นธรรม : สิทธิการมีส่วนร่วมในเมือง
ประเด็นแรก (1) ความหลากหลายของคนจนเมือง ที่ประกอบไปด้วย คนสลัม ชุมชนเก่า คนจนรุ่นใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ คนต่างชาติ ฯลฯ ความหลากหลายเหล่านี้ กระจายอยู่ทุกภูมิภาค เราไม่สามารถเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “คนจนเมือง” เหมือนกันหมด เพราะมีความซับซ้อนอยู่ในนี้
นอกจากความหลากหลายแล้ว ยังมี สภาวะการไหลเลื่อน “เลื่อนเข้า เลื่อนออกระหว่างชนบท-เมือง ระหว่างเมือง-ชนบท” และช่วงหลังยังมีการเลื่อนไหลแบบข้ามชาติ ความหลากหลายและการไหลเลื่อนของคนจนเมือง จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ชุดโครงการวิจัยนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าต้องการจัดการกับสภาวะไหลเลื่อนของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ จะต้องคิดอย่างไร เพื่อให้เข้าใจคนจนเมืองที่สลับซับซ้อน
ประเด็นถัดมา คือ (2) ความเข้าใจการด้นชีวิตของคนจนเมืองเก่าและใหม่ หมายถึงการสร้างชีวิตบนฐานทักษะ ความสามารถที่ตัวเองมี และไหลเลื่อนไปตามจังหวะเงื่อนไขที่เปิดให้ เราจะพบว่า คนจนรุ่นเก่าสามารถขยับฐานะตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ในทุกภูมิภาค บนเงื่อนไขที่รัฐอาจจะไม่ได้รังแกมากนัก ขณะที่คนจนรุ่นใหม่ (หมายถึง ลูกหลานคนจนรุ่นเก่า) ด้านหนึ่ง แม้จะมีการศึกษามากขึ้น ก็ยังอยู่ในระดับคนใช้แรงงานหรือพนักงานบริษัทในระดับไม่สูงมากนัก
“การขยับเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะคนจน สามารถที่จะลดความยากจนได้”
ศ.อรรถจักร์ อธิบายเพิ่มเติมถึงการด้นชีวิต ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการว่า การด้นชีวิตของคนรุ่นเก่า ผลิตมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ร้อยละ 43.8 ของ GDP (อ้างอิงจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2547) และในปี 2557 ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินไว้ในงานวิจัยว่ามูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ของ GDP สิ่งนี้สะท้อนว่า ภาคการผลิตไม่เป็นทางการของคนจนเมือง เป็นส่วนสำคัญของ GDP อย่างยิ่ง โดยมวลรวมแล้วเป็นเหมือนหลักค้ำยันทางเศรษฐกิจเสาหนึ่งด้วยซ้ำไป และยังเป็นภาคการผลิตที่ผูกโยงอยู่กับเครือญาติอีกด้วย
(3) ภาพลวงตาการพัฒนาเมือง ในงานวิจัยเห็นภาพชัดว่าการมุ่งสร้างเมืองให้สวยงาม ถูกจริตชนชั้นกลางล้วนเป็นภาพมายา เพื่อให้คนส่วนใหญ่ชื่นชมกับความสวยงามของเมือง ทั้ง ๆ ที่ลึกลงไปแล้วซ่อนไว้ด้วยการแสวงหาผลกำไรและอื่น ๆ เมืองที่กำลังถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า เบียดขับคนจนออกจากการด้นชีวิต คนจนเริ่มหมดโอกาสที่จะประกอบอาชีพไม่เป็นทางการได้น้อยลง และเมืองแบบนี้ก็จะกีดกันคนชนชั้นกลางของเมือง ให้กลายเป็นแค่ผู้ชมความสวยงามของเมือง
(4) สังคมที่แยกส่วน ศ.อรรถจักร์ ย้ำว่า หากยังปล่อยให้เมืองเดินไปแบบนี้ก็จะยิ่งเห็นสังคมเมืองที่แยกส่วนกันมากขึ้น ชีวิตของพี่น้องคนจนเมืองฉีดขาดจากคนอื่น ไม่เหมือนกับชนชั้นกลางทั่วไป ทั้งการทำงาน การใช้เวลาว่าง รวมทั้งความคิด ความหวังในชีวิต การถูกแยกส่วนแบบนี้ทำให้ผู้คนไม่สามารถมองเห็นกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ความเดือดร้อนรำคาญระหว่างกันอาจจะปะทุเป็นความรุนแรงได้ หากปล่อยเมืองเดินไปโดยไม่เริ่มต้นจาก “การทำความเข้าใจคนจนเมือง” เรากำลังจะปล่อยให้เมืองกลายเป็น สังคมที่อันตรายมากขึ้น หรืออยู่ในสภาวะเสี่ยงตลอดเวลา
ส่วน (5) การสร้างสรรค์ความเป็นธรรม : สิทธิการมีส่วนร่วมในเมือง คนจนเมือง คือคนที่หล่อเลี้ยงเมือง หากตระหนักและเห็นความหมายของคนจนเมือง หากชนชั้นกลางมองเห็นและตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง เรามีโอกาสที่จะสร้างสังคมเมืองที่งดงามได้ กรอบคิดสำคัญคือ “เมืองสำหรับทุกคน ไม่ใช่กำไร” สิ่งที่เราต้องคิดคือ ไม่ใช่แค่ศึกษาว่า คนจนเมืองคืออะไร
ข้อเสนอเชิงนโยบาย จากงานวิจัยฯ
- ความมั่นคงชีวิต : จำเป็นต้องคิดเรื่องบ้านเช่า เช่าที่ดินส่วนราชการให้สลับซับซ้อนมากขึ้น คิดถึงความหลากหลายของกลุ่มคน เช่น รัฐอาจจะอุดหนุนผู้ให้เช่าเพื่อตอบสนองคนจนเมือง
- ที่ทำมาหากิน : พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นอกระบบ คือการเปิดโอกาสให้คนจนเมืองเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ภาคการผลิตไม่เป็นทางการได้ โดย ศ.อรรถจักร์ ย้ำว่าผู้ผลิตไม่เป็นทางการคือพลังสำคัญของสังคมไทย
- การกระจายอำนาจหลายมิติ : ต้องคิดซับซ้อนมากขึ้น เช่น อำนาจท้องถิ่นที่ต้องมากขึ้น เพื่อให้ผู้ไม่เคยมีเสียง ส่งเสียงได้ดังขึ้น
- สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ : เมืองยุติธรรม ควรจะเป็นหัวใจของทุกเมือง ถ้าผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ สามารถทำได้นำเสนอให้คนมองเห็นถึงความยุติธรรมในเขตเมือง
- ทบทวนกรอบความคิดการพัฒนาเมือง : เพื่อจัดความสัมพันธ์ของสังคมใหม่
- จัดความสัมพันธ์ใหม่กับคนจนเมืองที่เป็นแรงงานข้ามชาติ
- รัฐกับความช่วยเหลือที่ต้องมีนโยบายเสมอหน้า และการคัดออก
- ต้องศึกษาการด้นชีวิต ของ ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างชัดเจน
ข้อเสนอต่อคนจนทั่วประเทศ
ศ.อรรถจักร์ ระบุว่า พี่น้องคนจนต้องตระหนักว่า ความยากจนที่ประสบไม่ได้เกิดจากปัจเจกบุคคล แต่เกิดมาจากโครงสร้างที่กดทับให้กลายเป็นคนจนข้ามรุ่น “ความยากจนที่สืบทอดกันมาเป็นชนชั้น” การเปลี่ยนอัตลักษณ์ต้องตระหนักว่าเราเป็นคนแบกเมือง เลี้ยงเมือง เลี้ยงสังคม หากคิดแบบนี้จะทำให้เกิดเสียงมากขึ้น ต้องทำให้เกิด Voice of the voiceless และ Power of the powerless
นอกจากนี้ยังต้องขยายพรมแดนความเข้าใจเรื่อง ความเหลื่อมล้ำ ที่ทวีคูณมากขึ้น การแก้ปัญหาคนจนเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
กลุ่มเสี่ยงที่สุด คือ “แรงงานย้ายถิ่น”
นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ระบุเหตุผลการต่อสู้ดิ้นรนของคนจนที่ต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองที่ชัดเจนขึ้น เพราะนั่นคือแหล่งรายได้ ที่ทำมาหากินอยู่ในเมือง ประเด็นถัดมาคือต้นทุนชีวิตน้อย เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อย จากงานวิจัยจะเห็นได้ชัดว่า “ความยาวนานของการตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัยในเมือง สัมพันธ์กับโอกาสในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของคนจนเมือง” กลุ่มเสี่ยงมากที่สุด คือ แรงงานที่เข้ามาในเมือง ต้องมาเช่าห้องราคาถูก ไม่ใช่เฉพาะคนไทย มีทั้งชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ คนมาภายหลังยังน่าเป็นห่วงและงานวิจัยชุดนี้ทำให้ต้องคิดต่อว่าจะทำงานกับคนกลุ่มนี้ต่ออย่างไร
นพพรรณ ย้ำว่า งานวิจัยมีประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะทำให้คนจนเมืองเห็นความสำคัญของตัวเอง จากนิยาม “คนแบกเมือง” เพื่อทำให้เห็นว่าคนจนมีคุณค่าในเมือง และจะมีส่วนในการออกแบบเมือง และกำหนดชีวิตอย่างไร? การที่เราจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดชีวิตตัวเองว่าจะอยู่ในเมืองอย่างไร ต้องมีอำนาจในการกำหนดด้วย จะมีแผนการจัดการชีวิตและพื้นที่ความเป็นอยู่ของคนจนเมืองได้
คนจนมีหลายมิติ ต้องดูทุกมิติ เพราะสำคัญต่อการแก้ปัญหา
สมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน มองว่าการศึกษาครั้งนี้ ยังโฟกัสไปที่ โครงสร้างที่ทำให้เกิดคนจนน้อยไป เราต้องเข้าใจทั้งคนจนเมืองและความเป็นเมืองอย่างเป็นโครงสร้าง ถัดมาคือ การมองคนจนจำเป็นต้องมองหลายมิติ เช่น มิติโครงสร้างเชิงอำนาจ ฯลฯ ไม่ใช่จนจากมิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นำไปสู่การแก้ปัญหาที่หลายมิติเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของเมืองในบริบทเมืองที่ไม่ได้พูดถึงมิติที่ครอบคลุมทั้งด้านบวกและด้านลบ การเสนอนโยบาย เป็นข้อเสนอที่ง่ายเกินไป ถ้าคนจนอยู่ปัจเจกจะอ่อนแอ ระบบคนจนจำเป็นต้องมีระบบการคิดร่วมต่อรองร่วม ข้อเสนอที่อยู่อาศัยก็ยังจำเป็นต้องคิดร่วม ไม่คิดแยกส่วนเป็นเรื่อง ๆ นอกจากนี้ยังเสนอให้เสริมพลังคนระดับล่าง เข้าถึงการแก้ปัญหา และการพัฒนา ซึ่งเป็นทิศทางที่น่าสนใจ ทำให้เป็นระบบของแต่ละท้องถิ่นให้มากขึ้น
ต้องกำกับดูแลกลไกท้องถิ่น ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ. สกสว. ระบุว่า ปัญหาสำคัญของสังคมไทย คือ ทัศนคติและปัญหาเชิงระบบ จะทำอย่างไรให้งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า คนจน มีศักดิ์ศรีในตัวเอง ส่วนภาพเชิงระบบสังคมไทย ยังขาดการเมืองอย่างเชื่อมโยงเช่นกัน รศ.ปัทมาวดี ย้ำว่าผลงานวิจัยเหล่านี้จำเป็นต้องถูกนำไปเผยแพร่ ให้กับหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ร่วมกัน อย่างที่ผ่านมาก็มีทั้งข้อถกเถียงระหว่างคำว่า ยากจนและเหลื่อมล้ำแตกต่างกันหรือไม่ สกสว. พยายามทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมือน แต่เชื่อมโยงกัน สิ่งที่มองไปข้างหน้า คือ จะเพิ่มโอกาสและทางเลือกอย่างไรให้คนที่จะทำงานวิจัยต่อเป็นกรอบ และมองไปข้างหน้า การมุ่งสร้างศักยภาพเพิ่มทางเลือก
โดย รศ.ปัทมาวดี นำเสนอ Framework หรือกรอบงานที่มีเป้าหมายใช้องค์ความรู้ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขจัดความยากจน ลดความยากจนข้ามรุ่น หัวใจสำคัญของกรอบงานนี้คือ การตั้งคำถามถึงการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม ว่าจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
อีกปัญหาที่ท้าทาย คือ สังคมไทยจะสามารถพลิกวิกฤต กลับมาเป็นโอกาสได้แค่ไหน แต่ส่วนตัวยังค่อนข้างเชื่อว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ภาษีที่ดิน หรือการใช้กฎหมายต่าง ๆ สร้างโอกาสให้กับคนจนได้แค่ไหน มีตัวอย่างงานวิจัยเช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ฯลฯ ก็มีความก้าวหน้าในการแก้ไขเชิงโครงสร้างมากขึ้น โดยหยิบยกร่างแผนยุทธศาสตร์ยกระดับสังคม และสิ่งแวดล้อม วางกรอบเอาไว้เพื่อการขับเคลื่อนแก้ปัญหาในเชิงนโยบายแก้จนและเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้นในเวลานี้ ฯลฯ
เงื่อนไขการสร้างรูปธรรม สู่ นโยบายฯ
รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ระบุว่ารูปธรรมหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการแก้ความจนได้ โดยอธิบายว่า เราเห็นการสะสมทุนออมต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน เราก็เจอกรณีที่คนจนพาตัวเองเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐได้ ทั้งที่ตัวเองทำ หรือ ลูกหลานที่ทำงานในระบบสามารถเข้าถึงได้ แต่แบบนี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้
ทำอย่างไรที่จะมีช่องทางกลไกที่จะมีแหล่งทุนได้ หรือต่อยอดเพื่อการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และทำให้เรามั่นใจได้ว่า กลุ่มคนที่มีศักยภาพหรือแสวงหาชีวิตในเชิงยุทธศาสตร์มีความสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เขายังยกตัวอย่างกรณีแรงงานได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานแล้วออกมาหาทางเลือกในการประกอบอาชีพ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ทำให้เกิดวงจรหนี้สิน เพราะต้องซื้อรถจักรยานยนต์เพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งหากทำให้คนเหล่านี้เข้าถึง ก็จะสลัดความยากจนได้
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เพิ่มเติมว่า ข้อเสนอในงานวิจัย แนะให้รัฐอุดหนุนเงินแบบถ้วนหน้า ขณะที่ประเด็นการเคลื่อนไหว ต่อสู้ต่อรองก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น สอดคล้องกับ ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ที่มองว่า งานวิจัยมักจะเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ทำกันอยู่แล้ว และมองว่า ข้อเสนอจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ดั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย มี 2 สิ่งคู่กัน คือ วิชาการ กับการเคลื่อนไหวในพื้นที่
เขายกตัวอย่างการอุดหนุนผู้เช่า โดยมองว่า เป็นไปได้ยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ นโยบายนี้จะเกิดขึ้นได้ “ถ้ามีคนที่เป็นผู้เช่าเองร่วมขับเคลื่อน” ส่วนภาควิชาการ ตอนนี้ยังเป็นการเริ่มต้น และยังมีความรู้ทางวิชาการอีกมาก อย่างเรื่องการอุดหนุนให้เช่า หรือ Social housing หรือที่อยู่อาศัยเชิงสังคม ซึ่ไม่ได้อุดหนุนแค่ให้เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่อุดหนุนในรูปแบบของการเช่า เช่น รูปธรรมในสหรัฐอเมริกามีการแจกคูปองจ่ายส่วนต่างค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้กับคนจน หรือ ประเทศฝั่งตะวันออก อุดหนุนทางฝั่งเอกชนให้ทำห้องเช่าราคาถูก เป็นเรื่องระยะยาวที่จำเป็นต้องขยายผลเรื่องเหล่านี้ โดยมีผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อชีวิตของตัวเองที่ดีขึ้น
ผศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ เพิ่มเติมว่า การเร่งสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคนจนเมือง ต่อสู้-ต่อรอง ไม่รอเพียงกลไกรัฐ การให้ความรู้และสิทธิ์เป็นเรื่องที่ทำได้ในเร็ววัน
ผศ.ธนิต โตอดิเทพย์ กล่าวเสริมว่า เวลาคิดถึงการมีส่วนร่วมในเมือง หรือสิทธิต่าง ๆ ต้องวางอยู่บน ฐานประชาธิปไตย มองคนที่เท่ากันก่อน เราจะมองคนจนภายใต้ความสัมพันธ์แบบใหม่ที่มีสถานะภายใต้เมืองร่วมกัน การออกแบบกลไกรัฐ การเลือกตั้ง อย่างน้อยเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงกับประชาชน ผู้ปกครองในระดับท้องถิ่นจะต้องหันกลับมามองผู้คนในเมืองที่ใช้ชีวิตมากขึ้น นอกจากกลไกการเลือกตั้งไม่พอ ต้องมีกลไกการกระจายอำนาจแบบใหม่ที่เข้าใจคนจนเมือง เข้ามามีโอกาสแสดงความเห็น ตัดสินใจ ในพื้นที่ที่ศึกษาหลังการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้นำหันมาให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่มากขึ้น
ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ทิ้งท้ายว่า ลึกลงไปในหัวใจของนักวิจัยทุกคน คือ การสร้างสังคมเป็นธรรม ต่อไปอาจจะต้องมานั่งคิดว่าจะเชื่อมต่อเป็นสิ่งที่เราฝันและหวังอย่างไร สังคมไม่เป็นธรรม จะดำดิ่งสู่วิกฤตมากขึ้น
สรุปผลการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ทั้ง 5 พื้นที่ 5 ภูมิภาค
- อ่านเพิ่ม คนจนเมืองสงขลา ผันตัวเป็นผู้ประกอบการ ดีขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ แต่ชุมชนเช่า – บุกรุกที่ดินยังสูง