เมื่อเป็น “ผู้สูงวัย” เราจะได้อะไรจากรัฐบ้าง?

สิทธิพิเศษจากรัฐ หรือสิทธิที่ผู้สูงอายุควรได้?

สูงวัย รัฐบาล

“ผู้สูงอายุมีสิทธิมั้ยค้าบบบบ !!!”

คำถามนี้น่าจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุไทย อย่างน้อย ๆ ก็ 4.7 ล้านคน หรือร้อยละ 45 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อย่าเพิ่งหมดรีบหมดหวัง ลองดูก่อน เพราะคุณอาจไม่รู้ตัวว่ามีสิทธิได้รับการสนับสนุนอีกมากจากรัฐบาล

หากดูจากแผนนโยบายของ กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เมื่อถึงอายุ 60 ปี ประชาชนทุกคนมีสิทธิสวัสดิการ 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสงเคราะห์

แต่จะสามารถทำให้ “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุไทยได้จริงหรือไม่?

ด้านสุขภาพ เมื่ออายุครบ 60 ปี คุณจะได้รับบริการและดูแลสุขภาพ เช่น ช่องทางพิเศษในสถานพยาบาลของรัฐ มีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก บำบัด ฟื้นฟู และการดูแลในระยะท้าย รวมถึงการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

แต่ในสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น ศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาผู้สูงอายุล้นโรงพยาบาล เท่ากับว่า ช่องทางพิเศษสำหรับผู้สูงอายุไม่มีจริง นอกจากนี้ยังพบจุดบริการที่ต้องติดต่อหลายขั้นตอน หลายจุด ศ.วิพรรณ จึงเสนอว่า ควรมีระบบบริการเบ็ดเสร็จ พร้อมจัดที่นั่งเผื่อผู้ดูแล เนื่องจากผู้สูงอายุที่เดินทางมาโรงพยาบาลต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 1-2 คน ขณะที่การจัดการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ยังพบปัญหา “นักบริบาลผู้สูงอายุ” มีจำกัดโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่เห็นชัดในช่วงโควิด-19 จึงอาจทำให้การดูแลที่ต้องใกล้บ้าน-ใกล้ใจ ทำได้ไม่เต็มที่

ด้านสังคม ส่งเสริมการฝึกอาชีพ จ้างงาน ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือทางคดี ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัย รวมถึงกิจกรรมทางศาสนาและสังคม เช่น ชมรม ถ่ายทอดภูมิปัญญา ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ และจัดกิจกรรมท่องเที่ยว กีฬา นันทนาการ แต่เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ศ.วิพรรณ ชี้ประเด็นนี้ว่า การฝึกอาชีพให้กับคนในวัย 60 ปี หรือหลังเกษียณนั้นช้าเกินไป ควรจัดอบรมเปลี่ยนอาชีพในช่วง 50-60 ปี ที่สำคัญคือโอกาสในตลาดแรงงานทั้งการจ้างต่อเนื่อง และจ้างใหม่ ต้องให้คณะกรรมการผู้สูงอายุที่มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน ขอความร่วมมือภาคเอกชน

ด้านเศรษฐกิจ คุณสามารถรับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 600-1,000 บาท/เดือน แต่ “เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้พยายามผลักดัน ร่าง “พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ” ที่ระบุว่า ผู้สูงอายุต้องได้รับ 3,000 บาท/เดือน ตามเส้นความยากจนเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม โดยมีร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องถึง 5 ฉบับ แต่ที่ผ่านมากลับถูกนายกรัฐมนตรีตีตกหมด เหลือเพียงของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ถูกปรากฏการณ์ “สภาล่ม” เล่นงานไปเสียก่อน และยังไม่รู้จะถูกนำกลับมาพิจารณาอีกเมื่อไหร่

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายลดราคาค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ และบางสายการบิน ให้กับผู้สูงอายุ เฉพาะรถเมล์ชานต่ำที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ คนพิการ ทั่ว กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอยู่ประมาณ 489 คัน จากทั้งหมดราว 3,000 คัน ขณะที่รถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ MRT จำนวน 116 สถานี โดยการสำรวจของ The Visual พบว่ามีเพียง 10 สถานีเท่านั้น ที่มีลิฟต์ประจำจุดครบทุกทางออก ไม่มีลิฟต์ตามทางออกเลย 3 สถานี ไม่รวมต่างจังหวัด ที่ไม่มีรถไฟฟ้าและรถเมล์ชานต่ำ

ลดหย่อนภาษีบุตรที่เลี้ยงดูบิดา-มารดา 30,000 บาท/ผู้สูงอายุ 1 คน

กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ โดยให้คนละไม่เกิน 30,000 บาท รายกลุ่มไม่เกิน 5 คน ไม่เกิน 100,000 บาท ผ่อนชำระโดยไม่เสียดอกเบี้ยภายใน 3 ปี แต่มีเงื่อนไข เช่น สถานที่ประกอบอาชีพกับจังหวัดที่ยื่นกู้ต้องเป็นจังหวัดเดียวกัน และมีผู้ค้ำ

ด้านสิ่งแวดล้อม หากสังเกตตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุฯ รัฐบาลส่งเสริมให้ต้องสร้างลิฟต์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ที่อยู่อาศัย เราสามารถติดต่อกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อเข้าซ่อมแซมบ้าน ปรับสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสม ปลอดภัย แต่ย้ำว่าคุณต้องมีฐานะยากจนจริง ๆ นะ

ด้านสงเคราะห์ ยุคที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเป้าหมาย ภาครัฐเองก็ให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ถูกแสวงหาประโยชน์ รวมถึงผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรม โดยจัดหาสถานที่พัก ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3ครั้ง/คน/ปี หรือถ้ารู้ตัวว่าเมื่อสูงอายุจะมีฐานะยากจน ขาดผู้อุปการะ ฯลฯ มีศูนย์พัฒนาจัดการสวัสดิการสังคม เป็นที่พึ่งพิง และในกรณีที่เสียชีวิตมีเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพรายละ 3,000 บาท แต่ให้ เฉพาะผู้ที่เข้าเงื่อนไขตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น

นี่ยังไม่นับรวมสิทธิสวัสดิการจากกระทรวงอื่น ๆ ที่มีแนวทางการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ เพื่อรองรับ สังคมสูงวัยสมบูรณ์ โดยข้อเสนอจากภาคประชาสังคม คือ การสร้างความแข็งให้กับระบบดูแลผู้สูงอายุ 3 ด้าน คือ ที่อยู่อาศัย อาชีพ และสวัสดิการ

ที่สำคัญ ไม่ควรมีข้อจำกัด เงื่อนไข ให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญ คล้ายกับตัวหนังสือเล็ก ๆ ที่มักมีประกอบไว้ระหว่างการโฆษณา


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์