: เปิดข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย
หนึ่งในประเด็นร้อนต้นปี 2565 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ การเปิดสถิติเด็กเกิดใหม่ที่ลดต่ำเป็นประวัติการณ์ โดย ธันยวัต สมใจทวีพร นักนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่เผยแพร่ภาพกราฟจำนวนประชากรเกิดในประเทศไทยระหว่างปี 2536-2564 ที่มีลักษณะดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่เพียงแค่ 544,570 คนเท่านั้น ถือเป็นสถิติต่ำสุดในประวัติศาสตร์
นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วัน ประเด็นนี้กลายเป็นไวรัลที่สื่อหลายสำนักพยายามนำเสนอ และมีข้อมูลสถานการณ์ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
แนวโน้มเช่นนี้ รศ.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เกิดผลกระทบอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1) จำนวนประชากรลดลง ทำให้สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานกับประชากรจำนวนมาก เช่น สถานศึกษา ภาคอุตสาหกรรม จะเริ่มอยู่ในภาวะสูญเปล่า 2) ครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ผู้คนต้องการชีวิตโสดมากขึ้น 3) สังคมจะเปลี่ยนไปในแง่ที่ หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้นในรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมของคนเราจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้น
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว เช่น การขาดแคลนแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
ทำไมตัวเลขเด็กเกิดใหม่ จึงส่งผลสะเทือนต่อการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์? นั่นเพราะว่าครั้งหนึ่ง ประเทศไทยเคยมีความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่มาแล้วเช่นกัน แต่ครั้งนั้นคือการมี “เด็กเกิดใหม่” มากที่สุดนับล้านคน และเด็กคนแรกที่เกิดเมื่อปี 2506 จะกลายเป็นผู้สูงอายุในปี 2566 พร้อมกับคลื่นสึนามิประชากรสูงวัยที่จะมีผลต่อเนื่องไปอีกนาน
แล้วเวลานี้ ประเทศไทยเตรียมการรับมือเรื่องนี้อย่างไร แม้จะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นมาแล้ว
The Active ชวนทบทวนสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย พร้อมข้อเสนอยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย
ประชากรรุ่น “เกิดล้าน” เริ่มเป็นผู้สูงอายุ แต่เด็กเกิดใหม่ลดลงเป็นประวัติการณ์
ปี 2565 เป็นปีที่ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ เป็นผู้ให้นิยามการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) ว่า คือการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% หรือ มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
ประชากรสูงอายุในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากตัวเลขผู้สูงอายุเมื่อ 50 ปีก่อน มีไม่ถึง 2 ล้านคน แต่ในปี 2563 ผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 66.5 ล้านคน
นั่นเพราะว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ซึ่งเป็นสึนามิประชากรของประเทศไทย คนกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นประชากรสูงอายุกลุ่มใหญ่ และในปี 2566 ประชากรรุ่นเกิดล้านคนแรกจะกลายเป็นผู้สูงอายุ
จากการรวบรวมข้อมูลของ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ในปี 2508 จำนวนเกิดมากกว่าจำนวนตายถึง 4 เท่า แต่ความแตกต่างระหว่างจำนวนเกิดและตายเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ช่องว่างระหว่างจำนวนเกิดและตายที่แคบลงทุกที โดยเฉพาะในปี 2563 คนเกิดมากกว่าคนตายเพียง 85,930 คน เท่ากับว่ามีประชากรเพิ่มเพียงร้อยละ 0.12 ต่อปีเท่านั้น
ประชากรสูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า
จากการคาดการณ์โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ในปี 2583 ประชากรไทยจะมีจำนวนลดลงจาก 66.5 ล้านคน เหลือ 65.4 ล้านคน ส่วนเด็กอายุ 0-14 ปี ก็มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.9 เหลือร้อยละ 12.8 ส่วนวัยแรงงาน อายุระหว่าง 15-59 ปี ลดลงถึงร้อยละ 10
ในขณะที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.1 เป็นร้อยละ 31.4 ในปี 2583 เท่ากับว่าอีกเกือบ 20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 12 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน
ผู้สูงอายุมากกว่า 12% ต้องอยู่อาศัยเพียงลำพัง
ปรากฏการณ์ที่สะท้อนภาพได้ชัดเจนที่สุด เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ นอกจากสัดส่วนประชากรสูงอายุแล้ว ข่าวการพบผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง หรืออาศัยอยู่ด้วยกันเฉพาะผู้สูงอายุเองก็มีปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะเข้ามามีส่วนสำคัญทำให้การติดต่อระหว่างลูกหลานกับผู้สูงอายุทำได้ง่ายขึ้น บางครั้งอาจช่วยคลายความเหงาได้บ้าง เห็นได้จากรายงาน Thailand’s Older Persons and Their Well-being: An Update Based on the 2017 Survey of Older Persons in Thailand ที่พบว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ติดต่อกับลูกหลานน้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้งและไม่มีการโอนเงิน มีสัดส่วนลดลง จากร้อยละ 1.0 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 0.8 ในปี 2560 ขณะที่ ผู้สูงอายุที่ขาดการติดต่อกับลูกหลานและไม่มีการโอนเงินเลย อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เท่าเดิม
ส่วนผู้สูงอายุที่มีการโอนเงินให้น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท ก็มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 1.2 แต่ก็มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวชี้วัดการถูกทอดทิ้งอยู่ในระดับต่ำ คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับเด็ก ๆ หรือหลาน ๆ ในรูปแบบครอบครัวข้ามรุ่น เพราะผลสำรวจในปี 2554 พบว่า ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 มีลูกที่อาศัยอยู่คนละจังหวัด
การพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดแรงงานย้ายถิ่นเพื่อประกอบอาชีพ สิ่งนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากให้ผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง รายงานฉบับเดียวกันยังระบุอีกว่า ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือบางอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นทดแทนไม่ได้ด้วยการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี ที่ผ่านมาจึงเริ่มมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การมีผู้จัดการเพื่อดูแลความต้องการของผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ฝึกอบรม และจ้างคนในชุมชนมาดูแล หรือเป็นผู้จัดการผู้สูงอายุ
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563 ระบุว่า จากทั้งหมด 21.9 ล้านครัวเรือน มีถึง 1.3 ล้านครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพัง “คนเดียว” ขณะที่อีก 1.4 ล้านครัวเรือน มีเฉพาะผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยไม่มีคนวัยอื่นอาศัยอยู่ในบ้าน นั่นหมายความว่า มากกว่าร้อยละ 12 ที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่อย่างลำพัง ส่วนอีกร้อยละ 42.6 หรือราว 9.3 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่
ยังไม่นับว่าแนวโน้มของอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ จะยิ่งทำให้ภาพของผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยว เด่นชัดมากขึ้น
ผู้สูงอายุมีแนวโน้มไม่มีผู้ดูแลในช่วงท้ายของชีวิต
ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงเปิดข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทยว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มไม่มีผู้ดูแลในช่วงท้ายของชีวิตมากขึ้น หากดูจากตัวเลขผู้สูงอายุที่เป็นโสดในปัจจุบัน จะพบว่ามีถึงร้อยละ 5 ในขณะที่อนาคตมีแนวโน้มประชาชนจะครองโสดถาวร ไม่มีบุตร หรือหากมีก็มีน้อยลง
สิ่งเหล่านี้ สอดคล้องกับการศึกษาการกระจายสถานภาพการสมรสตามอายุ เพศ และเขตที่อยู่อาศัย เมื่อปี 2560 ที่พบว่าในเวลานั้น แม้ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่เป็นโสดจะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 แต่หากถอยหลังกลับไปดูประชากรอายุระหว่าง 50-59 ปี เป็นโสดถึงร้อยละ 6.8 ยังไม่นับว่าการสำรวจดังกล่าวแสดงผลบางประการที่มีนัยสำคัญ คือ ยิ่งอายุมากขึ้น แนวโน้มในการอาศัยลำพังยังมีมากขึ้น จากปัจจัยการแยกทางกับคู่สมรส คู่สมรสเสียชีวิต และพวกเขามักจะไม่มีคู่สมรสใหม่เมื่อเป็นผู้สูงอายุ
สูงวัย เปราะบาง : สำรวจ 6 กลุ่มประชากรสูงอายุ แนวโน้มเพิ่มขึ้น – มีความซับซ้อน
หากพูดถึงผู้สูงอายุ เราอาจจะนึกถึงคนที่อายุมากกว่า 60 ขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจเริ่มเห็นแล้วในปัจจุบัน คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางและมีความจำเป็นได้รับการดูแลมากกว่าเบี้ยยังชีพ โดยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มเฉพาะ ตามความความเปราะบาง 6 ด้านด้วยกัน
1. ผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง แบ่งเป็น ผู้สูงอายุที่มีความพิการและทุพพลภาพ โดยในปี 2557 มีอยู่ 6 แสนคน และจะเพิ่มเป็น 1.6 ล้านคน ในปี 2593 หรือในอีก 28 ปีข้างหน้า และ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงในปี 2563 แต่ผู้ป่วยทางสมอง 1 คน ส่งผลต่อทั้งครอบครัวที่ต้องทุ่มทั้งเงินและเวลาในการดูแล
2. ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง หากเทียบเป็นสัดส่วนต่อประชากรผู้สูงอายุ ลดลงจาก 1.0 % ในปี 2550 เป็น 0.8 % ในปี 2560 แต่ถ้าดูจากจำนวนประชากรจะเห็นว่า ตัวเลขผู้สูงอายุที่ขาดการติดต่อจากบุตรหรือไม่ได้รับการส่งเสีย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 7 หมื่นคน เป็น 1.3 แสนคน นั่นเพราะตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคน ในเวลา 10 ปี
3. ผู้สูงอายุไร้บ้าน อ้างอิงจากการสำรวจในกรุงเทพฯ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ปี 2559 มีประมาณ 270 คน นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ในช่วงหลังอายุ 50 ปี ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลให้ไม่มีเงินที่จะเช่าบ้านหรือจ่ายค่าที่พักอาศัย
4. ผู้สูงอายุกลุ่มคนไทยไร้สิทธิหรือมีปัญหาสถานะบุคคล ในปี 2563 มีอยู่ประมาณ 82 คน ที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่คนไทยพึงได้รับ โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพ
5. ผู้สูงอายุและผู้ใกล้สูงอายุที่ย้ายถิ่นย้อนกลับ จะเห็นได้ชัดมากช่วงโควิด-19 มีการย้ายถิ่นกลับของกลุ่มวัยแรงงานก่อนเกษียณ และกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งผลให้การเตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัยในชนบททวีความสำคัญยิ่งขึ้น
6. ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ อ้างอิงจาก LGBT Capital 2020 ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ถึง 1.2 ล้านคน โดยในต่างประเทศพบปัญหาสำคัญในกลุ่มนี้ คือ มีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคติดต่อ และโรคเรื้อรัง รวมทั้งมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ดื่มสุรา สูบบหรี่ มากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป รวมถึงปัจจัยที่ไม่ได้รับการเกื้อหนุนดูแลจากครอบครัว ถูกกีดกันและการคุกคาม แม้จะเข้าไปในสถานดูแลแล้วก็ตาม
โจทย์สำคัญก็คือ 1 คน สามารถที่จะมีปัญหามากกว่า 1 ด้าน ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ พื้นที่หลังจากนี้
ข้อเสนอยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย ระยะสั้น
แม้จะพบปัจจัยใหม่อย่างผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะ และประเด็นอุบัติใหม่จากประสบการณ์ต่างประเทศ แต่อีกด้านก็ถือเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุของไทยภายใต้ข้อเสนอยุทธศาสตร์ 3 ระยะ
ระยะสั้น นำข้อเสนอจากนักวิชาการ เสนอต่อทางคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อเป็นปัจจัยนำเข้าสู่แผนปฏิบัติการผู้สูงอายุระยะที่ 3 อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการเร่งรัด เตรียมการรองรับประชากรสูงวัยในอนาคต ทั้งในเชิงนโยบายของหลักประกันรายได้ยามชรามาเป็นตัวขับเคลื่อน มองเป้าหมายผู้สูงอายุไทยในอนาคตมีหลักประกันความมั่นคงในลักษณะใด
รวมถึงใช้โอกาสหลังการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สังคายนาบทบาทหน้าที่ของ อปท.ให้ชัดเจน ในการผลิตชุดองค์ความรู้ และทิศทางที่ควรจะก้าวต่อไปเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้เนื่องจากเป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่ใกล้ชิดผู้สูงอายุมากที่สุด
ข้อเสนอยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย ระยะกลาง
ระยะกลาง สนับสนุนให้มีการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุในกลุ่มเฉพาะเนื่องจากยังขาดงานวิจัยในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลเสนอเชิงนโยบาย
เตรียมความพร้อม อปท.ในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ใกล้สูงอายุ ที่จะย้ายถิ่นกลับเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม ขาดคนดูแล รวมถึงผลักดันให้เกิดการบูรณาการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี มีกลไกติดตามความก้าวหน้างานผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดเป็นวาระที่ต้องยึดถือในชุดบริหารอื่น ๆ ต่อไป
ข้อเสนอยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย ระยะยาว
ระยะยาว ผลักดันให้มีการรวบรวมเก็บข้อมูลในทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรแต่ละช่วงวัยได้เหมาะสม ส่งเสริมงานวิจัยแบบสหวิทยาการเพื่อตอบสนองแบบแผนโรคและปัญหาสุขภาพที่คาดว่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้น
ที่สำคัญ ประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนผู้สูงอายุหลายฉบับ ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สามารถติดตามความก้าวหน้า เช่น แผนแม่บทแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สามารถมองเห็นภาพรวม ในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุทั้งจากรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาช่วยเสริมพลัง
อ้างอิง
- รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการการทบทวน สังเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา และคณะ
- รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
- Thailand’s Older Persons and Their Well-being: An Update Based on the 2017 Survey of Older Persons in Thailand
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- พบหลาย อปท. ไม่มีงบฯ เตรียมรับสังคมสูงวัย เหตุไม่ใช่ภารกิจ หวั่นถูกตรวจสอบ
- “อนาคตสังคมผู้สูงอายุไทย ก้าวต่อไปอย่างไรบนความท้าทาย”