“คดีการเมือง” ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีความพยายามนิรโทษกรรมคดีการเมืองหลายต่อหลายครั้ง เพื่อเยียวยาหรือชดใช้ผู้ได้รับผลกระทบทางกฎหมายและทางการเมือง

ยุค พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ปรากฏ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521” ซึ่งนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงผู้ที่ทำร้ายหรือฆ่ากลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

หรือยุค พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มี “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532”

กระทั่งรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีความพยายามผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย แต่ความพยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในครั้งนั้น นำมาซึ่งความเห็นต่างและวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเนื่อง กระทั่งการรัฐประหารในปี 2557

การนิยามว่าคดีใดบ้างที่เป็นคดีการเมืองและคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ยังคงเป็นที่ถกเถียงในสังคม ตามความเห็นของ รศ.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การนิยามว่าคดีใดบ้างเป็นคดีการเมือง ต้องดูในร่างกฎหมายที่ผ่านสภาฯ

ความหมายของคดีการเมือง ต้องดูคำนิยามในร่างกฎหมาย ว่ากำหนดกรอบไว้ว่าอย่างไร เป็นประเภทคดีแบบไหนหรือช่วงเวลาช่วงใด หากกรณีไหนมีปัญหา ก็จะมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะสมาชิกของสภาฯ เป็นคนตัดสินใจว่าคดีนี้ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน

ปัจจุบันมีความพยายามเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผ่านการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษ⁠กรรมทั้งหมด 4 ฉบับ มีที่มาครอบคลุมทั้งจากภาคประชาชน รัฐบาล และฝ่ายค้าน

หนึ่งในฉบับที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ⁠กรรมประชาชน โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ต้องอาศัยรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสัญชาติไทย และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

สาระสำคัญของร่างฯ ดังกล่าว คือ นิรโทษกรรมให้ทุกข้อหาที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง โดยนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดจากคดีดังต่อไปนี้

  1. คดีตามประกาศและคำสั่ง คสช. และ คำสั่งหัวหน้า คสช.
  2. คดีพลเรือนในศาลทหาร (ตามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557)
  3. คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
  4. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  5. คดี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
  6. คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อ 1-5

สาระสำคัญในร่างฯ ยังระบุอีกว่า เป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกฝักฝ่าย ไม่แบ่งแยกว่าเป็นสีใด ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ คปค. หรือ คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นไป จนถึงวันที่กฎหมายบังคับใช้ โดยจะไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม และผู้ก่อกบฏทำรัฐประหาร

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนทั้งหมด 20 คน ทำหน้าที่วินิจฉัยเพิ่มเติมว่า มีคดีใดอีกบ้างที่เกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและควรได้รับการนิรโทษกรรม

คดีการเมือง

The Active ชวนย้อนดูที่มา การบังคับใช้ และข้อสังเกตของคดีที่จะถูกนิรโทษกรรมทันทีในร่างฉบับประชาชนนี้ ว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นคดีการเมืองอย่างไร และมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรบ้าง

1. คดีตามประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.

เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนสำเร็จ มีการใช้อำนาจออกคำสั่งและประกาศในนามผู้ถืออำนาจการปกครองสูงสุด (หรือเรียกว่า รัฏฐาธิปัตย์)

ซึ่งการนิรโทษกรรมประชาชนดังกล่าว ครอบคลุมทั้ง 3 ประเภทของประกาศและคำสั่ง ซึ่งแตกต่างกัน ดังนี้

  • ประกาศ คสช. – ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นการทั่วไป ใช้บังคับแก่ประชาชนได้ทุกคนในราชอาณาจักร เช่น การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550
  • คำสั่ง คสช. – ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นการเฉพาะ ที่ออกมาเพื่อบังคับใช้กับบุคคลบางคนเท่านั้น เช่น ให้บุคคลมารายงานตัวต่อ คสช.
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. – อาศัยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่ให้อำนาจแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ก็ได้

คสช. ออกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. มาบังคับใช้กับประชาชน แม้ว่าในทางเนื้อหาจะขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่คำสั่งเหล่านี้ก็ล้วนถูกรับรองให้ชอบด้วยกฎหมาย และยกเว้นการรับผิดในยุค คสช.

นอกจากนี้ การใช้ ม.44 ในยุคของ คสช. เน้นไปที่อำนาจนิติบัญญัติ (ออกกฎหมาย) เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคืออำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการที่แทบไม่ได้มีการใช้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจพิเศษอื่น ๆ ในอดีต เช่น ม.17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร และสัญญา ธรรมศักดิ์ หรือ ม.21 ในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร รวมถึง ม.27 ในสมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่จะเน้นใช้อำนาจตุลาการลงโทษคนที่เป็นภัยต่อรัฐหรือความมั่นคงมากกว่าใช้อำนาจอื่น ๆ

2. คดีพลเรือนในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557

ปรากฏในประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 เป็นการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนในความผิด 3 ประเภท ได้แก่

  • ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ (กฎหมายอาญา ม.107 – 112 ส่วนใหญ่คือคดี ม.112)
  • ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ม.113 – 118 ส่วนใหญ่คือคดี ม.116)
  • ความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.

และให้ความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับ 3 ประเภทข้างต้นขึ้นศาลทหารด้วย

ถึงแม้จะมีคำสั่งยุติการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน ตั้งแต่ 12 ก.ย. 2559 แต่คดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นก่อนหน้า (ตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2557 ถึงก่อนวันที่ยกเลิก 11 ก.ย. 2559) ยังคงถูกพิจารณาในศาลทหารเหมือนเดิม

การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นหนึ่งในรูปแบบการปราบปรามทางการเมืองของ คสช. ถือเป็นการใช้อำนาจทหารแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ คดีที่อยู่ในศาลทหารจะมีลักษณะยืดเยื้อยาวนานซึ่งส่งผลต่อสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกฟ้อง โดยข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ ระบุว่า มีการดำเนินคดีกับพลเรือนถึง 2,408 คน ใน 1,886 คดี ในช่วงระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557 – 11 ก.ย. 2559

3. คดีมาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ)

หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ปรากฏครั้งแรกแบบเป็นลายลักษณ์อักษร สมัยรัชกาลที่ 1 ในกฎหมายตราสามดวง มีการเปลี่ยนหมวดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวมาไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร (ความผิดร้ายแรง เป็นอาญาแผ่นดินยอมความไม่ได้) ในปี 2499 ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับฐานะประมุขของรัฐมากขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีการอัตราเพิ่มโทษโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (จำคุก 3-15 ปี) ในปี 2519 และถูกใช้ยาวนานมาถึงปัจจุบัน

ข้อหา ม.112 กลายมาเป็นอาวุธทางการเมือง มีการใช้ในช่วง 3 ช่วงหลัก ๆ ได้แก่

  • ยุคการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (ช่วงปี 2549 – 2557) มีผู้ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 36 ราย
  • ยุค คสช. (ช่วงปี 2557 – 2561) มีผู้ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 98 ราย
  • ยุคการชุมนุมของกลุ่มราษฎรและกลุ่มอื่น ๆ (ปี 2563 เป็นต้นไป) มีผู้ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 263 ราย (ข้อมูลจากศูนย์ทนายความฯ เมื่อ 5 ก.พ. 2567)

ช่วงเวลาดังกล่าวอาจเห็นได้ว่า มีการงดใช้ ม.112 ในช่วงปี 2561 (ซึ่งงดใช้เพียง ม.112 เท่านั้น เพราะยังมีการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ในการดำเนินคดีทางการเมือง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ ม.116) โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า “ในหลวงทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้ ม.112” และมีการนำกลับมาใช้อีกครั้ง หลังการให้สัมภาษณ์ของพลเอก ประยุทธ์ ในวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่า “ยืนยันใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีผู้ชุมนุม” ทำให้ ม.112 ถูกใช้ในการดำเนินคดีผู้ชุมนุมสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กฎหมายดังกล่าวยังง่ายต่อการนำมาใช้ในการดำเนินคดีทางการเมือง เนื่องจากปัญหาเรื่องการเปิดช่องทางให้ใครเป็นผู้ฟ้องร้องก็ได้ มีอัตราโทษที่สูง สามารถตีความได้กว้างขวาง ขอบเขตไม่ชัดเจน ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ตัวอย่างเช่น กรณี “บัสบาส – มงคล ถิระโคตร” ถูกพิพากษาโทษจำคุกรวม 50 ปี จากการจากการโพสต์เฟซบุ๊ก นับเป็นคดี ม.112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

แม้มีความพยายามในการแก้ไข ม.112 หลายครั้ง เช่น ในปี 2555 คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 (ครก.112) ยื่นรายชื่อประชาชนรวม 26,968 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข ม. 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ก่อนที่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น มีคำสั่งไม่รับพิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอแก้ไข หรือในปี 2566 ที่ปรากฏนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าจะแก้ไข ม.112 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายนี้แต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่า ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในฉบับต่าง ๆ มีจุดขัดแย้งหลักอยู่ที่ ม.112 นี้ โดยร่างของฝ่ายรัฐบาลทั้ง 2 ฉบับ (จากพรรครวมไทยสร้างชาติและครูไทยเพื่อประชาชน) กล่าวอย่างชัดเจนว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมคดี ม.112 อย่างเด็ดขาด

4. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

หรือชื่อเต็มคือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ปรากฏใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 เป็นครั้งแรก จากนั้นถูกยกเลิกและปรับแก้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ จึงมีการตรา พ.ร.ก.การบริหารราชการแแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้นและบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ และถูกใช้ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

แม้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จะอ้างว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีแกนนำและประชาชนที่มาร่วมชุมนุม แม้ว่าบางช่วงรัฐจะเปิดให้มีการจัดกิจกรรมได้ตามปกติ หรือกิจกรรมการชุมนุมจะเป็นในรูปแบบที่ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ (เช่น คาร์ม็อบ) ก็ตาม

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวยังรวมไปถึงการนิรโทษกรรมคดีการเมืองอันเนื่องมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย (แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด)

5. พ.ร.บ.ประชามติร่างรธน. 2559

หรือชื่อเต็มคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยมาตราที่ถูกมองว่ามีปัญหาคือ ม. 61

ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ขณะที่วรรค 3 กำหนดโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกิน 5 ปี

รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในกรณีรณรงค์ให้โหวตไม่รับร่าง (Vote NO)

ตัวอย่างเช่น กรณีของ ชูวงษ์ มณีกุล ทนายความและแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจังหวัดระบี่ ถูกแจ้งความดำเนินคดีผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 ชูวงษ์ ได้โพสต์ข้อความ “จะไปลงประชามติ แต่จะไม่รับร่างประชามติ ฉบับโจรปล้นชาติ” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

นอกจากนี้ คำว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “ปลุกระดม” “ข่มขู่” ล้วนแต่เป็นคำที่กว้างและคลุมเครือ รวมถึงโทษสูงสุด 10 ปี ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความเห็น บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเงียบงัน และมีการมองว่าทำให้ผลการทำประชามติไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง

การนำเสนอร่างนิรโทษกรรมประชาชนนี้ จึงเป็นเพียงประตูบานแรกของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงคดีจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหาในอนาคต (เพราะการนิรโทษกรรมจะนิรโทษคดีถึงวันที่กฎหมายถูกบังคับใช้เท่านั้น) การนิรโทษกรรมนี้จึงเป็นการเยียวยาในเบื้องต้น และเป็นก้าวแรกของหนทางอีกยาวไกลในการสร้างความยุติธรรมให้กับคดีความอื่น ๆ และแก้ไขกฎหมายที่ยังมีปัญหาในอนาคต

การนิรโทษกรรมเป็นการยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมหรือนิติรัฐในอดีตมีปัญหา เราต้องกลับมามองว่าปัจจุบันปัญหานั้นยังมีอยู่ไหม ซึ่งคำตอบคือยังมีอยู่ และต้นตอที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีอยู่ ก็จะมีความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำเพื่อให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่ คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด