คำต่อคำ ‘รศ.อนุชาติ’ ตอบข้อห่วงใย ‘พล.อ. ประยุทธ์’ จับตา “สาธิตธรรมศาสตร์”

สาธิตธรรมศาสตร์

จากกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ โดยระบุว่า

“ให้หน่วยงานเข้าไปดูอยู่นะ เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาที่ดี การศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ มีการคิดอย่างเป็นระบบ มี Mindset ที่ดี ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมกำลังแก้อยู่”

ช่วงหนึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้วย

“เรื่องการศึกษา ผมก็พูดคุย สั่งการ กำหนดนโยบาย หารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ มาตลอดหนะแหละ หลักสูตร การสอนของครู การเพิ่มสมรรถนะต่าง ๆ มันมีอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดคือกลไกที่มีอยู่เดิม ผมจำเป็นต้องปรับกลไกบางตัวให้ทันสมัยขึ้น คน องคาพยพเหล่านั้นต้องทำตามนี้ และต้องมีการพัฒนาตนเอง”

ภายหลัง นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวงกว้าง ต่อมาทางโรงเรียนฯ ได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ต่อสาธารณชน เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ

ล่าสุด The Active ได้คุยกับ รศ.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยได้ระบุว่า การให้ข่าวของนายกรัฐมนตรีขณะยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองไม่สบายใจ ยืนยันว่าหลักสูตรของโรงเรียนฯ ไม่เคยมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน

“การบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันฯ ไม่มีแน่นอน ไม่ได้อยู่ในวิธีคิดของพวกเราเลย สาธิตธรรมศาสตร์ ยึดมั่นการเรียนรู้บนการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมองของผู้คน โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ อยากให้ท่านเปิดใจ ให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”

รศ.อนุชาติ กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ต่างจากการเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ที่มีการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้ซึ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง และทำหน้าที่เป็นแม่แบบการปฏิรูปการศึกษาในภาพใหญ่

“การเป็นโรงเรียนสาธิต ถ้าเป็นคำศัพท์สมัยนี้ก็เหมือนประหนึ่งเป็น Sandbox จำเป็นจะต้องศึกษา ค้นคว้า หาองค์ความรู้ นวัตกรรม วิธีการ แนวทางที่ดีที่สุดขึ้นไปเรื่อย ๆ อะไรที่เป็นข้อจำกัด ข้อผิดพลาด เราก็ต้องพัฒนา ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน”

ย้อนถึงที่มากระแสดราม่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นหลัง รศ.อนุชาติ พวงสำลี โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล ที่มาเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ให้กับโรงเรียน ในช่วงเดียวกันนั้นมีสื่อมวลชนเผยแพร่คำสัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักสูตรของโรงเรียนที่ไม่มีวิชาลูกเสือเนตรนารี และวิชาพระพุทธศาสนา แต่ปรับชื่อวิชาและรูปแบบการเรียนรู้เป็นวิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และวิชาวิถีศรัทธา ที่ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา ทำให้สังคมส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามกับสื่อมวลชนแสดงข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนฯ

ขณะเดียวกันสังคมส่วนหนึ่ง ก็ได้พูดถึงวิธีคิดในการปฏิรูปการศึกษาที่อยากเห็นนักเรียนโรงเรียนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้เหมือนเด็กโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีวิธีการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคต ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ มีความสามารถในการกำกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง แตกต่างไปจากรูปแบบการเรียนรู้ที่สอนตามตำราด้วยเช่นกัน

“มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมา ต้องเรียนรู้จากหลากหลายศาสตร์ หลากหลายวิธีคิด อันนี้เป็นหลักการที่สาธิตธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญมาก ๆ หลังเกิดกระแสข่าว มีเสียงตอบรับในทางบวกว่าสิ่งที่พวกเราทำน่าจะเป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนไทย เกิดคำถามว่าหลาย ๆ โรงเรียน ทำไมไม่เกิดสิ่งเหล่านี้ อยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้ว มีโรงเรียนและคุณครูจำนวนไม่น้อยในไทยอยากเปลี่ยนแปลง เพียงแต่บางทีผู้กำหนดนโยบาย จะต้องให้พื้นที่ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่ว่าเป็นโรงเรียนสาธิตแล้วทำได้โดยอิสระหรอก แต่เรากล้าออกจากกรอบ กล้าออกจากรูปแบบการศึกษาเดิม ๆ”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม