บ้านกว่า 1,000 หลัง กลายเป็นซากปรักหักพังจากคลื่นยักษ์สึนามิภายในพริบตา
ประชาชน กว่า 1,400 คน เสียชีวิต เหลือไว้เพียงคราบน้ำตาของครอบครัวและญาติมิตร
เหตุการณ์แสนสะเทือนใจทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับ ‘ชุมชนน้ำเค็ม’ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 อย่างไม่ทันตั้งตัว…
แต่หลังจากที่มหันตภัยร้ายซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัดไม่นานนัก ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็ลงมาสู่พื้นที่อย่างมหาศาล ก่อเกิดเป็น ชุมชนบ้านน้ำเค็มที่ได้รับการฟื้นฟูและเป็นแกนหลักในการรับมือต่อพิบัติภัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชีวิต เลือดเนื้อ และคราบน้ำตา… กว่าจะเป็น ‘บ้านน้ำเค็ม’ ในวันนี้
เพราะ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นชุมชนประสบภัยสึนามิที่มีโอกาส “เรียนรู้ท่ามกลางการลงมือทำ” จนสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากผู้ประสบภัยเป็นผู้ให้ และออกไปช่วยเหลือพื้นที่อื่น ๆ โดยการเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ของชุมชนด้านการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งในและต่างประเทศกว่า 30 ประเทศ จากการเผชิญวิกฤติภัยพิบัติ สู่การฟื้นฟู และการทำแผนเตรียมความพร้อม
หลักการสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ
การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัตินับเป็นหลักพื้นฐานสำคัญของชุมชนในการสร้างสุขภาวะชุมชนให้เกิดความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทุนชุมชน ทรัพยากรทุนทางสังคม ทรัพยากรทางการเงิน การบรรเทาทุกข์ และการสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตโดยชุมชนผู้ประสบภัยเป็นแกนหลักสำคัญ
ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนผู้ประสบภัย ตั้งทีม ลุกขึ้นมารวมกลุ่มแก้ปัญหาด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มต้น และสนับสนุนให้เครือข่ายชุมชน หรือผู้ที่มีจิตอาสาอื่น ๆ เข้าไปหนุนเสริมและให้การช่วยเหลืออย่างเป็นระบบภายใต้หลักการและเงื่อนไข 10 ประการ ดังนี้
- ใช้ความเดือดร้อนเป็นเงื่อนไขในการจัดกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเครือข่ายองค์กรท้องถิ่น และภาคีร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน
- ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน โดยคำนึงถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จิตใจและจิตวิญญาณ” และไม่กดทับศักยภาพของผู้ประสบภัย
- สนับสนุนให้ “ผู้ประสบภัย” ดูแลกันเอง ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น ฝึกการจัดการการแบ่งปัน และได้เรียนรู้ว่าใครมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส และไว้ใจได้
- ช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งเกิดการกระจายสู่ผู้เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว และปราศจากวงจรทุจริตคอร์รัปชันของระบบ
- ชุมชนผู้ประสบภัยสามารถสร้างความผูกพันและมีระบบในการดูแลกันเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันและการช่วยเหลือกันในระยะยาว รวมทั้งสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งในอดีตที่เคยมีมาของคนภายในชุมชนและระหว่างชุมชน
- เป็นกระบวนการเยียวยาจิตใจจากสภาวะที่เคยหวาดกลัว หดหู่ หมดกำลังใจ สิ้นหวัง ให้สามารถพลิกกลับมาเป็นพลังแห่งการต่อสู้ ตั้งหลัก และเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ เพราะมีเพื่อน มีกลุ่ม มีเครือข่าย
- เป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายชุมชนและนักจัดระบบชุมชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาชุมชนท้องถิ่นกับปัญหาเชิงโครงสร้างได้ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน
- สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนผู้ประสบภัยอื่น ๆ ให้เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ช่วยเหลือกันเองเมื่อมีภัย และนำไปสู่การพัฒนาสังคมโดยรวม อันเป็นกระบวนการ “สร้างสำนึกสาธารณะ” ผ่านเหตุภัยพิบัติ
- เป็นกระบวนการตั้งต้นที่จะกระตุ้นให้ชุมชนผู้ประสบภัยกลับกลายมาเป็น “ชุมชนปัองกันภัย” โดยการร่วมกันทำแผนคิดค้นกระบวนการป้องกันภัย ที่สอดคล้องกันระหว่างความรู้ภายนอกกับภูมิปัญญาในแต่ละภูมินิเวศน์ และวัฒนธรรมของท้องถิ่น
- เป็นกระบวนการพัฒนา “แนวราบ” โดยเน้นการคิดจากฐานรากสู่ข้างบน แทนการพัฒนาจากแนวดิ่งแบบรวมศูนย์อำนาจ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาหลายประการในสังคมไทยในปัจจุบัน
เตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย
การเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติเป็นการเตรียมการเพื่อลดความสูญเสียชีวิต หรือให้เกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยไม่ได้หมายถึงการห้ามหรือป้องกันไม่ให้ภัยพิบัติเกิดขึ้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างมีเหตุผล โดยหากเกิดภัยขึ้นก็สามารถบริหารจัดการคน พื้นที่ และทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1. ค้นหาอาสาสมัคร
นับเป็นขั้นตอนในการเริ่มต้นที่ต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนในระดับหนึ่ง เพื่อสร้างกระบวนการเริ่มต้นร่วมกัน และค้นหาอาสาสมัคร
เมื่อได้อาสาสมัครแล้ว จึงเกิดกระบวนการพัฒนาอาสาสมัคร ด้วยการให้การอบรม โดยมีการจัดทำข้อมูลชุมชนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
2. ข้อมูลชุมชน
ข้อมูลชุมชนเป็นข้อมูลทุกอย่างที่มีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงเมื่อเกิดภัย โดยวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อมูลอาจเกิดจากการประชุมกลุ่มย่อย หรือการลงพื้นที่ โดยทำแบบฟอร์มการสำรวจข้อมูล และจำเป็นต้องทำแผนที่ชุมชน เช่น ถนน สะพาน จุดเสี่ยงภัย จุดปลอดภัยต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนและเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป
ตัวอย่างข้อมูลชุมชน
- ข้อมูลจุดปลอดภัย
- ข้อมูลปัญหาอุปสรรค
- ข้อมูลประชากรของชุมชนโดยเฉพาะในส่วนของความเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก สตรีมีครรภ์
- ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เช่น ถนน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ถังแก๊ส
3. การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผน
หลังจากได้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนแล้ว อาสาสมัครต้องมานำเสนอในรูปแบบแผนที่ทำมือ จากนั้นจึงช่วยกันแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูล และร่วมสรุปผลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันถึงโอกาสความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติ โดยมีปฏิทินภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล เช่น
- เรื่องประชากรกับเส้นทางอพยพว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
- สาเหตุการเกิดภัย
- จุดปลอดภัยมีความเหมาะสมหรือไม่
เมื่อค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ได้แล้ว ก็กำหนดร่างแผนเตรียมป้องกันภัยร่วมกันจากข้อมูลทั้งหมดว่า จะทำเช่นไรให้คนในชุมชนเราปลอดภัย ซึ่งอาจมีคำถามเกิดขึ้นมากมายให้กับทีมงานหาคำตอบ เช่น
- ทีมงานจะมีการประสานกันได้รวดเร็วที่สุดได้ต้องทำอย่างไร
- มีการแจ้งเตือนอย่างไรให้เกิดความทั่วถึงในเรื่องการอพยพ
- ใครคือผู้ตัดสินใจในการอพยพ
- อพยพไปที่ไหน
- หากมีคนตกค้างจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร จะนำอะไรไปช่วย
- หากมีคนเจ็บจะทำอย่างไร
- คำถามอื่น ๆ
สุดท้ายจึงได้คำตอบว่าอาสาสมัครเราต้องทำอะไร และทำอะไรเป็นบ้าง
4. การพัฒนาอาสาสมัคร
เมื่อเกิดแผนเตรียมพร้อมป้องกันภัยแล้ว อาสาสมัครอาจมีหน้าที่หรือบทบาทเกิดขึ้นมามากมาย เช่น การจัดการจราจร การอพยพหลบภัย การวิเคราะห์ภัย การแจ้งเตือนภัย การเฝ้าระวัง การกู้ชีพ และอื่น ๆ ที่หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นจากกระบวนการภายในชุมชนแล้ว ก็จำเป็นต้องพัฒนาอาสาสมัครเหล่านั้น ให้มีความรู้ความชำนาญ และสามารถปฏิบัติตามแผนเตรียมพร้อมป้องกันภัยได้โดยภาคีความร่วมมือ
5. การสร้างภาคีความร่วมมือ
เมื่อเกิดแผนเตรียมความพร้อมภายในชุมชนที่อาจเป็นฉบับร่างแล้ว ก็ควรมีแผนการพัฒนาแผนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป้องกันภัยจังหวัด, อบต., ผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, อำเภอ และองค์กรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ เพื่อให้เกิดแผนที่มีคุณภาพ และเริ่มความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีองค์ความรู้และมีงบประมาณในการสนับสนุน
6. การรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับสมาชิกในชุมชน และการนำแผนเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ของชุมชน
แผนที่ที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองของคณะทำงานและภาคีความร่วมมือแล้ว ควรนำกลับไปให้ชุมชนทำประชาพิจารณ์แผนครั้งสุดท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการขับเคลื่อนแผน และกลายเป็นแผนที่มีคุณภาพ เพราะหากชุมชนไม่เห็นความสำคัญของแผนแล้ว จะไม่สามารถขับเคลื่อนแผนได้
ทันทีที่แผนสมบูรณ์แล้ว ก็ต้องรณรงค์สร้างความตระหนักอยู่เป็นประจำ เช่น ในกิจกรรมชุมชนทั้งงานประเพณี งานบุญ งานกุศลในทุกโอกาส โดยการประชาสัมพันธ์ของทีมอาสาสมัครและผู้ที่เกี่ยวข้อง
7. การนำเสนอแผนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมเตรียมความพร้อม
เมื่อแผนสมบูรณ์แล้วจำเป็นต้องมีการนำเสนอแผนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมเตรียมความพร้อม เช่น ท้องถิ่น, เทศบาล, ป้องกันภัยจังหวัด, องค์กรพัฒนาเอกชน หรือหน่วยราชการ ซึ่งในแผนควรจะบอกถึงขั้นตอนในการขับเคลื่อนทั้งหมด และความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการสนับสนุนให้แผนขับเคลื่อนได้ เช่น การแจ้งเตือนภัย ที่อาจต้องมีหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน วิทยุสื่อสารสำหรับอาสาสมัคร ไซเรนมือหมุนสำหรับแจ้งเตือนภัย การดำเนินกิจกรรมตามแผน ป้ายบอกทาง อุปกรณ์ที่จำเป็นในการซ้อมแผน
8. การติดตามผล
การดำเนินการตามแผนจะมีการติดตามประเมินผล และต้องบันทึกผลทั้งปัญหาและอุปสรรค ผลดีที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำผลกลับมาวิเคราะห์หลังการซักซ้อมแผน หรือการทำกิจกรรมตามแผนเพื่อปรับปรุงแผนให้มีคุณภาพขึ้น
9. การค้นหาแกนนำรุ่นใหม่เพื่อการเผยแพร่จิตสาธารณะและขยายผลการพัฒนาเครือข่ายที่ต่อเนื่อง
การศึกษาดูงานเพื่อการพัฒนาศักยภาพ การฝึกทบทวน และค้นหาอาสาสมัครรุ่นใหม่ ๆ นั้น สิ่งสำคัญคือ จะมีวิธีทำอย่างไรให้อาสาสมัครมีจิตสาธารณะ ซึ่งต้องทำการประชุมเป็นประจำ ทำกิจกรรมอาสาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในชุมชนและภายนอก เพื่อสร้างจิตอาสา เช่น การออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายนอกพื้นที่ทุกแห่งที่มีกำลังอาสา โดยหากมีอาสาสมัครสนใจไปช่วยต้องหาวิธีให้ได้ไปให้ได้ เพื่อสร้างจิตสาธารณะ และสามารถขยายเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ช่วงเตรียมรับวิกฤต
ในช่วงนี้เป็นห้วงเวลาก่อนที่ชุมชนจะประสบภัย ซึ่งควรมีข้อตกลงในการเผชิญเหตุร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางในการจัดการตัวเองในสภาวะวิกฤต ที่โดยทั่วไปภาวะวิกฤติหลังภัยพิบัติจะดำเนินอยู่เป็นเวลา 5-7 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีกลุ่มในการปฏิบัติภารกิจสำคัญ ข้อมูล และสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
จุดนัดหมาย เป็นจุดปลอดภัยที่เกิดจากกระบวนการทำแผนเตรียมความพร้อมร่วมกันในชุมชน และกำหนดจุดปลอดภัยไว้ ที่อาจมีมากกว่าหนึ่งจุด แต่ทุกคนในชุมชนต้องรู้ว่าใครต้องไปในจุดใด และต้องเข้าใจตรงกันว่าจะต้องมาพบกันที่จุดปลอดภัยของชุมชน
เมื่อมาถึงจุดปลอดภัยแล้ว แต่ละฝ่ายจะต้องดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ร่วมกันในแผน เช่น ฝ่ายลงทะเบียนความเดือดร้อน มีหน้าที่ตรวจสอบจำนวนสมาชิกในศูนย์ ความต้องการเร่งด่วน หรือทำหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัย ฝ่ายอพยพ ฝ่ายค้นหา
โรงครัว นับเป็นเรื่องแรกที่ต้องมีการเตรียมการในการดูแลผู้อพยพที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่อง อาหาร ซึ่งฝ่ายโรงครัวต้องเริ่มปฏิบัติการทันที (ท้องถิ่นสนับสนุนทรัพยากรและวัตถุดิบตาม พ.ร.บ.ภัยพิบัติ 2550) โดยจุดปลอดภัยที่กำหนดไว้ จะต้องเป็นพื้นที่เก็บอุปกรณ์เครื่องครัวและสิ่งที่จำเป็นในช่วงเกิดเหตุ
ทีมกู้ภัย จะต้องมีทีมอาสาช่วยเหลือและกู้ภัยทันที เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนบุคคลที่ยังตกค้างในพื้นที่ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วย หรือผู้ที่กำหนดในแผนไว้ว่าไม่อพยพ เพื่อเฝ้าระวังตรวจตราในพื้นที่ ซึ่งทีมกู้ภัยต้องสนับสนุน ในเรื่องอาหาร สิ่งของ หรือเรื่องอื่น ๆ ตามความจำเป็น
ข้อมูล ชุมชนต้องมีทีมสำรวจข้อมูลสมาชิกที่ครบถ้วน มีการทำทะเบียนจำนวนสมาชิกที่ประสบภัย รวมถึงการจัดทำข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อประสานความช่วยเหลือไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งใช้เป็นฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดการดูแลผู้เดือดร้อนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ช่วงฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ – เสริมสร้างความเข็มแข็งชุมชน
1. วิเคราะห์ข้อมูล
เมื่อได้ข้อมูลจากการสำรวจความเสียหายแล้ว จะนำข้อมูลที่ได้มาประมวลให้ได้ประเด็นสำคัญ เช่น ผู้เสียหายจำนวนกี่ครอบครัว มีอะไรเสียหายบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน หรืออื่น ๆ ที่เสียหายทั้งหมด เพื่อนำข้อมูลมาจัดลำดับความสำคัญที่ต้องฟื้นฟูแก้ปัญหาก่อน-หลัง
โดยข้อมูลภาพรวมดังกล่าวต้องติดประกาศในที่เปิดเผย และนำข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ไม่ซํ้าซ้อน และป้องกันการทุจริตได้
2. จัดทำแผนการฟื้นฟูชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อมีข้อมูลครบถ้วน ประกอบกับแผนที่ที่เกิดขึ้นจากภายในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ โดยให้เสนอต่อหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน จากนั้นเริ่มการฟื้นฟูโดยเริ่มจากความต้องการภายในชุมชนก่อน
3. การจัดองค์กรชุมชน
ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีจิตอาสาจากสมาชิกภายในชุมชน โดยเฉพาะจากส่วนสำคัญ คือ ส่วนของผู้ประสบภัยที่ต้องนำมาเป็นหลักให้ได้ โดยองค์กรปกครองในท้องถิ่นต้องเป็นที่ปรึกษา พร้อมกันนั้นในชุมชนควรจะมีการวางระบบการแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แก้ปัญหาที่ดินโดยใช้ทุนชุมชนก่อน
4. การสร้างบ้านอย่างมีส่วนร่วม
บ้านหรือที่พักอาศัยชั่วคราวนับเป็นสิ่งแรกที่ต้องสร้างขึ้นหลังจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายจนทำให้บ้านเดิมพังทั้งหลัง โดยการสร้างบ้านอย่างมีส่วนร่วมจะเป็นกลไกในการเสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชนได้
ทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นเพียงหลักสำคัญของกระบวนการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในระดับชุมชนที่แม้ไม่ใช่คำตอบหรือหลักสูตรสำเร็จในการจัดการ แต่การที่ ชุมชนน้ำเค็ม ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเรียนสู่ชุมชนอื่น ๆ อาจช่วยให้ชุมชนเสี่ยงสามรถมีแนวทางในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ
“เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นบทเรียน
ที่ถูกกลั่นมาจาก ชีวิต เลือดเนื้อ และคราบน้ำตา
จากชุมชนน้ำเค็ม…”