แผ่นดินไหวเวลา 13.20 น. ที่เมียนมาวันนี้ (28 มี.ค. 68) รู้สึกได้ชัดเจนถึงกรุงเทพมหานคร แม้จะอยู่บนระนาบพื้นโลก The Active รวบรวมความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแผ่นดินไหวในรอบ 25 ปี ที่ในวันนี้ยังไม่เพียงพอ

ปี 2540: ก่อนเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2526 ทำให้มีการยกร่างกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2529 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. ด้วยเหตุผลเรื่องค่าก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น และเห็นว่าไทยมีความเสี่ยงแผ่นดินไหวน้อย ทำให้ถูกลดจำนวนพื้นที่เสี่ยงภัยเหลือ 10 จังหวัด และให้ลดรายละเอียดเชิงเทคนิคลง ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย 11 ก.ย. 2537 มีอาคารเสียหายจำนวนมาก ส่งผลให้กฎกระทรวงผ่าน ครม.ในที่สุด
ปี 2549: กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ติดตั้งระบบตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอัตโนมัติ ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวทั้งหมด 130 สถานี สามารถตรวจวัดความเร็วของพื้นดินและวิเคราะห์ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาด และเวลาที่เกิดแผ่นดินไหว
ปี 2550: กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ. 1301) เนื่องจากกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ไม่ได้กำหนดรายละเอียดการปฏิบัติในการจัดโครงสร้างอาคารให้มีความเหนียว ทำให้ผู้คำนวณออกแบบโครงสร้างไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเกิดเป็นปัญหาต่อการบังคับใช้กฎหมาย ต่อมามีการปรับปรุง มยผ. 1301 รวม 3 ครั้ง คือปี 2552 ปี 2554 และปี 2561
ในปีเดียวกันกระทรวงมหาดไทยประกาศกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และยกเลิกกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) โดยเพิ่มเติมพื้นที่ควบคุมจากเดิม 10 จังหวัด มากำหนดเป็น 3 บริเวณ 22 จังหวัด ขยายพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวให้ครอบคลุมถึงกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เนื่องจากมีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระยะไกล รวมถึง 7 จังหวัดภาคใต้จากเหตุสึนามิ
ปี 2555: ประกาศใช้กฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคาร เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
ปี 2556: ประเทศไทยมีแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ใช้เป็นแผนกลยุทธ์เชิงรุกที่ใช้ในการบริหารจัดการลดความสูญเสียและลดผลกระทบจากภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม และเป็นแผนสนับสนุนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ปี 2553-2557
ปี 2557: มีแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี
ปี 2560: กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มเติมให้ครอบคลุมแหล่งกำเนิดแผ่นดินมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวเดิม ภายใต้โครงการระบบเครือข่ายสมรรถนะสูงตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิ ปัจจุบันหลังยกเลิกบางสถานีที่เป็นระบบเก่าและปรับปรุงพัฒนาระบบใหม่โดยการติดตั้งสถานีเพิ่ม ทำให้มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวทั้งสิ้น 128 สถานี
ปี 2564: กระทรวงมหาดไทยประกาศกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยเพิ่มจังหวัดเสี่ยงภัยเป็น 43 จังหวัด รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคาร
และกำหนดหลักเกณฑ์การออกแบบและคำนวณอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นรายละเอียดด้านเทคนิคและหลักวิชาการด้านแผ่นดินไหว เพื่อให้การก่อสร้างและดัดแปลงอาคารในบริเวณเสี่ยงภัย 43 จังหวัดมีความปลอดภัยมากขึ้น
ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว ได้ที่ www.thaipbs.or.th/Earthquake