27 ปี ยังไม่ได้กลับบ้าน ความหวัง “บางกลอยคืนถิ่น”

คำถาม ข้อเสนอ และความหวัง พา “บางกลอย กลับบ้าน “

27 ปี แห่งการรอคอยที่จะได้กลับบ้าน…

หลังความพยายามอพยพกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมของ “ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย” เมื่อต้นปี 2564 ต้องใช้เวลานานเกือบ 3 ปี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จึงจะลงนามรับรองมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. ชาวบางกลอยที่ประสงค์กลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน 2. กรรมการอิสระ และ 3. ตัวแทนจากกระทรวงฯ เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถกลับขึ้นไปทดลองทำไร่หมุนเวียน เป็นเวลา 5 ปี ควบคู่กับการศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

นี่จึงเป็นคำถามที่ดังขึ้นอีกครั้ง ว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้กลับบ้าน? รวมถึงข้อเสนอ ถึงรัฐบาลใหม่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหลังจากนี้ ในการสานต่อความหวัง เพื่อคืนถิ่นฐาน คืนวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน สู่ต้นแบบการแก้ปัญหาให้กับพื้นที่ชุมชนในเขตป่าทั่วประเทศ

The Active รวบรวมและสรุปเสียงสะท้อนหลายฝ่าย จากเวทีเสวนาสาธารณะ “3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ถึงไหน ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน?” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า กรณีบางกลอยไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงแค่ 3 ปี แต่ชาวบ้านบางกลอย มีความพยายามในการกลับขึ้นไปยังบางกลอยบน ตั้งแต่ปี 2539 จนกระทั่งปี 2554 ที่มีการบังคับอพยพ การเผาบ้าน เผายุ้งข้าว แต่ตอนนั้นเสียงของชาวบ้านยังไม่ดังมากพอ ที่สังคมจะได้ยิน จนกระทั่งปี 2564 ที่รู้สึกว่าจะต้องกลับขึ้นไปอีกครั้ง เนื่องด้วยไม่สามารถทำกินได้จริง ๆ สภาพความเป็นอยู่ที่บางกลอยล่าง ไม่เหมาะต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมา ซึ่งจริง ๆ อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถกลับขึ้นไปได้ ส่วนตัวมองว่า สิ่งที่เผชิญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ วิถีการอนุรักษ์ที่เต็มไปด้วยอคติต่อชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่น น้ำท่วมหรือฝนแล้ง ก็จะมีการกล่าวโทษจากสังคมว่า คนในพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

ดังนั้น จึงอยากชวนทุกคนคิดร่วมกัน จากคำถามเหล่านี้ 

  1. รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดยังถูกฉีกทิ้งได้ แล้วกลไกการแก้ไขปัญหาของเรา ทำไมถึงทำไม่ได้?
  2. คำพูดที่เจ้าหน้าที่เคยบอกว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็กลับขึ้นมาได้” ยังคงจำไม่ลืม แล้วเพราะอะไรทำไมตอนนี้เราถึงกลับไปไม่ได้? 
  3. เรื่องคำพิพากษาศาลปกครอง กรณีปู่คออี้ มีรายละเอียดสำคัญอยู่สามส่วนคือ 1) มีชุมชนตั้งอยู่ตรงใจแผ่นดิน-บางกลอยบนจริง 2) เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ผิดจริง และ 3) ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ใครกลับหรือไม่กลับบ้านได้ มีเพียงเจ้าของบ้านเท่านั้นที่จะตัดสินใจเองได้ว่าจะกลับหรือไม่?

“การกลับบ้านของเราชาวบางกลอย เราหวังว่า ในอนาคตอยากให้ลูกหลานภาคภูมิใจในตัวตนของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ อยากอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว และไม่อยากให้ลูกหลานต้องไปแย่งชิงแข่งขันกับผู้ใดในสังคม เพราะเชื่อว่าวิถีชีวิตเดิมสอดคล้องกับความต้องการมากกว่า“ 

พชร คำชำนาญ ภาคี Save บางกลอย กล่าวว่า วันนี้เมื่อสามปีที่แล้ว คำถามนี้ก็ยังเกิดขึ้นเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปสามปี สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือการรับรู้ของคนในสังคมเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ที่ผ่านมามีการหยิบยกคำถามขึ้นมาแลกเปลี่ยนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำประโยชน์ที่ควบคู่กับการอนุรักษ์ และอีกส่วนหนึ่งที่ถดถอยคือทัศนคติต่อการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานรัฐ

บทบาทสำคัญของภาคีเครือข่ายจึงมีสองส่วนหลัก ๆ คือ บทบาทการเคลื่อนไหวด้วยความเชื่อว่าประเด็นบางกลอยเป็นประเด็นร่วมของทุกคน และบทบาทการเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่จะยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับพี่น้องบางกลอย หากมองข้อเรียกร้องในการกลับไปยังที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งเป็นข้อเสนอพื้นฐานมาก ๆ แต่ทำไมถึงเป็นเรื่องยากในการกลับขึ้นไป ระหว่าง 3 ปีที่ผ่านมา มีหลาย ๆ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอคติทางสังคมที่มีต่อชาติพันธุ์ เช่น การกล่าวว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองโดยผู้นำรัฐบาลไทย ถ้าพี่น้องบางกลอยสามารถกลับบ้านได้ จะเป็นการคืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรีให้พี่น้องชาติพันธุ์และพี่น้องในเขตป่าทั่วประเทศ ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่กดขี่อยู่ และ การเคลื่อนไหวต่อไปของภาคี Save บางกลอย เห็นว่าการยกระดับการเคลื่อนไหวและประเด็นข้อเรียกร้องให้มากกว่า “การกลับบ้าน”

ความหวังต่อไปของภาคี Save บางกลอย มองว่า การเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพฯ ย่อมเป็นความหวังใหม่ที่ดีกว่า เห็นได้จากกรณีการไปยื่นหนังสือเพื่อให้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาตามคำสั่งนายกฯ ที่ผ่านมา และมีการรับปากจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างแน่นอน แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้ออกมาให้ข่าวว่ากรณีของบางกลอยได้สิ้นสุดแล้ว ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับความคืบหน้าหรือความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ปิดประตูตายต่อประเด็นปัญหานี้

อภินันท์ ธรรมเสนา กรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เริ่มด้วยการตอบคำถาม ว่าเรื่องการกลับบ้านของชาวบางกลอยเป็นไปได้ยากน้อยแค่ไหนจากนี้ โดยส่วนตัวรู้สึกว่าการต่อสู้ยังต้องดำเนินอีกยาวไกล เนื่องจากกลไกการปฏิบัติการยังไม่มีความคืบหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความต้องการของชาวบางกลอย จนนำมาสู่ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเป็นการทำงานของรัฐบาลชุดใดก็ตาม  

และหากมองย้อนถึงปัญหาจะเห็นว่ากรณีบางกลอยเกิดจากชุดความคิดสองชุดใหญ่ ๆ คือ เชื่อว่าป่าต้องปลอดคน และเชื่อว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ แต่ไม่เคยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่เกิดจากชุดความคิดที่ขัดแย้งนี้ ดังนั้น กรณีบางกลอย จึงมีการเสนอจากคณะกรรมการฯ ให้ชาวบ้านทดลองดำรงชีวิตตามความเชื่อว่าคนอยู่กับป่าได้ โดยให้เป็นกรณีศึกษาว่า หากมีการจัดการป่าและทรัพยากรโดยคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าได้ แล้วคนจะสามารถอยู่ในป่าได้หรือไม่

หลักคิดในการทำงานชุดนี้คือ ให้คนในชุมชนมีสิทธิเลือกที่จะดำรงชีวิตว่าต้องการดำรงชีวิตได้ ซึ่งมีสองกลุ่มหลัก ๆ คือต้องการกลับขึ้นไปบางกลอยบนจำนวน 150 คนโดยประมาณ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ ต้องการกลับไปบางกลอยบนเช่นกัน แต่มีความกังวลใจและมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถกลับขึ้นไปได้ และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนที่ต้องการดำรงชีวิตที่บางกลอยล่าง ซึ่งเกิดจากการได้รับการจัดสรรที่ดินที่มีคุณภาพพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่บางกลอยล่างได้ และอีกส่วนในกลุ่มสุดท้ายต้องการใช้ชีวิตแบบคนเมือง เพราะละทิ้งตัวตนความเป็นชาติพันธุ์ไป ซึ่งเป็นที่น่าใจหาย

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การยอมรับว่าชาวบางกลอยเป็นคนที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัด คือกฎหมาย นโยบาย ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาจริง ๆ อาจจะเริ่มจากการถอยคนละก้าว และตัวแปรในปัญหานี้มีสามกลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ควรปฏิบัติการตามนโยบายของหน่วยงานรัฐ โดยไม่ยึดติดกับกรอบกฎหมายเพียงอย่างเดียว 2) ผู้ออกนโยบาย คือ รัฐบาล กระทรวง กรม ที่ต้องเข้มข้นในการติดตามการบังคับใช้นโยบายว่าคืบหน้ามากน้อยเพียงใด และ 3) ชุมชน มีจุดยืนที่แน่วแน่และมั่นคงในการแก้ไขปัญหาและฝ่าฟันอุปสรรคภายในและภายนอกที่จะผ่านเข้ามาระหว่างการแก้ไขปัญหา

“อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ ต่อให้รัฐมนตรีจะเป็นใคร ถ้ารัฐบาลเอาด้วย ก็คงจะมีความหวังเพิ่มมากขึ้น เรื่องบางกลอยอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่บนเงื่อนไขทางการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง แต่เป็นเรื่องท่าทีของรัฐบาลในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ บางกลอยเป็นเหมือนหนังตัวอย่างของปัญหาเรื่องนี้ ที่จะทำให้คนอีก 60,000 กว่ารายเป็นอย่างน้อย ที่จะมีแนวทางในการจัดการปัญหา หรือเอาเข้าจริงอาจเป็นล้านคน ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่จะได้รับการแก้ไขต่อไป“ 

บางกลอยคืนถิ่น

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล กล่าวว่ากรณีบางกลอยเปรียบเหมือนแนวหน้าในการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย เริ่มต้นที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมสะท้อนอะไร ไปจนถึงทิศทางในรัฐสภา

จากปรากฏการณ์หลังปี 2557 ที่มีการทวงคืนผืนป่า ที่มีจำนวนคดีเรื่องที่ดินกว่า 30,000 คดี และจำนวนที่ดินที่ถูกยึดคืนไปถึง 700,000 กว่าไร่ อีกส่วนหนึ่งในนโยบายทวงคืนผืนป่า คือ ผลของชุดความคิด คำสั่ง และการใช้กฎหมายเหล่านี้ ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้คำสั่ง 64/2557 จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม

ทั่วประเทศไทย มีที่ดิน 16.9 ล้านไร่ ที่ไม่มีเอกสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงหลังปี 2561 รัฐบาลได้ออกแนวนโยบาย คทช. เพื่อมาแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายคทช.นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงและตั้งคำถามว่า สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินได้หรือไม่ และถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐไทยมีความพยายามในการบังคับใช้แนวนโยบายและกฎหมายป่าไม้ที่ดินอย่างเข้มงวด แต่จากข้อมูลสถิติจำนวนพื้นที่ป่าในไทยกลับลดลงทุกปี หากพิจารณาสถิติการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในปี 2564-2565 จะพบว่าสัดส่วนการอนุญาตให้กลุ่มทุนและเอกชนสัมปทานเหมืองแร่ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ต่างจากสัดส่วนการอนุญาตให้ประชาชนทำประโยชน์ที่แทบจะไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

กฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562 มีการระบุว่า เงินที่ได้จากการเก็บค่าเข้าชมอุทยานฯ ทางอุทยานฯ ไม่ต้องส่งเงินเหล่านี้เข้ากระทรวงการคลัง แต่ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ภายในอุทยานฯ นั้น ๆ ได้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการนำเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่อุทยานฯ นั้น ๆ  กฎหมาย นโยบายที่สะท้อนแนวคิดการจำกัดสิทธิประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากร อาจจะกล่าวได้ว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดจากเจตนารมณ์ของรัฐในช่วงก่อนที่จะมีการออกกฏหมายป่าไม้ที่ดิน ซึ่งมีการออกประกาศฉบับหนึ่งออกมาจากกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น โดยใจความนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการสงวนทรัพยากรไว้เพื่อการสัมปทานมากกว่าการสงวนไว้เพื่อรักษา โดยยึดผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเป็นศูนย์กลาง (ผู้มีอำนาจในที่นี้คือรัฐ ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มทุน)

“การสงวนและรักษาป่า เพื่อจัดสรรและประโยชน์ในทรัพยากรระหว่างชนชั้นนำและผู้มีอำนาจในสังคม ดังนั้นกฎหมาย นโยบายที่ออกมา จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ และออกมาเพื่อให้สร้างความกลัว และเพื่อให้กลุ่มผู้มีอำนาจเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น”

ดังนั้น การใช้ช่องทางในสภาฯ แก้ไขปัญหา จึงมีสองกลไกหลัก คือ 1) กลไกกรรมาธิการ ต้องมีการยกระดับการทำงานเพื่อให้มีสภาพบังคับมากขึ้น และ 2) การผลักดันกฎหมายและนโยบายใหม่

“ในฐานะ สส. สัดส่วนชาติพันธุ์ จะพยายามผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด ขณะนี้ทางพรรคก้าวไกลกำลังจัดทำประมวลกฎหมายป่าไม้ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา และนำไปสู่การออกแบบกลไกการพิสูจน์สิทธิ์ให้เป็นไปตามชอบ ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิม ที่เพียงอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้ หากการผลักดันกฎหมายนี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ จะนำไปสู่การกระจายอำนาจความเป็นเจ้าของทรัพยากรรวมถึงรับรองสิทธิในที่ดินและทรัพยากรแก่ประชาชนในพื้นที่“ 

ส.รัตนมณี พลกล้า  ทนายความและผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า สถานการณ์คดีความที่ชาวบ้านบางกลอยถูกดำเนินคดีทั้งหมด 29 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย (กิ๊ฟ ต้นน้ำเพชร) เหลือ 28 ราย ถูกต้องข้อหาทั้งหมด 10 ข้อหาต่อราย ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ, ป่าสงวนฯ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งเกิดจากการถูกจับกุมขณะที่ชาวบ้านกำลังเดินทางกลับไปยังใจแผ่นดิน บางกลอยบน กระบวนการในการรับทราบข้อกล่าวหาค่อนข้างมีปัญหา ทั้งการสื่อสาร ที่ล่ามแปลภาษาไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมถึงการจัดหาทนายความให้ชาวบ้านโดยที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการของชาวบ้าน โดยกระบวนการในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบพยาน

“หากมองภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านว่าทำไมจึงต้องกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน จะเห็นปัญหาที่ทับถมกันอยู่หลายชั้น ทั้งความขัดแย้งจากอคติของผู้คนจากชุมชนข้างเคียงในพื้นที่บางกลอยล่าง สภาพพื้นที่ไม่สามารถทำกินได้ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรง ซึ่งก่อนการอพยพลงมามีข้อมูลว่าทางหน่วยงานได้บอกกับทางชาวบ้านว่า หากอพยพลงมาแล้วอยู่ไม่ได้ก็สามารถกลับขึ้นมาได้ดังเดิม จึงเป็นเหมือนเหตุผลที่รัฐดูเหมือนจะเข้าใจและชอบธรรม แต่ชาวบ้านกลับไม่สามารถกลับขึ้นไปได้เช่นเดิมจริง ๆ“ 

การขอให้ชะลอการดำเนินคดีไปก่อน เป็นแนวทางหนึ่งในกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งการชะลอคดีจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ยกตัวอย่าง ชาวบ้านชาติพันธุ์ปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ถูกอพยพมาจาก จ.แม่ฮ่องสอน ต่อมามีการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เจ้าหน้าที่รัฐอพยพมา ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า กรณีคดีนี้คือ ผู้พิพากษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนมาตกลงร่วมกันในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน อย่างไรก็ตาม คดีที่ดำเนินไปแล้ว ไม่สามารถฟ้องร้องได้ และชาวบ้านที่ปางแดงก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหรือค่าปรับจากคดีดังกล่าว และกรณีคดีศาลปกครองในพื้นที่ป่า และมีคำพิพากษาของคำฟ้องออกมาแล้ว ชาวบ้านจะไม่สามารถกลับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อีกเลย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์