“บางกอกไพรด์ 2023” สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศ

บางกอกไพรด์ 2023 ได้เปลี่ยนย่านปทุมวัน – ราชประสงค์ให้กลายเป็นสีรุ้ง ขบวนพาเหรดสุดยิ่งใหญ่ที่ประชาชนนับหมื่นคนเข้าร่วม เต็มไปด้วยการส่งเสียง-สื่อสารเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศใน 6 ขบวน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มนฤมิตไพรด์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาครัฐและเอกชนอีกหลายองค์กร โดยตั้งเป้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเวิลด์ไพรด์ (World Pride) ให้ได้ในปี 2028

The Active ชวนย้อนฟังคำพูดสำคัญจากผู้เข้าร่วมขบวนไพรด์พาเหรดครั้งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร พร้อมกับความหวังเห็นงานบางกอกไพรด์ 2023 เป็นจุดเริ่มต้นสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศอย่างแท้จริง

“ประเทศของเราขับเคลื่อนด้วยความรัก ไม่ใช่ความกลัว และเรากำลังส่งสัญญาณไปทั่วโลก ว่า ความหลากหลาย คือ จุดแข็งของแผ่นดินนี้ ไม่ใช่จุดอ่อน ความรักก็คือความรัก ความรักต้องชนะ”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ – หัวหน้าพรรคก้าวไกล

“เราต้องยอมรับ โอบกอดเพื่อนเราที่มีความแตกต่างเอาไว้ การจัดงานไพรด์ไม่ยาก แต่กฎหมาย สิ่งต่าง ๆ ในสภาฯ เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะพิสูจน์ความจริงใจของสังคมไทยในการยอมรับ LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง”

ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  – ผู้ว่าฯ กทม.

“รับรองได้ว่างานนี้ต้องดังไปทั่วโลกและต้องดีขึ้นทุกปี ร่วมกันสนับสนุนสมรสเท่าเทียมไปให้ถึงฝั่ง ทำให้ประเทศของเรามีอิสระเสรีภาพให้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยไปด้วยกัน”

แพทองธาร ชินวัตร – พรรคเพื่อไทย

“กว่า 10 ปี ที่เราเริ่มทำงาน ระหว่างทาง เพื่อนหลายคนไม่ได้เดินมาด้วย จากการฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ เราอยากจัดงานนี้เพื่อส่งกำลังใจต่อไปเรื่อย ๆ และเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศ และเรื่องอื่น ๆ เพื่อให้ประเทศนี้โอบรับ LGBTQIAN+ จริง ๆ

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง – ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์

“เมืองที่เป็นมิตรไม่ได้หมายถึงแค่ความเจริญ แต่ต้องเหมาะกับคนทุกเพศ อย่างไพรด์พาเหรดก็ถือเป็นหนึ่งในการสร้างบรรยากาศการยอมรับเพศหลากหลาย แต่ที่มากกว่านั้น คือ สังคมใกล้ตัว เช่น ครอบครัว โรงเรียน ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนเพศทางเลือก สนับสนุนสิ่งที่เขาเป็น”

ชลาทิศ ตันติวุฒิ (เบน ชลาทิศ) – ศิลปิน

“การเอาความกลัวของคนแค่หยิบมือ มาตัดสินชีวิตของคนนับล้านที่กำลังทุกข์ทรมาณ ต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมรสเท่าเทียม และการเลือกคำนำหน้านามตามที่ตรงกับความต้องการของเรา”

นาดา ไชยจิตต์ – พรรคเสมอภาค

“เสียงในวันนี้ทำให้เรารู้สึกว่าประชากร LGBTQIAN+ ในบ้านเรามีเยอะมาก และเรากำลังเรียกร้องความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยที่แท้จริง เราหวังว่าทั้ง 6 ขบวน จะเป็นสัญลักษณ์ที่จุดประเด็นให้ภาครัฐ และสังคมหันมาให้ความสำคัญว่าพวกเรามีตัวตน”

ณชเล บุญญาธิสมภาร – รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

“ศักยภาพของ LGBTQIAN+ มีเต็มล้นอยู่แล้ว อยู่ที่การเปิดใจยอมรับเท่านั้นเอง ถ้าเราได้รับสิทธิ สวัสดิการ เช่น สมรสเท่าเทียม ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ การให้บริการ สายตาที่ไม่ได้มองแบบดูถูก เหยียดหยาม เชื่อว่าประเทศไทยไปได้ไกลแน่นอน”

ศุภฤกษ์ เอมโอช – ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางกอกไพรด์ 2023

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน