เดิม ประเทศไทย ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก จากวัคซีนที่จองซื้อของ บริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ของอังกฤษ จำนวน 26 ล้านโดสในเดือนพฤษภาคม 2564
แต่หลังจากที่ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นำหน้าฉีดวัคซีนไปแล้ว รวมทั้งเกิดการระบาดรอบใหม่ ก็ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลไทย ให้เร่งจัดซื้อวัคซีนโดยเร็วที่สุด
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจำนวน 200,000 โดส จาก บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของประเทศจีน จะเดินทางมาถึงไทย และวัคซีนเข็มแรกจะถูกฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการป้องกันโรค
การทยอยส่งมอบวัคซีนจะต่อเนื่องช่วงปลายเดือนมีนาคม 8 แสนโดส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2 ล้านโดส ด้วยงบประมาณการจัดซื้อที่ ครม. อนุมัติ 1,228 ล้านบาท
หากมอง ไปรอบ ๆ ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่า หลายประเทศมีความคืบหน้า และเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีน โควิด-19 กับประชากรกลุ่มแรก ไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ล็อตแรกของ ไทย ครอบคลุมประชากร 1.44 % ฟิลิปปินส์ 11 %
สิงคโปร์ เป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่สั่งจองวัคซีนจาก ไฟเซอร์ (Pfizer) ล็อตแรกมาถึงตั้งแต่ วันที่ 21 ธ.ค. 2563 ขณะที่ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ 2 ที่จะมีการฉีดวัคซีน 3 ล้านโดส ให้กับประชากรกลุ่มแรก โดยนำมาจาก ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของประเทศจีน พร้อมทั้งรับวัตถุดิบและสูตรวัคซีนของจีนมาผลิตเอง นอกเหนือจากการสั่งจองจากบริษัทอื่น ๆ
ส่วน ลาว ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากรัฐบาลจีน จำนวน 2,000 โดส และจากรัฐบาลรัสเซียอีก 500 โดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไปเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ เวียดนาม มีแผนจัดซื้อที่แปลกไปจากประเทศอื่น เพราะเน้นผลิตเองภายในประเทศ หลังจากเริ่มทดลองในมนุษย์เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการเข้าสู่การผลิตจำนวนมากในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ แต่เพื่อลดความเสี่ยง จึงได้จองซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกา อีก 30 ล้านโดส ซึ่งจะได้ช่วงเดือนพฤษภาคม
เมื่อเปรียบเทียบแผนการจัดซื้อวัคซีนในแต่ละประเทศอาเซียน พบว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนเร็ว จะใช้วัคซีนของ ซิโนแวค ไบโอเทค จากประเทศจีน แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงจากการที่บริษัทดังกล่าวยังไม่เปิดเผยใบรับรองประสิทธิภาพก็ตาม
ขณะที่วัคซีนซึ่งได้รับการรับรองแล้วอย่างแอสตราเซเนกา จะได้รับในช่วงกลางปีนี้ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ก็รอวัคซีนจาก โคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการจัดซื้อวัคซีน ขององค์การสหประชาชาติ คาดว่าจะได้รับในช่วงกลางปี 2564
และแม้ไทยจะจัดหาวัคซีนในภาวะเร่งด่วน จากซิโนแวค ประเทศจีน และคาดว่าจะใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ในเดือนกุมภาพันธ์ นี้แล้ว แต่ก็มีเพียง 2 ล้านโดส หรือราว 1 ล้านคนเท่านั้น แต่หากเทียบกับฟิลิปปินส์ จะมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนในประเทศเดือนมีนาคม จำนวน 25 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 11 ของประเทศ ขณะที่วัคซีนล็อตแรกของไทย มีประชากรร้อยละ 1.44 เท่านั้น ที่จะได้รับการปกป้องด้วยวัคซีนโควิด-19
สร้างฐานการผลิตภายในประเทศ ตอบโจทย์ภูมิคุ้มกันไวรัส ยั่งยืนกว่า
หากมองถึงความยั่งยืน ยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ จะมีอายุการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายกี่ปี ปีหนึ่งจะต้องฉีดกี่ครั้ง ทำให้การสร้างฐานการผลิตวัคซีนภายในประเทศ เป็นเงื่อนไขที่ตอบโจทย์มากกว่า
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ กล่าว่า บริษัท แอสตราเซเนกา เห็นศักยภาพโรงงานผลิตยาของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่สามารถปรับใช้เป็นโรงงานผลิตวัคซีน เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ จึงตกลงที่จะทั้งขายและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนให้ หาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นฐานในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของ แอสตราเซเนกา ก็จะสามารถกระจายวัคซีนไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งวัคซีนที่มีการสั่งจองทั้งหลาย ของ แอสตราเซเนกา มีราคาที่ย่อมเยาว์ที่สุด
โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ บีบ ‘ไทย’ ซื้อวัคซีน ‘จีน’ เร็วขึ้นภายใต้งบฯ จำกัด
ด้าน นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยี และนโยบายสุขภาพ กล่าวว่า ตราบใดที่ประชากรทั้ง 7 พันล้านคนทั่วโลก ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ครบทุกคน นั่นก็หมายความว่าโควิด-19 ก็ยังไม่หยุดระบาด การฉีดครบแล้วก็ยังไม่พอ เพราะวัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต จึงต้องมีการฉีดซ้ำ ๆ แต่เชื่อว่าในอนาคตผ่านไป 5 – 10 ปี ประชาชนคงไม่ตกใจ และไม่กลัวโควิด-19 อีกต่อไป โดยโรคนี้ยังคงอยู่ในรูปแบบของโรคประจำถิ่น ที่อาจมีคนไทยติดเชื้อปีละนับแสนคน เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่เร่งรัดทดลองอย่างรวดเร็ว อาจยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก วัคซีนบางชนิดก็มีผลข้างเคียง อีกทั้งการฉีดวัคซีนก็ยังไม่ได้ครอบคลุมประชากร 100% และยังไม่รู้แน่ชัดถึงระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน เหล่านี้ เป็นความเสี่ยงของวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มต้นเร็ว แต่อยู่บนความไม่แน่นอน
การที่ไทยจองซื้อวัคซีนจาก ซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน ด้านหนึ่ง เพื่อความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่แนวหน้า แต่ อีกด้านหนึ่ง ก็มีข้อสังเกตถึงกลไกการตลาดของบริษัทวัคซีนดังกล่าว มีความพยายามสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลไทย ต้องตัดสินใจซื้อวัคซีนล็อตแรกในราคาแพงหรือไม่ ท่ามกลางงบประมาณที่จำกัด
ของดี ราคาเป็นธรรม และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ต้องยอมรับว่า แผนการจัดซื้อวัคซีนจากจีนล็อตนี้ไม่ได้อยู่ในแผนที่วางไว้ก่อนล่วงหน้า แม้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าวัคซีนล็อตแรกไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะฉีดครอบคลุมประชากรถึง 80 % เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่อย่างน้อยเป็นเกราะป้องกันโรคให้กับผู้ปฏิบัติงานแนวหน้า ส่วนที่เหลือจึงทยอยตามมา
ท่ามกลางข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ต้องบริหารการจัดซื้อวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ และเจรจาให้ได้ราคาที่เป็นธรรมมากที่สุด กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เห็นด้วยกับการจัดซื้อวัคซีนของ บริษัท แอสตราเซเนกา ของอังกฤษ ในราคา 5 ดอลลาร์ต่อโดส เพราะนอกจากจะได้วัคซีนแล้ว ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่หากรัฐบาลตัดสินใจจะซื้อล็อตใหม่ ควรได้ราคาที่ต่ำกว่า เพราะมีการประเมินกันว่าในช่วงปลายปี 2564 วัคซีนโควิด-19 จะล้นตลาดทำให้มีราคาถูกลง
ขณะที่การซื้อวัคซีนจากซิโนแวค ไบโอเทค ที่ยังไม่มีรายงานผลการทดลองในมนุษย์ แม้จีนจะใช้วัคซีนจากบริษัทเดียวกันนี้ ฉีดให้กับประชากรจีนก็ตาม ก็ยังถือเป็นความเสี่ยง ทั้งยังมองว่า การที่บริษัทดังกล่าวให้วัคซีนฟรีกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า เป็นการใช้หลักการตลาดเพื่อสร้างแรงกดดันให้ไทยจำเป็นต้องเร่งซื้อวัคซีนหรือไม่
“จีนไม่ใช้การทูตวัคซีนกับไทย ขณะที่ลาวได้วัคซีน 2,000 โดสฟรี อินโดนีเซียได้เป็นล้านโดส แต่ของไทยเป็นการซื้อ และซื้อในราคาที่แพงประมาณ 1,000 บาทต่อโดส ก็อยากฝากสาธารณชนช่วยกันตรวจสอบ เพราะการซื้อวัคซีนแม้เป็นช่วงที่มีความจำเป็น แต่เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นประโยชน์ สมเหตุสมผลมากที่สุด ก็ต้องถูกตรวจสอบ”
รองประธาน FTA Watch บอกอีกว่า บริษัทวัคซีนมักจะใช้กลไกการตลาด บีบให้ประเทศต่าง ๆ ต้องทำสัญญาซื้อวัคซีนในราคาแพงแต่เนิ่น ๆ ในกลุ่ม FTA Watch ก็มีการคุยกันในประเด็นนี้โดยยกตัวอย่าง วัคซีนมะเร็ง ปากมดลูก หรือ HPV ประเทศแอฟริกา ลาว กัมพูชา ที่ฉีดหมดแล้ว โดยไม่ต้องสั่งซื้อ เขาก็จะแถมให้ แต่พอประเทศระดับกลาง ๆ ต้องซื้อในราคาแพง ต่อรองลำบาก เพราะต่อรองมากไม่มีของให้ นี่เป็นกลยุทธ์ธรรมดาของบริษัทวัคซีน เพราะช่วงโอกาสแบบนี้ เป็นโอกาสทำเงินของเขา เพราะฉะนั้นเราต้องเท่าทัน
อีกข้อสังเกตการจัดซื้อวัคซีนเร็วขึ้นของไทย จากซิโนแวค ไบโอเทค ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริษัท ซิโน ไบโอฟาร์มาซูทิเคิล ลิมิเต็ด (Sino Biopharmaceutical Limited) ซึ่งเป็นธุรกิจเวชภัณฑ์ในเครือ ซีพี ฟาร์มาซูทิเคิล กรุ๊ป ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ได้ร่วมลงทุน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 หมื่น 5 พันล้านบาท เข้าเป็นผู้ถือหุ้น 15% ของ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ ซึ่งเป็นหน่วยผลิตวัคซีนโคโรนาแวคที่ประเทศไทยจองซื้อ ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การเจรจาจัดซื้อวัคซีนล็อตนี้ ไม่ได้คำนึงว่า บริษัทใดถือหุ้นอยู่บ้าง เพียงต้องการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทย ภายใต้เงื่อนไขปลอดภัยหรือไม่ ราคารับได้หรือไม่ และการจัดส่งจะมีประสิทธิภาพเพียงใด
“สถาบันวัคซีนฯ” ยืนยัน “ซิโนแวค” ได้ประสิทธิภาพ 91% ภาวะเร่งด่วน ต้องรวดเร็ว
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยกับ The Active ว่า การจัดหาวัคซีนซิโนแวค ประเทศจีน ล็อตแรก 2 ล้านโดส เป็นการจัดหาในภาวะเร่งด่วน โดยมีการเจรจาหลายบริษัท แต่ที่สามารถจัดส่งให้ในไตรมาสแรกได้รวดเร็วที่สุด คือ ซิโนแวค ทั้งนี้ ยืนยันซิโนแวค มีการทดลองในระยะ 3 กับกลุ่มประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าประเทศจีน ที่ตอนนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ ผลปรากฏว่ามีประสิทธิภาพ 78 – 91 % และได้ใบรับรองแล้ว ทำให้หมดข้อกังขาเรื่องของประสิทธิภาพ
วิธีการตัดสินใจจองซื้อวัคซีน เน้นความรวดเร็ว เพื่อยุติผลกระทบทางเศรษฐกิจแม้จะมีราคาสูง แต่ต้องนำมาคำนวนถึงผลกระทบ เพราะถ้าหากวัคซีนมาช้าเกินไป เพื่อไปรอซื้อวัคซีนที่จะมีราคาต่ำลงในช่วงปลายปี อาจจะทำให้ศักยภาพการควบคุมโรคไม่ดีพอ ไม่ทันต่อผลกระทบที่เกิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน