ออกจากกับดักหนี้ หยุดวงจรความจน

ถอดบทเรียนจากโครงการแก้หนี้ | 7 ธ.ค. 2565

“Policy Forumสู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” รวบรวมสถานการณ์ปัญหาความจนและหนี้เป็นวาระใหญ่ที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญและเดินหน้าทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง เวทีนี้จึงถือเป็นวาระพิเศษที่ได้รวบรวมเครื่องมือแก้หนี้แก้จนจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 คน ถอดบทเรียนร่วมกันและระดมข้อมูล กระบวนการ เครื่องมือ สู่ข้อเสนอในการแก้หนี้ แก้จนยั่งยืนในระดับนโยบาย

อรมนต์ จันทพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉายสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยให้เห็นในช่วง10 ปีที่ผ่านมา  โดยในปี 2553 ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 50-60   โดย 5 ปีผ่านไปหนี้ค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้นเนื่องจาก จีดีพีประเทศโตช้า หรือรายได้ลดลง และตัวเร่งใหญ่ คือ สถานการณ์วิกฤติจากการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ในช่วง 2 ปี หนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 90 ของจีดีพี หนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คือสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเกษตร 

“ช่วงโควิด สินเชื่อส่วนบุคคล และเกษตร เพิ่มขึ้น ภาวะวิกฤติถ้าคนมีเงินออม มีสวัสดิการที่มาช้อน ก็ไม่ต้องกู้ แสดงว่าอันนี้กู้เพราะลำบาก สัดส่วนหนี้วันนี้ หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ประเทศจะไปสู่จุดที่ไม่มีเสถียรภาพ ต้องทำให้หนี้ต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี ให้ได้“ 

อรมนต์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สะสมมานาน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ถ้าไม่ทำอะไรจริงจัง จะส่งผลต่อ smooth take-off และกลับไปสู่จุดที่มีเสถียรภาพทั้งสังคมและเศรษฐกิจได้ยาก  

สำหรับหนี้ครัวเรือนแบ่งตามประเภทสินเชื่อ  14.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น  สินเชื่อบ้าน 35% รถยนต์12% เพื่อธุรกิจ 9% การศึกษา/ซื้อหลักทรัพย์ 2% บัตรเครดิต 3% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% และ เกษตร 9% ขณะที่หนี้ส่วนที่น่ากังวล ได้แก่ 1. หนี้เดิมที่มีปัญหาแล้วในปัจจุบัน ทั้งที่ถูกขาย ฟ้อง ยึดแล้ว และที่กำลังจะโดน 2. หนี้เดิมที่เป็นปัญหาหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ปิดจบไม่ได้ เช่น ตัดดอกเบี้ยมากกว่าตัดต้นเป็นเวลานาน และเปราะบาง/financial distress 3. หนี้ใหม่ที่เติบโตรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาซ้ำเติมในอนาคต 4. หนี้ที่ไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน แต่ต้องแก้ไข หรือป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม  

หนี้ครัวเรือนไม่ได้น่ากังวลทั้งหมด แต่หากขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้และจุดประสงค์ของการใช้สินเชื่อ และการแก้ปัญหาหนี้ต้องทำครบวงจรทั้งการแก้หนี้เก่า ให้ความรู้ใหม่ แก้ไขตรงจุด เพิ่มรายได้ มีข้อมูลที่ให้สินเชื่อหมุนไปได้ ทุกอย่างทำพร้อมกันทั้งหมดทั้งก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และหนี้เมื่อเกิดปัญหา และทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมมือกันไม่ว่าจะ ภาครัฐ  เจ้าหนี้  ลูกหนี้  และภาคเอกชนอื่น ๆ 

“ในการจะทำเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกัน เราใช้เวลาสะสมหนี้เท่าไหร่ เราก็ต้องกำกับจริงจังทุกหน่วยร่วมมือกันทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ตัวช่วยลูกหนี้ต้องมีเพียงพอ ที่ผ่านมาลูกหนี้ไม่มีตัวช่วย เขาไม่รู้จะทำอย่างไร เราใช้ข้อมูลให้เต็มประโยชน์ รวมถึงนโยบายที่ต้องทำจริงจัง”

ด้าน อุมาพร แพรประเสริฐ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ปัญหาสัญญาไม่เป็นธรรม ระบุว่า การแก้ปัญหาต้องใช้ความจริงจัง และทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาเรื่องหนี้ที่ปราบปรามกันเยอะมากแต่ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด คือ หนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย หากมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าผิดกฎหมาย และการฟ้องร้องคดีต้องแยกเป็นคดีทางแพ่งและคดีอาญาแต่ที่ผ่านมาทั้งเจ้าหนี้และผู้บังคับใช้กฎหมายยังตีความเรื่องนี้ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการรับฟ้องคดี

“กฎหมายกำหนดเรียกดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี เมื่อใดที่เจ้าหนี้ปล่อยเกินผิดกฎหมายทันที แต่วันนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายมองว่าเป็นเรื่องทางแพ่ง กู้เงินต้องใช้หนี้ ซึ่งต้องแยกระหว่างแพ่งและอาญา ถ้าเรียกดอกเบี้ยเกินคุณทำผิดผิดกฎหมาย ส่วนลูกหนี้ยืมเงินเขามาต้องคืนตามกฎหมายแพ่ง แต่ต้องใช้คืนเท่าที่เราเอาเขามา หนี้นอกระบบแก้ไม่ยากเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย” 

อุมาพร เสนอว่า ลูกหนี้ต้องกล้าลุกขึ้นสู้ เก็บข้อมูลหลักฐานให้พร้อม รู้เท่าทันการเป็นหนี้ ก่อนเป็นหนี้เซ็นสัญญา ลูกหนี้ต้องดู ห้ามเซ็นกระดาษเปล่า การให้ความรู้ทางกฎหมายเป็นทางเลือกทางรอดของลูกหนี้  การแก้ปัญาหนี้สินไม่สามารถทำได้แค่หน่วยงานเดียว ไม่มีเจ้าภาพหลักมีหน่วยงานที่ช่วยเหลือทุกที่แล้วไปไหนต่อ เสนอยึดหลักนโยบาย 5 ด้าน ศูนย์แก้ไขหนี้เบ็ดเสร็จ, การปราบปราม, เจรจาไกล่เกลี่ยมีศูนย์ไกล่เกลี่ย, มาตรการทางภาษีมาบังคับใช้, ฟื้นฟูพัฒนาหาแหล่งเงินทุน  รวมปัญหาหนี้ วิจัยข้อมูล กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา และต้องนำข้อมูลมาแก้ไขทำให้สุด

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการแก้ปัญหาหนี้ในระดับชุมชน ที่เห็นผลสำเร็จมาร่วมแลกเปลี่ยน เรวัต นิยมวงศ์ ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย จ.จันทบุรี บอกว่า   ชุมชนนี้มีทั้งหมด 199 ครัวเรือน 133 ครัวเรือนเป็นหนี้ในชุมชน 71 ครัวเรือนกู้ยืมมากกว่า 1 สัญญา ในหมู่บ้านมีหลากหลายกองทุน และคน 1 คนกู้ได้หลายกองทุน  ขณะที่ส่วนใหญ่พบเป็นหนี้จากการลงทุน และการเป็นหนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากการลงทุนเพราะการทำการเกษตร ผลผลิต ตกต่ำ ภัยธรรมชาติน้ำท่วมน้ำแล้ง กู้ยืมมาลงทุนแล้วไม่สามารถชำระคืนได้ โดยกรมการพัฒนาชุมชนฯ มีแนวทางการแก้หนี้ คือเข้าไปจัดการโดยยึดหลักการให้ครัวเรือนที่มีสัญญาหนี้นำหนี้มารวมกันเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ซ้ำซ้อน เมื่อรวมเป็นสัญญาเดียวแล้วก็หาแหล่งเงินทุนรายใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ หาทางลดหนี้ เรียกว่า “ชากไทยโมเดล”

ขณะที่กองทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้านมีมากกว่าสิบกลุ่ม มีอยู่สามกลุ่มที่ช่วยหาปัจจัยการผลิตให้สมาชิก เดิมจากที่ต่างคนต่างทำ แล้วก็ปล่อยกู้ วิธีการคือเอากำไรปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ย แต่เราเป็นคนไปจัดการให้กลุ่มนั่งคุยกันต่างคนต่างทำร่วมกัน เพราะสมาชิกคือคนเดียวกัน ตั้งต้นมีเงินทุนล้านเศษเอามาปล่อยกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ยแล้วกำไรมาจากการที่เราใช้กำลังอำนาจในการต่อรองหาสินค้าในราคาที่ถูกลง บทเรียนคือการแก้หนี้โดยไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ไม่หาแหล่งเงินอย่างเดียว การพักหนี้ดีแต่ไม่มีกระบวนการติดตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ องค์ความรู้การทำงานแก้หนี้ทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกัน คุยกันวางเป้าหมายร่วมกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลโดยไม่รู้ตัว

“ชากไทยโมเดล ไม่ได้ใช้แค่เงินแก้หนี้ เงินเป็นแค่เครืองมือหนึ่ง โดยมีการรวมหนี้แล้ววางแผนปลดหนี้ ต้องขอร้องแกมบังคับห้ามกู้จนกว่าจะใช้หนี้หมดภายในระยะเวลาที่คุณเลือกเอง เราไม่ได้กำหนด สามารถหาเงินได้เท่าไหร่ ใช้ระยะเวลาเท่านั้น และใช้กลุ่มต่าง ๆ เสริมกันสร้างรายได้ ลดรายจ่าย”

อีกหนึ่งตัวอย่างจากการใช้แพลตฟอร์มการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการการเงินสำหรับผู้ประกอบการ โดยผศ.บัณฑิต อินณวงศ์ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาธุรกิจชุมชน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เล่าให้ฟังว่า โครงการที่ บพท. เข้าไปทำช่วงปี 2553 หลังพบธุรกิจชุมชนมีหนี้สินสูง ถ้าเราปล่อยไว้ ธุรกิจเหล่านี้จะหายไป บพท. จึงเริ่มนำร่องจากธุรกิจชุมชนเริ่มทำตั้งแต่ปี 2563 ดึงธุรกิจที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 2,700 ธุรกิจ ภายใต้สมมุติฐาน “การแก้ปัญหามะเร็งการเงินไม่สามารถแก้ด้วยการใส่เงิน แต่แก้ได้ด้วยการให้รู้การจัดการเงินของตัวเอง” เราใส่กระบวนการหนึ่งให้ธุรกิจภายใต้การทำงาน 90 วัน ให้ความรู้ มอบอาวุธ ตั้งเป้าหมายการทำงาน 6 เดือนผ่านไป พบธุรกิจที่ทำงานร่วมกับเรา รายได้สูงขึ้นต่อเดือน 4 % สามเดือนโตขึ้น 12-16%และสามารถทำกำไรได้ 12% ในช่วงภาวะโควิด-19 ธุรกิจเกิดสภาพคล่องทางการเงิน 3-4 เท่า หนี้สินลดลง 

ทำบัญชีครัวเรือนซึ่งไม่ใช่แค่จดบันทึกรายรับรายจ่าย แต่มีแอปพลิเคชันที่จะทำให้เห็นข้อมูลชัดเจน และวางแผนที่จะปลดหนี้ จากข้อมูลของตัวเอง หยุดสร้างหนี้ หาทางชำระหนี้เดิม เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน  ใช้เครื่องมือแอปฯเศรษฐีเรือนใน และประตูเศรษฐี  สร้างวัคซีนทางการเงิน”

 ผศ.บัณฑิต กล่าวถึงกระบวนการแก้หนี้ที่ บพท. ทำ คือการหยุดวงจรการสร้างหนี้ด้วยการไม่สร้างหนี้เพิ่ม หาทางชำระหนี้ที่มีอยู่ให้หมดไป แต่จะทำแบบนี้ได้ ต้องเห็นก้อนหนี้ และยังพบว่าการทำธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ไม่แยกออกจากกระเป๋าส่วนตัว จึงทำให้เมื่อมีปัญหาก็ดึงงบครอบครัวมาใช้ สภาพคล่องก็หมดไป หรือเกิดปัญหาครอบครัวก็ดึงเงินจากธุรกิจมาใช้ นี่คือลักษณะการทำธุรกิจในประเทศไทย จึงไม่สามารถรู้เหตุของการก่อหนี้ที่แท้จริงได้ บพท.จัดการสภาพคล่อง ยับยั้งหนี้ครัวเรือน โดยใช้แอปพลิเคชันเศรษฐีเรือนใน  เพื่อจดบัญชี รายรับรายจ่าย วิเคราะห์ ให้เห็นหนี้จุดไหนที่เป็นปัญหา เพื่อวางแผนกำจัดหนี้โดยแยกรายรายรับรายจ่ายของตัวเองออกจากธุรกิจ 

โดย รายจ่ายแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่  รายจ่ายการดำรงชีพบำรุงชีพ ปัจจัยสี่ ครอบครัว การศึกษา บำเรอชีพ และสุดท้าย บรรลัยชีพ จดแล้วแยกรายรับรายจ่าย ให้เห็นชีพแต่ละชีพว่าอันไหนเสี่ยงจะเป็นมะเร็ง  แอปฯ จะตอบโจทย์ และได้ข้อมูลสำหรับวางแผนจัดการปลดหนี้ ถ้ากรอกทุกวันจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงของการจัดการเงิน และเห็นว่าเชื่อมโยงกับสภาพคล่องกับธุรกิจ โดยจะมีอีกแอปพลิเคชันที่จะเข้ามาช่วยคือ แอปฯประตูเศรษฐี ข้อมูลที่ได้ทำการทดลองกับ 300 ธุรกิจ พบว่าสามารถประเมินผลว่าต้องการเงินอัดฉีดเท่าไหร่ โดยพบว่าธุรกิจหนึ่งต้องการเงินอัดฉีดเฉลี่ยประมาณ 42,000 บาทและ ยังบอกช่วงเวลา จังหวะว่าควรเติมเมื่อไหร่ มากแค่ไหน  

ทั้งนี้ กิจกรรม Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เป็นความร่วมมือของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์