จากประสบการณ์ สู่แผนจัดการภัยพิบัติ ‘ตำบลเตราะบอน’

ทุก ๆ ปี 11 หมู่บ้าน ในตำบลเตราะบอน จังหวัดปัตตานี ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่ชาวบ้านไม่อาจปฏิเสธได้ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นทุน ขณะที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเผชิญกับภัยพิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้เอง ได้กลายมาเป็นบทเรียนให้กับชุมชนในตำบลเตราะบอน จนนำมาสู่การเป็นตำบลนำร่องจัดการภัยพิบัติ

เมื่อภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การเตรียมพร้อมด้วยความรู้และแผนการที่ดีจึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบและช่วยฟื้นฟูชุมชนได้อย่างรวดเร็ว The Active ชวนเรียนรู้แผนการรับมือกับภัยพิบัติผ่านตำบลเตราะบอน ที่ได้นำเอาประสบการณ์จากหลายปีที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นแผนการจัดการภัยพิบัติว่าเป็นอย่างไรบ้าง ?

จากความร่วมมือของเครือข่ายผู้รับผิดชอบในการทำแผนจัดการภัยพิบัติ ทั้ง ท้องถิ่น, ท้องที่, อสม.บัณฑิตอาสาหมู่บ้าน, มูลนิธิอาสาเพื่อนพึง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และคณะกรรมการพัฒนาตำบล เกิดเป็นแผนที่ภาพรวมของตำบลเตราะบอนสำหรับเตรียมรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น จากการวาดแผนที่ภาพรวมของตำบลเตราะบอน ทั้ง ทางกายภาพ เช่น อาณาเขต, เส้นทางถนน, แม่น้ำ, ภูเขา และ ลงรายละเอียดข้อมูลของหมู่บ้านตัวเอง เพื่อทำให้เห็นภาพรวมของตำบลได้ชัดเจน พร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในตำบลได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ติดสัญลักษณ์ตำแหน่งบ้านของกลุ่มเปราะบางให้ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่ม ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ เด็กกำพร้า หญิงหม้าย เด็กเล็ก และกลุ่มด้อยโอกาส เป็นอันดับแรก เพื่อให้ง่ายต่อการช่วยเหลือและอพยพเมื่อเกิดน้ำท่วม

  • แสดงสัญลักษณ์สถานที่สำคัญในชุมชน เช่น มัสยิด สถานที่อพยพ/ศูนย์พักพิง

  • แสดงพื้นที่ทางการเกษตรและข้อมูลของสัตว์เลี้ยง เช่น วัว แพะ/แกะ และหมู
แผนที่จัดการภัยพิบัติตำบลเตราะบอน

ส่องแผนการจัดการภัยพิบัติตำบลเตราะบอน

ระยะที่ 1 ก่อนเกิดภัย (การเตรียมความพร้อม การป้องกัน และลดผลกระทบ)

(1) สำรวจข้อมูลทางกายภาพ ทั้งพื้นที่ประสบภัย กลุ่มเสี่ยง จัดทำพิกัดกลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเรื้อรัง) จุดบริเวณพื้นที่ปลอดภัย และจุดการอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัย

(2) สำรวจข้อมูลต่าง ๆ ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

  • สำรวจเครื่องมือและอุปกรณ์ของพื้นที่ จากการใช้ตารางวิเคราะห์เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยระบุจำนวนเครื่องมือที่มีอยู่ รวมถึงอาสาสมัครที่สามารถใช้งานในแต่ละเครื่องมือได้
  • สำรวจข้อมูลอาสาสมัคร เช่น การเตรียมความพร้อมอาสาสมัคร เครื่องมืออุปกรณ์กู้ภัย และระบบสื่อสาร
  • สำรวจข้อมูลอาคารสถานที่ เพื่อเป็นที่พักพิงกรณีเกิดภัยพิบัติ กำหนดสถานที่พักพิงปลอดภัย เช่น หอประชุม โรงเรียน วัด มัสยิด อีกทั้งเตรียมความพร้อมระบบสาธารณูปโภคเพียงพอ เช่น ระบบไฟฟ้าถ้าไฟฟ้าดับจะต้องมีเครื่องปั่นไฟฉุกเฉิน มีระบบประปา โทรศัพท์ ครัวชุมชน พ่อค้า-แม่ค้าจิตอาสา

(3) พัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร 15 คน ตามหลักสูตรอาสาปฏิบัติการเบื้องต้น โดยพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของอาสาสมัครให้มีความรู้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ

(4) ปฏิบัติการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานอาสาสมัครเชี่ยวชาญ

(5) เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ทั้งครัวชุมชน ปศุสัตว์ ศูนย์พักพิง กำหนดจุดพื้นที่ปลอดภัยปลอดภัยประจำหมู่บ้านจุดพักพิงประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 – หมู่ 11

(6) จัดหาอุปกรณ์ ทั้งเรือ อุปกรณ์ทำครัว อุปกรณ์กู้ชีพ อุปกรณ์พยาบาล

ระยะที่ 2 ระยะเกิดภัยพิบัติ (การจัดการในภาวะฉุกเฉิน) โดยจัดตั้งกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้ พรบ.ภัยพิบัติ ดังนี้

(1) การจัดระบบบัญชาการเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทั้งระบบสั่งการเพื่อให้อาสาสมัครพร้อมรับคำสั่งและปฏิบัติการ โดยอาสาสมัครต้องเข้ารายงานตัวต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์พื้นที่เพื่อรับมอบหมายภารกิจ

(2) การประเมินสถานการณ์เพื่อออกแบบการเข้าช่วยเหลือ ได้แก่ การเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือตามชนิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมฉับพลันต้องเข้าช่วยเหลือพื้นที่อย่างเร่งด่วน จำเป็นต้องใช้เรือที่มีความเร็วสูง หรือกรณีดินโคลนถล่มต้องใช้เชือกกระรอกเป็นเครื่องมือหลักในการเข้าพื้นที่ เป็นต้น

(3) การประเมินผู้ประสบภัย เช่น เด็ก 0-5 ปี, ผู้ป่วยเรื้อรัง, ผู้พิการ, ผู้ป่วยติดเตียง, ผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมเวชภัณฑ์ยา เครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งการเตรียมอาหารและส่งอาหารสำหรับผู้ประสบภัย และวางแผนเคลื่อนย้าย ดังนี้

  • กรณีการขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง ต้องขนย้ายโดยใช้เปลสนาม
  • กรณีผู้พิการขา ต้องใช้อุปกรณ์เสริมโดยใช้เชือกและเก้าอี้
  • กรณีการขนย้ายผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ต้องห้ามเลือด ปิดแผล หรือดามก่อนส่งต่อให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ระยะที่ 3 ระยะหลังภัยพิบัติและฟื้นคืนสภาพ (การฟื้นฟูสภาพหลังเกิดภัยพิบัติ) โดยการประเมินความเสียหาย การจัดการและส่งต่อ

  • ประเมินความเสียหายต่อชีวิต และให้การช่วยเหลือส่งต่อ กรณีการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ภาวะฉุกเฉิน  
  • ประเมินความเสียหายต่อทรัพย์สิน เช่น บ้านเรือน ไร่นา พื้นที่การเกษตรสัตว์ เครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ 
  • ประเมินความเสียหายที่เกิดกับสาธารณะประโยชน์และสาธารณูปโภค เช่น สะพาน เสาไฟฟ้า ถนน โรงเรียน ประปา เป็นต้น
  • การฟื้นฟู ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟูสภาพจิตใจของกลุ่มเป้าหมาย  และด้านการประกอบอาชีพ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active