2 โอกาสยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ เร็วสุด ส.ค. 65 ไกลสุด คือ หมดวาระ มิ.ย. 66 รอความชัดเจนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ระบบคำนวณบัญชีรายชื่อ วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน คาด ส่งร่างแก้ไขกฎหมายลูกได้ทันภายในปีนี้
สัญญาณการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น จาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 หลักการสำคัญที่เปลี่ยนไปมี 2 ประเด็น คือ (1) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ปรับสัดส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จากเดิม 350 คน เป็น 400 คน และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 150 คน เป็น 100 คน อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อย ต่างออกมาไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้ที่นั่งที่ตนเคยได้ ถูกตัดลดลงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
(2) เปลี่ยนจำนวนบัตรเลือกตั้ง จากระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนไป ใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยบัตรใบแรกใช้เลือก ส.ส.แบ่งเขต และบัตรใบที่สองใช้เลือกพรรคการเมือง เหมือนกับการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 หรือที่รู้จักกันว่า “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”
แต่รู้หรือไม่ ? ว่าภายใต้การใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีระบบการคำนวณจำนวน ส.ส. อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งไม่ได้ระบุลงไปในกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปปรากฏในกฎหมายลูก 2 ฉบับสำคัญ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ต้องไปแก้รายละเอียดให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และฉันทามติร่วมกันของที่ประชุมร่วมทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเสนอร่างแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ อีกทั้งยังมีเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ว่า รัฐสภาต้องดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะร่วมกันเสนอร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ นี้ร่วมกัน เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพ ภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้ เพราะมีเงื่อนเวลาที่กำหนดอยู่
เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอ ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ โดยมีรายละเอียดเรื่องระบบการคำนวณจำนวน ส.ส. ตรงกันกับร่างของฝ่ายรัฐบาล ที่ใช้ระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญในปี 2540 ซึ่งเป็นระบบที่พรรคเพื่อไทยคุ้นเคย และเคยได้รับชัยชนะมาแล้วในครั้งของไทยรักไทย
ซึ่งไทม์ไลน์ในช่วงแรก หากทุกพรรคการเมืองสามารถเสนอร่างแก้ไขกฎหมายลูกได้ใน ช่วงเดือน ธ.ค. 2564 – ม.ค. 2565 ก็จะสามารถให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติวาระแรกชั้นรับหลักการ และจากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา วาระที่สอง ชนกับช่วงปิดสมัยประชุมวันที่ 28 ก.พ. 2565
ในกระบวนการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนี้ หากดำเนินการได้ไวที่สุด ควรมีการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยวิสามัญในเดือน เม.ย. 2565 แต่หากไม่มีการเปิดประชุม อย่างช้าที่สุดก็ต้องรอเปิดประชุมสมัยสามัญวันที่ 22 พ.ค. 2565 เพื่อลงมติรายมาตราในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ที่ต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ไม่เกินเดือน มิ.ย. 2565
แต่กว่าจะถึงขั้นประกาศใช้ ยังมีด่านสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้หลังลงมติในวาระที่ 3 แล้วให้ส่งร่างกฎหมายนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น และในกรณีที่หน่วยงานเหล่านั้นไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ได้เลย แต่หากมีการทักท้วง ต้องส่งกลับมาให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จอีกครั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว อาจเป็นเวลาที่ต้องเพิ่มมาจนกว่าจะประกาศใช้กฎหมายได้
และในช่วง 180 วันนี้เอง ที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าอาจมีการ ‘ยุบสภา’ หรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงอาจเกิดความวุ่นวายตามมา เนื่องจากกฎหมายลูกยังแก้ไขไม่เสร็จ กติกาการเลือกตั้งยังไม่ปรับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และระบบเลือกตั้งใหม่ เหตุผลของการยุบสภาอาจเกิดได้จากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล หรือรัฐบาลประเมินแล้วว่าได้รับความนิยมสูง จนไม่สามารถปล่อยให้การเลือกตั้งใหม่หลุดลอยไปได้ จนกว่าจะถึงวันนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นหรือไม่
หากเป็นไปตามระบบ และเส้นทางที่ควรจะเป็น คือ รอให้มีการแก้ไขกฎหมายลูกให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงมีการยุบสภา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 – 60 วัน ซึ่งหากมีการยุบสภาทันทีหลังจากแก้ไขกฎหมายเสร็จ คนไทยจะมีโอกาสได้เลือกตั้งไวขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. 2565 แต่หากไม่มีการยุบสภาและรัฐบาลยังคงบริหารประเทศต่อไปจนครบวาระในปี 2566 ก็จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. 2566
นั่นหมายความว่า รัฐบาลที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ก่อรัฐประหารในปี 2557 ยาวนานถึง 9 ปี นั่นจะนำมาสู่คิดคำถามสำคัญของสังคม คือ “วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ” ของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า “ไม่เกิน 8 ปี” บ้างว่าควรเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 หรือเริ่มนับกันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 หรือจะเริ่มนับหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ทั้งหมดล้วนเป็นไปได้ และการที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะมีโอกาสชนะเลือกตั้งกลับมาในสมัยที่ 2 ด้วยการเลือกตั้งได้อีกหรือไม่ คนไทยทั้งประเทศจะเป็นผู้กำหนด