จากกระแสความนิยมของภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ สู่การถกเถียงของสาธารณะถึงการ ‘กระจุกตัว’ ของโรงภาพยนตร์ เมื่อประชาชน จ.แม่ฮ่องสอน รายหนึ่งแชร์ความรู้สึกผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า ดีใจที่ได้เห็นภาพยนตร์เล่าเรื่องของจังหวัดบ้านเกิด แม้ตนเองจะอยากไปรับชมอย่างเต็มอรรถรสมากแค่ไหน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะใน จ.แม่ฮ่องสอน ไม่มีโรงหนังแม้แต่โรงเดียว
จากการสำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของ 2 ผู้ให้บริการอย่าง SF Cinema และ เครือ Major Cineplex ประกอบกับข้อมูลการสำรวจผ่านทาง Google Map ประมวลโดย The Active พบว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงหนังอยู่อย่างน้อย 270 แห่ง กระจุกตามหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร 41 แห่ง, ชลบุรี 15 แห่ง, นนทบุรี 12 แห่ง
แต่อีกด้านหนึ่ง กลับพบถึง 9 จังหวัด ที่ไม่มีโรงหนังอยู่เลย หากอยากเข้าใช้บริการอาจต้องอาศัยการเดินทางไปยังจังหวัดข้างเคียง โดยสามารถแจกแจงรายจังหวัดได้ดังนี้
จำนวนโรงภาพยนตร์ | จำนวนจังหวัด | รายชื่อจังหวัด |
0 | 9 | ชัยนาท, ตราด, นครนายก, นราธิวาส, บึงกาฬ, ปัตตานี, แม่ฮ่องสอน, อำนาจเจริญ, อุทัยธานี |
1 | 14 | กาฬสินธุ์, ตรัง, น่าน, พังงา, แพร่, มุกดาหาร, ระนอง, เลย, สตูล, สมุทรสงคราม, สิงห์บุรี, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง |
2 | 18 | กระบี่, กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ฉะเชิงเทรา, ชุมพร, เชียงราย, นครพนม, ปราจีนบุรี, พัทลุง, พิจิตร, เพชรบูรณ์, ยโสธร, ยะลา, ลำปาง, ลำพูน, สระแก้ว, หนองคาย, อุตรดิตถ์ |
3-4 | 18 | เชียงใหม่, บุรีรัมย์, พระนครศรีอยุธยา, พิษณุโลก, ราชบุรี, สกลนคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สุรินทร์, จันทบุรี, ชัยภูมิ, ตาก, ประจวบคีรีขันธ์, พะเยา, เพชรบุรี, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ลพบุรี, ศรีสะเกษ, สมุทรสาคร |
5-6 | 9 | ขอนแก่น, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, ปทุมธานี, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี, ภูเก็ต, สงขลา, อุดรธานี |
7-9 | 4 | นครปฐม, สมุทรปราการ, นครราชสีมา, ระยอง |
>10 | 3 | กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, นนทบุรี |
ข้อมูลเมื่อ 27 สิงหาคม 2567
The Active ชวนทำความเข้าใจข้อมูลจำนวนโรงหนังในไทย ไปพร้อมกับมุมวิเคราะห์ของ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส. พรรคประชาชน ในฐานะอดีตผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะชวนสำรวจระยะทางในการเข้าถึงภาพยนตร์ของคนต่างจังหวัดที่ไกลห่าง และหาหนทางสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ไปต่ออย่างไรได้บ้าง
222 กิโลเมตร: ระยะทางไปโรงหนังที่ใกล้ที่สุดจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
เราลองใช้เครื่องมือ Google Map สำรวจเส้นทางไปยังโรงหนังที่ใกล้ที่สุดในจังหวัดที่ไม่มีโรงหนัง โดยกำหนดจุดเริ่มต้นที่ศาลากลางของแต่ละจังหวัด พบว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีระยะทางไปสู่โรงหนังไกลที่สุดในบรรดา 9 จังหวัด มีระยะทางอยู่ที่ 222 กิโลเมตร รองลงมาคือ จ.บึงกาฬ 77.7 กิโลเมตร, นราธิวาส 77.6 กิโลเมตร และลำดับอื่น ๆ ดังนี้
จากข้อมูลข้างต้นอิงตามระยะทางที่ใกล้ที่สุดตามข้อมูลที่ปรากฎใน Google Map ไม่ได้อิงตามพฤติกรรมของคนในพื้นที่จริง เช่น ผู้อาศัยใน จ.ชัยนาท อาจเลือกเดินทางไปดูหนังที่ จ.สุพรรณบุรี แทน หากโรงภาพยนตร์ที่สิงห์บุรีไม่มีโปรแกรมหนังที่เขาสนใจรับชม หรือเส้นทางไปยังสิงห์บุรีไม่ใช่เส้นทางหลักที่ทำความเร็วได้มาก ฯลฯ ดังนั้น ระยะทางที่ใช้เดินทางจริงอาจไกลได้มากกว่าที่ปรากฏตามตาราง
อภิสิทธิ์ อธิบายว่า แต่เดิมจำนวนโรงหนัง Stand-alone ในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันการมาถึงของให้บริการ Video Streaming และสื่อบันเทิงออนไลน์อื่น ๆ ทำให้ผู้คนหันมาเลือกเสพภาพยนตร์จากแพลตฟอร์มดังกล่าว รายได้ของโรงหนัง Stand-alone จึงถดถอยลง และยากที่จะยืนหยัดสู้กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ ทางอยู่รอดของโรงหนังในปัจจุบันคือการอาศัยอยู่ตามพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงฐานผู้ชมชนชั้นกลาง
นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการภาพยนตร์ยังมีลักษณะ ‘ผูกขาด’ เนื่องจาก 2 เจ้ายักษ์ใหญ่ ที่ให้บริการอยู่หลายจังหวัด มีอำนาจเหนือตลาด เข้าจับจองพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเสมือนเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ตกลงกันไว้แล้ว ด้วยลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยลงไปแข่งอย่างยากลำบาก ประกอบกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ที่กำหนดเงื่อนไขในการสร้างโรงมหรสพเอื้อให้กลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ค้ารายย่อย
“GDP ต่อหัวในแต่ละพื้นที่มันต่างกัน เพราะเราลงทุนทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันเราเห็นว่าพวกโรงหนังก็ไปอยู่ตามห้างฯ ส่วนโรงท้องถิ่นของคนในพื้นที่มันหายไป นี่จึงเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม”
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
เมื่อโรงหนัง Stand-alone ยืนอยู่ได้ยาก และผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ ๆ จะลงสนามเฉพาะจังหวัดที่มีกำลังซื้อมากพอ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการเข้าถึงภาพยนตร์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีขนาดทางเศรษฐกิจเล็กอย่าง 9 จังหวัดข้างต้น
อดีตผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผู้อาศัยในหลายจังหวัดยังเข้าไม่ถึงโรงหนังได้โดยสะดวก การจะกระตุ้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ จะเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ดังนั้น การกระจายอำนาจสู่ชุมชน ส่งเสริมการลงทุนผู้ประกอบการรายย่อย จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการผลักดันทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้น คนทำหนังรุ่นใหม่ก็ไร้พื้นที่แสดงทักษะของตัวเองอยู่ดี
หนังไทยซ้ำซาก เพราะโรงหนังบีบให้เน้นแมส
อภิสิทธิ์ ยังถ่ายทอดประสบการณ์ ว่า ในต่างประเทศมี Community Theatre (โรงภาพยนตร์ชุมชน) ซึ่งเป็นโรงหนังขนาดเล็ก มักอยู่ในศูนย์การค้าขนาดเล็ก หรืออยู่ตามห้องแถวในชุมชน มีขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่ง แต่กฎหมายไทยระบุว่า การทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ และ กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่ากลุ่มทุน
“จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นทำให้ในอนาคตพรรคประชาชนเตรียมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.โรงภาพยนตร์ เพื่อลดเงื่อนไขเชิงกายภาพ สนับสนุนให้เกิดโรงภาพยนตร์อิสระขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น โดยถ้าเป็นโรงขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่ง ให้สามารถจดแจ้งเพื่อเริ่มกิจการได้เลย”
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
อภิสิทธิ์ เสริมว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยผลิตหนังได้ปีละ 50 – 70 เรื่องต่อปี แต่ประสบความสำเร็จเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทำให้คนทำหนังต้องพยายามสร้าง ‘หนังแมส’ หรือภาพยนตร์กระแสหลักที่เข้าถึงมวลชนได้มากกว่า ส่วนภาพยนตร์นอกกระแส หนังเฉพาะทาง หรือ ‘หนังอินดี้’ กลับมีพื้นที่ลงเล่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์น้อยมาก
ดังนั้น หากไทยมีโรงหนังอิสระรายย่อยมากขึ้น หรือมีโรงหนังเฉพาะกลุ่มมากขึ้น คนทำหนังก็จะมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างหลากหลาย รวมถึง ผู้กำกับรุ่นใหม่ก็จะได้มีพื้นที่ทดลอง พื้นที่แสดงผลงานของตัวเองได้มากขึ้นด้วย
“การลงทุนเพื่อดันหนังสักเรื่องเข้าโรงใหญ่ อย่างน้อย ๆ คือ 12 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีโรงหนังขนาดเล็ก เราก็สามารถสร้างหนังฟอร์มเล็กได้ ทั้งผู้กำกับทั้งเจ้าของหนังหน้าใหม่ก็จะมีพื้นที่แสดงผลงานมากขึ้น แนวหนังหลากหลายขึ้น และมุมมองต่อสังคมก็จะหลากหลายตามไปด้วย”
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
ถึงตรงนี้ อภิสิทธิ์ จึงย้ำทิ้งท้ายว่า ปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คือระบบการเซ็นเซอร์ที่ผูกขาดความผิด-ถูก อยู่ที่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมองว่า การกำกับเรตติ้งภาพยนตร์ควรจะใช้ระบบการกำกับดูแลกันเอง โดยผู้สร้างหนังเป็นผู้กำหนดเรตติ้ง และใช้กลไกของคณะกรรมการอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นตัวกำกับความเหมาะสม หลายประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมหนังเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการยื่นแก้ไขกฎหมายเซนเซอร์ภาพยนตร์โดยพรรคประชาชน จะได้รับการเห็นชอบผ่านสภาฯ นี้