งบฯ เยียวยา ‘น้ำท่วม’ มาจากไหน ?

เหตุการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การพูดคุยเรื่องแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยให้ตรงจุด และเพียงพอในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน

แต่เงินเยียวยาและฟื้นฟู จะมาจากไหน ? เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center รวบรวมข้อมูลเอาไว้ โดยพบว่าเวลานี้เรามีกระเป๋าเงินเยียวยาน้ำท่วมทั้งหมด 4 ทางด้วยกัน

กระเป๋าที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต.)

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูได้ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะประกาศเขตประสบภัยพิบัติหรือไม่ แต่ข้อจำกัดของกระเป๋านี้ เงินของท้องถิ่นคือ มีวงเงินงบประมาณจำกัด และยังมีขอบเขตการใช้เงินที่จำกัด ทำให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทำได้จำกัดไปด้วย และท้องถิ่นต่างๆ จึงมักเร่งให้ทางจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ และประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อใช้เงินในกระเป๋าที่ 2 ตามมา

กระเป๋าที่ 2 เงินทดรองราชการสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

การประกาศของทางจังหวัด โดยกระเป๋าในส่วนนี้ ยังมี 2 ก้อนคือ ก้อนแรกสำหรับการป้องกันหรือยับยั้ง ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติ และ ก้อนที่สอง คือการช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีการประกาศเขตภัยพิบัติ โดยมีวงเงิน 20 ล้านบาทในแต่ละจังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีงบฯ ก้อนนี้อยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 50 ล้านบาท และแต่ละกระทรวง จะมีงบฯ ก้อนนี้อยู่ในช่วง 10-100 ล้านบาท (กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงละ 10 ล้านบาท, กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงกลาโหม กระทรวงละ 50 ล้านบาท, สำนักนายกรัฐมนตรี 100 ล้านบาท)

โดยการเยียวยาสามารถทำได้ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด เช่น ซ่อมแซมบ้านหลังละไม่เกิน 49,500 บาท หรือไร่นาข้าวเสียหายเยียวยาไร่ละ 1,340 บาท เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นว่า กระเป๋าที่ 2 จะมีส่วนสำคัญในการเข้ามาเสริมการทำงานของกระเป๋าท้องถิ่น แต่ปัญหาที่มักพบก็คือ การประกาศเขตภัยพิบัติล่าช้า หรือไม่ประกาศเขตภัยพิบัติเลย แม้ว่าจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่แล้วก็ตาม รวมถึง อัตราในการช่วยเหลือเยียวยาอาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น จะช่วยเหลือผู้มีฟาร์มหมู ไม่เกิน 10 ตัว แต่การเลี้ยงหมูจริง ๆ ในสภาพปัจจุบันที่ประสบภัยพิบัติ จะมีจำนวนหมูในฟาร์มสูงกว่านั้นมาก

กระเป๋าที่ 3 กรณีภัยพิบัติสร้างความเสียหายจนเงินกระเป๋าที่ 1 และ 2 ไม่พอ

เรียกว่า งบฯ กลาง สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงิน ซึ่งการกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงนี่แหละที่มักจะเกิดประเด็นว่า เงินในกระเป๋าที่ 3 จะสามารถใช้จ่ายและเยียวยาเพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องลงได้มากน้อยเพียงใด หรือนำไปสู่การตกหล่นของพี่น้องกลุ่มใดหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน กรณีอุทกภัย จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบฯ กลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.5 ล้านบาท นั่นคือ เงินในกระเป๋าที่ 3 ที่มีพร้อมแล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอขอค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย ในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้

  1. กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

  2. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท

  3. กรณีมีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้เสนอของบประมาณ และกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขให้มี หนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ และต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับกรุงเทพมหานคร ต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร

โดยคณะรัฐมนตรี กำหนดว่า ให้จังหวัดที่ประสบภัยเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์และช่วยเหลือให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

นี่คือตัวอย่างขั้นต้นของเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือของเงินกระเป๋าที่ 3 ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ขั้นต้นว่า “การกำหนดเกณฑ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงย่อมมีความสำคัญมากๆ สำหรับการช่วยเหลือในหน้างานจริง” และเมื่อเราพิจารณาจากเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดขึ้น เราก็จะมีข้อห่วงกังวลเบื้องต้นใน 2 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก เกณฑ์การช่วยเหลือดังกล่าวใช้ “ระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วมขัง” เป็นเกณฑ์ระดับความช่วยเหลือ แต่ความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ ไม่ได้สัมพันธ์กับระยะเวลาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องลักษณะของการเกิดอุทกภัยด้วย เช่น หากเป็นน้ำป่าไหลหลากและมีโคลน/หน้าดินลงมาด้วยความเสียหายจะสูง แม้ว่าระยะเวลาที่น้ำท่วมขังจะไม่ถึง 7 วัน (บางกรณีอาจไม่ถึงหนึ่งวันด้วยซ้ำ เช่น บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา) ก็จะได้รับความช่วยเหลือเพียงขั้นต่ำสุดเท่านั้น

ประเด็นที่สอง วิธีการพิสูจน์น้ำท่วม ยังเป็นวิธีการที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีมาจับ เช่น ภาพจากดาวเทียม แต่ยังใช้กระบวนการทางปกครองในการรับรอง ทำให้อาจกินเวลาได้ถึง 90 วัน และอาจสุ่มเสี่ยงที่จะให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง หากมีการเล่นพรรคเล่นพวกหรือกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น

กระเป๋าที่ 4 รับบริจาค

โดยทางจังหวัดจะกำหนดเกณฑ์ในการใช้เงินบริจาคในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยในจังหวัดของตน ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจกำหนดกฎเกณฑ์ได้เอง แต่ไม่ว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นเพดานขั้นสูงอย่างไร สุดท้ายจำนวนเงินที่จะช่วยเหลือได้ ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มีเป็นหลัก เพราะฉะนั้น หลายคนจึงไม่อยากนับกระเป๋าที่สี่ เป็นกระเป๋าของรัฐบาล เพราะเงินในกระเป๋าไม่ได้มาจากรัฐบาล

ส่วนกรณีการล้างบ้าน จัดการดินโคลน ขยะ สามารถใช้งบประมาณได้จากส่วนไหน เดชรัต อธิบายเพิ่มเติมว่า จริง ๆ กระเป๋าใบที่ 1 ใบที่ 2 สามารถใช้ได้เลย แต่มีวงเงินงบประมาณจำกัด ส่วนกระเป๋าใบที่ 3 ก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด ถ้ากำหนดให้ครอบคลุมก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

นั่นคือ ภาพของกระเป๋าทั้ง 4 ใบ และข้อจำกัดของการใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พรรคประชาชน จึงมีข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขใน 4 ประการ ดังนี้

  1. เพิ่มเงินในกระเป๋าของท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้ตรงจุด และทันท่วงที

  2. ถ่ายโอนอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติให้แก่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถใช้เงินในกระเป๋าที่ 2 ได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น และหากมีความกังวลว่าจะมีการประกาศเขตภัยพิบัติที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ก็ให้มีกลไกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำเรื่องเสนอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พิจารณาทบทวน ยืนยัน/ยับยั้ง การประกาศเขตภัยพิบัติที่ท้องถิ่นประกาศไปแล้วได้

  3. ควรทบทวนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดการจ่ายเงินในกระเป๋าที่ 2 ทั้งในส่วนของจังหวัด และในส่วนของกระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น เช่น การกำหนดอัตราช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรให้ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร หรือการกำหนดเพดานการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต/การเลี้ยงจริงของเกษตรกรมากขึ้น และทำให้ขั้นตอนในการขอรับความช่วยเหลือในกระเป๋าที่สองมีความกระชับ และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือ/เยียวยาเป็นไปโดยเร็วที่สุด

  4. การกำหนดกฎเกณฑ์ในกระเป๋าที่ 3 หรืองบฯ กลางฉุกเฉินเร่งด่วน ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง และหากสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การใช้เงินในกระเป๋าที่สาม ก็ควรอนุญาตให้สามารถกำหนดเงื่อนไข/หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันในระหว่างในพื้นที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active