“หนูไม่ได้ขบถ หนูแค่รู้สึกว่าระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้เรียนในสิ่งที่ชอบ”
นี่คือเหตุผลของ ‘แก้ว’ เด็กวัย 17 ปี ที่ใช้ชีวิตวัยเรียนแตกต่างกับเพื่อนร่วมรุ่น หลังตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมาเป็น “นักเรียนรู้นอกระบบการศึกษาไทย”
‘แก้ว’ เลือกข้ามขอบความเก่งที่วัดคุณค่านักเรียนด้วยเกรด ทลายกรอบการศึกษาแบบมีตารางเวลามากำกับการเรียนรู้ด้วยตนเองบนความเชื่อว่า หนึ่งชั่วโมงถ้าอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบมันเสียเวลาที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ
The Active ชวนติดตามเรื่องราวของ ‘แก้ว’ กับการเดินทางข้ามขอบการศึกษาเพื่อปลดล็อกการเรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง ในอัลบัมภาพชุด “เรียนแบบแก้ว เปิดตำรานักเรียนรู้นอกระบบการศึกษาไทย”
เกรดเยอะ ไม่ได้แปลว่า เรียนเก่ง
ณ โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ เคยมีนักเรียนชื่อ ‘แก้ว – มณีวรรณ พลมณี’ ที่หากใช้เกรดวัดความเก่งเธอเป็นนักเรียนแนวหน้าที่มีค่าเฉลี่ย 3.88 เมื่อครั้ง ม.ต้น
“ก็เรียนเก่งอยู่ เกรดก็โอเค ถ้าใช้เกรดวัดค่าก็จะมีแค่เด็กเรียนดีกับเรียนไม่ดี เรารู้สึกว่าคนได้เกรดน้อยซึ่งถูกบอกว่าเรียนไม่ดี บางทีเขาอาจมีความถนัดในแบบของเขา แค่บางวิชาหน่วยกิตมันเยอะแต่เขาไม่ได้ถนัด”
‘แก้ว’ มองเรื่องเกรดคือหนึ่งในความไม่สมเหตุสมผลของระบบโรงเรียน ในความน่าจะเป็น ‘แก้ว’ น่าจะไปได้ดีกับการศึกษาระบบนี้ แต่เธอกลับไม่ได้รู้สึกเป็นสุขกับมัน
“เราก็คิดนะว่าถ้าอยู่ในระบบนี้เราคงไปได้ดีมาก คงจะเรียน เรียน เรียน จบออกไปเรียนต่อ แต่เราก็มีอีกความคิดหนึ่งตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงไปได้ดีจัง เราก็ไม่ได้เรียนเก่งอะไรมาก แต่ทำไมถึงได้เกรดเยอะจัง เพราะมันมีช่องโหว่ให้ใช้กลยุทธอะไรสักอย่างไง เช่น ท่องหนังสือก็ทำเกรดได้ ตรงนั้นแหละที่ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่เราจะเป็นเด็กอย่างนี้เหรอ เราจะยอม Play safe แบบนี้เหรอ”
อย่าให้การเรียน มีผลต่อกิจกรรม… เป็นนิยามสะท้อนตัวตนของ ‘แก้ว’ ได้เป็นอย่างดี เมื่อครั้งอายุ 16 ปี เธอเป็นนักกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียน มีตำแหน่งรองประธานนักเรียนและนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่ต้องลาครูอยู่บ่อย ๆ
“เราชอบทำกิจกรรมเลยไม่ค่อยได้อยู่โรงเรียนเท่าไร ลาครูไปต่างจังหวัดอยู่บ่อย ๆ แล้วมันก็ทำให้รู้สึกว่าในโรงเรียนก็ได้เรียนรู้ นอกโรงเรียนก็ได้เรียนรู้ ก็เลยถามตัวเองว่าเราจะเรียนแบบไหนดี จริง ๆ ควบสองก็ได้ แต่แบบไหนจะได้เป็นตัวของตัวเองที่สุด”
GED ทางเลือกการเรียนรู้
‘แก้ว’ เลือกข้ามขอบความเก่งที่วัดคุณค่านักเรียนด้วยเกรด มาสู่สูตรการศึกษาที่เธอปรุงเองตามความสนใจ โดยมี GED เป็นทางเลือกใหม่ในการรับรองวุฒิการเรียนรู้
GED หรือ General Educational Development เป็นหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนในระดับมัธยมปลายของสหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีเทียบวุฒิเท่ากับ ม.6 เปิดให้ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปสมัครสอบ 4 วิชา ได้แก่ การอ่านและการเขียน (Reasoning Through Language Arts), สังคม (Social Studies), วิทยาศาสตร์ (Science) และคณิตศาสตร์ (Mathematical Reasoning) โดยมีศูนย์สอบในไทย มีชุดข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ
วุฒิ GED ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นที่ยอมรับในหลักสูตรนานาชาติและหลาย ๆ คณะในมหาวิทยาลัยของไทย หาก ‘แก้ว’ พร้อมเมื่อไรก็สมัครสอบได้
“ช่วงเรียน ม.4 มีเพื่อนคนหนึ่งมาบอกว่าจะลาออกไปสอบเทียบ GED เราว้าวมาก ไม่เคยรู้จักมาก่อน รู้จักแต่ Home school กับ กศน. เลยไปศึกษาดูว่า GED คืออะไร คณะที่อยากเรียนใช้วุฒินี้สมัครได้ไหม เราชอบภาษาอังกฤษ ก็ดูคณะกับมหาวิทยาลัยที่รับวุฒินี้ได้ รู้สึกว่านี่แหละใช่ทางของเรา”
‘แก้ว’ บอกว่าเธอมีหลายอย่างที่อยากทำแต่ระบบโรงเรียนไม่ได้ส่งเสริมให้ลงมือได้ โดยมองว่าห้องเรียน ชั่วโมงเรียน และเขตรั้วโรงเรียน คือข้อจำกัด
“มีคนที่เรารู้จักเยอะมากอยู่ ม.6 แล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร พอถึงเวลาก็ต้องเลือกเรียนสักอย่างโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้เรียนอะไร Gap year ก็ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยโอเค พอ ม.6 แล้ว อายุ 18 แล้ว ก็ต้องเลือกอะไรสักอย่างที่คิดว่าตัวเองทำได้ ทั้งที่โรงเรียนน่าจะช่วยให้เด็กได้รู้จักตัวเอง”
‘แก้ว’ ศึกษารายละเอียดอย่างดีว่าความยืดหยุ่นจะทำให้เธอมีเวลาเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เธอเอาเหตุผลเหล่านี้คุยกับแม่และคนที่บ้าน เมื่อไม่มีใครคัดค้านจึงตัดสินใจเซ็นใบลาออกหลังจากเรียนจบ ม.4
เชื่อใจ วิธีเลี้ยงลูกฉบับ ‘แม่ของแก้ว’
“แม่ชอบอิสระ เลยอยากให้อิสระกับคนอื่น เลี้ยงลูกเราต้องฟังเสียงเขาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเราชอบแบบไหนก็อยากให้เขาเป็นแบบนั้น แม่ใช้วิธีคุยกันมากกว่า ไม่บังคับลูก”
นี่คือคำบอกเล่าจาก ‘หนูเกล พลมณี’ แม่วัย 47 ปี ที่มองอนาคตทางการศึกษาเป็นเรื่องส่วนตัวของลูก เธอและพ่อของ ‘แก้ว’ เป็นเกษตรกรที่หลุดความจนเพราะความขยัน เลยไม่ได้คาดหวังว่าลูกต้องเรียนสูง ๆ แต่พร้อมสนับสนุนให้เรียนเต็มที่
“การเรียนเป็นอนาคตของเขา สิ่งที่เขาฝันเราปล่อยเขาไปก่อน แม่ไม่ได้หวังว่าลูกต้องเรียนสูง ๆ ทำงานสูง ๆ มาดูแลแม่ แม่เรียนจบ ป.6 แต่ถือว่าชีวิตเราสำเร็จโดยไม่ได้เรียนหนังสือ แต่มีความขยันตั้งใจ ก็เชื่อว่าถ้าลูกมีความตั้งใจ ถึงเขาเรียนแบบนี้แล้วไปสอบเอาวุฒิไม่ได้ ก็เป็นประสบการณ์เขา อย่างน้อยเขาก็อ่านออกเขียนได้ รู้จักผู้คน รู้จักการใช้ชีวิต”
แม่ของ ‘แก้ว’ เล่าให้ฟังถึงตอนที่ลูกสาวขออนุญาตลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาออกแบบการเรียนรู้เองว่า ช่วงที่ลูกยังอยู่ในระบบโรงเรียนเธอเคยไปส่ง ‘แก้ว’ ทำกิจกรรมที่ จ.กาฬสินธุ์ แล้วพบกับครอบครัวหนึ่งทำ Home school ให้ลูก เลยเห็นภาพตอนลูกตนเองมาขอลาออกว่าการศึกษามีหลายรูปแบบ
“เราเคยสงสัยว่าลูกบ้านนั้นไม่ได้ไปโรงเรียนชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็ได้รู้ว่าพวกเขาเรียนที่บ้าน บางอย่างเขาเก่งกว่าเด็กในโรงเรียนด้วยนะ พอลูกมาบอกว่าจะทำคล้าย ๆ แบบนั้น เราก็ถามว่ามั่นใจไหม ถ้าไปไม่รอดจะเสียเวลาหรือเปล่า แต่เขารับปากว่าเขาทำได้”
อย่าให้การเรียน มีผลต่อกิจกรรม… ของ ‘แก้ว’ ส่งผลให้แม่เคยชินกับการมีลูกไม่ไปโรงเรียน แม่ของเธออยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกสาว พร้อมรับฟังและไม่เซ้าซี้แต่คอยเคียงข้างอยู่ห่าง ๆ บนแนวคิดว่า มั่นใจลูกเหมือนกับเรามั่นใจตัวเอง
“ลูกคนอื่นไปโรงเรียน แต่ลูกเราไปกิจกรรม เมื่อก่อนเราก็เคยคิดนะ โอ้ยตายทำไมไม่ตั้งใจเรียนหละลูก ทำไมไม่ทำคะแนนเยอะ ๆ สอบให้ได้ที่หนึ่ง เขาบอกว่าถึงไม่ได้ไปโรงเรียนก็อ่านหนังสืออยู่ แล้วผลการเรียนเขาก็โอเค เราเลยชินกับการที่เขาไม่ไปโรงเรียน”
ทุกที่คือโรงเรียน
“เรารู้สึกว่าได้เวลากลับมาเยอะมาก แล้วเราได้ใช้ชีวิต”
ร่วม 1 ปีแล้วที่ ‘แก้ว’ เดินทางข้ามขอบการศึกษา โดยมีตารางชีวิตเป็นการเข้าครัวหุงหาอาหารช่วยแม่แทนการรีบเร่งไปโรงเรียน เธอมีเวลามากพอในการดูแลงานบ้าน ดูหนัง ฟังเพลง และอ่านวรรณกรรม
“เรื่องเวลาเป็น Key man เลย เรามีเวลาน้อยกันอยู่แล้วในแต่ละวัน ถ้าเราไปโรงเรียนมันใช้เวลานานมากเลยนะ บางทีเสียเวลาไปเปล่า ๆ ชั่วโมงหนึ่งถ้าอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้ชอบมันก็นานนะ ถ้าชั่วโมงนั้นเราเอาเวลาไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง เต้นโคฟเวอร์อะไรสักอย่าง เราว่ามันเกิดประโยชน์กับตัวนักเรียนมากกว่าจับเขาไปอยู่ในห้องเรียน”
ช่วงนี้การเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนของ ‘แก้ว’ ถูกใช้ไปกับงานเขียนที่เธอมักโพสต์เรื่องราวและบทเรียนจากกิจกรรมและการใช้ชีวิตสู่สาธารณะ ตอนนี้เธอมีเป้าหมายหลวม ๆ ว่าอยากรวมเนื้อเรื่องให้เป็นหนังสือสักเล่มในชื่อ “ฉัน ออก เดิน ทาง” แต่ไม่กดดันตัวเอง
การเรียนรู้อีกอย่าง คือการสร้างเพจ สัตว์ไรนิ. และ เด็กไต่เต้า ร่วมกับเพื่อนช่วยกันขับเคลื่อนวาระทางสังคมที่พวกเขาสนใจ
“สัตว์ไรนิเป็นเพจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ส่วนเด็กไต่เต้าเป็นการขับเคลื่อนแคมเพนรัฐสวัสดิการเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก หลาย ๆ ประเด็นเป็นเรื่องแปลกใหม่ของเราเพราะไม่เคยรู้ปัญหา เราก็ศึกษาแล้วร่วมขับเคลื่อนผ่านเพจเล็ก ๆ ไม่ใช่องค์กรใหญ่อะไร แต่ก็หวังให้มันใหญ่ขึ้นนะ”
‘แก้ว’ รู้สึกว่าหลังผันตัวเองมาเป็นนักเรียนรู้นอกระบบการศึกษา เธอมองเห็นอะไรก็กลายเป็นการเรียนรู้ไปเสียหมด และมีทุกที่เป็นโรงเรียนให้ได้ทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น แม้จะยังไม่ชัดแจ๋ว แต่ก็รู้ได้ว่าช่วงเวลานั้น ๆ อยากทำอะไร
“ถามว่าตอนนี้เห็นเป้าหมายหรือยัง เรายังไม่เห็น แต่รู้สึกดีที่ไม่ได้มีใครมาเร่งรัดให้เรารู้สึกว่าเราต้องรู้ว่าความฝันคืออะไร ตอนนี้เราก็เรียนรู้ไป อะไรที่เหมาะก็ทำ อะไรที่สนใจก็ลอง ขลุกอยู่กับมัน มีเวลาอยู่กับมันเต็มที่”
เพราะทุกวันคือรันเวย์
อีกหนึ่งกิจวัตรด้านการเรียนรู้ที่ ‘แก้ว’ หลงไหล คือ การเดินทาง ‘แก้ว’ มักจะใช้เวลาออกไปพูดคุยกับผู้คน ปักหมุดหมายตามชุมชนและออกเดินทางไปจังหวัดที่ทำให้เธอได้รู้จักเพื่อนรุ่นเดียวกันและเพื่อนต่างรุ่นเยอะมาก
“เราใช้ทุกที่เป็นโรงเรียนจริง ๆ นะ เราออกจากบ้านบ่อยกว่าอยู่บ้านอีก เรารู้สึกว่าบ้านควรเปิดประตูไว้ให้เราออกไปข้างนอกได้ตลอด เราเคยแบ็กแพ็กลงใต้ไปคนเดียว ตระเวนตามจังหวัดต่าง ๆ อยู่กับเพื่อน ๆ เป็นเดือน ๆ ได้ถ่ายภาพ เขียนหนังสือ ทำเวิร์กช็อป เป็นการเรียนรู้ที่สนุกดี”
‘แก้ว’ เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มที่เธอรู้สึกชื่นชอบการเดินทางว่าตอน ม.2 ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียน เริ่มจากเป็นเด็กค่าย ฉายแววคุยเก่งก็ถูกพัฒนาเป็นพี่เลี้ยงค่าย และขยับขยายไปเป็นนวัตกรในโครงการของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
“ตอนอยู่ในโรงเรียนทำได้ไม่เต็มที่ อย่างที่บอกไปโรงเรียนก็กินเวลาเราไปทั้งวัน วันเสาร์อาทิตย์อย่าถามเลย การบ้านทั้งนั้น”
อยากเห็น “การศึกษาไทย” สนับสนุนความสนใจรายคน
“เราอาจจะไม่เข้มแข็งเพื่ออยู่ในระบบการศึกษาชั้นมัธยม แต่เราก็อยากลองกลับเข้าระบบอีกครั้งในมหาวิทยาลัย”
วันนี้เพื่อนร่วมรุ่นของ ‘แก้ว’ เรียนจบ ม.5 กันแล้ว เธอวางแผนว่า 1 ปีจากนี้จะสอบเทียบวุฒิ GED ให้ผ่าน เพื่อใช้สมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาพร้อมเพื่อน และแม้ว่า ‘แก้ว’ ไม่ได้ไปโรงเรียน แต่เพื่อน ๆ ก็ยังติดต่อกับเธออยู่เสมอ บางคนบอกว่าอยากเรียนแบบแก้ว แต่ไม่กล้า เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองมีต้นทุนสูง ไม่ได้ถูกสนับสนุนเหมือนเรียนในโรงเรียน และยังไม่ถูกยอมรับเท่ากับเรียนในระบบ
“เราไม่ได้วางแผนเป๊ะ ๆ ว่าจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยพร้อมเพื่อน ก่อนเพื่อนหรือตามเพื่อน ก็เอาที่จังหวะชีวิตได้ ตอนนี้เราก็เรียนรู้หลายประเด็นกระจายกันอยู่ วันหนึ่งอาจจะเหลือแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เรารู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เด็กอย่างเราควรได้ทำ ลองเยอะ ๆ ถ้าไม่ชอบก็โอเคเข้าใจว่าเราไม่ได้มาทางนี้”
ก่อนปิดบทสนทนา ‘แก้ว’ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงระบบการศึกษาไทยว่าผูกขาดความรู้ไว้กับโรงเรียนมากไปหรือไม่ ในขณะที่เด็กแต่ละคนมีความแตกต่าง และมีความสนใจต่อการเรียนไม่เหมือนกัน ซึ่งความหลากหลายในการเรียนรู้ไม่ควรรอจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
“ระบบการศึกษาไทยควรเห็นความหลากหลายของเด็กมัธยมมากกว่านี้ เราว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่มัธยมช่วงที่ไฟการเรียนยังติดอยู่ เรายังเป็นเด็กที่อยากเรียนรู้ จะให้เรียนแบบเดิม อยู่ได้มันก็อยู่ แต่ว่าก็ไม่ได้อยากอยู่เพื่อที่จะทำร้ายจิตวิญญานตัวเอง เรารู้สึกว่าถ้าระบบดีเราจะไม่เหนื่อยขนาดนี้”