ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Jurassic World ภาคที่ 4 : Rebirth ได้โลเคชันถ่ายทำที่ชายหาด และเกาะใน จ.กระบี่ ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ ที่เลือกมาถ่ายทำในสถานที่ทางธรรมชาติของไทย เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่อง เช่น The Beach, The Man with the Golden Gun, Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith, The Creator หรือซีรีส์เรื่องล่าสุดอย่าง The White Lotus ล้วนใช้ความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามทางธรรมชาติของไทยเป็นฉากหลังให้กับเรื่องราวมากคุณค่า
แต่แหล่งท่องเที่ยว หรือบรรยากาศสีเขียวในไทย กำลังจะเผชิญกับพิษภัยที่เสี่ยงจะกระทบในระยะยาว นั่นคือ ขยะพลาสติกที่จัดการไม่ดี
นอกจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Jurassic World ยังมีโครงการที่จะจัดอีเวนต์ เปิดประสบการณ์ไดโนเสาร์ในพื้นที่เอเชียทีค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงปลายปีนี้ เชื่อมโยงกับการโปรโมทภาพยนตร์ ด้วยหุ่นไดโนเสาร์ที่ว่ายไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในสายน้ำแห่งนี้เอง ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาพลาสติกของประเทศไทยเช่นกัน
ในโอกาสที่ภาพยนตร์ไดโนเสาร์ ซึ่งถ่ายทำในประเทศไทย ลงโรงฉายให้คนไทยได้รับชม ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ตรงกับแคมเปญชาเลนจ์ Plastic Free July The Active ชวนมองความเชื่อมโยงกันของ ขยะพลาสติก ในทะเล กับเรื่องราวที่หยิบยกมาเทียบเคียงกับไดโนเสาร์ ท่ามกลางความหวังที่จะยับยั้งการปล่อยขยะพลาสติก ก่อนที่พวกมันจะมายึดโลก

จากเชื้อเพลิง ‘ฟอสซิล’ สู่ ‘พลาสติก’
98% ของพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (SUP)
ผลิตมาจากปิโตรเคมี น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคือเชื้อเพลิงฟอสซิล
แต่ก็ต้องใส่หมายเหตุว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลจะไม่ได้หมายถึง ซากสัตว์ประเภทไดโนเสาร์ทั้งหมด แต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นเช่น ต้นไม้ ใบไม้ ชีวมวลที่ถูกทับถมลงไปใต้ชั้นดินเป็นเวลาหลายล้านปี และเป็นต้นตอหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น พลังงานประเภทไม่หมุนเวียน สร้างมลภาวะ ที่นักวิชาการหรือนักรณรงค์หลายคน ก็คอยย้ำว่า หากต้องการจะหยุดอุตสาหกรรมน้ำมันที่ทำให้โลกร้อนนั้น ก็จำเป็นต้องชะลอและเปลี่ยนผ่านจากการใช้วัสดุพลาสติกไปพร้อมกัน
ในปัจจุบัน พลาสติกส่งผลกระทบมากมาย และแผ่กระจายผลกระทบสู่ธรรมชาติมาหลายต่อหลายปีแล้ว ไล่ตั้งแต่เต่าทะเลที่โดนเศษพลาสติกทำร้าย หาดทรายเต็มไปด้วยขยะจนไม่มีนักท่องเที่ยว หรืองบประมาณมหาศาลหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รอบโลกเพื่อแก้ปัญหาขยะ The Active ขออาสาพาสำรวจผลกระทบจากขยะพลาสติกใน 2 มิติหลัก นั่นคือ ด้านสิ่งแวดล้อม และ เศรษฐกิจ

- ในมุมธรรมชาติ มีขยะพลาสติกมากกว่า 90% ที่ไม่ถูกนำไปจัดการผ่านกระบวนการรีไซเคิล และขยะเหล่านี้ มีเกือบ 25% ที่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกวิธี ทำให้ไหลไปจบชีวิตในธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะลงสู่ทะเล กลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำข้ามพรมแดนรอบโลก การจัดการขยะพลาสติกไม่ถูกวิธีนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 47% และมีพลาสติกรั่วไหลสู่ธรรมชาติเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2040 (จากระดับปี 2020)
- ส่วนในด้านของเศรษฐกิจ ขยะพลาสติกสร้างความเสียหายให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุกปี เพราะขยะเหล่านี้กระทบทั้งธุรกิจภาคการขนส่งทางเรือ การประมง และการท่องเที่ยว
เมื่อพลาสติกมากกว่าคน และมากกว่าไดโนเสาร์
ที่ขยะพลาสติกกระทบชีวิตและเศรษฐกิจโลกได้มากขนาดนี้ เพราะจำนวนของขยะพลาสติกที่ถูกผลิตมานี้เยอะมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

คาดการณ์กันว่า ในปี 2050 โลกของเราจะถูกยึดครองโดยพลาสติก 35,500,000,000 ตัน ในสถานการณ์ปกติ หากเทียบกับน้ำหนักตัวคนเฉลี่ยที่ 62 กิโลกรัมแล้ว จะหนักเทียบเป็น 70 เท่าของน้ำหนักมนุษย์บนโลกรวมกัน หรือเท่ากับมนุษย์ 5.73 แสนล้านคน
หากเทียบเป็นจำนวนไดโนเสาร์ที่จะมายึดโลกของเรา ขยะพลาสติกในปี 2050 จะมีน้ำหนักเทียบเท่า ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ 5 พัน ล้านตัว หรือ เวโลซิแรปเตอร์ 2.4 ล้านล้านตัว
นอกจากจำนวนที่จับต้องได้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พลาสติกเหล่านี้ยังเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3.4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก (มีการวัดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลาสติกได้ 1,800 ล้านตันในปี 2019) และตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์ปกติ
สถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเลไทย
การจัดการขยะพลาสติกในไทยยังน่าห่วง ไทยผลิตขยะมากอันดับ 9 โดยแม่น้ำเจ้าพระยา ปล่อยขยะลงทะเลอันดับ 15 ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ค้นพบและเก็บขยะได้ 22 ล้านชิ้น ในน่านน้ำทะเลไทย แบ่งเป็นพลาสติกหลากหลายชนิด

จะเห็นได้ว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของพลาสติกอย่างในกระบวนการผลิตแล้ว ในด้านของการจัดการขยะพลาสติกที่หลุดรอดออกมา และไหลลงสู่พื้นที่ธรรมชาตินั้น ก็นำมาซึ่งปัญหาในมิติต่าง ๆ เช่นกัน
หากจำแนกตามประเภทของขยะที่เก็บได้จากทะเลไทย จะเห็นแนวโน้มปริมาณขยะจากจำนวนชิ้นของพลาสติกแต่ละประเภทดังนี้
- ขวดเครื่องดื่ม 3.1 ล้านชิ้น
- ถุงพลาสติก 2.6 ล้านชิ้น
- เศษโฟม 2 ล้านชิ้น
- ถุง 1.5 ล้านชิ้น
- ห่ออาหาร 1.27 ล้านชิ้น
- เศษพลาสติก 8 แสนชิ้น
- กล่องโฟม 7 แสนชิ้น
- หลอด/ที่คนเครื่องดื่ม 6 แสนชิ้น
นอกจากขยะพลาสติกเหล่านี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังระบุถึงขยะอีกหลากหลายประเภทที่สามารถพบเจอได้ในทะเลหรือชายหาดประเทศไทย และใช้เวลาย่อยสลายนานเหมือนกัน
- อวน ระยะย่อยสลาย 600 ปี
- ผ้าอ้อมเด็ก ระยะย่อยสลาย 500 ปี
- รองเท้าหนัง ระยะย่อยสลาย 25-40 ปี
- ไม้ ระยะย่อยสลาย 13 ปี
- ก้นบุหรี่ ระยะย่อยสลาย 12 ปี
- ถ้วยกระดาษ ระยะย่อยสลาย 5 ปี
ต้นตอของขยะที่ไม่ได้รับการจัดการ และปล่อยลงสู่มหาสมุทร หลัก ๆ มาจากแม่น้ำแต่ละประเทศที่ไหลลงสู่ทะเล
ปัญหาภาพใหญ่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขยายมุมมองไปถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) เห็นได้ว่า ตลาดพลาสติกเติบโต ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีการผลิตพลาสติกเพิ่มมากขึ้น โดยแนวโน้มการเติบโตทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 5.66% ไปจนถึงปี 2030 แม้ว่าที่ผ่านมา ภูมิภาค APAC จะเป็นผู้ผลิตพลาสติกเกินครึ่งของโลกอยู่แล้ว ที่ 203 ล้านตันในปี 2021

หากผลิตพลาสติกเยอะแต่จัดการดี ขยะก็อาจจะไม่ได้ไหลลงสู่ทะเล และอาจนำไปรีไซเคิลหรือเปลี่ยนเป็นพลังงานที่เป็นประโยชน์ได้อีก แต่สถานการณ์ปัจจุบันในภูมิภาค APAC ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในปัจจุบัน การจัดการขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาในระดับภูมิภาค เห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนการสร้างขยะมูลฝอยชุมชนใน APAC นับเป็น 43% ของโลก
จากการสร้างขยะในทะเลจำนวนมาก นำไปสู่การจัดเก็บที่ไม่ดี เพราะขยะพลาสติกในเอเชีย นับเป็น 81% ของขยะพลาสติกโลก ตัวเลขนี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า ภูมิภาคอื่น ๆ ผลิตขยะเยอะกว่าเอเชียมาก แต่สิ่งที่ทำให้เอเชียปล่อยขยะเยอะเป็นเพราะมีระบบการจัดการไม่ดีเท่าประเทศหรือภูมิภาคอื่น ๆ นั่นเอง
ในปัจจุบัน มีพลาสติกปริมาณประมาณ 1.15 – 2.41 ล้านตัน ที่ไหลจากแม่น้ำ ลำธารของโลกลงสู่ทะเลทุกปี โดยที่แม่น้ำประมาณ 15 จาก 20 สายที่ปล่อยขยะพลาสติกเยอะที่สุด อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งแม่น้ำ 20 สายนี้นับเป็น 2 ใน 3 ของต้นตอขยะพลาสติกในทะเล แม้จะเป็นพื้นที่เพียง 2.2% ของแผ่นดินบนโลก และเป็นที่อยู่ของประชากรโลกเพียง 21%
นโยบายที่ประเทศอื่นทำได้ และไทยควรลอง
ถ้านโยบายไม่เข้มแข็งไปแบบนี้ ตามเทรนด์ปัจจุบัน จะมีขยะพลาสติกกว่า 100 ล้านตัน ถูกจัดการผิดวิธีในทุกปี เลยขอยกตัวอย่างการเริ่มการจัดการพลาสติกง่าย ๆ จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ที่จริงแล้วประเทศไทยก็น่าจะทำได้ไม่ยาก

- ฟิลิปปินส์และบาหลี อินโดนีเซีย แบนการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งในบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมไปถึงแพคเกจจิงสำหรับการขนส่งเดลิเวอรี ถุงใช้แล้วทิ้ง หลอด และกล่องโฟม
- จีน เก็บเงินเพิ่ม เพื่อให้งดใช้ถุงพลาสติกชนิดบางพิเศษ และแบนถุงที่บางกว่า 25μm ตั้งแต่ปี 2008
- เมืองย่างกุ้ง เมียนมาร์ แบนการผลิต การใช้ และการขายถุงพลาสติก ในปี 2011
- มาเลเซีย แบนหลอดพลาสติกตั้งแต่ 2018
- บรูไน แบนถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2019 และผู้บริโภคได้รับการสนับสนุนให้ใช้ถุงใช้ซ้ำ
- ไต้หวัน แบนหลอดพลาสติกในร้านอาหาร-เครื่องดื่มทั้งหมด
- เวียดนาม มีมาตรการลดการใช้ SUP ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ โดยแนะนำแพคเกจจิงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมต่อผู้ผลิตกับผู้ซื้อ

8 ขั้นตอนสู่การหยุดพลาสติก
สถาบันกฎหมายนานาชาติของ NUS ได้สรุปขั้นตอนการออกแบบนโยบายเพื่อหยุดพลาสติกได้อย่างแท้จริงออกมา โดยแบ่งเป็น 8 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ผู้ออกแบบนโยบายตัดสินใจงดใช้พลาสติก ไปจนถึงการกำหนดตัวชี้วัดมลพิษพลาสติกทางทะเลที่ครอบคลุม
- ความตั้งใจ ต้องมีความตั้งใจในการจะงดใช้พลาสติก แล้วจึงศึกษาต่อว่า หากจะสามารถเปลี่ยนผ่านหรือลด ไปจนถึงงดหรือแบน จะต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมาย มาตรการ หรือแนวทางอย่างไรบ้าง
- ศึกษาข้อจำกัด ศึกษาข้อจำกัดหรือโอกาสในการถูกแทรกแซง ดูว่าพื้นที่ที่เราอยากครอบคลุมนั้นกว้างแคบเพียงใด และการบังคับใช้จะเป็นระบบบังคับตามกฎหมายหรือสมัครใจ
- วิจัยตลาด วิจัยตลาด ความเป็นไปได้ และการยอมรับ ผ่านการศึกษาแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ รวมถึงเก็บข้อมูลความยอมรับเรื่องการงดใช้พลาสติกในปัจจุบัน
- วางตัวชี้วัด วางตัวชี้วัดในด้านของผลกระทบ เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่ต้องการหลังดำเนินการแล้ว
- ศึกษาอุปสรรค ศึกษาอุปสรรค และวางมาตรวัดการมีส่วนร่วมขององค์กรรอบข้าง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตาม หรือการมีส่วนร่วมขององค์กรอื่น ๆ
- ตั้งมาตรวัด ตั้งมาตรวัด (เมทริกซ์) ในส่วนของขยะพลาสติก เพื่อเตรียมการวัดหรือนับจำนวนพลาสติกที่ยังไหลลงสู่ทะเล หรือพลาสติกที่ถูกเก็บกลับมาได้ โดยอาจจะวัดจากจำนวน น้ำหนัก หรือวิธีอื่น
- กำหนดพื้นที่ กำหนดพื้นที่เฉพาะเพื่อสำรวจและสังเกตขยะพลาสติก
- เปรียบเทียบผล เปรียบเทียบและวัดกับตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ ดูว่ามีการลดมลพิษทางพลาสติกหรือขยะพลาสติกทางทะเลหรือไม่
ความหวังสู่อนาคต
ด้วยตัวอย่างนโยบาย และขั้นตอนการออกแบบที่มีคู่มือเหมือนสูตรสำเร็จมาแล้ว จะเห็นได้ว่า การคาดการณ์การใช้พลาสติกทั่วโลก มีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ หากธุรกิจดำเนินตามสถานการณ์ปกติ (BAU หรือ business as usual) สังเกตได้จากตัวเลขการผลิตพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นจาก 234 ล้านตันเป็น 460 ล้านตันต่อปี ในช่วง 2 ทศวรรษหลังปี 2000

ด้วยทิศทางที่โลกกำลังพุ่งเป้าไป เราจะได้เห็นการผลิตและบริโภคพลาสติก 736 ล้านตันในปี 2040 เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% จาก 435 ตันในปี 2020 โดยแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเหล่าพลาสติกมีโอกาสจะเกิดในภูมิภาคที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา
อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน International Resource Panel (IRP) ได้จัดทำแผนคาดการณ์ว่า ถ้ามีการออกนโยบายที่ครอบคลุมและเข้มงวด ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจัดการขยะ จะสามารถลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงได้ถึง 80% ในปี 2040
การดำเนินนโยบายที่ทะเยอทะยานตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ซึ่งครอบคลุมการลดการผลิตและความต้องการ การออกแบบเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิล และการปิดเส้นทางการรั่วไหล จะช่วยแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากการใช้พลาสติก โดยสามารถเพิ่มอัตราการรีไซเคิลทั่วโลกได้ 4 เท่า และเกือบจะยุติการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ลดลง 96% จากแนวทางธุรกิจปกติภายในปี 2040
นโยบายที่ทะเยอทะยานที่สุดจะมุ่งเป้าไปที่ทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติก ซึ่งจะจำกัดปริมาณพลาสติกที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การลดความต้องการพลาสติกจะช่วยลดต้นทุนการจัดการขยะ และส่งผลให้มีการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยลง การใช้นโยบายการลดขยะและการลงทุนเพิ่มเติมในการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ สามารถจำกัดต้นทุนเพิ่มเติมในการยุติการรั่วไหลของพลาสติกได้เพียง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2040 ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมจากต้นทุนตามแนวทางธุรกิจปกติ 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ระหว่างปี 2020-2040
ดักจับขยะพลาสติก ด้วยสนธิสัญญาพลาสติกโลก
ความหวังสำคัญของนักสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสนใจประเด็นพลาสติกคือการเกิดขึ้นของสนธิสัญญาพลาสติกโลก หลังจากการประชุม Intergovernmental Negotiating Committee (INC) ที่มีการเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำสนธิสัญญาดังกล่าวมานานกว่า 3 ปี และจัดการประชุมมาแล้วกว่า 5 ครั้ง
ขณะนี้กำลังจะมีการประชุมครั้งที่ 5.2 ในอีก 1 เดือนข้างหน้า ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมจากทั่วโลกจะไปรวมตัวกันที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อประชุมร่วมกันระหว่างวันที่ 5 – 13 สิงหาคมนี้
การประชุมครั้งนี้จะเป็นการเจรจาและต่อรองเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านออกจากการสร้างมลพิษขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งผลลัพธ์ที่จะออกมาจากการประชุมครั้งสำคัญนี้ จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของการจัดการปัญหาขยะพลาสติกระดับโลก และความสามารถในการบังคับใช้ตามกฎหมายของสนธิสัญญาที่จะเกิดขึ้น ว่าจะยังเป็นระบบสมัครใจ หรือจะมีผลทางกฎหมายหรือเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่
นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญ ที่โลกอาจจะได้เห็นการก้าวสู่ยุคใหม่ของการแก้ปัญหาพลาสติกที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย การออกนโยบายจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่ก็จะกระทบไปถึงภาคการประมง ขนส่ง ท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์แบบ Jurassic World ต่อไปได้