ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา เราอยากชวนผู้อ่านลองสังเกตภาพท้องฟ้า (ข้างล่าง) แล้วลองแหงน ดูท้องฟ้าเหนือบ้านท่านในเวลากลางคืน ว่าคล้ายคลึงกับผืนดาวในระดับใด
ภาพข้างต้น คือ ภาพท้องฟ้าที่ถูกแบ่งตาม Bortle Scale ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดระดับความมืดของท้องฟ้าในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่มีมลพิษทางแสง (light pollution) ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการมองเห็นดวงดาว และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ด้วยตาเปล่าหรือกล้องโทรทรรศน์ Bortle Scale มีระดับตั้งแต่ 1 – 9 โดยระดับ 1 คือท้องฟ้ามืดสมบูรณ์แบบ (Excellent dark-sky site) และระดับ 9 คือท้องฟ้าในใจกลางเมือง (Inner-city sky) ซึ่งได้รับมลภาวะทางแสงสูงสุด จนแทบไม่เห็นดวงดาวใด ๆ
หากท้องฟ้าที่คุณเห็นยามค่ำคืน ณ ขณะนี้ ยิ่งใกล้เคียงกับภาพทางซ้ายมือมากเท่าไร ขอให้ภูมิใจว่าคุณได้มีโอกาสเห็นผืนฟ้าที่ดั้งเดิม ไร้มลทินมากที่สุด
เพราะมีคนไทยกว่า 1 ใน 3 ไม่อาจได้เห็นทางช้างเผือกจากหน้าบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ และในอนาคต ผืนดาราผืนนี้กำลังถูก ‘มลภาวะทางแสง’ กลืนกินมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง และการใช้แสงไฟอย่างไร้การควบคุม ซึ่งเป็นการรบกวนธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
ในวันที่โลกสว่างมากขึ้นทุกวัน ‘ความมืด’ จึงเปรียบกับขุมทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่ตามป่าลึก ทะเลทรายรกร้าง หรือเกาะห่างไกล ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดให้มี ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky)’ เพื่อสงวนท้องฟ้าดั้งเดิมของโลก (Pristine Sky) ไม่ให้ถูกแสงไฟประดิษฐ์เข้าทำลาย รวมถึงการกำหนดให้ ‘มลภาวะทางแสง’ เป็นหนึ่งในมลพิษที่ต้องได้รับการควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ เพื่อจำกัดการใช้แสงในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ให้รบกวนสุขภาพประชาชน สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมโลกเดียวกัน
ความมืดกำลังลดลงเรื่อย ๆ จากการขยายตัวของเมืองในทุกภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อแวดวงวิชาการและการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์โดยตรง ‘ท้องฟ้ามืด’ จึงกลายเป็นเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่า ที่ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มหันมาอนุรักษ์ความมืด The Active ชวนสำรวจข้อมูลภายใต้ผืนฟ้าอันมืดสนิท ยังมีปัญหาใดให้เร่งแก้ไข ก่อนที่จะไม่เหลือน่านฟ้าใดให้มองดวงดาวด้วยตาเปล่าได้อีก
คนไทยกว่า 3 ใน 5 สูญเสียผืนดาวบนท้องฟ้า
สัตว์ป่าสูญเสียระบบนิเวศดั้งเดิม
จากผลการศึกษาในปี 2559 พบว่า กว่า 80% ของประชากรโลกต้องอาศัยอยู่ใต้ท้องฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางแสง ขณะที่ 1 ใน 3 ของประชากรโลกไม่อาจมองเห็น ‘ทางช้างเผือก‘ จากพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ เป็นผลให้บรรดานักนิเวศวิทยา นักดาราศาสตร์ นักสาธารณสุข ตลอดจนผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว ต่างกังวลถึงผลกระทบจากปริมาณมลภาวะทางแสงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุคปัจจุบัน
ขณะที่ ประเทศไทย มีประชากรถึง 61.5% ที่สูญเสียการมองเห็นท้องฟ้าดั้งเดิมของโลก และมีถึง 16.3% ที่ได้รับมลภาวะทางแสงในระดับที่ส่งผลเสียต่อดวงตา ซึ่งล้วนเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พวกเขาได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณาที่มีความเข้มข้นของแสง เป็นไฟกระพริบ บาดตา เปิดแสงจ้าอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย และอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือการนอนไม่หลับได้
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) เปิดเผยว่า มลพิษทางแสงยังรบกวนพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของสัตว์หลายชนิดในธรรมชาติ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ผีเสื้อกลางคืน ซึ่งถูกดึงดูดโดยแสงประดิษฐ์จนหลงทิศทาง ทำให้ไม่สามารถบินไปผสมเกสรดอกไม้ได้อย่างปกติ หรือในกรณีของ นกอพยพบางสายพันธุ์ ต้องอาศัยแสงดาวในการนำทาง แต่กลับถูกรบกวนโดยแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นไปในท้องฟ้า ส่งผลให้พวกมันหลงทิศทางหรือบางครั้งบินชนกระจกอาคารในเมืองจนเสียชีวิต แม้กระทั่ง ข้าวบางสายพันธุ์ ก็มีความไวต่อแสงมาก ทำให้นาข้าวในพื้นที่ที่ใกล้กับแสงไฟถนน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
“พื้นที่ภาคกลาง อย่าง จ.สุพรรณบุรี จ.ชัยนาท ได้รับผลกระทบจากแสงไฟที่ส่งผลต่อการออกดอกของต้นข้าว ซึ่งจริง ๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาที่ยากจะแก้ไข เพราะท้องถิ่นหรือกรมทางหลวงก็สามารถเพิ่มแบบโคมไฟถนน ให้จำกัดลำแสงให้ไม่ฟุ้งกระจาย แต่ว่าส่วนใหญ่เราไม่ได้คิดไว้ก่อน”
เดชรัต สุขกำเนิด
‘มลภาวะทางแสง’ อันตรายที่ไม่ได้มากับความมืด
ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ‘มลภาวะทางแสง’ คือแสงที่ปรากฏบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างไม่ระมัดระวัง โดยไม่ควบคุมทิศทางและปริมาณแสงให้เหมาะสม ทำให้ไฟฟ้าที่ใช้นั้นสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ มลภาวะทางแสงที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow) เกิดจากแสงที่ถูกกระเจิงจากแหล่งกำเนิดแสงภายนอกอาคารและท้องถนน โดยแสงเหล่านี้จะกระจายและสะท้อนขึ้นสู่ท้องฟ้า ทำให้ท้องฟ้าไม่มืดสนิทเหมือนที่ควรจะเป็น ไม่อาจมองเห็นแสงดาวได้ ทั้งยังเป็นการรบกวนสัตว์ปีกหรือแมลงกลางคืนอีกด้วย
- แสงจ้าบาดตา (Glare) เกิดจากแสงที่ส่องเข้าไปในดวงตาโดยตรง ลดทัศนวิสัย ทำลายสุขภาพดวงตา และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- แสงรุกล้ำ (Light Trespass) คือแสงที่เข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ต้องการ เช่น แสงที่ส่องเข้าห้องนอนในเวลากลางคืน ซึ่งกระทบต่อการนอนหลับและสุขภาพ
เดชรัต บอด้วยว่า แสงจากโคมไฟตามถนนเป็นตัวการหลักของมลภาวะทางแสงในท้องถิ่น การออกแบบและติดตั้งที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้แสงกระเจิงและรบกวนสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงการลดการกระเจิงแสง เช่น การเพิ่มแผ่นบังแสงหรือการปรับมุมไฟให้ฉายแสงเฉพาะจุด การดำเนินการนี้ไม่เพียงช่วยลดมลภาวะ แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในระยะยาว
ข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวงในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2558 แสดงให้เห็นว่า กทม. มีการใช้งานพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 24 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้แสงสว่างอย่างไม่ระมัดระวังในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดมลภาวะทางแสงและสูญเสียพลังงานอย่างเปล่าประโยชน์ ฉะนั้น การใช้แสงสว่างอย่างเหมาะสม สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และการสูญเสียพลังงาน
สอดคล้องกับข้อมูลจาก สมาคมอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล (International Dark Sky Association: IDA) ประมาณการว่าร้อยละ 30 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้นอกอาคารเป็นความสูญเปล่า ความสูญเสียนี้มาจากแสงที่ไม่ได้มีการใส่โคมสะท้อนแสง ทำให้สูญเงินไปราว 3.3 พันล้านดอลลาร์และยังปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศถึง 21 ล้านตันต่อปี
ในแง่ของความปลอดภัย การเพิ่มแสงสว่างจ้าไปทั่ว ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ในปี 2554 มีผลการศึกษาในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษถึงความสัมพันธ์ระหว่างไฟถนนและอาชญากรรม โดย National institute of Justice (NIJ) สรุปว่า มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้ว่า การเพิ่มแสงไฟถนนช่วยลดอาชญากรรมลงได้ แต่การติดตั้งแสงสว่างภายนอกอาคารอย่างไม่ระมัดระวังต่างหาก ที่ทำให้ความปลอดภัยลดลง เพราะอาชญากรสามารถมองเห็นเป้าหมายและทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ แสงสว่างที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อาศัย ยังส่งผลต่อการนอนหลับและการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยควบคุมนาฬิกาชีวิต (Circadian Clock) ของร่างกาย ต่อมไพเนียลจะหลั่งเมลาโทนินในสภาพแวดล้อมที่มืด ช่วยให้ง่วงนอน หลับสนิท และส่งเสริมสุขภาพโดยรวม เช่น ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แต่แสงรบกวนการนอนทำให้การหลั่งเมลาโทนินลดลง ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตแปรปรวนและระบบร่างกายเสียสมดุล เช่น การนอนหลับและการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม
แสงจันทร์-ตะวัน-ดาว
ถูกกลบด้วย ‘แสงเทียม’
‘ความมืด-สว่าง’ เป็นค่าสัมพัทธ์ กล่าวคือ การที่เราจะนิยามว่าสิ่งใดมืดหรือสว่าง ต้องมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้นก่อน เช่น แสงเทียนจะดูสว่างมากเมื่อจุดในห้องมืดสนิท แต่หากนำเทียนออกจากห้อง ไปจุดกลางแดด เราจะพบว่าแสงเทียนแทบจะไม่เป็นที่สังเกตได้ด้วยซ้ำ หลักการข้างต้นนี้ อธิบายได้ว่าทำไมเราจึงไม่สามารถเห็นแสงดาวได้ชัดเจนในคืนจันทร์เต็มดวง เมื่อเทียบกับคืนเดือนดับ
- ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ความสว่างสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 ลักซ์ และในเวลาพลบค่ำที่พระอาทิตย์พ้นเส้นขอบฟ้าไปแล้ว จะมีค่าต่ำสุดที่ 0.008 ลักซ์
- เมื่อเข้าสู่เวลากลางคืน ความสว่างจะอยู่สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 0.3 ลักซ์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง และลดลงเหลือ 0.02 ลักซ์ในคืนจันทร์ครึ่งดวง
- ขณะที่ดวงดาวอาจส่องสว่างได้สูงสุดเพียง 0.001 ลักซ์ หรือต่ำได้ถึง 0.0001 ลักซ์ ทำให้การสังเกตดวงดาวต้องอาศัยคืนเดือนดับที่ท้องฟ้าเปิด และอยู่ในเขตฟ้ามืดที่ปราศจากแสงเรืองเท่านั้น หากองค์ประกอบครบถ้วน แม้แต่ทางช้างเผือกก็สว่างมากพอที่จะทำให้เราเห็นเงาตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow) กลายเป็นหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้คนเมืองไม่อาจสังเกตเห็นดวงดาวได้ เพราะมีระดับความสว่างสูงได้ถึง 0.1 ลักซ์ ซึ่งล้วนมาจากการใช้แสงไฟอย่างไม่ควบคุม ขณะที่ กรมทางหลวง ได้กำหนดค่าความสว่างของไฟถนนในเมืองอยู่ที่ 21.5 ลักซ์ ส่วนมาตรฐานความสว่างสำหรับทวีปยุโรปได้กำหนดค่าความสว่างของไฟออฟฟิศอยู่ที่ 150 ลักซ์
พื้นที่มืดสนิทในประเทศไทยเหลือเพียง 4%
เพราะเมืองขยายตัว
จากผลการศึกษาในปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงเหลือเพียง 4% เท่านั้น ขณะที่อีกข้อมูลหนึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มผลรวมความเข้มข้นของค่าความสว่าง (Summed Radiance) ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2566 พบว่ามีค่าความเข้มข้นสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว จากปี 2555 อยู่ที่ 1,350,186 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 3,281,366 กล่าวคือ เราสามารถสังเกตได้ว่า ประเทศไทยมีกระจายตัวของเมืองออกสู่ชนบทมากขึ้น ทำให้มลภาวะทางแสงกระจายตัวตามไปด้วย
ค่าความสว่าง ของแสงสังเคราะห์ (μcd/m2) | ความหมาย | ประชากรไทย ที่ได้รับผล (%) | พื้นที่ประเทศไทย ที่ได้รับผล (%) |
≤1.7 | มองเห็นท้องฟ้าดั้งเดิม | 0.2 | 4.4 |
1.7 – 14 | พบมลภาวะทางแสง ที่เส้นขอบฟ้า | 7.3 | 31.4 |
14 – 87 | พบมลภาวะทางแสง ที่จุดสูงสุดของท้องฟ้า | 31 | 46.2 |
87 – 688 | มองไม่เห็นท้องฟ้าดั้งเดิม | 29.2 | 15.6 |
688 – 3000 | มองไม่เห็นทางช้างเผือก | 16 | 2.1 |
>3000 | ส่งผลเสียต่อดวงตา | 16.3 | 0.3 |
แม้จะมีพื้นที่ของประเทศไทยเพียง 18% ที่ไม่สามารถสังเกตท้องฟ้าดั้งเดิมได้ด้วยตาเปล่า แต่ประชากรไทยกว่า 60% กลับอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องตามวิสัยทั่วไป ที่คนพยายามจะเคลื่อนย้ายมาอาศัยอยู่ในศูนย์กลางอย่างเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของปัญหามลภาวะทั้งหลายด้วยเช่นกัน มาตรการควบคุมการใช้แสงไฟตามอาคารและป้ายโฆษณาต่าง ๆ อาจเป็นนโยบายที่กรุงเทพฯ ต้องหันมาควบคุมอย่างจริงจัง เพื่อสุขภาพและระบบนิเวศโดยรวม
เพื่อจัดการปัญหามลภาวะทางแสงอย่างเป็นระบบ เดชรัต เชื่อว่า กลไกท้องถิ่นสามารถกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลเองได้ในพื้นที่ของตน เนื่องจากท้องถิ่นมีความเข้าใจในบริบทของพื้นที่มากที่สุด แต่เพื่อให้ง่ายต่อการสั่งการ จำเป็นต้องมีการออกแบบนโยบายระดับประเทศ โดยมีกรมควบคุมมลพิษและกรมอนามัยเป็นแม่งานในการศึกษาและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการที่เหมาะสม เช่น การกำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับการท่องเที่ยวท้องฟ้ามืด จะช่วยลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงได้
“อย่างปัจจุบัน กรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีแนวทางเพื่อใช้ควบคุมมลภาวะทางแสงอย่างเป็นรูปธรรม และอีกหลายเมืองก็ทยอยขยายตัวตาม ดังนั้น ถ้ารัฐส่วนกลางทำกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือให้ท้องถิ่น สามารถกำกับดูแลตัวเองได้”
เดชรัต สุขกำเนิด
เปิดลายแทง
52 เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) จึงได้ริเริ่ม ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย’ เพื่อส่งเสริมการสังเกตดวงดาว ลดมลภาวะทางแสง และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่อง 30 แห่ง และเพิ่มอีก 18 แห่งในปี 2567 ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ หวังกระตุ้นการเรียนรู้ดาราศาสตร์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น การดูดาว การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
พื้นที่ที่จะขึ้นทะเบียนต้องมีคุณภาพท้องฟ้าเหมาะสม มีการจัดการแสงสว่างตามมาตรฐาน และสนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนัก นอกจากนี้ สถานที่ที่ได้รับการรับรองจะมีสิทธิ์ประชาสัมพันธ์ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และได้รับสื่อสนับสนุนจาก NARIT เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและจัดกิจกรรม ขณะที่สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด จะได้รับป้ายรับรองและสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
โดยจังหวัดที่มีเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดมากที่สุด คือ จ.เชียงใหม่ 13 แห่ง รองลงมาเป็น จ. นครราชสีมา 11 แห่ง และ จ. ชัยภูมิ 5 แห่ง และสามารถจำแนกประเภทเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้ ดังนี้
- อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park): พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติที่จัดการแสงสว่างอย่างเหมาะสม ป้องกันมลภาวะทางแสง เพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราธานี
- ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities): พื้นที่ในชุมชนที่ประชาชนร่วมกันดูแลการใช้แสงไฟ ลดมลภาวะทางแสง เพื่อความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ เช่น หมู่บ้านออนใต้ สันกำแพง จ.เชียงใหม่
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล (Dark Sky Properties): พื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ทหรือฟาร์ม ที่จัดการแสงไฟอย่างเหมาะสม สนับสนุนการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจ เช่น พูโต๊ะ จ.เชียงใหม่, อ่าวโต๊ะหลี จ.พังงา
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้าในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs): พื้นที่เปิดโล่งในเขตชานเมืองที่เหมาะสำหรับการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยควบคุมการใช้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
เดชรัต ยังเล่าให้ฟังเมื่อครั้งมีโอกาสไปยัง อ.เชียงดาว จ.เชียงราย พบว่า มีผู้คนหลั่งไหลไปตั้งแคมป์ดูดาวจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้เกิดการค้างคืนและการใช้จ่ายในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวลักษณะนี้ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานอะไรมากนัก แค่มีถนน มีไฟฟ้า มีห้องพัก และท้องฟ้ามืดพอแล้ว อย่างไรก็ตามแสงไฟจากตัวเมืองและท้องถนนเริ่มรุกล้ำน่านฟ้าบางส่วนแล้ว
“ตอนนี้เราเริ่มเห็นแสงไฟจากตัวเมืองเข้าไปรุกล้ำน่านฟ้ามืดในเชียงดาวมากขึ้น ซึ่งมีที่มาจากแสงไฟตามท้องถนนเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะลดแสงไฟท้องถนนได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องฟ้ามืดนี้อาจทำได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจโดยตรง”
เดชรัต สุขกำเนิด
วิธีทวงคืนความมืดให้ดวงดาว
โดยสรุปแล้ว มลภาวะทางแสงคือผลกระทบจากแสงที่กระจายฟุ้งเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นแสงเรือง (Sky Glow) ที่ทำให้ท้องฟ้าสว่างจ้า แสงรุกล้ำ (Light Trespass) ที่ไปรบกวนพื้นที่ของผู้อื่น หรือแสงบาดตา (Glare) ที่ทำให้เกิดความไม่สบายตาและอันตรายในการเดินทาง การใช้แสงอย่างไม่เหมาะสมยังส่งผลต่อระบบนิเวศ เช่น การรบกวนวงจรชีวิตของสัตว์ป่า รวมถึงเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า การป้องกันสามารถทำได้หลายทาง ทั้งในระดับบุคคลและระดับชุมชน ดังนี้
- ใช้แสงสว่างเฉพาะบริเวณที่จำเป็น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน และหันมาเลือกใช้แสงที่มีความเข้มพอเหมาะ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของแสง
- ติดตั้งโคมไฟที่ควบคุมทิศทางแสงให้ส่องลงพื้นดิน หรือใช้อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) และอุปกรณ์ตั้งเวลาเปิด-ปิดแสงไฟอัตโนมัติ ช่วยให้แสงสว่างถูกใช้ในเวลาที่เหมาะสมและลดการสูญเสียพลังงาน
- หลอดไฟชนิด LED เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและเหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน เพราะมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และควบคุมการกระจายแสงได้ดี นอกจากนี้ การเลือกใช้หลอดไฟที่มีอุณหภูมิสี 3,000 เคลวิน (Warm Light) ยังช่วยลดผลกระทบจากแสงสีฟ้า ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การลดมลภาวะทางแสงต้องการความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การกำหนดนโยบายการใช้แสงสว่างในชุมชน การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยลดแสงเรือง เช่น การพัฒนาระบบไฟถนนที่ปรับระดับแสงอัตโนมัติตามแสงธรรมชาติ
ถึงตรงนี้สิ่งที่ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ชี้ให้เห็น คือ มลภาวะทางแสงกำลังส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้นในเมืองใหญ่ จึงเสนอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวทางสำคัญดังนี้
- รัฐบาลควรกำหนดระยะห่างระหว่างป้ายโฆษณากับชุมชนหรืออาคารสูง ควบคู่กับการกำหนดขนาดของป้ายให้ไม่ใหญ่เกินไป รวมถึงควบคุมปริมาณแสงไฟและทิศทางการส่องสว่าง
- ในเขตใจกลางเมือง รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้าน เพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขผลกระทบ พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียน
- รัฐบาลควรเสนอแนวทางการปิดป้ายโฆษณาในช่วงกลางคืน (21.00-06.00 น.) และสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า เช่น ป้ายโฆษณาแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์
- ในกรณีที่มลภาวะทางแสงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหรือสุขภาพ รัฐบาลควรกำหนดมาตรการชดเชยที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อสร้างความรับผิดชอบในระดับสังคม
- สนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่สำหรับการดูดาว การชมหิ่งห้อย หรือการเรียนรู้ระบบนิเวศในช่วงกลางคืน ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองและการรักษาธรรมชาติ
บทส่งท้าย
‘ท้องฟ้ามืด’ เป็นขุมทรัพย์ที่เชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ เพราะผู้คนและสรรพสัตว์ต่างใช้สอยประโยชน์จากฟ้าผืนเดียวกัน การรักษาความมืดของท้องฟ้าจึงไม่ใช่แค่การได้ชมดวงดาว แต่ความมืดยังหมายถึงความสมดุลของระบบนิเวศ สุขภาพของมนุษย์ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความเจริญที่ขยายตัวต่อเนื่อง การสร้างสมดุลระหว่างแสงสว่างที่จำเป็นและการอนุรักษ์ความมืดคือสิ่งที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ก่อนที่จะไม่เหลือดาวดวงใดให้คนรุ่นหลังได้มองเห็นอีก
ข้อมูลอ้างอิง
- Fabio Falchi et al., The new world atlas of artificial night sky brightness. Science Advances, 2, e1600377 (2016). DOI: 10.1126/sciadv.1600377.
- Kyba, Christopher C. M.; Mohar, Andrej; Posch, Thomas (2017-02-01). “How bright is moonlight?” Astronomy & Geophysics, 58 (1): 1.31–1.32. DOI: 10.1093/astrogeo/atx025.
- Schlyter, Paul (1997–2009). “Radiometry and photometry in astronomy”.
- “Electro-Optics Handbook” (PDF). photonis.com, p. 63. Retrieved 2012-04-02.
- Leaflet | Map tiles by Carto, under CC BY 3.0. Data by OSM, under ODbL. | Light Pollution Atlas: David Lorenz.
- European law UNI EN 12464.
- Darlington, Paul (2017-12-05). “London Underground: Keeping the lights on”. Rail Engineer. Archived from the original on 2018-11-16. Retrieved 2017-12-20.
- Jurij Stare, www.lightpollutionmap.info (v2.8.26) VIIRS – NASA’s VIIRS/NPP Lunar BRDF-Adjusted Nighttime Lights Yearly.
- National Geographic.
- กรมทางหลวง.
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง.
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. เว็บไซต์โครงการ Dark Sky Thailand. Retrieved from https://darksky.narit.or.th.
- นุชประภา โมกข์ศาสตร์. แสง-เสี่ยง มลภาวะทางแสง และแนวทางป้องกันและแก้ปัญหา. Think Forward Center. Retrieved from https://think.moveforwardparty.org/article/environment-and-resources/3714/.