เปิดสถิติเลือกตั้งท้องถิ่นไทย ทำไมน้อยกว่าระดับชาติ

ในปี 2568 นี้ หลายคนอาจจะได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากกว่า 1 ครั้ง นั่นคือ สนามเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2568 และสนามเลือกตั้งเทศบาล ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค. 2568 ห่างจากการเลือกตั้ง อบจ. เพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น

ทั้งสองสนามถือเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หนึ่งในความพยายามของรัฐในการกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีสิทธิ์ในการออกเสียง กำหนดทิศทาง และมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาของแต่ละชุมชนได้เอง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอาจจะเรียกได้ว่ายังไม่ตรงตามเป้านัก โดยเฉพาะการเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมา ก็ไม่บรรลุเป้าหมายจำนวนคนออกมาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่า 65% ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งไว้ ทำให้น่าจับตาว่า สนามเลือกตั้งเทศบาลที่จะถึงนี้ จะมีจำนวนคนออกมาใช้สิทธิ์เป็นอย่างไร และจะถึงเป้าหมายคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเทศบาล 70% หรือไม่

The Active ชวนร่วมสำรวจข้อมูลการเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น จังหวัดไหนคนออกมาใช้สิทธิ์มาก-น้อย และเหตุผลหลักที่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นไทยมีคนออกมาใช้สิทธิ์น้อยลง

คนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งระดับชาติ มากกว่าเลือกตั้งท้องถิ่น

ภาพรวมการเลือกตั้งที่ผ่านมา 5 ครั้ง ได้แก่ การเลือกตั้งระดับชาติ 2 ครั้ง คือ การเลือกตั้ง สส. 2562 และ สส. 2566 และการเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ครั้ง ได้แก่ การเลือกตั้ง อบจ. 2563, เทศบาล 2564 และอบจ. 2568 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

ประเภทการเลือกตั้ง% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง*
สส. 2562ระดับชาติ74.87%
อบจ. 2563ระดับท้องถิ่น62.76%
เทศบาล 2564ระดับท้องถิ่น66.86%
สส. 2566ระดับชาติ75.71%
อบจ. 2568ระดับท้องถิ่น55.88%
*% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คำนวณจาก (จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง / จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง)*100
โดยในการเลือกตั้งบางครั้งจะมีการเลือก 2 ใบ เช่น การเลือกตั้ง สส. 2566 (เลือก สส.เขต และเลือก สส.บัญชีรายชื่อ) จะคำนวณแยก แล้วนำค่าที่ได้มาเฉลี่ยกัน

📌 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : [Public] การใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 ถึง 2568 – The Active, Thai PBS

หากพิจารณาจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จะพบว่าการเลือกตั้งระดับชาติ มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เกิน 70% ทั้งคู่ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง สส. ในปี 2566 ที่มีผู้ใช้สิทธิ์สูงที่สุดใน 5 ครั้ง ที่ 75.71% ในขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีครั้งไหนที่ถึง 70% เลย โดยเฉพาะการเลือกตั้ง อบจ. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ (จากข้อสังเกตเรื่องอุปสรรคของประชาชนในการไปเลือกตั้ง เพราะวันเสาร์อาจไม่ใช่วันหยุดงาน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้) และบางจังหวัดมีการเลือก นายก อบจ. ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ต้องมีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง คือ เลือกตั้งนายก อบจ. ล่วงหน้า และเลือกตั้ง ส.อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ส่งผลให้มีผู้มาใช้สิทธิ์โดยรวมลดลง และไม่ถึงเป้า 65% ที่ กตต. วางไว้

5 จังหวัดใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากสุด :
ลำพูน – พัทลุง ติด 5 อันดับแรกในทุกครั้ง

หากลองซูมภาพไปที่ระดับจังหวัดจะพบว่า ลำพูน และพัทลุง เป็น 2 จังหวัดที่ติด 5 อันดับคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดทุกครั้งของการเลือกตั้ง และมีอีกหลายจังหวัดที่ติด 5 อันดับแรกหลายครั้ง เช่น เชียงใหม่ สตูล นครนายก ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือว่ารักษาอันดับของผู้มาใช้สิทธิ์ได้ดี

5 จังหวัดใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยสุด :
แยกท้องถิ่น – ระดับชาติ

ในขณะที่ 5 จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยที่สุด มีการแยกกลุ่มของการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่นค่อนข้างชัดเจน เช่น

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น (อบจ. 2563, เทศบาล 2564 และ อบจ. 2568) มี 2 จังหวัดที่ติด 5 อันดับท้าย (อันดับที่ 72 ถึง 76 จากรวม 76 จังหวัด) ทั้ง 3 ครั้ง ได้แก่

  • จังหวัดนนทบุรี (อันดับที่ 76, 76 และ 75 ตามลำดับ)
  • จังหวัดชลบุรี (อันดับที่ 75, 75 และ 72 ตามลำดับ)

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งระดับชาติ (สส. 2562 และ สส. 2566) ทั้งสองจังหวัดมีอันดับในการเลือกตั้งระดับชาติอยู่ที่ระดับกลาง

  • จังหวัดนนทบุรี (อันดับที่ 33 และ 32 ตามลำดับ)
  • จังหวัดชลบุรี (อันดับที่ 50 และ 34 ตามลำดับ)

สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าทั้งสองจังหวัดมีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งในระดับท้องถิ่นน้อย แต่มีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งระดับชาติในระดับกลาง

นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดปทุมธานี ที่ติด 5 อันดับท้าย ในการเลือกตั้งท้องถิ่น 2 ครั้ง ได้แก่ เลือกตั้งเทศบาล 2564 และ อบจ. 2568 โดยการเลือกตั้ง อบจ. 2563 ปทุมธานีไม่ติด 5 อันดับท้าย แต่อยู่ในอันดับที่ 62 (หรืออันดับที่ 15 จากท้ายแทน) นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งระดับชาติ จังหวัดปทุมธานียังถือว่าอยู่ในระดับกลางค่อนบน (อันดับที่ 35 และ 19 ตามลำดับ) สอดคล้องกับ 2 จังหวัดข้างต้นที่มีการแบ่งค่อนข้างชัดเจนว่ามาเลือกตั้งท้องถิ่นน้อย แต่เลือกตั้งระดับชาติไม่ได้น้อยตาม อาจสะท้อนให้เห็นว่าคนในจังหวัดเหล่านี้ตื่นตัวกับการเลือกตั้งระดับชาติมากกว่า หรือเงื่อนไขบางอย่างของการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจไม่ได้เอื้อให้คนที่มีทะเบียนบ้านในจังหวัดเหล่านี้กลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ตัดภาพมาที่การเลือกตั้งระดับชาติ (การเลือกตั้ง สส. 2562 และ สส. 2568) จะพบว่า มี 5 จังหวัดเดิมที่มีการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยที่สุด (อันดับที่ 73 ถึง 77 จากรวม 77 จังหวัด) สลับอันดับกันไปมา ได้แก่

  • หนองคาย (อันดับที่ 77 และ 75 ตามลำดับ)
  • หนองบัวลำภู (อันดับที่ 76 และ 77 ตามลำดับ)
  • อุดรธานี (อันดับที่ 75 และ 76 ตามลำดับ)
  • สกลนคร (อันดับที่ 74 และ 74 ตามลำดับ)
  • สุรินทร์ (อันดับที่ 73 และ 73 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังติดอันดับที่ 73 ในการเลือกตั้ง อบจ. 2563 ด้วย)

เทศบาลระดับเล็ก มีคนมาใช้สิทธิ์เฉลี่ยเยอะกว่าเทศบาลระดับใหญ่

กลับมาที่การเลือกตั้งเทศบาล โดยการเลือกตั้งเทศบาลพร้อมกันทั่วประเทศเกิดขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 พร้อมกันทั่วประเทศ หลังห่างหายไปนานกว่า 6 ปี นับตั้งแต่ คสช. รัฐประหารรัฐบาลพลเรือนในปี 2557 โดยมีการเลือกตั้งเทศบาลใน 3 ระดับ ได้แก่

  • เทศบาลตำบล (ทต.) – ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำประชากร
  • เทศบาลเมือง (ทม.) – ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป 
  • เทศบาลนคร (ทน.) – ท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป 

โดยมีเงื่อนไขที่เหมือนกันทั้ง 3 แบบ คือ มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลประเภทนั้น ๆ

การเลือกตั้งในครั้งนั้นมีผู้มาใช้สิทธิ์รวมเฉลี่ย 66.86% มากกว่าการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 62.76% (และถือเป็นการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งแรกนับจากรัฐประหารปี 2557 เช่นกัน)

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมพบว่า ผู้คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นายกเทศมนตรี มากกว่า สมาชิกสภาเทศบาล ในทุกระดับ รวมถึงผลการออกมาใช้สิทธิ์สะท้อนให้เห็นว่า เทศบาลที่เล็กที่สุดอย่างเทศบาลตำบล มีคนออกมาใช้สิทธิ์เฉลี่ย 70.79% ซึ่งมากกว่า เทศบาลเมือง (ที่ 61.81%) และเทศบาลนคร (ที่ 51.87%)

เลือกตั้งระดับชาติ มีเลือกล่วงหน้า – นอกเขต – นอกประเทศ
คิดเป็น 4-5% ของผู้มีสิทธิ์รวม แต่เลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี

หนึ่งในความแตกต่างของการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นคือ การเลือกตั้งระดับชาติมีการเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งแบบในเขตและนอกเขต รวมถึงมีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ไม่สามารถมาเลือกตั้งได้ เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาที่เลือกตั้ง ทั้งต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หรือผู้ติดธุระราชการเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม กระบวนการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านี้ ไม่มีอยู่ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

จากการคำนวณพบว่า ในการเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมา 2 ครั้ง (สส. 2562 และ สส. 2566) พบว่า มีผู้ใช้สิทธิ์ก่อนวันเลือกตั้ง (ทั้งแบบในเขตและนอกเขต) และใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คิดเป็นถึง 4.81% และ 4.19% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งหากเลือกตั้งท้องถิ่นมีกระบวนการเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกประเทศด้วย อาจทำให้มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้น

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สิทธิ์วันเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งใช้สิทธิ์ก่อนวันเลือกตั้ง + ใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักรผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งรวม
สส. 256251,214,12035,876,053 (70.06%)2,465,591 (4.81%)38,341,644 (74.87%)
สส. 256652,195,92037,326,850 (71.51%)2,188,089 (4.19%)39,514,939 (75.71%)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : [Public] การใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 ถึง 2568 – The Active, Thai PBS

โดยเฉพาะการใช้สิทธิ์นอกเขตก่อนวันเลือกตั้ง ที่มีสัดส่วนของทั้ง 2 ปี อยู่ที่ประมาณ 93% ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักรรวม แสดงให้เห็นว่าเป็นหนึ่งในสัดส่วนสำคัญและมีคนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ห่างจากภูมิลำเนา

ใช้สิทธิ์ก่อนวันเลือกตั้ง + ใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักรใช้สิทธิ์ก่อนวันเลือกตั้ง ในเขตใช้สิทธิ์ก่อนวันเลือกตั้ง นอกเขตใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักร
สส. 25622,465,591 (100%)74,996 (3.04%)2,289,591 (92.86%)101,004 (4.10%)
สส. 25662,188,089 (100%)57,362 (2.62%)2,030,797 (92.81%)99,930 (4.57%)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : [Public] การใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 ถึง 2568 – The Active, Thai PBS

อาศัยห่าง – ธุระทางไกล สาเหตุหลักไม่มาเลือกตั้ง อบจ.

หากพิจารณาสาเหตุที่ไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จากข้อมูลจำนวนผู้แจ้งเหตุผลไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. ย้อนหลัง 2 ครั้ง (ปี 2563 และ ปี 2568) พบว่ามีจำนวนผู้แจ้งไม่มาเลือกตั้งจำนวน 632,461 คน และ 1,456,220 คน ตามลำดับ โดยจะเห็นได้ว่า ผู้แจ้งไม่มาเลือกตั้งปี 2568 สูงกว่า 2563 อยู่ถึง 823,759 คน หรือคิดเป็น 130.25% จากปี 2563

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักการไม่มาใช้สิทธิ์ยังคงเหมือนเดิมคือ ‘มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร’ โดยมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่ง ถึงแม้จะมีสัดส่วนลดลงจาก 63.88% ในปี 2563 เป็น 56.74% ในปี 2568

และอันดับที่สองคือ ‘มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล’ แม้จะมีสัดส่วนไม่มาก ประมาณ 1 ใน 5 แต่กลับเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วน 14.67% ในปี 2563 เพิ่มเป็น 21.77% ในปี 2568

ตามมาด้วย ‘เหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่คณะกรรมการกำหนด’ และ ‘ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง’ ตามลำดับ

เหตุผลที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ อบจ. 2563อบจ. 2568
มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร403,990 (63.88%)826,206 (56.74%)
มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล92,753 (14.67%)317,059 (21.77%)
เหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่คณะกรรมการกำหนด53,478 (8.46%)114,932 (7.89%)
ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง50,009 (7.91%)81,460 (5.59%)
เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้10,498 (1.66%)72,488 (4.98%)
เดินทางออกนอกราชอาณาจักร17,017 (2.69%)35,033 (2.41%)
เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้4,716 (0.75%)9,042 (0.62%)
รวม632,461 (100%)1,456,220 (100%)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : [Public] การใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 ถึง 2568 – The Active, Thai PBS

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุหลักของการไม่ได้มาเลือกตั้งท้องถิ่น คือ ต้นทุนการเดินทางกลับเพื่อไปเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหรืออยู่อาศัยห่างจากภูมิลำเนาของตัวเอง รวมไปถึงผู้ที่ติดธุระเร่งด่วน ซึ่งทำให้ไม่สามารถไปเลือกตั้งในวัน เวลาดังกล่าวได้ และหนึ่งในวิธีที่สามารถเพิ่มจำนวนคนมาใช้สิทธิ์ได้คือ การให้มีเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งแบบในเขตและนอกเขต รวมถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะการเลือกตั้งล่วงหน้าแบบนอกเขต

📌 ข้อมูลผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแยกตามจังหวัด : [Public] การใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 ถึง 2568 – The Active, Thai PBS


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด