ใกล้แล้ว! การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี 11 พฤษภาคมนี้ ผลสำรวจชี้ประชาชนตื่นตัวไปใช้สิทธิ ให้เสียงของเรากำหนดอนาคตท้องถิ่น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านการใช้งบประมาณมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท
The Active ชวนสำรวจรายได้เทศบาลก่อนไปเลือกตั้ง ใครจะได้บริหารงบประมาณที่เทศบาลบางแห่งกำเงินสูงถึงหลักพันล้าน ขณะที่เทศบาลเล็ก ๆ แทบกระเป๋าแห้ง รายได้แตกต่างกันถึง 127 เท่า
- อ่านเพิ่ม เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ต่างกันอย่างไร
- อ่านเพิ่ม: อบต. VS เทศบาลตำบล ต่างกันอย่างไร ?
- รับชมเพิ่ม: รู้จักเทศบาล ใน 5 นาที ก่อนไปเลือกตั้ง
- รับชมเพิ่ม: ทำไม ? “ตระกูลบ้านใหญ่” ถึงครองพื้นที่ เกือบทุกสนามการเลือกตั้ง
ท้องถิ่นยังต้องพึ่งเงินอุดหนุน
ปัจจุบันประเทศไทยมีเทศบาลทั้งหมด 2,474 แห่ง เป็นเทศบาลตำบล 2,218 แห่ง เทศบาลเมือง 221 แห่ง และเทศบาลนคร 35 แห่ง ประเภทของเทศบาลจะถูกแบ่งระดับตามจำนวนประชากรและศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ในภาพรวมทั่วประเทศ เทศบาลมีเม็ดเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาทในแต่ละปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเงินอุดหนุนเป็นส่วนสำคัญ ขณะที่รายได้จัดเก็บเองยังไม่มากนัก
กฎหมายกำหนดให้เทศบาลมีรายได้จากภาษี อากร ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ รายได้จากกิจการของเทศบาล ที่สามารถจำแนกเป็นส่วนที่เทศบาลจัดเก็บเอง กับส่วนที่รัฐจัดเก็บแล้วจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐ
จากข้อมูลล่าสุดของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2566 เทศบาลทั่วประเทศมีรายได้รวม 251,366.26 ล้านบาท เงินอุดหนุนยังเป็นรายได้ส่วนใหญ่ 114,972.19 ล้านบาท คิดเป็น 46% รองลงมาคือรายได้ที่รัฐจัดสรรให้ 108,188.68 ล้านบาท คิดเป็น 43% และรายได้ที่เทศบาลจัดเก็บเอง 28,205.39 ล้านบาท คิดเป็น 11%
การให้เงินอุดหนุนเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 ที่แต่ละปีจะมีการออกประกาศที่กำหนดรายการของงานที่ให้ใช้เงินและจำนวนเงินอุดหนุนซึ่งเป็นภารกิจในอำนาจหน้าที่ ในทางหนึ่งจึงเหมือนเป็นการกำกับทิศทางการทำงานของท้องถิ่น
นอกจากเงินอุดหนุนทั่วไป แหล่งรายได้ก้อนใหญ่รองลงคือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. พ.ศ. 2542 กำหนดให้จัดสรรแก่เทศบาล ขณะที่รายได้ที่จัดเก็บเองส่วนใหญ่มาจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ความแตกต่างทางรายได้ของเทศบาล
เทศบาลนครทุกแห่งมีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป โดย 18 แห่งมากกว่า 1,000 ล้านบาท และมีเพียง 2 แห่งที่ไปถึงหลัก 2,000 ล้านบาท นั่นคือ เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา และ เทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี
ส่วนเทศบาลเมืองมีรายได้ในช่วง 100 – 500 ล้านบาทเป็นส่วนใหญ่ แต่ในภาพรวมมีช่วงรายได้ค่อนข้างกว้าง คือต่ำสุดระดับไม่ถึง 100 ล้าน และสูงสุดมากกว่า 1,000 ล้านบาท
ขณะที่เทศบาลตำบลส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่า 100 ล้านบาท แต่ยังมี 2 เทศบาลที่มีรายได้ราวหลักพันล้าน สูงกว่าเทศบาลเมืองหลายแห่ง นั่นคือเทศบาลตำบลบางปู จ.สมุทรปราการ มีรายได้ 1,260.25 ล้านบาท และเทศบาลตำบลบางเมือง จ.สมุทรปราการ รายได้ 996.63 ล้านบาท
จากการจัดอันดับยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างของเทศบาล เมื่อเทศบาลที่ร่ำรวยที่สุดมีรายได้รวมมากกว่า 2,000 ล้านบาท ทิ้งห่างเทศบาลรายได้น้อยที่สุดลิบลับ นั่นคือเทศบาลตำบลท่าข้าม จ.ตรัง ที่มีรายได้ 21.31 ล้านบาท มีความแตกต่างกันถึง 127 เท่า
การจัดเก็บรายได้เองยังสะท้อนถึงศักยภาพของท้องถิ่น เทศบาลที่จัดเก็บได้มากมักเป็นเมืองอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
เทศบาลนครและเทศบาลเมือง ยังมักได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมากกว่าด้วย โดยเฉลี่ยแล้วเทศบาลนครจะได้รับเงินอุดหนุนแห่งละ 488.75 ล้านบาท เทศบาลเมืองแห่งละ 133.72 บาท เทศบาลตำบลแห่งละ 33.08 ล้านบาท แม้ว่าการให้เงินอุดหนุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังก็ตาม
อย่างเช่นเทศบาลตำบลท่าข้าม จ.ตรัง ที่จัดเก็บรายได้เองได้เพียง 120,000 บาท และมีรายได้รัฐจัดสรร 15.47 ล้านบาทซึ่งก็เป็นระดับที่น้อย ยังได้รับเงินอุดหนุนเพียง 5.71 ล้านบาท
“เทศบาลนครหาดใหญ่” เป๋าหนัก รายได้ 2.7 พันล้าน
เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นเทศบาลที่มีรายได้รวมมากที่สุดในปี 2566 สูงถึง 2,709.50 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากเงินอุดหนุน 1,601.63 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1,000 ล้านบาทจากปี 2565
เมื่อดูการใช้จ่ายของเทศบาลนครหาดใหญ่ ผ่านงบประมาณรายจ่ายปี 2567 รวม 1,778 ล้านบาท พบว่าถูกใช้ไปกับแผนงานการศึกษามากที่สุด โดยเฉพาะเด็กระดับก่อนวัยเรียนและประถมศึกษาที่ใช้เงินไป 320 ล้านบาท
รองลงมาคืองบกลาง 310.95 ล้านบาท เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 190.76 ล้านบาท เบี้ยยังชีพความพิการ 29.97 ล้านบาท เงินสมทบกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.บ.ท.) 31.65 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่เมืองหาดใหญ่กำลังเผชิญปัญหาขยะอย่างหนัก ได้มีการจัดงบประมาณให้ส่วนนี้ 84 ล้านบาท ส่วนปัญหารถติดที่ TomTom บริษัทเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลการจราจรระดับโลก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดอันดับหาดใหญ่เป็นเมืองรถติดมากที่สุดของประเทศไทยเมื่อปี 2567 ซึ่งใช้เวลาโดยเฉลี่ย 24.12 นาที ต่อระยะทาง 10 กิโลเมตร ก็มีการจัดงบประมาณงานจราจรเพียง 1.5 ล้านบาท (กรุงเทพมหานครใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 21.51 นาที ต่อระยะทาง 10 กิโลเมตร)
นอกจากนี้เทศบาลหาดใหญ่ยังติด 5 อันดับแรกเทศบาลที่มีรายได้รัฐจัดสรรมากที่สุด และเทศบาลที่ได้เงินอุดหนุนมากที่สุดด้วย
“เทศบาลนครนนทบุรี” ทุ่มงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เทศบาลนครนนทบุรี ติดอันดับ 2 ของเทศบาลที่มีรายได้รวมมากที่สุด และเป็นอันดับ 1 ของเทศบาลที่รายได้รัฐจัดสรรมากที่สุด
สัดส่วนรายได้ปี 2566 เป็นรายได้รัฐจัดสรร 1,414.14 ล้านบาท คิดเป็น 57% เงินอุดหนุน 710.71 ล้านบาท คิดเป็น 28% และรายได้จัดเก็บเอง 368.17 ล้านบาท คิดเป็น 15%
จากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 พบมีการตั้งไว้ 2,522 ล้านบาท ใช้ไปกับแผนงานงบกลางมากที่สุด 565.63 ล้านบาท รองลงมาคือแผนงานเคหะและชุมชน 552.36 ล้านบาท ทั้งนี้เทศบาลนครนนทบุรีไม่มีการตั้งงบประมาณสำหรับงานจราจรและงานโรงพยาบาล
ในรายละเอียดแผนงานการใช้งบกลางพบว่าเป็นการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากที่สุด 363.22 ล้านบาท และงานกำจัดขยะมูลฝอยรองลงมา 344.24 ล้านบาท
นอกจากเทศบาลนครทั้ง 2 แห่งนี้ The Active ขอชวนสำรวจรายได้เทศบาลอื่น ๆ โดยเฉพาะเทศบาลภูมิลำเนา ที่ไม่เพียงสะท้อนศักยภาพท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการติดตามการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น และให้การเลือกตั้งเทศบาล 2568 เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้ “เสียงเปลี่ยนเมือง”