ดัน ‘ท้องถิ่น’ ร่วมจัดการไฟ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

จากเวที Policy Forum ครึ่งทางฤดูฝุ่น จัดการไฟแก้ PM2.5 เชียงใหม่ ได้เปิดพื้นที่ฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการฝุ่นควันจากการเผา ภายใต้โจทย์ 4 เรื่อง ชวนคิด 1. อะไรที่ดีแล้ว 2. อะไรเกือบดีแล้วแต่ต้องเพิ่มเติมอีก 3. ทำแล้วเสียเปล่า และ 4. อะไรที่ยังไม่ได้ทำและน่าทำ

อะไรที่ดีแล้วทำต่อ

หนึ่งในประเด็นมีข้อเสนอให้ปรับปรุงเพื่อไปต่อ คือ เรื่องบทบาทและการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการการเผาในที่โล่ง ซึ่งที่ผ่านมา ‘เชียงใหม่โมเดล’ มีการปรับกระบวนทัศน์ให้ท้องถิ่น และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจบริหารจัดการเชื้อเพลิง ควบคุมการเผา แก้ปัญหาหมอกควันร่วมกับหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นทิศทางที่ดี

แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดด้านการจัดการที่มีความทับซ้อนของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ รวมถึงการจัดทำแผน ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหาก “การจัดทำแผนการใช้ไฟ” มีความชัดเจนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน บนฐานข้อมูลเดียวกันในทุกระดับ และสามารถยกระดับเป็นแผนที่ได้รับอนุมัติโดยชอบด้วยกฎหมาย จะสามารถยกระดับความสำเร็จและผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นได้

ในข้อเสนออีกด้าน คือการบูรณาการความร่วมมือที่เห็นผลผ่านวอร์รูม และใช้ แอปพลิเคชัน FireD(ไฟดี) ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง แต่ก็อยากให้ขยายผลเทคโนโลยีไปจังหวัดอื่น ๆ ได้ใช้ เพื่อเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ตรวจสอบย้อนกลับและจัดระเบียบต่อได้ อยากเห็นการส่งต่อเรื่องนี้ไปออกแบบร่วมกันในเชิงนโยบาย

ที่ผ่านมา จากข้อมูล รศ.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ พบว่า การควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น ​ถ้าควบคุมภาคขนส่ง จะลด PM 2.5 ได้น้อยกว่า 1 % ควบคุมการเผาป่า จะลด PM 2.5 ได้ 20-50 % และควบคุมภาคการเกษตร จะลด PM 2.5 ได้ 5-25 % ​ที่สำคัญต้องควบคุมมลพิษข้ามแดน จะลด PM 2.5 ได้ 40-100 %

สอดรับกับข้อเสนอในเวที Policy Forum ที่เสนอให้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมมือในการแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ​​เพราะถือเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่มาก โดยไทยอาจเริ่มต่อยอดที่ข้อมูล ทางสถิติ หรืออาจใช้หลักการตรวจสอบการนำเข้าผลผลิตที่กระทบมลพิษทางอากาศที่อาจต้องกีดกัน

อะไรที่เกือบดีแต่ต้องเพิ่ม

ในส่วนประเด็นที่เสนอให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมคือ ​การปลดล็อก ถ่ายโอนภารกิจให้อำนาจท้องถิ่นในการป้องกันและควบคุมไฟป่า และการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 107 ล้านบาท ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 117 แห่งในพื้นที่ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ในวงเงินตั้งแต่ 700,000 – 180,000 บาท เพื่อนำไปใช้จัดจ้างประชาชนดูแลในจุดเฝ้าระวัง, จัดการตอบโต้สถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน และการประชาสัมพันธ์ สื่อสารเชิงรุกที่เข้าถึงง่าย

​ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและส่งต่อข้อเสนออย่างกว้างขวางในระหว่างการเสวนา ​รวมทั้งอยากให้มี แซนด์บ็อกซ์ที่เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังเสนอให้​มีการสร้างองค์ความรู้ในระดับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปีนี้การขยับแผนเรื่องไฟคือส่วนดีที่ต้องทำต่อ

ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภารกิจป้องกันไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าสงวนอยู่ 6 ล้านไร่ แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของป่าสงวนมีน้อยมากเหมือนเป็นช่วงรอยต่อปีนี้กับปีที่แล้ว แม้จะมีอำนาจ แต่งบประมาณไม่มี นี่คือจุดอ่อนของปีนี้ และเป็นปัจจัยลบต่อการบริหารจัดการที่ยาก

วันนี้มีความพยายามบอกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ​117 แห่ง ในกรณีที่ไม่มีเงินอุดหนุนมาจากส่วนกลาง ให้เขาพิจารณาฐานรายรับของเขาเอง ซึ่งฐานรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เขาสำรวจ​เบื้องต้นและ จ้าง 1 หมู่ 1 คนดับไฟ

​ล่าสุด คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ เรื่องการกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ที่เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า” ใน 19 พื้นที่นำร่อง จังหวัดเชียงใหม่ และ “การแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความ้ดือดร้อนแก่ประชาชน” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว

อะไรที่ทำแล้วเสียเปล่า

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ไม่นำไปทำต่อ ​คือเรื่องของการสื่อสารที่ทำให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนก อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่สิ่งที่จำเป็นคือการสื่อสารในมิติสร้างส่วนร่วมเพื่อหาทางออกรวมกันจะเห็นผลลัพธ์ดีกว่า รวมถึงมาตรการห้ามเผารุนแรง อาจเป็นการส่งผลให้เกิดการลักลอบ เพราะบางส่วนมีความจำเป็นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

ขณะที่การพ่นน้ำขึ้นฟ้าอาจช่วยให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นได้ไม่มากนัก ควรเปลี่ยนมาเป็นการรดน้ำต้นไม้เพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลือง ส่วนเรื่องของ ‘ป่า’ การประกาศปิดป่าแต่ไม่มีคนเฝ้าก็อาจทำให้ป่าถูกปล่อยประละเลย ขณะที่แนวกันไฟบางจุดอาจไม่ยั่งยืน แต่ควรเสริมแนวกันไฟแบบมีชีวิตก็จะทำให้เกิดส่วนร่วมมากกกว่า

อะไรที่ยังไม่ทำแต่น่าทำ

ประเด็นที่น่าทำมีหลายเรื่อง เช่น ​การปลดล็อกข้อระเบียบบริหารงานราชการที่ขัดแย้งกับแซนด์บ็อกซ์ ​ หรือการเจรจากับเพื่อนบ้านเรื่องไฟป่าข้ามแดน ​การจับคู่สนับสนุนชุมชนและเอกชน พัฒนาเศษฐกิจชุมชน ไปจนถึงเรื่องการจัดรางวัลหมู่บ้านปลอดไฟ พร้อมกับให้ชดเชยภาษีในกรณีการงดเผา

รวมทั้งควรกำหนดให้มีการเปิดเผยการปล่อยมลพิษของโรงงาน บริษัทต่าง ๆ อีกด้านหนึ่งก็ควรให้มีสิทธิอยู่อาศัย ทำกินที่ชอบด้วยกฎหมายในเขตป่า ไพร้อมใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยจับความร้อนคนเข้าป่า และเพิ่มมาตรการเยียวยา ปจนถึงประเด็น เรื่อง Pollutor pay principle หรือ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย แต่อาจใช้ไม่ได้กับคนรวย เพราะบางคนมีเงินจ่ายก็พร้อมจ่าย ​

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือภูเขาน้ำแข็งที่ต้องมองให้รอบด้าน แก้ให้ตรงจุด มีประเด็น 3 เรื่องที่ต้องการสื่อสาร

  1. ปัญหาความล้มเหลวในระบบราชการไทยที่ต้องปลดล็อกระบบแผนระบบงบประมาณ กฎระเบียบที่เป็นตัวขัดขวางอุปสรรค อย่างตำแหน่งนักสาระสนเทศภูมิศาสตร์มีความต้องการมาก ​แต่แทบจะหาไม่ได้
  2. ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่จะตอบโจทย์ชีวิตเกษตรกรที่ปลูกพืชระยะสั้น ถ้าไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
  3. ไทยยังขาดกลไกกำกับตลาดเสรีในระบบทุนนิยม ​ เราทำลายป่าต้นน้ำเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุน ที่คิดเป็น 4-9 % ของ จีดีพี ​

วันนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐฝ่ายเดียวจะแบกรับเอาไว้จึงเป็นที่มาที่มีข้อเสนอที่สะท้อนว่า เราต้องการมีส่วนร่วมมากกว่าภาครัฐ ที่มากกว่าข้อจำกัด ไทยต้องการเครื่องมือที่เป็นชุดแพ็กเกจ และ มีอย่างน้อย 7 เครื่องมือ เช่น เครื่องมือกฎหมาย เครื่องมือเทคโนโลยีนวัตกรรมหมายถึงระบบ Big Data FireD(ไฟดี) อื่น ๆ เครื่องมือทางเศรษฐศาตร์ ระบบภาษี ค่าธรรมเนียม เครื่องมือด้านระบบงบประมาณที่มากกว่างบภาครัฐ เครื่องมือทางความรู้วิชาการ เครื่องมือทางสังคม หรือระบบพาร์ตเนอร์ชิปที่หลายคนต้องการ และเครื่องมือสื่อสารสาธารณะ ที่จะมีองค์ความรู้ที่สื่อสารอย่างถูกต้อง รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และการสื่อสารที่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้เราก็จะเอาไปเขียนในกฎหมายอากาศสะอาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์