นั่นคือสถานการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า คนหาย ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ทำให้ตลอด 30 ปีมานี้ มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำงานร่วมกับ ทีมสหวิชาชีพ และ สื่อมวลชน เพื่อติดตาม ตามหาคนหาย ผ่านการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ปัญหา แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคจากระบบและทรัพยากรที่จำกัด แต่พวกเขายังคงเดินหน้าช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญหายอย่างต่อเนื่อง
การทำงานของมูลนิธิกระจกเงา เริ่มต้นจากการตามหาลูกสาวของชาวบ้านที่หายตัวไปใน จ.เชียงราย แต่การสืบค้นครั้งนั้นไม่สำเร็จ และผู้สูญหายกลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การจัดตั้ง โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย เพื่อช่วยเหลือกรณีคล้ายคลึงกัน และต่อมาได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีติดตามบุคคลที่หายไปในประเทศไทย
การที่คน ๆ หนึ่งก้าวออกจากบ้านไป เหตุผลไม่ใช่แค่เรื่องการหลงลืมหรือเป็นเจตนาส่วนตัว แต่ยังทิ้งร่องรอยของโครงข่ายอาชญากรรมไว้ด้วย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกรณีการสูญหายที่นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญ เช่น คดีขับรถรับจ้างทั้ง 9 คน ถูกลวงไปฆาตกรรมต่อเนื่อง, กรณีหญิงสาวที่หายไปนาน 7 ปี ภายหลังพบเป็นศพนิรนามกลางทุ่ง ซึ่งหากไม่มีข้อมูลคนหายที่ถูกเก็บรักษาไว้ เราอาจไม่สามารถยับยั้งความสูญเสีย และคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ และครอบครัวได้เลย
แม้จะมีความพยายามเก็บบันทึกข้อมูลผู้สูญหายมาอย่างไม่หยุดพัก แต่ตัวเลขคนหายที่ปรากฏให้เห็นก็ยังสูงขึ้นทุกปี และตัวเลขเหล่านี้ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏ ภายใต้ผืนน้ำ ยังมีผู้สูญหาย และความจริงที่ยังไม่ปรากฏอีกมาก ระบบการติดตามผู้สูญหายยังต้องการการมองเห็น และได้รับการช่วยเหลือจากทุก ๆ สายตาในสังคม
‘คนหาย’ ที่หล่นหาย ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกับ The Active ว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา มีรายงานการแจ้งคนหายทั้งหมด 18,887 คน สามารถติดตามพบตัวแล้ว 16,315 ราย คิดเป็น 86% ของเหตุการณ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือยังคงอยู่ระหว่างการตามหา
ขณะที่ข้อมูล ตั้งแต่ปี 2546 – 2567 ได้รับการแจ้งบุคคลสูญหายทั้งสิ้น 17,848 คน สามารถจำแนกตามสาเหตุการสูญหายได้ ดังนี้
- สมัครใจหนีออกจากบ้าน: 13,251 เคส (38.14%)
- ขาดการติดต่อ: 8,577 เคส (24.48%)
- จิตเวช: 6,806 เคส (19.07%)
- โรคสมองเสื่อม: 3,458 เคส คิดเป็น (9.98%)
- พัฒนาการทางสมองช้า: 1,380 เคส คิดเป็น (3.87%)
- อื่น ๆ : 838 เคส คิดเป็น (2.35%)
- แย่งความปกครองบุตร: 290 เคส คิดเป็น (0.81%)
- ไม่ได้บันทึกสาเหตุการหาย: 170 เคส คิดเป็น (0.48%)
- อุบัติเหตุ: 72 เคส คิดเป็น (0.47%)
- ลักพาตัว: 150 เคส คิดเป็น (0.20%)
- เด็กพลัดหลง: 58 เคส คิดเป็น (0.16%)
การรับเรื่อง แจ้งคนหายในช่วงแรก เอกลักษณ์ ยอมรับเลยว่า ต้องมุ่งเน้นเฉพาะบางกรณีที่สำคัญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รับเรื่องมีจำนวนจำกัด ต่อมาในช่วงปี 2547 – 2549 ได้เริ่มขยับขยายไปสู่เคสการค้ามนุษย์และการหายตัวของผู้สูงอายุ แต่สถานการณ์เจ้าหน้าที่ยังคงมีจำกัดอย่างมาก ทำให้ยอดการรับเรื่องคนหาย จึงลดน้อยลงไปด้วย
“ตัวเลขรับแจ้งคนหายที่ปรากฏ เป็นเพียงตัวเลขที่เราได้รับการายงานเท่านั้น เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ดังนั้น สภาพปัญหาผู้สูญหายมันเลวร้ายกว่าที่เรามองเห็น”
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข
ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย ทำให้มูลนิธิกระจกเงา ต้องใช้การจดบันทึกลงในแบบฟอร์มกระดาษ และใช้ความจำ เก็บข้อมูลมากกว่าการบันทึกในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ พวกเขาเชื่อว่าการจดบันทึกในกระดาษ ช่วยให้จำข้อมูลได้ง่ายที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีการติดตามข้อมูลจากผู้แจ้งที่ยังไม่พบญาติ หรือเมื่อมีนักข่าวมาถามถึงจำนวนผู้สูญหายในรอบปีที่ผ่านมา ปัญหาก็คือ ไม่สามารถจำรายละเอียดเหล่านั้นทั้งหมดได้
ในช่วงปี 2555 มูลนิธิกระจกเงา เกือบต้องปิดตัวลง เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน มูลนิธิฯ ไม่สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ทำงานได้ ทำให้ต้องตัดสินใจปิดตัวลงและคืนงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ แต่ประชาชนก็ยังคงโทร.มาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิฯ อยู่ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เต็มที่ ทำให้มูลนิธิกระจกเงา ต้องกลับมาทำงานบางส่วน จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากนิตยสารแพรวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มูลนิธิกระจกเงาสามารถเดินหน้าติดตามคนหายต่อไปจนถึงปัจจุบัน
“ผมไปยืนอยู่บนเวที โดยไม่รู้ครับว่าเขาจะสนับสนุนเราเท่าไร จนชะโงกหน้าไปมองป้าย วันนั้นเราได้การสนับสนุน 6 แสนบาท ทำให้เราเดินต่อได้ ทำให้เรามีฐานข้อมูลคนหาย และทำให้เราติดตามคนหายได้จนถึงทุกวันนี้”
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข
จากนั้น ปี 2557 มูลนิธิกระจกเงาได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และพัฒนาทีมงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนในปี 2563 มูลนิธิฯ สามารถรับเรื่องได้อย่างเต็มศักยภาพ จากที่เคยรับเรื่องเฉลี่ยเพียง 221 เคสต่อปี ในช่วงปี 2546 – 2556 ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 1,479 เคสต่อปีตั้งแต่ปี 2557-2567 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จำนวนการรับเรื่องเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า
แม้มองเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกความหมายหนึ่ง ก็สะท้อนว่า ยังมีจำนวนคนหายอีกมากที่ยังไม่ได้รับการรายงาน อีกมาก
ติดตามคนหายเป็นเรื่องยาก เพราะ ‘ข้อมูล’ รัฐไทย หายง่ายกว่าคน!
ข้อมูลจาก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยจำนวนการแจ้งคนหาย การพบคนนิรนาม และศพนิรนาม มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยยอดสะสมจำนวน การแจ้งคนหายอยู่ที่ 201 คน, คนนิรนาม 273 คน และ ศพนิรนาม 380 คน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
กรณี คดีฆาตกรรมน้องหลิว เป็นภาพสะท้อนปัญหาการจัดเก็บข้อมูลศพนิรนาม และคนนิรนามในประเทศไทย เพราะกว่าจะพบร่างของน้องหลิวได้พบ ทางมูลนิธิฯ ต้องไปตามหาข้อมูลของห้องชันสูตรศพในทุกโรงพยาบาลในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีข้อมูลของผู้สูญหาย เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และบุรีรัมย์ เพื่อตรวจสอบฐานข้อมูลเกี่ยวกับหญิงสาวที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบชื่อในช่วงปี 2555 หรือ 2556 ที่เก็บไว้ในสมุดบันทึก ซึ่งข้อมูลถูกจัดเก็บไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ ยากต่อการสืบค้นและเชื่อมโยง
ท้ายที่สุดจึงพบว่าผู้สูญหายถูกฆาตกรรมและพบร่างอยู่ใจกลางป่า แต่ครอบครัวไม่อาจนำร่างของผู้สูญหายกลับมาได้เพราะศพนิรนามถูกล้างป่าช้าไปแล้ว เคราะห์ดีที่ทางมูลนิธิฯ สามารถสืบหาพยานหลักฐานประกอบการยื่นฟ้อง จึงสามารถนำความยุติธรรมคืนสู่ครอบครัว แม้จะใช้เวลานานร่วมสิบปี แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่สามารถสืบเสาะไปหาความจริงได้
ดังนั้น รัฐไทยต้องมีแนวทางการจัดการข้อมูลผู้สูญหาย คนนิรนาม รวมถึงศพนิรนาม เพราะนี่อาจเป็นหลักฐานสุดท้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมกับอีกหลายครอบครัว
อ่าน : ลำดับเหตุการณ์ของ ‘คดีฆาตรกรรมน้องหลิว’ เพิ่มเติมได้ ที่นี่
หน.ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกรณีคนหายไปในลักษณะเดียวกัน คล้ายกับเหตุ คดีฆาตกรรมน้องหลิว โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน มีรายงานเกี่ยวกับคนขับรถกระบะที่หายไปในลักษณะเดียวกันถึง 4 คน ภายในเดือนเดียวกัน จากข้อมูลที่จัดเก็บไว้ ทำให้พบว่า ผู้ขับรถทุกคนถูกว่าจ้างให้ขนของ และหายตัวไปหลังจากไปถึง จ.เพชรบุรี
จากการร่วมมือกับ รายการสถานีประชาชน Thai PBS มูลนิธิฯ พบว่า มีผู้สูญหายในลักษณะเดียวกันอีก 5 คน รวมเป็นทั้งหมด 9 คน กองปราบปรามได้ทำการสืบสวน พบว่านี่คือเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง ซึ่งฆาตกรสวมรอยเป็นผู้ว่าจ้างเพื่อหลอกคนขับรถให้ดื่มกาแฟผสมยาฆ่าแมลง และนำรถกระบะไปขายต่อที่หาดใหญ่ แต่ในภายหลังฆาตกรได้ผูกคอตายในห้องขังหลังถูกจับกุม
การรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายมีความสำคัญในการยับยั้งเหตุการณ์เช่นนี้จากการเกิดขึ้นซ้ำอีก ข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันไม่ให้มีคนขับรถกระบะรายใหม่ต้องสังเวยชีวิตในเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
และแม้ว่าในบางกรณีความยุติธรรมอาจจะไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้ต้องหาอาจถูกฆ่าตัดตอน แต่การเก็บข้อมูลที่ดีสามารถช่วยปกป้องชีวิตของคนขับรถกระบะรับจ้างหลายคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ไม่ให้ต้องเผชิญกับความสูญเสียอีกต่อไป