‘ความหวัง’ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากคำถามรอบแสดงวิสัยทัศน์ ว่าที่ ผอ.ไทยพีบีเอส

พวกเรา (คณะกรรมการสรรหาฯ) เชื่อว่า ปัญหาประเทศไทยกับปัญหาไทยพีบีเอส มีส่วนที่คล้ายกัน มีความท้าทายสูงมาก เพราะฉะนั้นต้องเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ และการจะเลือกคนที่เหมาะสมได้ ก็ต้องเป็นธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดรับชอบ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ

ภายใต้โมงยามของวิกฤตอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมรภูมิการแข่งขันของสื่อที่ดุเดือด การเปลี่ยนผ่านสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ไทยพีบีเอสเป็นหนึ่งในองค์กรสื่อที่ถูกมองว่าอาจได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับองค์กรสื่ออื่น ๆ โดยยังคงดำเนินการต่อไปได้เพราะมีรายได้ที่มั่นคงจากภาษีบาป พร้อม ๆ กับการถูกตั้งคำถามจากทั้งภายนอกและภายใน ถึงความคุ้มค่าของสื่อสาธารณะแห่งนี้ การหารายได้อื่นเพิ่มเติมโดยยังคงความเป็นอิสระ และบทบาทของไทยพีบีเอสในการเป็นมากกว่าสื่อ แต่ต้องช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมและผลักดันระบบนิเวศของสื่อสาธารณะต่อไป

สถานการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางของสื่อสาธารณะแห่งนี้ พร้อม ๆ กับความรับผิดชอบงบประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท และพนักงานกว่า 1,000 คน

ความหวังจะเห็นไทยพีบีเอสเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งภูมิทัศน์สื่อและผู้นำองค์การ ถูกหยิบยกขึ้นมาผ่านคำถามในรอบการแถลงวิสัยทัศน์ผู้สมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ถือเป็นโค้งสุดท้ายในมือของคณะกรรมการสรรหาฯ ก่อนที่จะคัดเลือกผู้สมัครเหลือเพียง 3-5 คน ส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายฯ สัมภาษณ์ และคัดเลือกเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส เพียงหนึ่งเดียว

The Active ชวนดูคำถามในรอบแถลงวิสัยทัศน์ ที่คณะกรรมการสรรหาฯ ถาม และ ว่าที่ ผอ. คนใหม่ ต้องตอบ ว่าสะท้อนความคาดหวังต่อบทบาทของผู้นำ และการเปลี่ยนผ่านสื่อสาธารณะของประชาชนแห่งนี้อย่างไรบ้าง

ไทยพีบีเอส

จากผู้สมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส ทั้งหมด 23 ราย มีผู้สมัครที่ได้ไปต่อ ผ่านมาถึงรอบแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมด 6 คน ได้แก่

  1. นพพร วงศ์อนันต์ (ถอนตัว เนื่องจากไม่สามารถเดินทางมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ที่ไทยพีบีเอส ตามวันและเวลาที่ระบุไว้ได้)
  2. รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล
  3. รัฐศาสตร์ กรสูต
  4. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
  5. อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
  6. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

โดยในรอบการแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ผู้สมัครแต่ละรายมีระยะเวลาแสดงวิสัยทัศน์คนละ 1 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงแถลงวิสัยทัศน์ที่ผู้สมัครแต่ละคนตระเตรียมมา 20 นาทีแรก และ
  • ช่วงถาม-ตอบคำถามโดยคณะกรรมการสรรหา 40 นาทีหลัง

ในช่วงถาม-ตอบ 40 นาทีหลังนั้น แบ่งออกเป็น โดยจะมีคำถามหลัก 2 คำถามแรกที่ถามผู้สมัครทุกคนเหมือนกัน โดยจากการเปิดรับฟังความเห็นจากพนักงานและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยพีบีเอสทั้งภายในและภายนอก ได้แก่

  1. ที่ผ่านมา คุณเคยมี track record ในการเป็นผู้นำในการทำ transformation ขององค์กรให้เจริญก้าวหน้า หรือเคยแก้ปัญหาวิกฤตอะไร ที่จะสามารถเอาประสบการณ์มาใช้ในการ transform ไทยพีบีเอสไปสู่อนาคต
  2. สมมติว่ามีบางฝ่ายในสังคม อยากผลักดันแก้ไขกฎหมายจัดตั้งไทยพีบีเอส เพื่อลดบทบาทของการเป็นสื่อสาธารณะ เช่น ปรับให้ไปเป็นสื่อของรัฐบาล หรือสื่อเชิงพาณิชย์ เพราะภูมิภาคสื่อเปลี่ยนไปเยอะ มีสื่อจำนวนมากมาย คุณจะอธิบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องพิจารณากฎหมาย หรืออธิบายต่อประชาชนอย่างไรว่า ไทยพีบีเอสมีความคุ้มค่า และยังควรคงบทบาทการเป็นสื่อสาธารณะต่อไป

และอีก 6 คำถาม จากกรรมการสรรหาฯ 6 คน โดยสามารถแบ่งคำถามออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้

1 การบริหาร

ถือเป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่ของผู้นำที่จะต้องมาบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ในการขับเคลื่อนไทยพีบีเอส ทั้งแผนการและเป้าหมายในระยะสั้น (เช่น ระยะ 100 วันแรก) และระยะยาว (วาระ 4 ปี) รวมไปถึงการตั้งทีม รอง ผอ. ที่จะมาช่วยบริหารงานในส่วนที่ตัวเองไม่สันทัด

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
อรรถพรถ้าคุณมาเป็น ผอ. แล้ว จะทำอะไรใน 100 วันแรก เพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้เห็น และสามารถจับต้องได้
อรรถพรการที่นิยามตัวเองว่าเป็น “นักบริหาร” และ “นักประสาน 10 ทิศ” เคยมีประสบการณ์ด้านลบหรือไม่
อรรถพรKeyword 1 ตัวที่เป็นกลยุทธ์ในการเคลื่อนสื่อไทยพีบีเอส ไปสู่สังคมที่เป็นธรรม
อรรถพรหาก “ข่าวบดขยี้ด้วยความจริง” จะกลับมาบดขยี้ไทยพีบีเอส และดำเนินการอย่างไร
อรรถพรหากคุณได้เป็น ผอ. ในระยะเวลา 4 ปี จะสร้าง outcome และ impact อะไร
อภิรักษ์นำเสนอ 3 action plan ที่ทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นรูปธรรม และพัฒนาตัว ranking ได้สำเร็จ ภายใน 12 เดือนแรก และนำเสนอตัวช่วยที่ช่วยลดจุดอ่อนของไทยพีบีเอส
อภิรักษ์ถ้าคุณได้เป็น ผอ. จะเลือกรอง ผอ. แบบไหน เพื่อมาดูงานบุคคล และเวลามอบหมายงานให้รองคนนี้ จะบอกให้ทำงานอะไร ยังไง
อภิรักษ์“ผู้คัดกรองและคัดเลือกสินค้าสาธารณะ” หมายความว่าอย่างไร ในเชิงบริหาร
ปัทมาวดียุทธศาสตร์การทำงาน 100 วันแรก ทั้งงานพัฒนาคุณภาพหน้าจอ และงานบริหารจัดการหลังบ้านอย่างไร เลือกทำอะไรก่อน ทำอะไรเพื่อเกิดผลลัพธ์อะไร มีตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างไร
ปัทมาวดีbusiness model หรือรูปแบบบริหารอะไร ที่เหมาะกับองค์กรสื่อสาธารณะ และส่วนไหนคือจุดที่ทำได้ง่ายที่สุด และยากที่สุด
ปัทมาวดีถ้าคุณได้เป็น ผอ. จะเลือก รอง ผอ. แบบไหน เพื่อมาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ไม่ได้เชี่ยวชาญ
วันชัยจะทำให้ “หัวใจที่เร่าร้อน (ของพนักงาน)” ฟื้นคืนมาได้อย่างไร
วันชัยเข้ามาแล้วจะทำอะไรเป็นอย่างแรก
วันชัยผอ. เป็นตำแหน่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างพนักงานและ คกก.นโยบาย จะทำงานอย่างไรให้ “ยุติธรรม”

2 ความเป็นอิสระ

สื่อสาธารณะต้องยังคงความเป็นอิสระ โดยปราศจากอิทธิพลของกลุ่มทุน บริษัทเอกชน รัฐบาล รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยบางคำถามเกี่ยวข้องกับเรื่องช่องทางหารายได้เพิ่มเติมของไทยพีบีเอสโดยตรง

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์การที่เปิดแพลตฟอร์มให้มีพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมลงทุนในฐานะ investment platform แทนที่จะใช้การจ้างผลิตแบบเดิม จะรักษามาตรฐานความเป็นสื่อสาธารณะได้อย่างไร และจะไม่ตกเป็นอิทธิพลของกลุ่มทุนในมุมมองของสาธารณะได้อย่างไร
รัฐศาสตร์ในส่วนของเทคโนโลยี เช่น การใช้แพลตฟอร์มที่เจ้าของเทคโนโลยีต่างประเทศอาจมีอิทธิพลผ่านอัลกอริทึม จะรักษาความเป็นอิสระและมาตรฐานของสื่อสาธารณะได้อย่างไร
อรรถพรการหารายได้เพิ่มเติม ซึ่่งอาจจะมีการแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณ จะลดทอนความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลของไทยพีบีเอสหรือไม่
อภิรักษ์การหารายได้ ร่วมทำรายการกับหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชน จะทำอย่างไรโดยไม่เหมือนการโฆษณาแฝง จะมีหลักประกันความเป็นธรรมบริษัทอื่น ๆ อย่างไร และถ้ากระทรวงเหล่านี้ ทำหน้าที่ตัวเองไม่ถูกต้อง จะมีข้อจำกัดการสอบสวน รายงานความจริงอย่างไร

3 คุณสมบัติ ผอ.

คำถามในฐานะว่าที่ ผอ. ที่จะได้ขึ้นมาเป็น ผอ. คนใหม่ โดยเน้นไปที่จุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวผู้สมัคร รวมถึงบางจุดที่อาจจะเป็นข้อกังขาในความสามารถหรือความเชี่ยวชาญในด้านสื่อสารมวลชน เช่น กรณีของรศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ที่เป็นนักวิชาการ หรืออรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ที่เป็นรองเลขาธิการ สปสช.

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
ปัทมาวดีพนักงานอยากได้ ผอ. เป็นคนข่าว-คนสื่อ การที่คุณเป็นนักวิชาการ ไกลจากสื่อมวลชนพอสมควร จะสร้างการยอมรับกับคนใน โดยเฉพาะทีมข่าว-รายการได้อย่างไร
ปัทมาวดีไทยพีบีเอสเจอโจทย์ใหญ่ซึ่งคือการ disruption ในวงการสื่อ การที่คุณไม่ได้มีพื้นฐานหรือ background ในเรื่องนี้ จะโน้มน้าวที่คนตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้อย่างไร
ปัทมาวดีคุณจะโน้มน้าวกรรมการ เจ้าหน้าที่ ประชาสังคม ว่าจะมีความกล้าหาญในการลุกขึ้นมาจัดการปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างไร
ปัทมาวดีคุณมองคอมเมนต์เรื่อง “อยากได้ ผอ. ที่กล้าตัดสินใจ มีความชัดเจน” ว่าอย่างไร และจะทำยังไงให้กลายเป็นผู้นำพาคนไทยพีบีเอส ไปด้วยกันอย่างมีความหวังในยุคความไม่แน่นอน
อรรถพรจุดแข็งของคุณที่จะมานำไทยพีบีเอสคืออะไร ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญและในช่วงสงครามข้อมูลข่าวสาร ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์การทำสื่อ เทียบเท่าผู้สมัครรายอื่น
อรรถพรความกล้าหาญในการรับมือสิ่งที่อาจจะคาดการณ์ไม่ได้แต่มีอยู่จริงในสังคมไทยของคุณคืออะไร และรับมืออย่างไร
วันชัยคุณได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น เช่น เคยเป็นรอง ผอ. ไทยพีบีเอสมาก่อน อะไรคือจุดอ่อน-จุดแข็งในช่วงเวลาที่ผ่านมา และจะเปลี่ยนอย่างไร

4 ฐานผู้ชม-ผู้ฟัง

ผู้ชมและผู้ฟังถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของไทยพีบีเอส ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนผ่าน อาจจะทำให้มีผู้ชมทางช่องทางทีวีลดลง และเปลี่ยนไปรับชมทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงมีผู้ชมที่หลากหลายประเภทมากขึ้น

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์, อรรถพร, ปัทมาวดีมองจากมุมคุณ ไทยพีบีเอสมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกี่กลุ่ม แบ่งกลุ่มยังไง และจะตอบสนองต่อละกลุ่มยังไง
รัฐศาสตร์position ที่เหมาะและเชื่อมโยงกับทุกกลุ่มได้ และ brand image ที่บอกคุณค่า ตัวตนที่ชัดเจนและขับเคลื่อน ต้องทำยังไง
รัฐศาสตร์ในระยะครึ่งปี มีโครงการอะไรที่สร้างความน่าสนใจ และสนองคุณค่าของไทยพีบีเอส ที่จะทำอะไรให้คนกลับมาสนใจไทยพีบีเอสอย่างเร็ว ๆ
อรรถพรจะทำให้ไทยพีบีเอสตอบสนองความต้องการคนรุ่นใหม่ซึ่งเสพสื่อออนไลน์ได้อย่างไร

5 ประเด็นข่าว

องค์กรสื่อขับเคลื่อนด้วยประเด็นข่าว คำถามเน้นไปที่การสำรวจว่า ผู้สมัครเห็นว่าเรื่องใดเป็นประเด็นสำคัญที่ควรเลือกทำ รวมถึงหยิบยกแง่มุมใหม่ ๆ เพื่อย้ำบทบาทการเป็นสื่อสาธารณะ รวมถึงทำให้คนดูสนใจและติดตาม

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์, อรรถพร, ปัทมาวดี, วันชัยมีแนวคิดในการทำข่าวประเด็นต่อไปนี้ให้แตกต่างจากข่าวที่ไทยพีบีเอสได้ทำมาหรือข่าวที่สื่ออื่นได้เคยทำมายังไง ให้สมกับที่ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะ (ข่าวม็อบราษฎร 2563 / วิกฤตโควิด / ภาษีทรัมป์และสงครามการค้าโลก)
รัฐศาสตร์, อรรถพร, ปัทมาวดีถ้าต้องเลือกทำข่าว 1 เรื่อง เป็นธงนำงานข่าวของสถานี จะทำเรื่องอะไร และกำหนดประเด็นข่าวอย่างไร
อรรถพรไทยพีบีเอสมีรายการหรือประเด็นอะไรที่เคยทำมา และรู้สึกว่าใช่เลย
ปัทมาวดีเนื้อหาอะไรที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม ส่งผลดีต่อการตอกย้ำบทบาทของไทยพีบีเอส และทำอย่างไรให้คนดูสนใจและติดตาม
วันชัยมีโปรเจคที่ยังไม่ได้ทำแต่อยากทำหรือไม่

6 พนักงาน-ภายใน

พนักงานถือเป็นอีกหนึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยพีบีเอส การขึ้นมาเป็น ผอ. นอกจากจะต้องบริหารองค์การแล้ว ยังต้องตอบรับความคาดหวังของพนักงานไปพร้อม ๆ กับการกล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์มีพนักงานส่วนหนึ่งมองว่าไทยพีบีเอสควรเป็นสื่อ บางส่วนมองว่าไทยพีควรเป็นมากกว่าสื่อและช่วยผลักดันระบบนิเวศของสื่อสาธารณะในเมืองไทยได้ด้วย คุณจะมี Collective Objective ได้อย่างไร และข้อมูลอะไรที่จะช่วยผลักดันให้เห็น Objective ร่วมกันได้ และจะเอาข้อมูลมาจากไหน
อภิรักษ์ข้างในไทยพีบีเอสต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เรียงลำดับ วิเคราะห์ว่ามีผลกระทบอะไร และรับมืออย่างไร
ปัทมาวดีนักข่าวต้องมีบทบาทเป็นเหมือนนักวิจัยด้วยหรือไม่
วันชัยจะสร้างความรู้สึกให้คนในไทยพีบีเอสเปลี่ยนอย่างไร เมื่อไม่มีภัยคุกคามเรื่องอยู่รอด-ไม่รอด

7 รายได้

คำถามเกี่ยวกับรายได้ของไทยพีบีเอส เช่น กรณีของ รัฐศาสตร์ กรสูต ที่เสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตารท์อัพ หรือผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัล ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในบางมิติ

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์คุณเสนอจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตารท์อัพ หรือผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัล ซึ่งอาจมีความเสี่ยง 2 ประการคือ
1. จะมีความเสี่ยงด้านกฎหมายหรือไม่ (เช่น กรณีตราสารหนี้ที่ผ่านมา) และ
2. ต่อให้ไม่มีประเด็นกฎหมาย การลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ มีโอกาสเสียมากกว่าได้ วิธีที่น่าจะดีกว่าคือจ้างผลิตรายการแบบเดิม แต่ให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของร่วมกันระหว่างไทยพีบีเอสและผู้ผลิตรายการ ดีกว่าหรือไม่
วันชัยมีแนวคิดการจัดการเรื่องรายได้อย่างไร

8 สังคมไทย

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของไทยพีบีเอสคือการร่วมสร้าง “สังคมเป็นธรรม” คำถามในมิตินี้เป็นการถามว่าจะมีส่วนในการสร้างสังคมแบบนั้นอย่างไร และข้อเสนอบางมิติเพียงพอต่อสังคมไทยในปัจจุบันแล้วหรือไม่

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
อรรถพรvalue ที่มาแทน rating ในเรื่องขยะ จราจร เล็กเกินไปสำหรับโจทย์ที่เมืองไทยต้องเผชิญ หรือไม่
วันชัยพัฒนาสังคมไทยให้ “มีสิทธิมนุษยชน” และ “เป็นประชาธิปไตย” อย่างไร
วันชัยสังคมไทยพร้อมเป็นสังคมแบบที่คุณอยากผลักให้เป็นหรือไม่
วันชัยสังคมไทยพร้อมกับสื่อที่มีสาระขึ้น TOP 10 มากน้อยขนาดไหน

9 อุปสรรค-ความท้าทาย

ประเมินสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายของไทยพีบีเอส รวมถึงแนวทางการจัดการ

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์คุณมองเห็นอุปสรรคและความท้าทาย โดยเฉพาะในเชิงภาวะคืนไม่เข้าคลายไม่ออก (Dilemma) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ อะไรบ้าง 3 อย่าง และจะทำอะไรในใน 60 วันแรก
อรรถพรภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนเยอะมาก ดึงความสนใจของคน อยากรู้ vision ของคุณต่อการที่ไทยพีบีเอสอยู่ในภูมิทัศน์สื่อใหม่ ซึ่งมีสื่อเต็มไปหมด และคนดูทีวีซึ่งเป็น channel หลักของไทยพีบีเอสลดลงทุกที และคุณยังไม่สนใจ rating จะยิ่งทำให้ฐานไทยพีเล็กลงหรือไม่
ปัทมาวดีมองความท้าทายของไทยพีหลังจากนี้อย่างไร และมีแนวทางจัดการอย่างไร
วันชัยอุปสรรคนอกจากบุคลากร ที่จะขัดขวางการพาไทยพีบีเอสไปสู่ rating อันดับ 3 ของประเทศ

10 อื่น ๆ

ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้สมัครได้พูดไว้ อาจเป็นคำสั้น ๆ หรือประโยคคำพูดที่ได้พูดมา หรืออาจเป็นบทบาทหน้าที่ก่อนมาสมัครตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส

👉🏼ดูคำถาม และผู้สมัครที่ถูกถาม
ผู้สมัครที่ถูกถามคำถาม
รัฐศาสตร์ทำไมถึงคิดว่าการร่วมลงทุน สามารถสร้าง impact ได้เยอะกว่าการจ้างผลิตรายการดี ๆ
รัฐศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษา / ติดตามสื่ออื่น ๆ ต่อการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส อย่างไร สรุปได้อย่างไร และจะตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ค้นพบอย่างไร
อรรถพรหากประเด็นที่ไทยพีบีเอสทำ กระทบกับเรื่องสาธารณสุข และ สปสช. จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ระหว่างความเป็นกลางและประวัติ
อภิรักษ์คุณบอกว่า ไทยพีบีเอสต้องก้าวข้ามจากองค์กรสื่อ ไปสู่ “สถาบันสื่อสาธารณะ” วัดจากอะไร อะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ และต้องทำอะไรเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น
อภิรักษ์จะทำอย่างไรให้เด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง มีความรู้เท่าทันสื่อ
ปัทมาวดีขยายความ “social lab” ทำงานอย่างไร และปลายทางจะเกิดอะไร
ปัทมาวดีการใช้ platform ดิจิทัลจะมาช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยพีบีเอส ทั้งเป็นสื่อและขับเคลื่อนระบบนิเวศสื่อสาธารณะ อย่างไร
วันชัยลดมายาคติ “ไทยพีพีบีเอสเป็นทีวี NGO” อย่างไร ทำให้เป็นทีวีสาธารณะจริง ๆ อย่างไร และจัดการการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
วันชัยผลพวงของไทยพีบีเอสในปัจจุบัน เป็นผลกระทบจากการบริหาร (ของคุณ) ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร

ไปต่อ 4 ราย คกก.นโยบายสัมภาษณ์ ชี้ชะตา 29 พ.ค. นี้

ในวันเดียวกันหลังสิ้นสุดกระบวนการแสดงวิสัยทัศน์ คกก.สรรหาฯ ประกาศรายชื่อผู้สมัคร 4 คนที่ผ่านไปรอบสัมภาษณ์ โดยเรียงลำดับคะแนนเสียงรับรองจากมากไปน้อย ดังนี้

  1. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
  2. รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล
  3. รัฐศาสตร์ กรสูต
  4. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 4 คน จะไปสู่ด่านสุดท้ายของการคัดเลือก ซึ่งคื่อการสัมภาษณ์กับ คกก.นโยบายฯ ในวันที่ 29 พ.ค. 2568 และ คกก.นโยบายฯ จะคัดเลือกผู้สมัคร 1 คน มาเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่ นับเป็นคนที่ 5 บนหน้าประวัติศาสตร์ขององค์การ และเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 24 ก.ค. 2568 ด้วยวาระ 4 ปี


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่