ไทยพีบีเอส หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) อยู่ระหว่างการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ ก่อนที่ รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ. และคณะกรรมการบริหาร (คกก.บริหาร) ชุดปัจจุบัน จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม 2568
กระบวนการสรรหาเริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2568 และ ผอ. คนใหม่จะเริ่มต้นปฏิบัติงานในเดือนกรกฎาคม 2568
ช่วงระยะเวลาประมาณ 5 เดือนนี้ คณะกรรมการสรรหา ผอ.ส.ส.ท. (คกก.สรรหาฯ) หวังว่ากระบวนการสรรหาจะเป็นไปอย่างโปร่งใส และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการเสนอความเห็น การถ่ายทอดสดแถลงวิสัยทัศน์ และเวทีรับฟังความเห็น
โอกาสนี้ The Active ชวนจับตาดูกระบวนการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ที่จะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำและรับผิดชอบการบริหารกิจการขององค์การที่มีพนักงานประมาณ 1,000 คน และงบประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท ชวนดูว่าผู้สมัครเหล่านี้เป็นใคร การสรรหามีขั้นตอนอย่างไร ใครที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา และผู้ที่มาเป็น ผอ. จะต้องเผชิญโจทย์ท้าทายอะไรบ้าง รวมถึงบทบาทของสื่อสาธารณะต่อจากนี้ภายใต้การนำของ ผอ. คนใหม่
จาก 23 ผู้สมัคร จะเหลือเพียงหนึ่งเดียว
วันที่ 1 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา คกก.สรรหาฯ ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นใบสมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส ทั้งหมด 23 คน อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้สมัครแต่ละรายมีประวัติการทำงานอย่างไรมาบ้าง
The Active ชวนดูข้อมูลของผู้สมัครทั้ง 23 คน โดยข้อมูลมาจากคณะกรรมการสรรหาฯ และจากการรวบรวมบางส่วนเพิ่มเติม ว่าเขาเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน มีประสบการณ์และความพร้อมที่จะมาเป็น ผอ. คนใหม่อย่างไรบ้าง

จากรายชื่อผู้สมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส ทั้ง 23 คน จะเห็นได้ว่าสามารถแบ่งตามประสบการณ์และประวัติการทำงานได้ 6 – 7 กลุ่ม เช่น ผู้ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยพีบีเอส ไม่ว่าจะอดีตกรรมการบริหาร หรือกรรมการนโยบาย หรือ กลุ่มที่ทำงานด้านวิชาการ ซึ่งมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนโดยตรงและสาขาอื่น ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่มีประสบการณ์จากองค์กรภาคธุรกิจ ก็มีทั้งเกี่ยวข้องกับองค์กรสื่อและธุรกิจอื่น ๆ เช่นกัน
ขณะที่มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ไม่พบว่ามีประสบการณ์การทำงานและการบริหารในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนมาก่อน
โดย 1 ใน 23 รายชื่อที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ได้ประกาศถอนตัวจากการสมัคร เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา คือ อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ ซึ่งเป็นรอง ผอ.ไทยพีบีเอส ในปัจจุบัน
👉🏼 ดูประวัติการทำงานของผู้สมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส เพิ่มเติม
ชื่อ | ประวัติการทำงาน |
1. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ | – (16 มี.ค. 2565 – ปัจจุบัน) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.ยู.เดนท์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด – (1 พ.ค.2560 – ปัจจุบัน) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท คีออส เฟอร์นิเจอร์ จำกัด – (1 ก.พ. 2559 – 15 เม.ย. 2560) ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย – ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
2. กรอบแก้ว ปันยารชุน | – (ม.ค. 2566- ก.ย. 2567) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กร และการสื่อสาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) – (2563 – 2565) รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มสายงานแบรนด์และการสื่อสารองค์กร บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล – (2562) Chief Executive Officer ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด – (2545-2558) ผู้จัดการสื่อสารการตลาด บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด |
3. จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร | – (16 ส.ค. 2665-ปัจจุบัน) กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ – (4 ม.ค. 2564 – 24 ก.พ. 2565) อาจารย์ประจำสาขาสื่อศึกษา Bachelor of Arts Program in Journalism (Mass Media Studies) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – (1 เม.ย. 2562 – 31 ธ.ค. 2563) อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบสื่อและการผลิตสื่อ คณะนิเทศศาตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี – (25 ก.ย. 2557 – 21 พ.ค. 2562) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐสภา – อาจารย์ประจำภาควิชาจิตรกรรมและศิลปกรรม (Fine and Applied Arts) สถานีโทรทัศน์ Mahidol Channel |
4. จุมพล เด่นเมฆา | – (4 ม.ค. 2554 – 18 ม.ค. 2561) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – (ก.พ. 2549 – ธ.ค. 2553) ผู้อำนวยการฝ่ายขายธุรกิจและบริหารรายได้ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) – (ต.ค. 2547 – ม.ค. 2549) ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) – (ม.ค. 2547 – ต.ค. 2547) ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) |
5. ธนภณ ศรัญบูรณะ | – (มี.ค. 2568 – ปัจจุบัน) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันรัชต์ภาคย์ – (2560 – ปัจจุบัน) ประธานมูลนิธิธรรมาภิวัฒน์ – (2565 – ปัจจุบัน) ประธานวรรณอะกรีเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด |
6. นพพร วงศ์อนันต์ | – (พ.ย. 2559 – มี.ค. 2566) Thai Service Editor BBC News Thai, British Broadcasting Corporation – (พ.ค 2558 – ต.ค. 2559) Deputy Editor The Bangkok Post – (เม.ย. 2556 – ม.ค. 2558) Editor Forbes Thailand |
7. ปรเมศวร์ มินศิริ | – (ก.ย. 2566 – ปัจจุบัน) รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. – (2545 – 2566) ผู้บริหาร บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด |
8. ประกาศิต กายะสิทธิ์ | – (เม.ย. 2567 – ปัจจุบัน) ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) – (พ.ค. 2562 – ม.ค. 2567) รองผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) – (2559 – 2562) ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) – (2556 – 2560) ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
9. รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล | – (พ.ย. 2567 – ปัจจุบัน) ที่ปรึกษาอิสระ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) – (พ.ย. 2563 – ต.ค. 2567) ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) – (ส.ค. 2560 – เม.ย. 2562) รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) – (ต.ค. 2551 – มี.ค. 2554) คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ |
10. พยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ | – (1 เม.ย. 2562 – 31 พ.ค. 2566) First Vice President Marketing บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด – (5 ก.พ. 2561 – 31 มี.ค. 2566) ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิไทยคม – (4 พ.ค. 2552 – 31 ธ.ค. 2560) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัทวอยซ์ ทีวี จำกัด – (29 พ.ย. 2566 – 31 ม.ค. 2568) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม |
11. ภูวกร ศรีเนียน | – (28 ต.ค. 2565 – 28 ก.พ. 2568) รองประธาน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อินเทค สตีล จำกัด – (16 พ.ย. 2564 – 30 ก.ย. 2565) รองประธาน มูลนิธิเส้นด้าย |
12. มารีปาเต๊ะ เดอเบียรส์ | – (2558 – 2565) นักวิเคราะห์ธุรกิจและนักพัฒนาระบบอิสระ (Freelance BA + Developer ,Position : Full stack Developer) – (2563) นักพัฒนาระบบหลังบ้านภายใต้โครงการเป๋าตังของ KTB ในนามบริษัท Beyond D Co., Ltd. (PAOTANG PROJECT WITH KTB) – (2553 – 2557) ประธานบริษัท ชาร์ลสันอินฟิวส์ชั่นโซลูชั่น จำกัด – (2548 – 2551) วิศวกร ระดับ ๔ บริษัท TOT |
13. รัฐศาสตร์ กรสูต | – (2560 – ปัจจุบัน) รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) – (2557 – 2560) ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) – (2557) กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย Line Company (Thailand) Limited – (2551 – 2556) รองประธานบริหารหัวหน้าสายงานธุรกิจเนื้อหาและพัฒนาธุรกิจ, ผู้อำนวยการ Sanook.com |
14. วชิรภัทร อินทุภูติ | – (เม.ย. 2552 – มิ.ย. 2564) ผู้อำนวยการ สายผลิตรายการโทรทัศน์ บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) – (ม.ค. 2542 – มี.ค. 2552) ผู้ดูแลการผลิตรายการโทรทัศน์ บริษัท ทีวีธันเดอร์ จำกัด – (ม.ค. 2535 – ก.พ. 2537) ครีเอทีฟ ผู้เขียนคำโฆษณา อาวุโส บริษัท Cathey Alliance Advertising จำกัด – (มิ.ย. 2534 – ม.ค. 2535) ผู้กำกับศิลป์ บริษัท พีน่า เฮาส์ จำกัด |
15. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ | – (2562 – 2568) Producer สารคดี เรื่องอ่านป่ากับหมอหม่อง ทาง Thai PBS- (2567) Director สารคดี เรื่อง A Day in the Wild ตอน Seasons Change ทาง Thai PBS – (2549 – ปัจจุบัน) Writer (Freelance) ประจำสำนักข่าวออนไลน์ The 101 world, The Standard, The Cloud – (15 มี.ค. 2559 – 31 มี.ค. 2561) ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ / ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าว PPTVHD 36 – (2554- 2558) รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ฝ่ายข่าวและรายการ ,รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ฝ่ายสื่อสาธารณะ Thai PBS – (2533 – 2554) บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี บริษัทวิริยะธุรกิจ |
16. รศ.วีระพงศ์ มาลัย | – (พ.ค. 2563 – พ.ค. 2567) ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) – (ก.ค. 2559 – พ.ค. 2563) รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ – (มิ.ย. 2556 – มิ.ย. 2559) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) |
17. วุฒิกร ทิวะศศิธร | – (2530-2545) อดีตกรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชคเทค – (2530-2540) นายช่างโทรคมนาคม องค์กรการสื่อสารแห่งประเทศไทย – (2529-2531) โทรคมนาคมสื่อสาร บริษัทสหกลเอนจิเนียร์ |
18. ผศ. (พิเศษ) ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ | – (2561 – 2565) รองผู้ว่าการรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย – (2558 – 2561) ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร – ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน (ผู้บริหารระดับ 13) – ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้บริหารระดับ 13) – ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ผู้บริหารระดับ 13) – ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้บริหารระดับ 13) – ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ (ผู้บริหารระดับ 13) |
19. ผศ.องอาจ สิงห์ลำพอง | – (ส.ค. 2560 – ปัจจุบัน) อาจารย์ประจำหลักสูตร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ – (ต.ค. 2564 – ธ.ค. 2567) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น เบสท์ไลฟ์ จำกัด และผู้อำนวยการอาวุโส สถานีโทรทัศน์ช่อง JKN18 – (ม.ค. 2566 – ธ.ค. 2566) กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเคเอ็น ไฮช้อปปิ้ง จำกัด ในเครือ บริษัท เจเคเอ็น โกบอลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) – (พ.ค. 2536 – ส.ค. 2564) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 |
20. อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ (ถอนตัว) | – (ก.พ. 2559 – ปัจจุบัน) รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. – (2556 – 2557) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จํากัด – (2554 – 2555) ผู้อํานวยการฝ่ายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จํากัด |
21. รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ | – (2567 – ปัจจุบัน) คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย – (2566 – ปัจจุบัน) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย – (2563 – ปัจจุบัน) ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ – (2556 – 2561) รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต – (2550 – 2562) คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต – (2550 – 2565) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปและอาจารย์ประจำ – (2545 – 2548) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวางแผน/ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารไทยธนาคาร (CIMB Thai) – (2548 – 2549) กรรมการ และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บลจ บีที (บลจ CIMB Principal) – กรรมการนโยบาย ส.ส.ท. |
22. อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ | – (1 ก.ย. 2565 – 31 ต.ค. 2566) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด – (15 มี.ค. 2562 – 13 พ.ค. 2563) รองประธานกรรมการประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทจีเอ็ม ยูนิคอร์น จำกัด (มหาชน) – (15 มี.ค. 2562 – 13 พ.ค. 2563) รองผู้อำนวยการสถานี/ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว และสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัท เจเคเอ็น เบสท์ไลฟ์ จำกัด (ดีเอ็น บรอดคาสท์) – (2550 – 2556) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส อาร์ ทู เอ็นเทอร์เม้นท์ จำกัด – ผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส |
23. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ | – (1 ต.ค. 2561 – ปัจจุบัน) รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) – (2554 – ปัจจุบัน) โฆษก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) – (1 ส.ค. 2559 – 30 ก.ย. 2561) ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) – (2559 – 2562) เลขาธิการทันตแพทยสภา |
*อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ ประกาศถอนตัวจากการสมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2568

โดยผู้สมัคร 23 คน แบ่งเป็น ผู้ชายทั้งหมด 19 คน และผู้หญิง 4 คน นั่นหมายความว่ามีสัดส่วนผู้สมัครชายถึง 82.61% หรือมากกว่า 4 ใน 5 ของผู้สมัครทั้งหมด
👉🏼 ดูสรุปประวัติการทำงานของผู้สมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส ทั้งหมด
ชื่อ | คกก.ไทยพีบีเอส | วิชาการ | ธุรกิจ | องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เชิงธุรกิจ |
1. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ | อดีต ผอ. | / | สสส. | |
2. กรอบแก้ว ปันยารชุน | / (ธุรกิจสื่อ) | |||
3. จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร | อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ | กตป. ด้านกิจการโทรทัศน์ | ||
4. จุมพล เด่นเมฆา | / | สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) | ||
5. ธนภณ ศรัญบูรณะ | รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันรัชต์ภาคย์ | / | มูลนิธิธรรมาภิวัฒน์ | |
6. นพพร วงศ์อนันต์ | / (ธุรกิจสื่อ) | |||
7. ปรเมศวร์ มินศิริ | รอง ผอ. ปัจจุบัน | / | ||
8. ประกาศิต กายะสิทธิ์ | สสส. | |||
9. รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล | คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ | กสศ. / สกสว. / สกว. | ||
10. พยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ | / (ธุรกิจสื่อ) | มูลนิธิไทยคม | ||
11. ภูวกร ศรีเนียน | / | มูลนิธิเส้นด้าย | ||
12. มารีปาเต๊ะ เดอเบียรส์ | / | |||
13. รัฐศาสตร์ กรสูต | / | สศด. (DEPA) | ||
14. วชิรภัทร อินทุภูติ | / (ธุรกิจสื่อ) | |||
15. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ | อดีต รอง ผอ. | / (ธุรกิจสื่อ) | ||
16. รศ.วีระพงศ์ มาลัย | รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรม ม.กรุงเทพ | สสว. | ||
17. วุฒิกร ทิวะศศิธร | / | องค์กรการสื่อสารแห่งประเทศไทย | ||
18. ผศ. (พิเศษ) ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ | / | การรถไฟแห่งประเทศไทย | ||
19. ผศ.องอาจ สิงห์ลำพอง | อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ | / (ธุรกิจสื่อ) | ||
20. อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ (ถอนตัว) | รอง ผอ. ปัจจุบัน | / (ธุรกิจสื่อ) | ||
21. รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ | อดีต คกก.นโยบาย | คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย | / | |
22. อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ | / (ธุรกิจสื่อ) | |||
23. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ | สปสช. | |||
รวม | 5 | 6 | 18 | 13 |
มี ผู้สมัคร 5 คน ที่เป็น/เคยเป็นกรรมการไทยพีบีเอส แบ่งเป็นอดีตกรรมการ 3 คน และกรรมการชุดปัจจุบัน 2 คน ได้แก่
- กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ – อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ – อดีต รอง ผอ.ไทยพีบีเอส ฝ่ายข่าวและรายการ
- รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ – อดีต กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส
- ปรเมศวร์ มินศิริ – รอง ผอ.ไทยพีบีเอส ด้านพัฒนาองค์การ (ชุดปัจจุบัน) และ
- อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ – รอง ผอ.ไทยพีบีเอส ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ (ชุดปัจจุบัน) ซึ่งถอนตัวจากการสมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส แล้ว
มีผู้สมัคร 6 คน ที่เคยทำงานด้านวิชาการ ได้แก่
- จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร – อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ธนภณ ศรัญบูรณะ – รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันรัชต์ภาคย์
- รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล – คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.วีระพงศ์ มาลัย – รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- ผศ.องอาจ สิงห์ลำพอง – อาจารย์ประจำหลักสูตร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
โดยจะเห็นได้ว่ามีเพียง 2 คนเท่านั้นที่อยู่ในคณะด้านการสื่อสารมวลชน ได้แก่ จินตนันท์ และ ผศ.องอาจ
มีผู้สมัคร 18 คน เคยทำงานในธุรกิจ โดยมี 8 คน ที่เคยทำงานในธุรกิจสื่อ ได้แก่
- กรอบแก้ว ปันยารชุน – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กร และการสื่อสาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
- นพพร วงศ์อนันต์ – Thai Service Editor BBC News Thai (BBC)
- พยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ – ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด
- วชิรภัทร อินทุภูติ – ผู้อำนวยการ สายผลิตรายการโทรทัศน์ บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ – ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าว PPTVHD 36
- ผศ.องอาจ สิงห์ลำพอง – กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น เบสท์ไลฟ์ จำกัด และผู้อำนวยการอาวุโส สถานีโทรทัศน์ช่อง JKN18
- อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ – ผู้อํานวยการฝ่ายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จํากัด ซึ่งถอนตัวจากการสมัคร ผอ.ไทยพีบีเอส แล้ว
- อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ – รองผู้อำนวยการสถานี/ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว และสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัท เจเคเอ็น เบสท์ไลฟ์ จำกัด (ดีเอ็น บรอดคาสท์)
นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครรายอื่น ๆ ที่ทำงานในระดับผู้บริหารขององค์กรธุรกิจ และองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ เช่น องค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงมูลนิธิต่าง ๆ
Timeline กระบวนการสรรหา
มีการถ่ายทอดสดแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนส่งไม้ต่อให้ คกก.นโยบาย

โดยกระบวนการสรรหา มีการเปิดรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นของประชาชนต่อผู้สมัครคนต่าง ๆ ถึงวันที่ 25 เม.ย. 2568 โดยสามารถส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาที่ คกก.สรรหาฯ ได้ 2 ช่องทาง คือ
- ส่งข้อมูลมาที่ คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่อยู่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เลขที่ 145 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือ
- e-mail : DirectorSelection@thaipbs.or.th
สฤณี อาชวานันทกุล หนึ่งในกรรมการสรรหาฯ ยืนยันกับ The Active ว่า ข้อมูลที่ประชาชนให้มา จะถูกให้ความสำคัญ และถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา ซึ่งนอกจากการเปิดรับฟังข้อมูลที่ประชาชนส่งมาแล้ว และจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ใน 2 ประเด็น ได้แก่
- สภาพปัญหาในปัจจุบัน และความท้าทายของภูมิทัศน์สื่อในอนาคต และทิศทางที่ควรจะเป็นของไทยพีบีเอส
- คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
โดยเวทีรับฟังความเห็นจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. 2568 เวลา 09.30 – 11.30 น. ณ Convention Hall อาคาร D สำนักงานใหญ่ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ถึงวันที่ 27 เม.ย. 2568 ทาง www.thaipbs.or.th/PublicHearing
เมื่อสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว คกก.สรรหาฯ จะประกาศรายชื่อผู้สมัครได้รับคัดเลือกเข้าแถลงวิสัยทัศน์ ในวันที่ 1 พ.ค. 2568 เพื่อให้ผู้สมัครได้เตรียมตัวแถลงวิสัยทัศน์ตามโจทย์ที่ได้รับ และเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อ คกก.สรรหาฯ ในวันที่ 11 หรือ 12 พ.ค. 2568 โดยมีการถ่ายทอดสด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการรสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ที่จะมีการถ่ายทอดสด
สฤณี ระบุถึงเหตุผลของกระบวนการสรรหารูปแบบนี้ว่า เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม สอดคล้องกับพันธกิจเพื่อสาธารณะของทีวีสาธารณะ และตรวจสอบการทำงานของ คกก.สรรหาฯ รวมถึงหวังให้เป็นบรรทัดฐานในการสรรหาบุคลากรมาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่ใช้งบประมาณภาษีจากประชาชน
สอดคล้องกับ ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ หนึ่งในกรรมการสรรหาฯ ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Pokpong Junvith ระบุว่า การให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว จะสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของไทยพีบีเอสเพิ่มมากขึ้น ทำให้สังคมเข้าใจและเห็นคุณค่าของสื่อสาธารณะมากขึ้น รวมถึงเปิดบทสนทนาสาธารณะเกี่ยวกับการปรับตัวของสื่อสาธารณะเพื่อรับมือความท้าทายในอนาคต
เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงวิสัยทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คกก.สรรหาฯ จะคัดเลือกผู้สมัครเหลือ 3 – 5 คน โดยเรียงลำดับคะแนนจากมากไปน้อย วิดีทัศน์การแสดงวิสัยทัศน์ และเหตุผลประกอบ ส่งต่อให้ คกก.นโยบาย พิจารณา ในวันที่ 16 พ.ค. 2568 จากนั้น คกก.นโยบาย จะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัครที่เหลือ จากนั้นพิจารณาเหลือผู้คัดเลือกเพียง 1 คน ในวันที่ 29 พ.ค. 2568
เมื่อกระบวนการคัดเลือกเสร็จสิ้น คกก.สรรหาฯ จะจัดทำเอกสารประกอบเสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกดำรงตำแหน่ง ผอ. พร้อมประวัติและผลงาน ให้ คกก.นโยบาย พิจารณาแต่งตั้ง ภายในวันที่ 5 มิ.ย. 2568
และ ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่ จะเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 24 ก.ค. 2568 โดยมีระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน 180 วันนับตั้งแต่วันทำสัญญา วาระดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี และในระหว่างการดำรงตำแหน่งจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละ 1 ครั้ง ในส่วนของเงินเดือน เป็นไปตามที่ คกก.นโยบาย กำหนดในสัญญาจ้าง
9 คณะกรรมการสรรหาฯ – 9 คณะกรรมการนโยบาย
มีส่วนในการสรรหาเหมือนกัน แต่หน้าที่ไม่เหมือนกัน
ในกระบวนการคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ครั้งนี้ มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง 2 ชุดด้วยกัน ซึ่งคือคณะกรรมการสรรหาฯ และคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน

คณะกรรมการสรรหาฯ แต่งตั้งโดย คกก.นโยบาย ซึ่งพิจารณาคัดเลือกจากบุคคลที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2568 ประกอบด้วย
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ)
- ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ (แทน ศ. (พิเศษ) กิตติพงษ์ กิตยารักษ์)
- ทิชา ณ นคร
- ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (แทน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ที่ลาออก เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2568)
- ผศ.ปกป้อง จันวิทย์
- ผศ.พจน์ ใจชาญสุขกิจ
- สฤณี อาชวานันทกุล
- สารี อ๋องสมหวัง
- อภิรัตน์ หวานชะเอม
คกก.สรรหาฯ ทำหน้าที่หลักในการกลั่นกรองและสรรหาผู้สมัครที่มี “คุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสม และสมควรที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ” จัดการแถลงวิสัยทัศน์เสร็จสิ้นแล้ว คกก.สรรหาฯ จะคัดเลือกผู้สมัครเหลือ 3-5 คน ส่งต่อให้ คกก.นโยบาย สัมภาษณ์ต่อ
ในขณะที่ คณะกรรมการนโยบาย มาจากการสรรหา โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จาก 3 เรื่องต่อไปนี้
- ด้านกิจการสื่อสารมวลชน จํานวน 2 คน
- ด้านการบริหารจัดการองค์กร จํานวน 3 คน และ
- ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จํานวน 4 คน
รวมทั้งหมด 9 คน ซึ่ง คกก.นโยบายชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย
- นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (ประธานกรรมการนโยบาย)
- จักร์กฤษ เพิ่มพูล
- เจษฎา อนุจารี
- รศ.ธีรภัทร สงวนกชกร
- ทัศนีย์ ผลชานิโก
- บุญเลิศ คชายุทธเดช
- วรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์
- สุวิทย์ สาสนพิจิตร์
- สมโภชน์ โตรักษา
ในกระบวนการสรรหา ผอ. คนใหม่นี้ คกก.นโยบาย เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาตามข้อบังคับของ คกก.นโยบาย มีอำนาจแต่งตั้ง คกก.สรรหาฯ รวมถึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นด่านสุดท้ายของกระบวนการสรรหา เนื่องจากผู้สมัครจะต้องเข้าสัมภาษณ์กับ คกก.นโยบาย และถูกคัดเลือกโดย คกก.นโยบาย ในท้ายที่สุด
6 โจทย์ท้าทายของไทยพีบีเอส
ในการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่การสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส จะมีการถ่ายทอดสดการแสดงวิสัยทัศน์ นอกจากกระบวนการสรรหาที่พยายามทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ โจทย์ของการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งคือการเปลี่ยนผ่านไทยพีบีเอสไปสู่ภูมิทัศน์สื่อใหม่ โดยมี 6 ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นความท้าทายของไทยพีบีเอส ได้แก่
- การทำงานภายใต้ภูมิทัศน์สื่อแห่งอนาคตทั้งระดับโลกและประเทศไทย รวมถึงการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ในยุคหลังสิ้นสุดอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ และการเปลี่ยนผ่านสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล
- แนวทางการปรับโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์การ
- แนวทางการหารายได้เพิ่มเติม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์การ
- แนวทางการพัฒนาคุณภาพข่าวและรายการเพื่อสร้างความยอมรับและความแตกต่างทั้งการเผยแพร่ทางโทรทัศน์และแพลตฟอร์มออนไลน์
- แนวทางการขยายฐานผู้ชมและผู้ฟังโดยยังคงรักษาความเป็นสื่อสาธารณะอย่างเข้มข้น
- แนวทางการใช้สื่อสาธารณะอย่างคุ้มค่าเต็มศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

โดยในหลายประเด็นสอดคล้องกับผลการสำรวจจากรายงานการประเมินผลการดำเนินงานองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ประจำปี 2566 เช่น
(2) แนวทางการปรับโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์การ
ผลจากการสำรวจของรายงานผลการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมใน ส.ส.ท. เรื่อง การมีกลไกการรักษาจริยธรรมใน ส.ส.ท. ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 96.10% เห็นว่าไทยพีบีเอสมีกลไกการรักษาจริยธรรมของบุคลากรในหน่วยงาน และเห็นว่ามีการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมในไทยพีบีเอสอยู่ในระดับดีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม รายงานผลการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลประจำปี 2566 ระบุว่า หนึ่งในข้อจำกัดคือ บุคลากรบางส่วนยังขาดความเข้าใจในมาตรฐานและประมวลจริยธรรม ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มการสื่อสารในองค์การเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมอย่างทั่วถึงมากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของพัฒนาศักยภาพบุคลากร รายงานการประเมินผลการดำเนินงานที่ได้สำรวจความเห็นของพนักงานจำนวน 233 ตัวกอย่างพบว่า มีพนักงานตอบแบบสอบถามว่าไม่เห็นด้วยถึง 17.18% (จำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นอื่น) ในเรื่องเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานและการให้รางวัล เช่น การขึ้นเงินเดือนมีความเป็นธรรมและเหมาะสม สอดคล้องกับรายงานผลการบริหารทรัพยากรมนุษย์ฯ ที่ระบุว่า ความเป็นธรรมการประเมินผลงานของผู้บังคับบัญชาถือเป็นหนึ่งในปัญหาและอุปสรรคขององค์การเช่นกัน
(3) แนวทางการหารายได้เพิ่มเติม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์การ
พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มาตรา 12 กำหนดให้ไทยพีบีเอสมีรายได้จากภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ โดยมีรายได้สูงสุดปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะมีรายได้ที่แน่นอนเป็นประจำทุกปี แต่ไทยพีบีเอสก็ยังมีความกดดันในการหารายได้ระดับหนึ่ง โดยพนักงานกว่า 56% เห็นด้วยมากว่าไทยพีบีเอสจำเป็นต้องเพิ่มช่องทางการหารายได้ นอกจากนี้ การลดรายจ่ายก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญที่เพิ่มความยั่งยืนให้องค์การ โดยในปี 2566 ที่ผ่าน ผลสำรวจพบว่า พนักงาน 45.28% ไม่เห็นด้วยว่าไทยพีบีเอสมีแนวทางการลดรายจ่ายที่เหมาะสม ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรที่จะลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืน
(5) แนวทางการขยายฐานผู้ชมและผู้ฟังโดยยังคงรักษาความเป็นสื่อสาธารณะอย่างเข้มข้น
ตัวอย่างในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสมีความพยายามในการเพิ่มการเข้าถึงของผู้ชมผู้ฟังในรายการมากขึ้น เช่น การนำเสนอรายการผ่านช่องทางที่หลากหลาย (โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์) หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงรายการได้มากขึ้น เช่น บริการ Text to Speech และบริการ Big Sign
ทำเนียบไทยพีบีเอส องค์การ 17 ปี มี ผอ. มาแล้ว 4 คน
ปี 2568 นี้ ไทยพีบีเอสก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 พร้อม ๆ กับการมาถึงของผู้ดำรงตำแหน่ง ผอ. คนใหม่ ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส มี ผอ. มาแล้วทั้งหมด 4 คน และมีรักษาการ ผอ. ตามมติ คกก.นโยบาย 3 คน (โดยมีเทพชัย หย่อง ดำรงตำแหน่งทั้งรักษาการ ผอ. และ ผอ. จากการสรรหา) และอีก 1 คน เป็นการรักษาการแทนตำแหน่ง ผอ. ระหว่างการลาออกยังไม่มีผล

ผอ. ที่มาจากการสรรหาทั้งหมด 4 คน มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ได้แก่ เทพชัย หย่อง และ รศ.วิลาสินี พิพิธกุล (รศ.วิลาสินี ดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ รวม 8 ปี ในวันที่ 23 ก.ค. 2568) ในขณะที่อีก 2 คน อยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี ได้แก่
สมชัย สุวรรณบรรณ (อดีตบรรณาธิการข่าววิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอดีต คกก.นโยบาย ชุดแรก) ขึ้นมารับตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส ดำรงตำแหน่งในวาระได้ 3 ปี ก็ถูก คกก.นโยบาย ปลดฟ้าผ่าในวันที่ 9 ต.ค. 2558 ส่งผลให้ รอง ผอ. และ คกก.บริหาร ในขณะนั้น พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดตามวาระของสมชัยด้วยเช่นกัน โดย คกก.นโยบาย ให้เหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างว่าผิดสัญญาจ้าง กรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจาก คกก.นโยบายถึง 4 ครั้ง
ในวันที่ 27 ต.ค. 2558 สมชัย และคณะ เข้ายื่นฟ้องไทยพีบีเอสและ คกก.นโยบาย เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้เยียวยา หลักจากนั้น ในวันที่ 25 ก.ย. 2560 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพบว่าสมชัยและคณะทำผิดสัญญาเงื่อนไขข้อ 13.3 มีสิทธิเลิกจ้างไม่แจ้งล่วงหน้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน
การปลดสมชัย เป็นผลให้ พวงรัตน์ สองเมือง ผู้อำนวยการสำนักรายการในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการ ผอ. ตามมติ คกก.นโยบาย เป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ก่อนที่จะมีกระบวนการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ใหม่อีกครั้ง และได้ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ (อดีตผู้จัดการ สสส. และเป็นหนึ่งใน 23 ผู้สมัครที่เข้ารับการสรรหา ผอ. ในครั้งนี้ด้วย) ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผอ. คนใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาของพนักงานไทยพีบีเอสถึงกระบวนการสรรหา และตั้งคำถามว่ากฤษดามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบายในขณะนั้น ยืนยันว่า คกก.สรรหา ตีความคุณสมบัติของกฤษดาว่าไม่มีปัญหา
แม้จะมีข้อกังขา แต่กฤษดาก็ได้ดำรงตำแหน่ง ผอ. ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เพียงปีเศษเท่านั้น ในวันที่ 15 มี.ค. 2560 กฤษดาก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีซื้อตราสารหนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน ระหว่างนั้นมีผู้รักษาการ ผอ. 2 คน ได้แก่ อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการสถานีในขณะนั้น ปฏิบัติหน้าที่แทนระหว่างการลาออกยังไม่มีผล และ ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ซึ่งเป็นไปตามมติ คกก.นโยบาย ก่อนจะมีการสรรหา ผอ. ใหม่ และได้ รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่ออีก 2 วาระ ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 23 ก.ค. 2568 และเปิดทางให้ ผอ. คนใหม่ ขึ้นมาสานงานต่อ