เข้าสู่เดือนที่ 5 ของปี 2567 ท่ามกลางสถานการณ์อากาศที่ร้อนระอุ แต่ไม่ได้มีแค่อากาศเท่านั้นที่ร้อน เพราะโลกโซเชียลก็ร้อนไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะประเด็นการเมืองและนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น สงกรานต์ การเกณฑ์ทหาร ฯลฯ
The Active ทำการเก็บรวบรวมนโยบายที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย ผ่าน Zocial Eye (เครื่องมือ Social Listening ที่ช่วยฟังเสียงของผู้คนบนโลกโซเชียลมีเดีย) ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. 2567 เพื่อหาว่านโยบายใดที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
ในภาพรวม นโยบายส่วนใหญ่ ยังคงเป็นนโยบายที่ติดอันดับในเดือนที่แล้ว และมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง (จำนวน 4 นโยบาย ได้แก่ ซอฟต์พาวเวอร์ ดิจิทัลวอลเล็ต สมรสเท่าเทียม และขึ้นค่าแรง) มีเพียงนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารเท่านั้นที่ไม่เคยติดอันดับมาก่อน แต่มีการพูดถึงอย่างมากในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมานี้
พิจารณาจากกราฟยอดจำนวนข้อความรวมรายวัน (ด้านล่าง) จะเห็นว่าวันที่ 10 เม.ย. 67 เป็นวันที่มีจำนวนข้อความพุ่งโดดกว่าวันอื่น ๆ สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลแถลงความคืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งทำให้มีคนพูดถึงเงื่อนไขการได้รับเงินเป็นอย่างมาก
โดยจากข้อความที่รวบรวมมาได้ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 56.85% ตามมาด้วย X (Twitter) ที่ 21.68% และ YouTube ที่ 13.52% ที่เหลือ 7.95% คือช่องทางอื่น ๆ
ในส่วนของยอดเอ็นเกจเมนต์รายวัน มีบางวันที่ยอดเอ็นเกจเมนต์สูงกว่าวันอื่น ๆ แม้จะมีจำนวนข้อความที่ไม่ต่างกันมาก ซึ่งนอกจากวันที่ 10 เม.ย. 67 ที่มีการแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว อีกหนึ่งวันที่สูงไม่แพ้กันคือวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวันเมษาหน้าโง่ (April Fools’ Day) มีการพูดถึงสมรสเท่าเทียม วันที่ 12 เม.ย. 67 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ไทยต่าง ๆ และวันที่ 29 เม.ย. 67 ที่มีการพูดถึงทั้งดิจิทัลวอลเล็ตและซอฟต์พาวเวอร์อย่างละครึ่ง ๆ
ภาพรวมมียอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 6,419,415 เอ็นเกจเมนต์ และสามารถจัดอันดับนโยบายที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด 5 อันดับได้ดังนี้
อันดับที่ 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (2.00 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
กลับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 อีกครั้ง หลังจากที่ตกมาเป็นอันดับ 2 ในเดือนที่ผ่านมา ภาพรวมมีความคล้ายกับการพูดถึงในเดือนที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งคือตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ เช่น
- 12 เม.ย. 67 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ของไทยต่าง ๆ เช่น เพลงไทย ช่างแต่งหน้าไทย
- 18 เม.ย. 67 มีการพูดถึงเทรนด์ #asokamakeup ของอินเดียที่เป็นที่นิยมใน TikTok ตั้งคำถามว่าถ้าเป็นของประเทศไทยควรเป็นเพลงอะไร ชุดไทยแบบไหน และแต่งหน้าอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้คือซอฟต์พาวเวอร์ของไทย (ภายหลังนำมาสู่เทรนด์ #ayothayamakeup ของไทยใน TikTok)
- 26 และ 29 เม.ย. 67 กรณีทหารอเมริกายกพลขึ้นบกที่พัทยา ก่อให้เกิดการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและชมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในด้านต่าง ๆ เช่น อาหารไทย ในขณะที่บางความคิดเห็นพูดอ้อม ๆ ในเชิงของ sex worker ไทยด้วย
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายซอฟต์พาวเวอร์
อันดับที่ 2 ดิจิทัลวอลเล็ต (1.98 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
ขึ้นมาจากอันดับที่ 3 ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ภาพรวมในเดือนนี้ นโยบายค่อนข้างมีความคืบหน้าและชัดเจนขึ้นจากเดือนก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงบนโลกออนไลน์ถึงวิธีการและกระบวนการในการแจกเงิน
- 10 เม.ย. 67 สรุปเงื่อนไขการแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล เช่น อายุ 16 ปีขึ้นไป เงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท และตั้งคำถามถึงกรณีร้านสะดวกซื้อ 7-11 อาจเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กและอาจรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้
- 22 เม.ย. 67 คลิป TikTok กรณี พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร วิจารณ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เช่น ตั้งคำถามว่าทำไมไม่แจกเป็นเงินสด
- 29 เม.ย. 67 คลิป TikTok รายการคุยกันหน่อยของพรรคไทยสร้างไทย สัมภาษณ์พ่อค้าแม่ค้า ประเด็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
อันดับที่ 3 สมรสเท่าเทียม (0.51 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
ตกมาจากอันดับที่ 1 ในเดือนที่ผ่านมา ยังคงติดอยู่ใน 5 อันดับแรกแม้ว่ายอดเอ็นเกจเมนต์ในเดือนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการพูดถึงเหตุการณ์อื่น (นักแสดงซีรีส์วายเล่นมุก) แต่เชื่อมโยงกลับมาที่นโยบายดังกล่าว รวมถึงมีการพูดถึงความคืบหน้าของนโยบายที่ผ่าน สว. วาระ 1 แล้ว
- 1 เม.ย. 67 กรณีณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุล (โฟร์ท) นักแสดงซีรีส์วาย (ความสัมพันธ์ชายรักชาย) เล่นมุกโกหกเนื่องในวันเมษาหน้าโง่ (April Fools’ Day) โดยระบุว่า ตัวเองคบกับนักแสดงที่เป็นคู่รักในซีรีส์อีกคนอยู่ ทำให้คนบนโลกโซเชียลออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ควรเล่นมุกแบบนี้ เนื่องจากหากินจากอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มเพศหลากหลาย แต่ไม่เคยออกมาแสดงความยินดีแม้แต่วันที่ร่างสมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ
- 2 เม.ย. 67 วุฒิสภาผ่านร่างสมรสเท่าเทียม ในวาระ 1 จะมีการตั้ง กมธ. เพื่อพิจารณาใน 60 วัน และจะทำการโหวตในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
- อ่านเพิ่มเติม สมรสเท่าเทียม
อันดับที่ 4 ยกเลิกเกณฑ์ทหาร (0.33 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
นโยบายด้านบริหารงานภาครัฐนี้ ติดอันดับเป็นครั้งแรก เนื่องจากเดือน เม.ย. เป็นเดือนเริ่มต้นของฤดูกาลการจับใบดำ-ใบแดง เพื่อเกณฑ์ทหาร ทำให้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ความเสียใจที่จับได้ใบแดง คนดังออกมาขอผ่อนผัน นักเคลื่อนไหวประกาศไม่ยอมรับการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น
- 1 เม.ย. 67 เป็นวันแรกของการเกณฑ์ทหารในปี 2567 พูดถึงภาพถ่ายของ The Standard รูปผู้ชายและครอบครัวร้องไห้เพราะจับได้ใบแดง มีการตั้งคำถามว่าจะต้องมีคนเสียใจเพราะเรื่องนี้อีกมากแค่ไหน และจะมีการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือเปลี่ยนเป็นสมัครใจเกณฑ์ทหารเมื่อไหร่
- 5 เม.ย. 67 เกิด 2 เหตุการณ์ในวันเดียวกัน ได้แก่ กรณีจักรภัทร วรรธนะสิน (เจ้าขุน) และจินเจษฎ์ วรรธนะสิน (เจ้านาย) ลูกชายของเจตริน วรรธนะสิน (เจ เจตริน) นักร้องและนักแสดง ยื่นผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเนื่องจากป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน และกรณีเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ประกาศอารยะขัดขืน ไม่เข้าร่วมการเกณฑ์ทหาร ยอมรับผลทางกฎหมาย นำมาสู่การพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
- อ่านเพิ่มเติม ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
อันดับที่ 5 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (0.31 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
ตกลงมากจากอันดับที่ 4 ในเดือนนี้มีการพูดถึงในเชิงความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าว ในประเด็นสอดคล้องกับวันแรงงาน (1 พ.ค.) ที่ใกล้จะถึง
- 22 เม.ย. 67 จากกรณีพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ประกาศมีของขวัญให้แรงงานเป็นรายละเอียดเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันแรงงาน (1 พ.ค.) ทำให้ผู้คนบนโลกโซเชียลเข้าใจและยินดีว่าจะมีการปรับค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศในวันแรงงาน แต่ในวันที่ 24 เม.ย. 67 พิพัฒน์ ระบุว่าในวันแรงงานจะเป็นการประกาศเจตนารมย์ และปรับขึ้นจริงวันที่ 1 ต.ค. 67 แทน
- 30 เม.ย. 67 กรณีมหาวิทยาลัยหอกาค้าเปิดเผยผลสำรวจภาคเอกชน ระบุอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ 15% เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าแรง และกรณีปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ เริ่มวันที่ 1 พ.ค. 67
- อ่านเพิ่มเติม ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นอกเหนือจากนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในโซเชียล 5 อันดับแรกแล้ว ยังมีการพูดถึงและความคืบหน้าของนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดอันดับด้วย ได้แก่
- 5 เม.ย. 67 กรณี ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 นำมาสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ นอกจากนี้มีการเปิดเผยชื่ออาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนอื่น ๆ ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด และกรณีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เข้าพบทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อหาแนวทางจัดการฝุ่น PM2.5
- อ่านเพิ่มเติม พ.ร.บ.อากาศสะอาด
- อ่านเพิ่มเติม แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
- 23 เม.ย. 67 ครม. เคาะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง กำหนดคำถามประชามติรอบแรกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” และไม่กำหนดคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- อ่านเพิ่มเติม แก้ไขรัฐธรรมนูญ
นโยบายข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคืบหน้านโยบายและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่จะมีการติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงว่า เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ด้วยหลักเหตุและผล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงความคิดเห็น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
The Active เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายและแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch