“หากดอกไม้ไม่บาน
เราต้องปรับสภาพแวดล้อมที่มันเติบโต
ไม่ใช่แก้ที่ตัวดอกไม้”
อายุ 15 ปี คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต เป็นช่วงวัยที่เด็กชายและเด็กหญิงคนหนึ่งจะเปลี่ยนคำหน้านาม เป็นอายุที่กำลังพ้นจากสถานะของ ‘เด็ก’ มีวุฒิภาวะมากพอที่จะทำนิติกรรมเบื้องต้นได้ เป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เป็นช่วงรอยต่อของการศึกษาภาคบังคับ
…และยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กไทยจะตกหล่มไปในเส้นทางของอาชญากรรมอีกด้วย หากสังคมเลือกปล่อยปละละเลยพวกเขา
ข้อมูลของ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในปีงบประมาณ 2566 พบว่าเด็กและเยาวชนก่อคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายถึง 3,330 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 2,098 คดี และยังพบว่าเด็กและเยาวชนเริ่มใช้อาวุธก่อความรุนแรงมากขึ้น โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธและวัตถุระเบิดเพิ่มจาก 876 คดีในปี 2562 เป็น 1,683 คดีในปี 2566 โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และเยาวชนที่อายุ 15-17 ปี คิดเป็น 80% ส่วนเด็กที่อายุน้อยกว่า 14 ปีมีสัดส่วน 20% ซึ่งน่ากังวลว่าตัวเลขเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จุดวิกฤตมัธยม 2: พ้นรั้วโรงเรียน เข้าเรือนจำ
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ยังคงเชื่อมั่นในพลังงานด้านสว่างของเด็กทุกคน และยืนยันว่าเด็กคนหนึ่งไม่ได้เลือกเป็นอาชญากรเพราะเขาต้องการ แต่สังคมและสภาพแวดล้อมต่างหากที่กดทับให้พวกเขาไร้ทางเลือก กระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน จึงไม่อาจยุติที่ความเป็นธรรมได้ หากเราแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาสังคมที่ทำร้ายพวกเขา ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่ ก็จะมีเยาวชนเดินเข้าสู่ที่มืดมากขึ้นเรื่อย ๆ
บทวิเคราะห์จาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เด็กที่ก่ออาชญากรรมส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ ซึ่งการไม่อยู่กับพ่อแม่อาจทำให้เด็กเสี่ยงต่อปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียนรู้ สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมพินิจฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมตามมา
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2565 พบว่า 53.8% ของเด็กไทยอายุ 1 – 14 ปี ยังได้รับการอบรมโดยใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การตี การตะคอก หรือการด่าทอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดบาดแผลทางจิตใจและอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงในอนาคต

เราพบว่า จุดเปราะบางของเด็กในระบบการศึกษาไทยอยู่ที่ชั้น ม.2 เพราะเป็นช่วงที่เด็กเริ่มแตกหักกับครอบครัวและสังคม หากไม่มีการสนับสนุนที่เหมาะสม เด็กจำนวนมากจะหลุดจากระบบการศึกษาและเข้าสู่วงจรอาชญากรรม คำถามสำคัญคือ ใครจะเป็นผู้ช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้?
ทิชา ณ นคร
เมื่อ ทิชา พบว่าเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เริ่มมีพฤติกรรมที่นำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น หลายคนเมื่อพ้นจากรั้วโรงเรียน ก็ต้องเข้าสู่เรือนจำแทน ด้วยเหตุนี้บ้านกาญจนาฯ จึงริเริ่มโครงการร่วมกับโรงเรียนแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยให้เด็กบ้านกาญจนาฯ รับบทเป็นโค้ชให้กับนักเรียนที่มีความเสี่ยง โดยมีสัดส่วนเด็กบ้านกาญจนาฯ หนึ่งคนต่อนักเรียนสองคน
ก่อนเริ่มโครงการ ทิชา ทำการศึกษาสถานการณ์ภายในโรงเรียนและพบว่าเด็กบางคนถูกกลั่นแกล้ง (bully) บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว โครงการนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาสิบครั้งในทุกวันพุธช่วงบ่าย ที่ไม่ได้ทำเพียงแค่ให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเชิญผู้ปกครองเข้ามาร่วมกิจกรรม Empowerment อีกด้วย แม้ว่าในตอนแรก ครูและอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนจะมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ปกครองมักไม่มาเข้าร่วมกิจกรรมในโรงเรียน แต่ ทิชา ยังเดินหน้าต่อไป
เด็กบ้านกาญจนาฯ บอกกับน้อง ๆ ในฐานะโค้ชว่า พวกเขาเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เคยทำผิดพลาด และกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง มันต้องเริ่มจากครอบครัวที่เข้าใจและสนับสนุน เมื่อน้อง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว พวกเขาเป็นฝ่ายไปพูดกับพ่อแม่เอง จนในที่สุด วันที่นัดพบผู้ปกครอง มีครอบครัวเข้าร่วมถึง 38 ครอบครัว มีเพียงครอบครัวเดียวที่อยู่ได้เพียงครึ่งวันเนื่องจากติดงาน
หนึ่งในเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า เขาไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกับแม่อย่างจริงจังมาก่อน แม่ของเขาเช่าห้องเล็ก ๆ แถวคลองเตย และกลับมาเติมของในตู้เย็นเดือนละครั้ง เพราะต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินเลี้ยงลูก แม่เชื่อว่าเงินคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่สำหรับลูกแล้ว สิ่งที่เขาต้องการคือการได้ใช้เวลากับแม่
วันนั้น หลังจากทำกิจกรรมเสร็จ เด็กชายส่งข้อความถึงครูประจำชั้น
ขอภาพที่เขาได้ทำกิจกรรมร่วมกับแม่ เพราะเขาไม่เคยมีรูปคู่กับแม่เลย
แก้ปัญหาอาชญากรในวันหน้า เริ่มต้นที่บ้านในวันนี้
สำหรับ ทิชา การทำงานกับเด็กที่มีปัญหาครอบครัวหรือมีพฤติกรรมความรุนแรงนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือ “ต้นทาง” ที่ไม่เคยหยุดเลย ต้นทาง ที่ยังคงปลูกฝังแนวคิดผิดๆ ให้เด็ก ทั้งที่หลักฐานเชิงประจักษ์มีมากมาย ว่าพฤติกรรมเช่นนี้นำไปสู่ความสูญเสียมากเพียงใด ทั้งเด็กที่เสียชีวิตและเด็กที่ต้องติดคุก แต่ต้นทางก็ยังไม่เปลี่ยน

เด็กจากครอบครัวที่ดี แม้จะทำผิด แต่มักมีช่องทางให้หลุดรอด แต่เด็กที่ไม่มีใครคอยสนับสนุน ไม่มีโอกาสแบบนั้น ระบบที่ไม่เป็นธรรม จึงซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้หนักขึ้นไปอีก บ้านกาญจนาฯ เองก็พยายามช่วยเหลือเด็กเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของชีวิต
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสังคมในขณะนั้น และในประเทศนี้ ระบบต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นแบบแยกส่วน ไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย สุดท้าย คนที่ต้องแบกรับผลกระทบ คือ เด็กที่อ่อนแอที่สุด
ทิชา ณ นคร
แม้ในอดีต ระบบเรือนจำออกแบบให้ครอบครัวอยู่ห่างจากตัวเด็ก แต่ ทิชา พบว่า ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก บ้านกาญจนาภิเษกจึงให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่วันแรก พ่อแม่ต้องพร้อมรับโทรศัพท์จากเราเสมอ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น เช่น เด็กทะเลาะกันตอนตีหนึ่ง เราจะติดต่อพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายให้ช่วยกันหาทางแก้ไขทันที วิธีนี้ทำให้พ่อแม่ได้ฝึกทักษะการสื่อสาร การขอโทษ และการให้อภัย
โดยทั่วไป เด็กที่ถูกปล่อยตัวจากบ้านกาญจนาฯ ในวัย 17-19 ปี เรายังสามารถขอให้ศาลช่วยคุมประพฤติได้ แต่หากปล่อยในช่วงอายุ 23-24 ปี โอกาสที่พวกเขาจะสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้จะสูงกว่า ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่เป็นนักดื่ม ทะเลาะกันทุกวัน วันที่พ่อแม่มาปฐมนิเทศที่บ้านกาญจนาฯ พวกเขายังพกเหล้ามาด้วย แต่กระบวนการของที่นี่ ทำให้พวกเขาได้ทบทวนตัวเอง คิดเพื่อลูกของเขาให้มากขึ้น และในวันสุดท้ายก่อนที่ลูกจะถูกปล่อยตัว พ่อของเขาประกาศเลิกเหล้าเพื่อเป็นของขวัญให้ลูก
อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความสำคัญของครอบครัว ทิชา เล่าว่า มีเด็กชายคนหนึ่งเข้ามาในบ้านกาญจนาฯ เพราะคดีฆาตกรรม เขารู้สึกเครียดและคิดจะหนีออกจากบ้านกาญจนาฯ เพื่อไปแก้แค้นแฟนที่บอกเลิก แต่เมื่อเขาเดินออกไปแล้วเห็นแสงไฟจากห้องทำงานของเรา เขาจึงเลือกเดินกลับมาเพราะรู้สึกว่ายังมีคนที่รับฟังเขาอยู่ ทิชา จึงช่วยให้เขาได้คุยกับพ่อแม่ ซึ่งสุดท้ายทำให้เขารู้สึกดีขึ้นและสามารถเดินหน้าต่อไปได้
หลายปีต่อมา เขากลับมาเยี่ยมเราพร้อมภรรยาและลูก เขาบอกว่า
ถ้าวันนั้นเขาไม่ได้รับโอกาสได้พูดคุยกับครอบครัว
เขาคงทำสิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตไปแล้ว
Sense of Belonging: เพราะเด็กรู้สึกแปลกแยกจากชุมชน เขาจึงหนีห่าง
ประเด็นสำคัญที่ ทิชา พบคือ ปัญหาของเด็กและเยาวชนจำนวนมากเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยว พ่อแม่เชื่อว่าเงินคือคำตอบ แต่ขาดเวลาและความเข้าใจในความต้องการของลูก ชุมชนเต็มไปด้วยความรุนแรง อบายมุขเข้าถึงง่ายกว่าแหล่งเรียนรู้ และแม้จะมีกรณีสูญเสียมากมาย แต่รัฐก็ยังไม่มีนโยบายหรือแนวทางที่ตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถาม คือ เราต้องรอให้เด็กกี่คนต้องพังทลายไปก่อนที่รัฐจะตื่นตัวและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ?
ที่บ้านกาญจนาฯ เคยต้องรับเด็กคนหนึ่งที่ถูกจับพร้อมคดีครอบครองยาเสพติดถึง 4 ล้านเม็ด เขาไม่ได้เป็นนักค้ายาตัวจริง แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ วันหนึ่งพี่ที่ร้านเกมขอให้เขาช่วยขนยา เขาคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเลยยอมทำ และสุดท้ายก็ถูกจับ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ เขาเรียนรู้แล้วว่าโลกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมอะไรบ้าง เขาตัดสินใจตัดขาดจากคนเหล่านั้น และเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ ทิชา ย้ำว่า เยาวชนที่ก่อเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่รู้ด้วยเช่นกัน กระบวนการบำบัดจึงต้องให้การศึกษาและวิชาชีวิตแก่พวกเขาด้วย

ปัญหาการเติบโตในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยข้อมูลจาก กรมพินิจฯ พบว่า 79.1% ของเด็กและเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีปัญหา เช่น ชุมชนที่มีการซื้อขายยาเสพติดหรือมีการทะเลาะวิวาทอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ มักจะซึมซับพฤติกรรมไม่เหมาะสมและเลียนแบบการกระทำเหล่านั้น
สิ่งสำคัญที่ ทิชา ได้พบในโมเดลบ้านกาญจนาภิเษก และไม่ได้เป็นเพียงกรณีเฉพาะที่นี่ แต่เป็นทั้งประเทศ คือปัจจุบัน โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไปจากอดีต พ่อแม่ยุคใหม่เผชิญกับความท้าทายในการเลี้ยงดู บ้างครอบครัวแยกทางกันอยู่เพื่อโอกาสทำมาหากินต่างถิ่น บ้างประสบความรุนแรง บ้างยากจนสาหัส แต่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายหรือระบบสนับสนุนที่เพียงพอที่จะทำให้พ่อแม่อุ้มชูลูกให้เติบโตมาได้อย่างแข็งแรงและสดใส
การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดต้องใช้เวลา เด็กไม่ได้แค่ถูกกักขังและรอวันพ้นโทษ แต่มันเป็นกระบวนการที่ต้องมีเครื่องมือและการสนับสนุนที่เหมาะสม เราไม่ได้ทำงานแค่กับเด็ก แต่ต้องทำงานกับผู้ใหญ่ในระบบยุติธรรม รวมถึงครอบครัวของเด็กด้วย
ทิชา ณ นคร
สภาพัฒน์ เสนอว่า หนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้ คือ สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสร้างชุมชนปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปัญหาความรุนแรง โครงการ Neighborhood Police Post (NPP) ของสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันอาชญากรรม โดยการจัดตั้งศูนย์บริการตำรวจในชุมชนที่เน้นการป้องกันอาชญากรรมและการจัดการสภาพแวดล้อมชุมชนให้ปลอดภัย รวมถึงการจัดกิจกรรมภายในชุมชนเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เช่น การแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมจิตอาสา
ในโรงเรียนเอง ต้องลดภาระงานครู ให้ครูได้มีเวลาเฝ้าสังเกตเด็กนักเรียน โดยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ช่วยสร้าง Sense of Community เช่น การทำกิจกรรมร่วมกัน การทำโครงการร่วมกับชุมชน จะทำเยาวชนรู้สึกมีตัวตนในสังคม และอยากปกป้องชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ นอกจากนี้ ควรปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และจัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ตัวอย่างเช่น ประเทศเดนมาร์กที่นำแนวทางนี้มาใช้ ทำให้สัดส่วนเด็กที่กลั่นแกล้งผู้อื่นลดลงจาก 40% ในปี 1998 เหลือน้อยกว่า 5% ในปี 2018
บทส่งท้าย:
ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยสตรีที่ชื่อ ‘ป้ามล’
บ้านกาญจนาภิเษก พิสูจน์แล้วว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวสามารถเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กได้ แต่สิ่งนี้ไม่ควรเป็นหน้าที่ของเราเพียงแห่งเดียว ภาครัฐและสังคมต้องร่วมมือกันสร้างระบบสนับสนุนให้พ่อแม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ครั้งหนึ่ง องค์ภาฯ เสด็จมาเยี่ยมบ้านกาญจนาฯ และทรงถามว่า อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของที่นี่? คำตอบของป้ามล คือ บ้านกาญจนาฯ มีความเป็น “รัฐ” น้อยมาก ถึงขั้นไม่มีเลย เราไม่ยึดติดกับระบบราชการ แต่ใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของเด็กแต่ละคน
ทิชา ณ นคร
ทิชา ย้ำว่า รัฐสามารถทำสิ่งดี ๆ ได้มากมาย แต่เมื่อต้องเผชิญกับนวัตกรรมทางสังคม มักจะติดอยู่กับระบบเดิม ๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นรัฐควรปรับบทบาทตัวเองจาก “ผู้ควบคุม” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” โดยให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานและวัดผลลัพธ์อย่างชัดเจน
ข่าวดีคือ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้อนุมัติกฎกระทรวงที่เปิดทางให้สถานควบคุมเด็กและเยาวชนสามารถดำเนินการโดยภาคประชาสังคมได้ ซึ่งบ้านกาญจนาฯ กำลังดำเนินเรื่องขอใบอนุญาตเพื่อออกจากระบบรัฐและดำเนินงานในรูปแบบที่เป็นอิสระมากขึ้น เพราะในหลายประเทศ ระบบนี้พิสูจน์แล้วว่าได้ผล
ท้ายที่สุด สิ่งที่ ทิชา ต้องการไม่ใช่แค่ความสำเร็จเชิงปัจเจกของบ้านกาญจนาฯ เพียงแห่งเดียว แต่ต้องการเห็นระบบยุติกรรมและฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่ยั่งยืน เพราะการช่วยเหลือเด็กเพียงไม่กี่คนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่การสร้างระบบที่สนับสนุนให้เด็กทุกคนมีโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ต่างหาก ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของบ้านกาญจนาฯ
ติดตาม หลากหลายความสูญหายหมายเลข 5 ที่ไม่ใช่แค่โชคชะตากำหนด ใน No.5 Crisis|เบญจ-อาเพศ กับ Thai PBS in Focus