นับถอยหลังอีกรอบ สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” รอบสอง วันพรุ่งนี้ (19 ก.ค. 2566) ซึ่งจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกัน
เรื่องแรก คือ แม้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะมีมติเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซ้ำอีกรอบ แต่ก็มีกระแสข่าวว่า ส.ว. หลายคน เตรียมจะงัดข้อบังคับการประชุมมาหารือว่าจะโหวตซ้ำได้หรือไม่ โดยเตรียมหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่ระบุว่า “ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามเสนอซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานสภาอนุญาต” ซึ่งวันนี้ (18 ก.ค. 2566) จะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการโหวตรอบสองในวันพรุ่งนี้ด้วย
เรื่องที่ 2 คือ คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จะสั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ด้วยหรือไม่? แม้ประเด็นนี้ ในทางกฎหมาย จะไม่กระทบกับสถานะการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ตาม
8 พรรคร่วมฯ ส่อแตกแถว แล้วใครจะเป็น “นายกฯ”
ส่วนท่าทีของ 7 พรรค ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เวลานี้หลายฝ่ายอาจมองว่า “มีสัญญาณไม่ค่อยดี” เพราะไม่แน่ใจว่าจะยังเห็นการฟอร์มทีมรัฐบาลแบบเดิมหรือไม่ เพราะแต่ละพรรคเริ่มหาที่ทางที่เหมาะสมของเอง แม้ พิธา จะออกมาเปิดเผยผลการหารือแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต่อการโหวตนายกฯ รอบสองว่า 8 พรรคร่วมฯ มีมติยังคงเสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 เป็นมติเฉพาะพรรคก้าวไกล ส่วนความสัมพันธ์ของ 8 พรรคร่วมฯ ก็ยืนยันว่ายังเป็นไปด้วยดี และจะตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ใน 8 พรรค
แต่ก่อนหน้านี้ กรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาวิจารณ์พรรคก้าวไกลอย่างตรงไปตรงมา เรื่องยกมาตรฐานสูง ไม่ยอมถอย จนปิดกั้นโอกาสตัวเอง และตนก็พร้อมที่จะร่วมมือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะไม่ติดเงื่อนไขการมีอยู่ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกแล้ว นอกจากนี้ ยังมีกระแสการดีลกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนาเพิ่มเติมด้วย
ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า เรื่องที่สำคัญ คือ หาแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เมื่อการลงมติให้ พิธา แคนดิเดตของก้าวไกล ได้เสียงจากพรรคเพื่อไทยครบ 141 เสียง แต่ได้จาก ส.ว. เพียง 13 เสียง ทั้งที่ แกนนำพรรคก้าวไกล มั่นใจมาก จึงไว้ใจและเชื่อใจ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะลงมติต่อไปเรื่อย ๆ คงไม่ได้
ใครมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี” ให้ที่ประชุมสภาโหวตได้บ้าง?
การโหวตเลือกนายกฯ รอบสอง จึงมีหลายพรรคที่อาจเสนอชื่อได้เช่นกัน เพราะภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คือกำหนดให้ 1) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณานายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอก่อนเลือกตั้ง พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ และ 2) รายชื่อนั้นต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 (25 ที่นั่ง) และมีผู้รับรองในการเสนอไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (50 เสียง) ซึ่งแคนดิเดตที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา) เท่าที่มีอยู่
หากไล่เรียงดูแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่มีองค์ประกอบครบตามเงื่อนไขเหล่านี้ ก็จะพบว่า…
แคนดิเดตนายกฯ จาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
- พรรคก้าวไกล มี ส.ส. 151 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
- พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 141 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ
แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม
- พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 71 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
- พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 40 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
- พรรครวมไทยสร้างชาติ มี ส.ส. 36 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
- พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 25 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
แต่หากทั้งสองสภา ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และหันไปใช้กลไก “นายกฯ นอกบัญชี” รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ม. 272 วรรคสอง เปิดทางให้ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากในบัญชีได้ สมาชิกของทั้งสองสภาสามารถใช้เสียงกึ่งหนึ่งรวมตัวกันยื่นขอเปิดทางการเลือกนายกฯ นอกบัญชี แล้วใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่ออนุมัติ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการโหวตเช่นเดียวกัน