นโยบายแก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นวาระสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนสถานการณ์การยกร่างใหม่จะไม่ได้ง่าย เพราะต่างฝ่ายต่างมีแนวคิดและเป้าหมายในการแก้รัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงยังอาจคลุมเครือ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนหรือตัดสินใจอย่างไรต่อ
วันที่ 10 ธ.ค. 2567 ครบรอบ 92 ปี วันรัฐธรรมนูญ The Active ชวนดูความคืบหน้าของการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของรัฐบาลรัฐประหาร ว่าตอนนี้กระบวนการแก้ไขอยู่ในขั้นตอนไหน มีความคืบหน้าอะไรบ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่รัฐสภาต้องหาทางออกต่อไป
92 ปี รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ จากรัฐบาลปกติเพียง 5 ฉบับ
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475) ในวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ก่อนที่จะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ในปีเดียวกัน จึงถือวันนั้นเป็นวันรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา
สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนและใช้งานรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ โดยส่วนใหญ่มาจากหรือเป็นผลพวงมาจากรัฐบาลรัฐประหาร ถึง 15 ฉบับด้วยกัน (75%) และมาจากรัฐบาลปกติหรือรัฐบาลพลเรือน เพียง 5 ฉบับเท่านั้น (25%)
รัฐธรรมนูญไทยจึงมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 4.6 ปีต่อฉบับเท่านั้น โดยฉบับที่ใช้นานที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 โดยได้ใช้นานถึง 13.42 ปี ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 (ชั่วคราว) ถูกใช้งานสั้นที่สุดเพียง 166 วัน และฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ ซึ่งคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ถูกใช้งานมาแล้วกว่า 7.68 ปี (ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ถึง 10 ธ.ค. 2567)
ความคืบหน้าล่าสุด
ความคืบหน้าในการแก้รัฐธรรมนูญถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะจะมีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าจะมีการเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 14 ฉบับ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ รวม 17 ฉบับทันทีที่มีการเปิดสมัยประชุมสภาฯ
นอกจากนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังระบุอีกว่า จะมีการนัดคุยวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 เพื่อหาวันถกแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าอาจไม่ได้นำทั้ง 17 ฉบับมาพิจารณาพร้อมกัน แต่อาจเลือกเอาฉบับที่เห็นร่วมกัน หรือฉบับที่เร่งด่วนมาก่อนมาก่อน
ทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ? – ยังไม่มีคำตอบ
สถานการณ์ล่าสุดยังไม่มีใครเป็นคนฟันคำตอบว่าจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง โดยการทำที่เป็นที่ถกเถียงคือการทำประชามติว่าเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ โดยมติของคณะรัฐมนตรีของนายกฯ เศรษฐา เห็นชอบผลการศึกษาของ คกก.ประชามติ (ซึ่งมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 มีสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- ให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ได้แก่ ทำก่อนแก้ไข, ทำหลังแก้ไข มาตรา 256 และทำหลัง สสร. ยกร่างเสร็จ
- คำถามในการทำประชามติแรกคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
- คาดการณ์ว่าจะมีการออกเสียงประชามติครั้งแรกในเดือน ก.พ. 2568 พร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ
จะเห็นว่าในปัจจุบัน มติทั้ง 3 ข้อยังมีความไม่แน่นอน ทั้งไม่แน่นอนว่าจะออกเสียงประชามติ 3 หรือ 2 ครั้ง หากทำ 3 ครั้งจะยืนยันคำถามเดิมหรือไม่ (โดยเฉพาะประเด็นไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2) และปัจจุบันการออกเสียงประชามติครั้งแรกก็ไม่พร้อมและไม่ทันกับการเลือกตั้ง อบจ. ที่ถูกกำหนดโดย กกต. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 อย่างแน่นอน
หากลดการทำประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง คาดว่าอาจประหยัดเวลาได้ถึงครึ่งปี นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย และผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนการเลือกตั้งในปี 2570 ทำให้หลายฝ่ายเสนอให้ลดการทำประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง (ตัดการทำประชามติเพื่อถามว่า เห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ออก) เช่นพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนที่เห็นตรงกันในประเด็นดังกล่าว
ทำประชามติ 3 ครั้ง | ทำประชามติ 2 ครั้ง | |
เห็นชอบให้จัดทำ รธน. ใหม่ | ทำ | ไม่ทำ |
เห็นชอบร่างแก้ รธน. ของรัฐสภา (แก้มาตรา 256 เปิดทางตั้ง สสร.) | ทำ | ทำ |
เห็นชอบร่าง รธน. ใหม่ | ทำ | ทำ |
ทำประชามติใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว หรือ 2 ชั้น ? – รอสภาฯ ลงมติ
เงื่อนไขของการทำประชามติ ถูกกำหนดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งยังมีจุดที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างเห็นแย้งกันอยู่ โดยมีลำดับเวลาเหตุการณ์ ดังนี้
- 18 มิ.ย. 2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างแก้ พ.ร.บ.ประชามติฯ วาระ 1
- 21 ส.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ โดยให้ใช้ ‘เสียงข้างมากชั้นเดียว’ (Simple Majority) ในการทำประชามติ หรือคือต้องมีผู้โหวตเห็นชอบมากที่สุด มากกว่าจำนวนคนที่ไม่เห็นด้วยหรือจำนวนคนที่งดออกเสียง ส่งเรื่องต่อไปยังวุฒิสภา วาระ 1
- 30 ก.ย. 2567 วุฒิสภา วาระ 3 โหวตเห็นชอบให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โดยให้กลับไปใช้หลักการ ‘เสียงข้างมาก 2 ชั้น’ (Double Majority) ซึ่งต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีผู้โหวตเห็นชอบเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิ์
- 9 ต.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อีกครั้ง โดยยังยืนยันหลักการเดิม (เสียงข้างมากชั้นเดียว) มีเพียงพรรคภูมิใจไทยที่อภิปรายสนับสนุนเห็นด้วยตามวุฒิสภา โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบที่วุฒิสภาปรับแก้ ส่งผลให้มีการตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ (กมธ.ร่วมฯ ประชามติ)
- 4 ธ.ค. 2567 กมธ.ร่วมฯ ประชามติ เห็นชอบรายงาน โดยใช้หลักการ ‘เสียงข้างมาก 2 ชั้น’ ส่งคืนทั้ง 2 สภา โดยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณารายงานดังกล่าว ในวันที่ 17 และ 18 ธ.ค. 2567 ตามลำดับ
นิกร จำนง เลขานุการ กมธ.ร่วมฯ ประชามติ มองว่า วุฒิสภาน่าจะเห็นชอบรายงานดังกล่าว (เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น) ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรน่าจะไม่ให้ความเห็นชอบ (ยืนยันในหลักการเสียงข้างมากชั้นเดียว) ซึ่งอาจจะเข้าสู่การแขวนร่างไว้ 180 วัน เพื่อรอประกาศใช้ได้ ซึ่งหมายถึงจะเป็นการเลื่อนเวลาการแก้รัฐธรรมนูญออกไปอีก 180 วัน
สภาร่างรัฐธรรมนูญจะมาจากไหน ? – ยังไม่มีคำตอบ
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 คณะอนุกรรมาธิการฯ ภายใต้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สรุปรายงานศึกษารูปแบบเลือกตั้ง สสร. ระบุมีหลากหลายรูปแบบ แต่ทุกรูปแบบล้วนอยู่ภายใต้หลักการ ‘สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด’ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบรายงานดังกล่าว และส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรีของนายกฯ เศรษฐา ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกฯ จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีความคืบหน้าต่อว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สสร. จะออกมาในรูปแบบใด แต่หลายฝ่ายก็ยังคาดหวังให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งหมดเหมือนเดิม
อีกหนึ่งทางแก้ พรรค ปชน. เสนอทำพร้อมกัน 2 ทาง
ในขณะที่ปลายทางของการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดการณ์ว่าอาจใช้เวลานานหลายปี และสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนจึงได้เสนอให้มีการดำเนินการใน 2 ทางคู่ขนานกัน คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 รายมาตรา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และแก้ไขบางปัญหาทางการเมืองไปก่อน
โดยในวันที่ 26 ก.ย. 2567 พรรคประชาชนได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 แพ็คเกจ โดยหวังให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ และเพื่อวางรากฐานให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความยั่งยืนและเป็นประชาธิปไตย