ถอดบทเรียนจากโครงการแก้จน | 7 ธ.ค. 2565
แม้ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จะระบุว่าจำนวนของคนจนลดลง แต่ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และจำเป็นต้องมีเจ้าภาพในการแก้ปัญหา ขณะที่การออกนโยบายแก้จน ยังจำเป็นต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีฐานข้อมูลที่แม่นยำเป็นสารตั้งต้นในการออกแบบนโยบาย
ผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมสนทนาในงาน Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย ช่วง “ถอดบทเรียนจากโครงการแก้จน” เห็นตรงกันว่า ความจนต้องแก้หลายมิติ เพราะไม่ได้มาจากปัญหาพฤติกรรมส่วนบุคคล หรือครัวเรือนเพียงอย่างเดียว
พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มเห็นแนวคิดการแก้ปัญหาความยากจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 3-4 จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จ เพราะความจนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (dynamic) เปรียบเหมือนโรคภูมิแพ้ที่เป็นต่อเนื่อง รักษาไม่หายขาด
หากดูข้อมูลสภาพัฒน์ จะพบว่า จำนวนคนยากจนลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านคน แม้จำนวนจะลดลง แต่เหตุผลหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญกับการแก้จน เพราะความยากจนจะบอกเฉพาะพฤติกรรมส่วนบุคคลหรือครัวเรือนไม่ได้ ต้องบอกเชิงพื้นที่ด้วย
ปี 2560 รัฐบาลปัจจุบัน สำรวจการแก้ปัญหาความยากจน และพบว่าแต่ละประเทศมีการแก้ปัญหาต่างกันตามบริบทประเทศ แต่ที่เหมือนกันคือ แต่ละประเทศ มีข้อมูลเชิงลึกรายบุคคล เป็นตัวตั้งต้นแก้ปัญหาความยากจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกระทรวงการคลังจะเน้นคัดกรอง ตรวจสอบทั้งมิติรายได้ เงินฝาก การถือครองที่ดิน ฯลฯ โดยเน้นไปที่ “คนรายได้น้อย” ที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน ข้อมูลจึงนำมาสู่การสร้างนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ โดย นโยบายจะต้องแบ่งออกเป็นหลายระดับเพื่อตอบโจทย์ความแตกต่างหลากหลาย และหัวใจสำคัญ คือ การประเมินผล
พงศ์นคร ยกตัวอย่าง Big Data ผู้มีรายได้น้อย 13.2 ล้านคน ซึ่งพบว่า
- 38% ของผู้มีรายได้น้อย เป็นผู้สูงอายุ
- 80% ของผู้มีรายได้น้อย มีการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ
- 32% ของผู้มีรายได้น้อย ไม่มีงานทำ ว่างงาน
- 58% ของผู้มีรายได้น้อย ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง
- 10% ของผู้มีรายได้น้อย มีหนี้นอกระบบ
- 50% ของผู้มีรายได้น้อย เป็นเกษตรกร และอาชีพอิสระ ซึ่งมีความไม่แน่นอนเรื่องรายได้
- 80% ของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกร เป็นชาวนา
- 81% ของผู้มีรายได้น้อยไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 9.7 ล้านคน หรือประมาณ 73% ส่วนผู้มีรายได้น้อยที่มีเงินฝากต่ำกว่า 5,000 บาท มีจำนวน 12.1 ล้านคน หรือประมาณ 92% ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนชัดว่า ข้อมูลทั้งหมดมาทำ BIG DATA คือ สารตั้งต้นออกแบบนโยบาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยิบไปใช้ต่อ
ขณะที่ข้อมูลอีกชุดสะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจรายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ ที่มีปัญหาเศรษฐกิจอสังคม การศึกษาที่แตกต่างกัน จึงสรุปได้ว่า การแก้ปัญหาในเชิงนโยบายไม่สามารถแก้แบบเหมารวม แบบใช้ยาพาราเซตามอลแก้ทั้งหมดได้ และมีสูตรการแก้ปัญหาต่างกัน
“ถ้าต้องการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องแก้ทั้งคนและพื้นที่ไปพร้อมกัน
พงศ์นคร โภชากรณ์
ข้อมูล คือ พระเอกที่ชี้เป้าว่าปัญหาแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน คืออะไร? เมื่อรู้แล้วจะไม่เปลืองงบประมาณแก้ได้ตรงจุด…แต่ความท้าทาย คือ ประเทศไทยมีข้อมูลความยากจนเยอะ แต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์”
อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระบุว่า เรื่องยากที่สุดของการแก้ความจน คือ การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ หรือการหา How to เพื่อแก้ปัญหาจริง ๆ สิ่งสำคัญที่จะช่วยได้คือการมีเงิน มีรายได้เข้ากระเป๋าให้มากที่สุด ที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) ให้คนในพื้นที่มีรายได้ ตั้งแต่ปี 2562-2565 มีทั้งสิ้น 73 โครงการแล้ว โดยการทำงานจะเริ่มต้นจากการเลือกพื้นที่ศึกษาปัญหา สิ่งสำคัญ คือ ชาวบ้านไม่ต้องการเป็นหนูทดลอง การเลือกนวัตกรรมจึงต้องอาศัยความเหมาะสมแม่นยำ ใช้งานวิจัยยืนว่านวัตกรรมเหล่านั้นพร้อมใช้งานจริง ๆ
อำพล ย้ำว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาระดับพื้นที่ แต่สุดท้ายปลายทางชุมชนจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้หรือไม่ จะสามารถแก้จน สร้างงาน สร้างรายได้ ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ชุมชนเป็นสำคัญ โดยยกตัวอย่างการนำร่องที่ ชุมชนเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ความต้องการของชุมชน คือ ต้องการทำเกษตรบนพื้นที่สูง จึงมีนวัตกรรมระบบสูบน้ำ กระจายน้ำจากพื้นที่สูงสู่แปลงเกษตร และไม่ได้ให้เปล่า มีการเก็บเงินตามมิเตอร์น้ำ ผ่านคณะกรรมการกองทุนการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน ผลลัพธ์ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลง และมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้อีกอย่างก็คือ การประเมินความพึงพอใจทางสังคมในทุกมิติกับชุมชน และต้องวัดให้ได้ว่าทักษะของคนในชุมชน เพิ่มหรือไม่หลังการทำโครงการ
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำคัญมากที่สุดในการพัฒนาระดับพื้นที่ แต่สุดท้ายชุมชนจะยกระดับคุณภาพชีวิต แก้จน สร้างงาน สร้างรายได้ ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับชุมชน
หัวใจสำคัญ จะอยู่รอดได้ต้องปรับวิธีคิด สร้างนวัตกรชุมชน และต้องประเมินผลด้วยว่า ชุมชนมีทักษะเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังทำโครงการนวัตกรรม”
อำพล อาภาธนากร
บัญญัติ คำบุญเหลือ กรรมการผู้จัดการบริษัท สฤก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวถึง ต.คำพอุง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อหาช่องทางการตลาดและการบริหารจัดการผลผลิต นอกจากการเน้นให้เกษตรกรมีรายได้แล้ว โมเดลนี้ยังเน้นให้เกษตรกรสร้างเงินออมด้วย วิธีการคือ การสร้างความศรัทธา สร้างการออมผ่านโครงการธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน และทำให้ชุมชนรู้จักการตั้งเป้าหมาย ทำให้จากเดิมในปี 2559 มีสมาชิกอยู่ที่ 50 ราย ปัจจุบันมีมากกว่า 700 ราย เขายังยกตัวอย่างการตั้งเป้าหมายทั้งการรู้รายรับ-รายจ่าย ตั้งเป้าหมายการหาเงิน ไม่ใช่หาเงินเพื่อกินอยู่ แต่มีเป้าหมายไปถึงการออมเพื่อลงทุนทุก 5-6 ปี เช่น การมีครอบครัว การเรียนต่อ แต่งงาน บวช ฯลฯ
โดยยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งมีอาชีพหลัก คือ ปลูกอ้อย ปลูกมัน จากเดิมเหลือเงินสิ้นปี 50,000 บาท ทำให้เหลือ 200,000 บาท ได้ ประเด็นคือ ต้องทำให้เขามีรายได้รายวัน และต้องไม่น้อยกว่ารายจ่ายประจำเดือน โดยเริ่มจาก 3-5% ต่อตำบล แต่ต้องมีหลายเครื่องมือ และค่อย ๆ ขยายเป็นวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 50-100 คนต่อ 1 ตำบล
บัญญัติ ย้ำว่า การแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การพาไปดูงาน แต่ต้องใช้การตลาดนำให้ชาวบ้านเห็นภาพว่าทำแล้วจะได้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้เขาอย่างไร หัวใจสำคัญคือการสร้างระบบให้กับชาวบ้านสร้างเงินออมและลงทุน
“เราสนใจการแก้จนเชิงพื้นที่ เริ่มจากครัวเรือน ขยายผลให้ได้ 50% ของตำบล
หัวใจสำคัญคือ ต้องมีกระบวนการสร้างศรัทธา สร้างความเชื่อมั่น มีแหล่งทุน ส่งเสริมอาชีพ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อกินอยู่ แต่ทุก ๆ 5-6 ปี จะต้องมีเงินลงทุนก้อนใหญ่ มีอาชีพระยะสั้น สร้างรายได้ให้ครอบคลุมรายจ่าย และมีอาชีพหลักให้มีเงินออม…”
บัญญัติ คำบุญเหลือ
กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เน้นให้ความสำคัญกับการสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและสังคม แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมองว่า ทางรอดของประเทศไทย คือ การมีท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เห็นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ท้องถิ่นแก้ปัญหาได้ มีระบบการจัดการ มีกองทุนการออม กลุ่มออมทรัพย์ และระบบสวัสดิการชุมชน นำเงินออกมาแก้ไขปัญหาได้จริง
ที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน ประมาณ 7,800 แห่ง สมาชิก 2 แสนกว่าคน ช่วยกันหนุนเสริมสร้างระบบสวัสดิการชุมชน ประชาชนลุกขึ้นมาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง แก้ปัญหาการอยู่ร่วมกัน เก็บเงินออม นำเงินมารวมกันเป็นกองทุน หลังจากนั้น รัฐบาลก็เข้ามาเป็นหุ้นส่วน ขณะนี้มีกองทุนอยู่ 5,501 กองทุน มีเงิน 19,000 ล้านบาท และที่น่าภูมิใจ คือ มีเงินจากประชาชน 12,000 ล้านบาท ตั้งต้นมาสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย ค่าทำศพ ฯลฯ เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
กฤษดา ย้ำด้วยว่า จะมีความมั่นคงในชีวิตต้องมีบ้านมั่นคง ไม่ต้องกังวลจะมีใครมาไล่รื้อ เวลานี้ดำเนินการไปกว่า 2 แสนกว่าหลัง การขับเคลื่อนงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เน้นการสร้างความร่วมมือ หนุนเสริมท้องถิ่น และใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างรากฐานจากล่างขึ้นบน เพื่อพัฒนาชุมชน แก้ปัญหาในชุมชนตัวเอง สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนแก้จน เช่น 1 ตำบล 1 แผน ซึ่งยังรอเสียงสะท้อน ความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ มีระบบสวัสดิการชุมชน ระบบเศรษฐกิจ และทุนชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในพื้นที่
“สิ่งท้าทาย คือ การสร้างพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง ท้าทายตรงการเข้าไปสร้างเสริมพลังให้ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพลังการรวมกันคิด หาทางออก แก้ปัญหาให้ตัวเอง
การนำองค์ความรู้เชิงวิชาการ เข้าไปเติมเต็มโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือรัฐช่วยทำให้ชุมชนอยากจะลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง
พอช. เราพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ”
กฤษดา สมประสงค์
ทั้งนี้ กิจกรรม Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เป็นความร่วมมือของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)