จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ กับคำกล่าวที่ว่า “นักข่าวทำหน้าที่แยกขยะออกจากข้อมูลที่มีประโยชน์ แล้วเอาขยะมาทำข่าว!!?”
5 มีนาคม #วันนักข่าว The Active เปิดห้องเรียนหลักสูตร #สื่อมีไว้ทำไม ชวนคนรุ่นใหม่ ถาม สื่อรุ่นใหญ่ ตอบ เรื่องวุ่น ๆ ชวนปวดหัวของวงการสื่อ สื่อเลือกข้าง – ถูกรัฐปิดปาก – ตกอยู่ภายใต้ทุนสื่อ
เด็ก ๆ ในห้องเรียนนี้ จะยกมือถาม-ตอบ ขนาดไหน ‘เทพชัย หย่อง’ สื่อมวลชนอาวุโส ร่วมไขข้อข้องใจ ชวนคุยไปให้ไกลกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เอิน : เกียรติ คุณค่าของอาชีพ “สื่อมวลชน” อยู่ที่ตรงไหน
เทพชัย : มีคนแซวสื่อว่า “นักข่าวทำหน้าที่แยกขยะออกจากข้อมูลที่มีประโยชน์ แล้วเอาขยะมาทำข่าว” ทุกวันนี้ เรามีข่าวแบบนี้ที่เราสงสัยว่าเป็นข่าวได้อย่างไร ดีที่ข่าวลุงพลเริ่มไม่ได้รับความนิยม ไม่อยางนั้นเราอาจจะเห็นข่าวลุงพลขึ้นหน้าหนึ่ง แทนข่าวการชุมนุมเวลานี้ก็ได้ แต่ถ้าจะตอบคำถามนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเวลานี้ บทบาทของสื่อไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้าหรือปรากฏการณ์การเผชิญหน้าอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เรากำลังพูดถึงอนาคตของประเทศไทย ว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง มันมีผลต่ออนาคตของเขาเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น สื่อคงจะไม่ใช่การรายงานข่าวเฉพาะที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนช่วยให้คนในสังคมได้ฉุกคิด มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพราะเราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องที่เป็นความต้องการของคนไม่กี่คน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คิดว่าสื่อต้องทำหน้าที่ในการจุดประเด็นนี้ขึ้นมา คุยอย่างมีเหตุ มีผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ ด้วยความเกลียดชัง
ภูเขา : ในโลกความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนกับสื่อ นักข่าวที่มีอุดมการณ์พอจะทำอะไรได้บ้าง
เทพชัย : อยากให้น้อง ๆ มองโลกของสื่อในแง่บวก ผมคิดว่ามันดีขึ้น ไม่ได้แย่ลง ถ้าเทียบกับสมัยที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ในแง่ของการมีทางเลือกมากขึ้น แล้วคนที่มีความเชื่อในหลักการของสื่อเข้ามาในวงการนี้มากขึ้น
40 ปีที่แล้ว ถ้าพูดเรื่องหลักการทำงานของสื่อผมว่าต้องทะเลาะกันแน่ ๆ แต่สมัยนี้เรามีคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเรื่องหลักการ มีนักต่อสู้ที่เข้ามาทำงาน หรือถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะเลือกทำงานตามสื่อใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยมีใครเลือกสื่อตามอุดมการณ์ ผมว่าตรงนี้เป็นทางเลือกให้กับน้อง ๆ มากขึ้น รวมถึงภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันไม่ได้แข็งตัวเหมือนเมื่องก่อน ที่มีแค่ ทีวีกับหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้มีแอปพลิเคชันใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาตลอด เสรีภาพในการนำเสนอข่าวมีอยู่ในทุก ๆ แพลตฟอร์ม
วิสุทธิ์ : ถ้าเรามีศักยภาพ ผมว่าเรารายงานได้ท่ามกลางศักยภาพที่มีอยู่ ช่วง 6 ตุลาคม 2519 สื่อทุกช่องโดนปิดข่าว ช่อง 9 เขานำเสนอแล้วทุกอย่างเปลี่ยน ความจริงถูกปรากฏ ทั้งที่อยู่ภายใต้กรอบของราชการ แล้วคุณก็ฝ่าฝืนมาได้ นี่คือบทบาทของสื่อ ดังนั้น คุณมีความเชื่อความสามารถ คุณจะอยู่ที่ไหนก็ได้
ลิลลี่ : การทำข่าวในช่วงที่มีหน่วยงานอย่าง กสทช. กำกับดูแล ทำอะไรบ้าง
เทพชัย : กลไกกำกับที่เป็นทางการอย่าง กสทช. ผมว่าไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่จุดยืนของแต่ละสื่อมากกว่า ถ้ามีความกล้าและยึดผลประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ผมคิดว่าทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะเลย แต่อย่างที่บอกว่ามันคือธุรกิจ แล้วเห็นคนที่ถือหุ้นเป็นเจ้าของ เราก็พอจะเดาออกแล้ว ว่าจุดยืนเขาจะเป็นอย่างไร ก็ต้องทำใจอย่างที่ผมบอกว่านี่คือความจริงของชีวิต ในทุกสังคมก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่ามันจะทำให้คนที่อย่างเข้ามาในวงการนี้ถอดใจหรือเปล่าเท่านั้นเอง ไม่เคยมีอะไรได้มาง่าย ๆ ในเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์ของสังคม มันต้องชนกับคนเยอะมากทีเดียว
ภูเขา : ทำไมสื่อไม่กำกับ ดูแลกันเอง
เทพชัย : ตามหลักการควรเป็นแบบนั้น จริง ๆ คำว่าสื่อกำกับกันเอง ความหมายที่ถูกต้อง คือ สังคมต้องมีส่วนช่วยสื่อกำกับ ติดตาม สื่อไม่ได้กลัวกลไกอย่างหน่วยงานตรวจสอบ แต่สื่อกลัวสังคม ใช้ภาษาวัยรุ่นก็คือ กลัวทัวร์ลง อย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เขามีสภาการหนังสือพิมพ์ที่แข็งแกร่งมาก แต่ความแข็งแกร่งเขาไม่ใช่ตัวสภาฯ แต่คือกลไกตรวจสอบที่เมื่อทำผิดเขาจะมีการลงโทษ แล้วสื่อไหนไม่ทำตามมาตรการลงโทษ เขาจะประจานให้สังคมรับรู้ แล้วคนในสังคมก็จะตอบสนองทันทีว่าจะไม่สนับสนุนสื่อสำนักนี้เลย เมืองไทยทำได้ไหม สุดท้ายเราบอกว่าช่องนี้มันแย่มาก บิดเบือนที่สุด สังคมไทยพร้อมจะตอบสนองการช่วยกันกำกับให้สื่อช่องนี้เดินตามกฎกติกาที่ควรจะเป็นหรือไม่ ถ้าสังคมเป็นแบบนี้เมื่อไหร่ ไม่ต้องมีกลไกไหนเลย
เอิร์น : สื่อกระแสหลักเลือกไม่เผยแพร่บรรยากาศปราศรัย ถือเป็นการปิดปากผู้ชุมนุมหรือเปล่า
เทพชัย : ถ้าเข้าใจเรื่องหลักการทำสื่อ อย่างม็อบที่ฮ่องกง จะเป็นบีบีซี ซีเอ็นเอ็น เขาไม่เคยรายงานสดบนเวทีการปราศรัย เพราะเขาต้องชัดเจนว่าจะไม่เป็นเครื่องมือของใคร ใครก็ตามที่ต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างที่มันมีจุดยืนเฉพาะของเขาเอง เขาจะรายงานว่ามีการปราศรัยบนเวที และบนเวทีพูดแบบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว แม้แต่เวทีปราศรัยทางด้านการเมือง หรือเวทีที่มีการกล่าวหากัน เราต้องระวังว่าจะไม่เป็นเครื่องมือของใครเพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมันจริงไม่จริง แต่พูดมาแล้วคนดูก็จะเชื่อแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และหาความพอดีให้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยควรจะมีโอกาสมากที่สุดในช่วงเวลาแบบนี้ คือการมีความเห็นในเรื่องประเด็นสำคัญของความขัดแย้งอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งหมายถึงสื่อมวลชนต้องมีหน้าที่ในการเป็นเวทีกลางกระตุ้นให้คนแสดงความคิดเห็นแบบนี้ เพราะถ้าไม่มีเวทีแบบนี้เขาก็จะไปพูดกันตามเวทีต่าง ๆ อย่างที่เราเห็นก็เกิดความอัดอั้นตันใจ แล้วก็ไปพูดในสิ่งที่อาจจะเกินเลย มีอารมณ์ เพราะถูกปิดกั้น