เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ข้อเสนอ “ปรองดอง” มักถูกหยิบยกขึ้นมา หวังเป็นทางออกของประเทศเสมอ
การชุมนุมการเมือง ปี 2563 เป็นอีกครั้งที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองเดินหน้ามาถึงจุดสูงสุดอีกครั้ง หลายคนอาจไม่แปลกใจ ที่ทั้งข้อเสนอ “ปรองดอง” และ “ปฏิรูป” ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้ง
วันแรกของการประชุมร่วมของรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกประเทศ (26 ต.ค.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกรัฐมนตรี อภิปรายเสนอตั้งคณะกรรมการปรองดองอีกครั้ง
“ให้คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ อะไรที่เห็นพ้องต้องกันได้ ก็ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับข้อสรุปที่เห็นพ้องนั้นไปดำเนินการในทันที โดยไม่ชักช้า ส่วนอะไรที่ยังมีความเห็นที่ต่างก็แขวนไว้ก่อน แล้วเร่งหารือร่วมกันเพื่อหาจุดร่วม โดยเน้นรูปแบบของการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์”
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการตามที่นายจุรินทร์ เสนอ ระบุว่า ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสภาไม่น้อยกว่า 7 ฝ่าย
1. ผู้แทนรัฐบาล 2. ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาล 3. ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้าน 4. วุฒิสมาชิก 5. ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 6. ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม 7. ฝ่ายอื่น ๆ เช่น อาจจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และที่สำคัญ คือ คณะกรรมการชุดนี้ต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว
“ผมหวังว่าที่ประชุมนี้จะได้กรุณารับข้อเสนอของผมไปพิจารณาและไตร่ตรองอย่างรอบคอบจริงจังต่อไป เพื่อให้ข้อเสนอนี้เป็นจริงได้”
หากข้อเสนอของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกตอบรับจากสมาชิกรัฐสภา คณะกรรมการปรองดองที่อาจจะถูกแต่งตั้งในครั้งนี้ ก็จะนับเป็นชุดที่ 5 ในระยะเวลา 10 ปี ของความขัดแย้งทางการเมือง
คำถามสำคัญ คือ ภารกิจของคณะกรรมการปรองดอง รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูป เพื่อหวังจะฟื้นฟูประเทศในระยะยาว ที่มีมาก่อนหน้านี้ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรืออย่างไร จึงทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาอีก
The Active ชวนย้อนดูข้อเสนอของคณะกรรมการแต่ละชุดที่ถูกแต่งตั้งมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อชวนคิดว่า อะไรจะเป็นบทเรียนสำหรับคณะกรรมการปรองดองชุดใหม่ หากจะเกิดขึ้นจริงอีกครั้ง
21 ข้อเสนอ จาก คอป.
หลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (คอป.) เพื่อค้นหาความจริง รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง และหนทางเยียวยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นอีก โดยคณะกรรมการชุดนี้มี ศาสตราจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน
หลังใช้เวลาทำงานนานถึง 2 ปี เดือนกันยายน 2555 คอป. เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อม 21 ข้อเสนอแนะ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างบรรยากาศการปรองดอง การปรับใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การเคารพสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม บทบาทนักการเมือง ทหาร การมีส่วนร่วมของประชาชน ไปจนถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
มีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น คอป. อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า การปรองดองเป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการ จึงต้องอาศัยการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติทุกการเคลื่อนไหว ที่เป็นการปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดการต่อสู้ และการใช้ความรุนแรงกับคู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาดและทันที รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายยุติการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทหาร เช่น คอป. เห็นว่ารัฐต้องปฏิรูปองค์กรด้านความมั่นคงอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมตามแนวคิดของการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน โดยยึดหลักว่าทหารเป็นเพียงกลไกหนึ่งในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเรือน เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดห้ามไม่ให้ทหารดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้ทหารยุติบทบาทในการเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงทางการเมืองไม่ว่าในทางใด ทั้งการใช้อิทธิพลกดดันรัฐบาลหรือการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือยึดอำนาจ และยังเสนอว่าการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งให้ทหารมีบทบาทในการจัดการกับสถานการณ์อันไม่ปกติ จะต้องเป็นไปอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น
อานันท์ – ประเวศ กับข้อเสนอปฏิรูปประเทศ แก้เหลื่อมล้ำ
ในห้วงเวลาเดียวกับการแต่งตั้ง คอป. รัฐบาลเดียวกัน ก็เดินหน้างานปฏิรูปประเทศไปพร้อมกัน โดย แต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูป” (คปร.) และ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” (คสป.) ในเดือนมิถุนายน 2553 โดยมี อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นผู้กุมบังเหียน
เป้าหมายสำคัญของ คปร. คือ เพื่อศึกษาและรวมรวมแนวทางปฏิรูปประเทศ แล้วยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ขณะที่ คสป. มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยจัดตั้งสมัชชาจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ สมัชชาประเด็นที่ภาคประชาชนเสนอ และสมัชชาแห่งชาติขึ้นมาทำงาน รวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ทำงานคู่ขนานกับ คปร.
ภายหลังการทำงาน 3 ปี คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีข้อเสนอทั้งหมด 21 มติ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน การปฏิรูประบบประกันสังคม การปฏิรูประบบเกษตรกรรม การปฏิรูปการศึกษา และข้อเสนอเพื่อการจัดการตนเอง
ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูป เน้นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม 5 ด้าน คือ ด้านอำนาจ ศักดิ์ศรี สิทธิ รายได้ และโอกาส โดยจะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ชุดของนายอานันท์ ได้ประกาศลาออกทั้งคณะในเดือนพฤษภาคม 2554 หลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภา
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ “เหมาเข่ง-สุดซอย”
หลังชนะเลือกตั้งได้เพียง 3 เดือนเศษ เดือนสิงหาคม 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ก็ประกาศสานต่อข้อเสนอ คอป. โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (ปคอป.) และมอบหมายให้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน โดยมีภารกิจหลัก คือ การนำข้อเสนอของ คอป. ไปสานต่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ที่เสียงส่วนใหญ่อยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย ยังแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” (กมธ.ปรองดอง) โดยมี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 มาเป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากกลไกปรองดองภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี 2548-2553 ตามมติ ปคอป. ที่ต่อมาถูกฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบ โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ทำโดยไม่มีอำนาจเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
ขณะที่รายงานของ กมธ.ปรองดอง ที่เผยแพร่ช่วงต้นปี 2555 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีข้อเสนอที่ไม่เพียงให้นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด แต่ยังเสนอให้นิรโทษกรรมคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วย ซึ่งหนึ่งในผู้จะได้รับประโยชน์ก็คือ นายทักษิณ พี่ชายของ นางสาวยิ่งลักษณ์
และที่สำคัญที่สุดคือ การยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. … หรือ “พ.ร.บ.ปรองดอง” ที่เสนอนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายรวมทั้งนายทักษิณ จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนในขณะนั้นว่า เป็นฉบับ “เหมาเข่ง-สุดซอย” ซึ่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญในการออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) และกลายเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่ทำให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557
“ปรองดอง” ฉบับ กอ.รมน. ในยุค คสช.
นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศ คสช. ก็ประกาศว่า “ปรองดอง” เป็นเรื่องแรกที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยมีการแต่งตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หรือ ศปป.กอ.รมน. เน้นการจัดกิจกรรม การแสดงดนตรี ตรวจสุขภาพ และจัดเวทีพบปะในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด รวมทั้งการทำงานสนับสนุนแนวทางปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวบีบีซีไทย เมื่อเดือนมกราคม 2560 ระบุว่า แม้ ศปป.กอ.รมน. จะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ 80,944 ครั้ง ทำกิจกรรมสร้างบรรยากาศปรองดอง 91,977 ครั้ง รวมไปถึงแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 7,927 ครั้ง แต่ผลที่ออกมาก็ยังไม่เป็นรูปธรรม
ต่อมา หลังการจัดตั้งรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดือนมกราคม 2560 ก็มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” หรือชื่อย่อว่า “ป.ย.ป.” ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 4. คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
เฉพาะ “คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง” มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีจำนวนกรรมการอย่างน้อย 33 คน โดยมี พลเอก ประยุทธ์ เป็นประธาน มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นรองประธาน
ทั้งนี้ เว็บไซต์ข่าวบีบีซีไทย วันที่ 7 ก.พ. 2560 รายงานว่า รายชื่อคณะกรรมการฯ เกือบทั้งหมด หากไม่ใช่คนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นข้าราชการเมืองหรือข้าราชการประจำ โดยมีบุคคลภายนอกที่ไม่เคยเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เพียงคนเดียว คือ “ศาสตราจารย์สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์” ตัวแทนภาคเอกชนจากเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นเลขานุการ
บทส่งท้าย
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไกปรองดองที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ มักเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาถึงจุดแตกหัก และยากที่จะใช้กลไกปกติในการสมานฉันท์
ร้ายแรงที่สุด คือ เหตุการณ์สลายการชุมนุม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของ คอป.
หรือในช่วงที่กลุ่มอำนาจฝ่ายทหาร แตกหักอย่างรุนแรงกับฝ่ายการเมือง จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2557 ที่นำมาสู่การปรองดองภายใต้กลไก กอ.รมน. ของ คสช.
แต่หากพิจารณาสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ยังไม่ถึงจุดแตกหักรุนแรงขั้นนั้น กลไกการเมืองที่มีอยู่ เช่น ระบบรัฐสภา ยังทำงานได้ปกติ เพียงแต่อาจต้องมีการ “ถอย” พร้อมรับฟัง และปฏิบัติด้วยความจริงใจ เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ยังมีตัวแปรใหม่เกิดขึ้น ทั้งการชุมนุมของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นภายใต้อาวุธเทคโนโลยีสื่อสาร และข้อเสนอที่ไม่ได้หยุดแค่การปฏิรูปการเมือง แต่ทะลุเพดานไปถึงการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ความเห็นต่าง และความขัดแย้ง จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ความนิยมในพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ลุกลามไปถึงประชาชนที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของชาติ
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ อาจทำให้ต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่า หากจะนำกลไกการปรองดองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มาเป็น “ตัวแบบ” ในปัจจุบัน สิ่งนั้น จะสามารถแก้วิกฤตความขัดแย้งในขณะนี้ได้หรือไม่