การอดอาหารในครั้งนี้ ผมเพียงต้องการความเป็นธรรมเพื่อสิ่งอันแสนเรียบง่ายอย่างการขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อออกไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท กับสิ่งแสนเรียบง่ายอย่างการกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ผมแค่อยากกลับบ้านไปทำกับข้าวให้ป๊าให้แม่ทาน แต่ 1 ปีมานี้ ผมถูกพรากช่วงเวลาเหล่านี้ไป
ส่วนหนึ่งจากจดหมายของขนุน – สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
วันนี้ (25 มี.ค. 2568) เป็นเวลาครบรอบ 1 ปีพอดี นับตั้งแต่ ขนุน – สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญญาโท ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ความผิดตามมาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จากเหตุการณ์ปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ขนุนได้ยื่นคำขอจากศาลไม่ให้ประกันตัวอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง ภายหลังจากศาลไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 14 ขนุนได้ประกาศอดอาหารประท้วง โดยงดรับประทานอาหารและนม เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว รวมถึงอิสรภาพที่ถาวรให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองอื่น ๆ
การเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันกับการประท้วงครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการพูดถึงโดยเฉพาะช่องทางโลกออนไลน์ผ่าน #saveขนุน เพื่อฉายแสงไปยังผู้ต้องขังคดีการเมือง แม้ท้ายที่สุด ขนุนจะตัดสินใจเริ่มเข้ากระบวนการ Refeeding โดยเริ่มรับอาหารเหลวและเกลือแร่ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2568 หลังการอดอาหาร 24 วัน อย่างไรก็ตามการกระทำและข้อเรียกร้องของขนุนที่สะท้อนถึงสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกับกรณีผู้ต้องขังทางการเมือง ยังคงเป็นที่ถกเถียงในสังคมและต้องหาทางไปต่อ

ลำดับเหตุการณ์
The Active รวบรวมลำดับเหตุการณ์ที่ปรากฏบนหน้าสื่อต่าง ๆ เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ที่มาที่ไปคดีของขนุนและการอดอาหารประท้วงได้ดังนี้
วันที่ | รายละเอียด |
18 พ.ย. 2563 | ขนุน ปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ |
6 พ.ค. 2564 | อัยการสั่งฟ้องขนุน ข้อหาตามมาตรา 112 ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขนุนไม่ได้รับการประกันตัวและถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ |
9 พ.ค. 2564 | ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแก่ขนุนพร้อมกำหนดเงื่อนไข |
25 มี.ค. 2567 | ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาลงโทษจำคุกสามปี การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา ผิดตามมาตรา 112 |
27 มี.ค. 2567 | ยื่นเรื่องประกันตัวครั้งที่ 1 แต่ศาลยกคำร้อง ระบุหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี |
21 ก.พ. 2568 | ขนุนประกาศอดอาหารประท้วง หลังยื่นเรื่องประกันตัวมาแล้ว 14 ครั้ง และไม่ได้รับการประกันตัวมาแล้ว 333 วัน โดยงดรับประทานอาหารและนม มีข้อเรียกร้อง 2 ประการ ได้แก่ 1. อิสรภาพที่ถาวรแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองโดยไร้เงื่อนไข 2. ยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ทางการเมือง |
26 ก.พ. 2568 | ขนุนถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ |
4 มี.ค. 2568 | ยื่นเรื่องประกันตัวครั้งที่ 15 แต่ศาลยกคำร้อง ระบุไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม |
5 มี.ค. 2568 | ขนุนเขียนจดหมายเชิญ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ, ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม, สส., สว. และ กสม. เข้าพบ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องสิทธิผู้ต้องขังทางการเมือง ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะเดียวกันก็มีแคมเปญเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปขนุน บอกเล่าเรื่องราวของขนุนผ่าน #saveขนุน โดยสะอาด |
6 มี.ค. 2568 | ขนุนเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง นันทนา นันทวโรภาส สว. |
12 มี.ค. 2568 | ขนุนเขียนกลอน “หวังคืนชีวิต” ถึงหัวหน้าพรรคประชาชน |
14 มี.ค. 2568 | ขนุนเขียนจดหมายถึงนายกฯ และเข้าแอดมิทที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ |
16 มี.ค. 2568 | ขนุนเข้ากระบวนการ Refeeding เริ่มรับอาหารเหลวและเกลือแร่ |
17 มี.ค. 2568 | ยื่นเรื่องประกันตัวครั้งที่ 16 แต่ศาลยกคำร้อง ระบุไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม |
20 มี.ค. 2568 | คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภายุโรป ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือกรณีของขนุน |
เสียงสะท้อนโลกออนไลน์
#saveขนุน ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างมากอีกครั้งหลังจากขนุนประกาศเริ่มอดอาหารประท้วงในวันที่ 21 ก.พ. 2568 จากการสำรวจเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์ ผ่าน Zocial Eye (เครื่องมือ Social Listening) ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. – 21 มี.ค. 2568 (30 วันนับตั้งแต่ประกาศอดอาหาร) พบว่าโดยส่วนใหญ่มีการพูดถึงใน X (Twitter เดิม) เป็นส่วนใหญ่ถึง 64.94% รองลงมาคือ Facebook 26.09% และอื่น ๆ ที่ 8.97% โดยมีการพูดถึงกรณีดังกล่าว 870 ข้อความ และได้รับยอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ทั้งหมด 121,067 เอ็นเกจ
ภาพรวมโลกออนไลน์มีการติดตามสถานการณ์และอาการเจ็บป่วยของขนุน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายไม่ได้รับอาหาร รวมถึงพยายามเรียกร้องให้มีการพูดถึงและให้มีคนสนใจการอดอาหารประท้วงดังกล่าว พูดถึงข้อเรียกร้องของขนุน และวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการอดอาหารด้วยเช่นกัน
โดยมีคำพูดที่ถูกพูดถึงสูงสุด ดังนี้
ข้อความ | รายละเอียด |
อดอาหาร (61,285 เอ็นเกจเมนต์) | พูดถึงโดยตรง จากสถานการณ์ขนุนอดอาหารประท้วง การอดอาหารเป็นการใช้ชีวิตเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง และไม่มีใครอยากอดอาหารเพื่อประท้วงหากไม่จำเป็นจริง ๆ |
ประกันตัว (51,813 เอ็นเกจเมนต์) | พูดถึงข้อเรียกร้องของขนุนเรื่องสิทธิประกันตัว รวมถึงคนบนโลกโซเซียลก็เรียกร้องสิทธิประกันตัวด้วยเช่นกัน โดยมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน |
มาตรา 112 (48,799 เอ็นเกจเมนต์) | ขนุนในฐานะผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 มีการพูดถึงมาตรฐานการดำเนินคดีและการประกันตัวผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 เทียบกับกรณีทักษิณ ชินวัตร |
คุมขัง (28,132 เอ็นเกจเมนต์) | การใช้ #หยุดคุมขัง ควบคู่เพื่อเรียกร้องให้รับทราบสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง และการใช้ #ยืนหยุดขัง พูดถึงกิจกรรมเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมืองหน้าศาลอาญารัชดา |
จดหมาย (21,918 เอ็นเกจเมนต์) | ขนุนเขียนจดหมายถึงนายกฯ / นันทินา นันทวโรภาส (สว.) |
นิรโทษกรรม (16,092 เอ็นเกจเมนต์) | เรียกร้องรัฐบาล เสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เข้าสภา |
กระบวนการยุติธรรม (9,382 เอ็นเกจเมนต์) | ตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมเที่ยงตรงจริงหรือไม่ เนื่องจากขนุนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว |
บุ้ง ทะลุวัง (7,367 เอ็นเกจเมนต์) | ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย เหมือนกรณี บุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ที่เสียชีวิตหลังจากการอดอาหารประท้วง 110 วัน |
อดอาหารประท้วง เครื่องมือต่อรองที่แลกด้วยร่างกาย (และชีวิต)
จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่าหนึ่งในคำที่มีการพูดถึงมากที่สุดใน #saveขนุน คือ “อดอาหาร” ซึ่งไม่ใช่แค่บริบทของการเล่าสถานการณ์การอดอาหารประท้วงเท่านั้น แต่ยังพูดถึงในเชิงวิพากษ์การอดอาหารดังกล่าว ว่าควรหรือไม่ ทำไปทำไม ซึ่งการอดอาหารเพื่อประท้วงของขนุนไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็มีการใช้ “การอดอาหารประท้วง” หรือ Hunger Strike เป็นเครื่องมือประท้วงแบบสันติวิธีเพื่อเรียกร้องข้อเสนอต่าง ๆ มาแล้ว
“คนเราไม่มีใครอยากจะตาย หรืออยากจะมาอดข้าว ดังนั้นให้ฟังกันดีกว่า ว่าเขาเรียกร้องอะไร มีเหตุมีผลแค่ไหน”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พูดถึงกรณีตะวัน – แบม อดอาหารประท้วง (ม.ค. 2566)
The Active เคยพูดคุยกับ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ในกรณีการอดอาหารประท้วงของ แบม – อรวรรณ ภู่พงษ์ และตะวัน – ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรม เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2566 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่
- การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนในคดีทางการเมือง และ
- พรรคการเมืองต้องเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116
ซึ่งปริญญาเน้นย้ำว่า เราควรมองให้ลึกว่าเขาเรียกร้องอะไร และมีเหตุผลแค่ไหน ควรที่จะรับฟังและปฏิบัติตามหรือไม่
“ผมคิดว่าเรื่องของการปฏิรูปกระบวนยุติธรรม มันฟังขึ้น แล้วเราควรจะช่วยกันทำให้ความขัดแย้งนี้ไม่ลุกลามไปสู่ความเกลียดชัง … เป็นเรื่องที่เราต้องทำ ไม่ว่าจะมีการอดอาหารประท้วงหรือไม่ เรื่องการใช้มาตรา 112 และ 116 ในทางการเมืองในทางการเมือง หรือจัดการผู้เห็นต่าง ก็ต้องแก้ไขไม่ควรทำอีก ไม่ว่าจะมีการประท้วงหรือไม่ก็ต้องทำ”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พูดถึงกรณีตะวัน – แบม อดอาหารประท้วง (ม.ค. 2566)
นอกจากนี้ ปริญญาได้พูดถึงหลักการที่จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลอ้างเหตุสำคัญว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี (ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกรณีของขนุน) ปริญญามองว่ามีกระบวนการอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาเอาไว้ก่อนศาลพิพากษา เช่น การติดกำไล EM, การคุมประพฤติ, การรายงานตัว หรือการตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ
“ถ้าศาลเคร่งครัดในหลักที่ว่า สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แล้วผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนมีสิทธิ์สู้คดีนอกคุก และไม่ควรมีใครติดคุกก่อนศาลพิพากษา ถ้ายึดถือตามหลักนี้ได้ปัญหาก็จะน้อย”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พูดถึงกรณีตะวัน – แบม อดอาหารประท้วง (ม.ค. 2566)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกันวิธีการอดอาหารประท้วงของแบม – ตะวัน โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในตอนนั้น บางคนมองว่าเสี่ยงอันตรายต่อตัวเอง เช่น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ก็มองว่าข้อเรียกร้องของทั้งตะวันและแบมมาไกลมากกว่าเดิม เพราะทั้งสองคนเอาชีวิตเข้าแลก ให้คนสนใจเรื่องราวของผู้ต้องขังทางการเมือง และหวังว่าศาลจะหาทางลงได้และทั้งคู่พอใจ โดยยกตัวอย่างกรณีเพนกวินอดอาหารในปี 2564 ที่ยอมรับเงื่อนไขบางประการ เช่น การสวมกำไล EM ศาลจึงให้ประกันตัว
“พูดตรงๆ คือ อย่าเพิ่งตาย มันค่อยๆ เห็นแล้ว ให้เวลาเรียนรู้ แต่สุดท้ายมันคงไม่ได้แบบ 100% ภายในระยะเวลาที่จะมีชีวิตได้ ถ้าเขาเข้าใจว่าการเรียกร้องด้วยวิธีนี้ นำมาซึ่งผลที่จะบรรลุได้ประมาณนี้ แล้วยอมกลับมารักษาชีวิตตัวเอง ก็อาจจะเป็นไปได้ ตอนนี้จึงอยู่ที่ใจของเขา 2 คน ว่าแค่ไหนที่เขาคิดว่าเหมาะสม…”
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ พูดถึงกรณีตะวัน – แบม อดอาหารประท้วง (ก.พ. 2566)
หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีกว่า เกิดเหตุการณ์เสียชีวิตจากการอดอาหารของบุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรม เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ก็นำมาสู่การตั้งคำถามอีกครั้งถึงวิธีการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองอีกครั้ง
สมบัติ บุญงามอนงค์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The Active ต่อกรณีการเสียชีวิตของบุ้งว่า ต้องหาจุดสมดุลของข้อเรียกร้องและวิธีการให้เจอ โดยมองว่าหากมีข้อเรียกร้องโดยไม่มีวิธีการที่สร้างแรงกระเพื่อม สังคมก็จะไม่หันมามอง หรือหากวิธีการแรงกว่าข้อเรียกร้อง ก็อาจเกิดการบิดเบือนความสนใจจากข้อเรียกร้อง ไปวิพากษ์วิจารณ์ที่วิธีการมากกว่าได้
แน่นอนว่าหากเลือกได้ก็คงไม่อยากมีใครเอาร่างกายและชีวิตเข้าแลก สมบัติมองว่า เรือนจำมีข้อจำกัดต่าง ๆ ในการส่งสารหรือส่งสัญญาณทำให้ทำได้ยาก โดยมองว่าสิ่งที่พอจะทำได้คือการเอาชีวิตมาเป็นตัวชี้วัดการเคลื่อนไหว เช่น อาการเจ็บป่วย หรือแม้แต่การเสียชีวิตก็เป็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งเช่นกัน
“ภายใต้ความจำกัดในเรือนจำ มันจำกัดมาก คุณแทบจะไม่สามารถเคลื่อนไหวใด ๆ ได้ … เวลาเขียนจดหมายออกมายังถูกเซ็นเซอร์ คนที่จะไปเยี่ยมก็ถูกจำกัดจำนวนคนที่ต้องอยู่ในรายชื่อที่ลิสต์ไว้ ถ้าคุณถูกจับแล้วคุณแทบจะเคลื่อนไหวใด ๆ ไม่ได้ สิ่งเดียวที่พอจะทำได้คือเอาชีวิตมาเป็นตัวชี้วัดการเคลื่อนไหว เช่น อาการหรือแม้แต่การเสียชีวิต”
สมบัติ บุญงามอนงค์ พูดถึงกรณีบุ้งเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง (พ.ค. 2567)
แม้แต่ข้อถกเถียงเรื่องการประกันตัวคดีมาตรา 112 หรือกรณีบุ้งกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัว ศาลเลยไม่ให้ประกันตัว เป็นไปตามกฎหมาย นำมาสู่การตั้งคำถามว่า จะนำวิธีการอดอาหารมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร สมบัติตอบคำถามว่าการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการกระทำผิดทางความคิด เช่น โดนความผิดมาตรา 112 จากการทำกิจกรรมหรือทำโพลเท่านั้น ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง รวมถึงมองว่าภาคประชาสังคมตื่นตัวจากกรณีบุ้งแล้ว เป็นหน้าที่ฝ่ายการเมืองเองก็ต้องดำเนินการต่อเช่นกัน
ความหวังที่ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ยังไม่คืบหน้า
“อิสรภาพถาวรสำหรับผมจุดเริ่มต้นแรก คือ การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดยรวมมาตรา 112 อย่างไร้เงื่อนไขโดยเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้โดยฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) และฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา)”
ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของขนุน – สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
ในขณะที่สถานการณ์ภาคการเมือง ในเรื่องของการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีการเมือง มีความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 (ก่อนการอดอาหารประท้วงของขนุน) โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รับทราบรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่มีมติไม่เห็นชอบข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) เนื่องจาก สส. ส่วนหนึ่งชี้ว่าการลงเสียง “เห็นด้วย” อาจเป็นการเปิดทางไปสู่การนิรโทษกรรมคดีอาญา มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และมาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ)
ในการลงมติดังกล่าว สส.พรรคร่วมรัฐบาล มีการโหวตในทิศทางเดียวกันคือ “ไม่เห็นด้วย” รวมถึง สส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีจำนวน สส. ที่โหวต “ไม่เห็นด้วย” ถึง 115 คน และมี สส.เพื่อไทยโหวต “เห็นด้วย” เพียง 11 คนเท่านั้น
วันที่ 25 ต.ค. 2567 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุถึงข้อสังเกตที่ถูกตีตกว่า “จบเท่านี้” และเป็นเรื่องของสภาฯ ว่าส่วนที่ตกแล้วจะได้กลับมาใช้ได้ใหม่หรือไม่
มีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 45 คน ยังอยู่ในเรือนจำ
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2568 ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากขนุนแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอย่างน้อยอีก 44 คน (รวมเป็นอย่างน้อย 45 คน) ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 29 คน โดยทั้ง 45 คนแบ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 17 คน และถูกขังระหว่างการพิจารณาคดี 28 คน เช่น ขนุน รวมถึง อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายคนยังไม่สู้ดีนัก เช่น
- กรณี #ก้องต้องได้สอบ เรียกร้องให้ ก้อง – อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้สอบจบในเรือนจำเพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับนิติศาสตรบัณฑิต
- วันที่ 5 มี.ค. 2568 ในการพิจารณาคดีของอานนท์ นำภา ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีลับ สั่งห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง
- วันที่ 19 มี.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดำเนินการย้ายผู้ต้องขังทางการเมือง 3 คน (ก้อง – อุกฤษฎ์, บุ๊ค – ธนายุทธ และ จอย – สถาพร) ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำกลางบางขวาง โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าและทั้ง 3 คนไม่ได้ยินยอม โดยเจ้าหน้าที่มีการล็อกคอและอุ้มแยก
“ทุกคนที่โดนคดีทางการเมือง ทั้งจากการถูกกลั่นแกล้ง ล้วนมีเจตนารมณ์ที่จะสรรค์สร้างและบอกเล่าถึงความฝันของตนเอง อย่าให้ผู้ปรารถนาดีต่อประเทศเหล่านี้ ต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับพวกเขาอย่าง “ชีวิต” ไปอีกเลย”
ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของขนุน – สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
อ้างอิง
- “ขนุน สิรภพ” เขียนหนังสือชวนนายกฯ – รมต.ยุติธรรม – ฝ่ายนิติบัญญัติ – กสม. เข้าพูดคุย พร้อมให้ข้อมูลสิทธิผู้ต้องขังทางการเมือง | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- เก็ท’ เล่านาทีชุลมุน อารยะขัดขืนย้ายเรือนจำ ‘บุ๊ค-ก้อง’ จนท. ล็อกคอ อุ้มแยก | ประชาไท
- อ่านเต็ม ๆ “อานนท์ นำภา” ถอดเสื้อครั้งที่ 3 ประท้วงพิจารณาคดีลับ ในนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนศาลสั่งตัดประจักษ์พยาน – ไม่เรียกวิดีโอให้ และนัดฟังคำสั่ง 28 มี.ค. นี้ทันที | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- ศาลยกคำร้องขอประกันตัว ‘ขนุน’ สิรภพ เป็นครั้งที่ 16 ระบุเกรงหลบหนีและราชทัณฑ์ดูแลรักษาได้ ด้านขนุนเข้ากระบวนการ Refeeding แล้ว เพื่อรักษาภาวะขาดสารอาหาร | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- พิพากษาขนุน สิรภพ ม.112 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุปราศรัย #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ – iLaw
- สภา “รับทราบ” รายงานนิรโทษกรรม แต่โหวตคว่ำข้อสังเกต กมธ. – BBC News ไทย
- สภาฯ ร้อนฉ่า! เพื่อไทยเสียงแตกโหวตคว่ำนิรโทษกรรม 112 | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
- “ภูมิธรรม” ชี้จบเท่านี้ หลังสภาโหวตคว่ำข้อสังเกต กมธ.นิรโทษกรรม | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส