แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่สถิติการเกิดอุบัติเหตุยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 800-900 คน สาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้ง คน รถ ถนน สิ่งแวดล้อม ที่เป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยปัจจุบัน กทม. ดำเนินมาตรการเชิงรุก กำจัดจุดอ่อน 125 จุดเสี่ยง จากอุบัติเหตุทางถนน ใน 50 เขต

กรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงแค่ไหน
50 เขตในกรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถน ทั้งช่วงปกติและในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ด้วยการกวดขันวินัยจราจร และการแก้ไขปรับปรุงทางกายภาพด้วยหลักวิศวกรรมจราจร ซึ่งทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ในปี 2566 ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงไปแล้วไม่น้อยกว่า 115 จุด และในปี 2567 มีเป้าหมายแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจราจร จำนวน 125 จุด
- อ่านเพิ่ม 11 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ถนนโลคัลโรด
ข้อมูลจาก Thai RSC ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ พบว่ากรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงมากกว่า 100 จุด จากตัวอย่าง 10 จุดเสี่ยงจากจำนวนการเกิดอุบัติเหตุบ่อยในปี 2565 เช่น 1.ทางขึ้น-ลง สะพานข้ามแยกพระราม 9 จำนวนอุบัติเหตุ 125 ครั้ง 2. ปากซอยบางขุนเทียน 10 จำนวนอุบัติเหตุ123 ครั้ง 3. ซอยจอมทอง 3/2 ถึง ซอย 11 จำนวนอุบัติเหตุ 113 ครั้ง 4.ทางขึ้น-ลง สะพานข้ามแยกเอกมัยเหนือ (ฝั่งตึกชาญอิสระ 2 ) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จำนวนอุบัติเหตุ100 ครั้ง 5.สะพายข้ามแยก อสมท. จำนวนอุบัติเหตุ97 ครั้ง 6.ซอยลาดพร้าว 102 หน้าโรงแรมภทรสิรา จำนวนอุบัติเหตุ95 ครั้ง 7.ใต้สะถานี BTS บางจาก จำนวนอุบัติเหตุ93 ครั้ง 8. ซอยปรีชา 1 ถ.สาธุประดิษฐ์ จำนวนอุบัติเหตุ91 ครั้ง 9.สะพานข้ามแยกประชานุกูล ใกล้ซอยรัชดาฯ 64 จำนวนอุบัติเหตุ 90 ครั้ง 10.ใกล้ รร.สวนลุมพินี ถนนวิทยุ จำนวนอุบัติเหตุ 87 ครั้ง

จาก 125 จุดเสี่ยง ใน 50 เขต เขตไหนมีจุดเสี่ยงมากสุด
จากรายงานการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ พ.ศ. 2567 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร พบว่า เขตป้อมปราบฯ มีจุดเสี่ยง 10 จุด มากที่สุด รองลงมาเขตราชเทวี 7 จุด บางซื่อและบางกอกใหญ่เขตละ 6 จุด ส่วนบางแค ดินแดง สาทร ปทุมวัน เขตละ 5 จุด บางกอกน้อย จตุจักร เขตละ 4 จุด ทุ่งครุ บางรัก ห้วยขวาง บางเขน ครองเตย บุงกุ่ม คันนายาว แระเวศ เขตละ 3 จุด ทวีวัฒนา หนองแขม จอมทอง บางบอน คลองสาน พญาไท ยานนาวา วังทองหลาง บางกะปิ บางนา คลองสามวา มีนบุรี เขตละ 2 จุด และ ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ บางขุนเทียน บางพลัด ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ ดุสิต พระนคร บางคอแหลม หลักสี่ สัมพันธวงศ์ ดอนเมือง ลาดพร้าว วัฒนา สายไหม พระโขนง สะพานสูง สวนหลวง หนองจอด ลาดกระบัง เขตละ 1 จุด ซึ่งกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจราจร จำนวน 125 จุด ในปี 2567
ขณะที่ 5 อันดับจุดเสี่ยงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ปี 2567 ได้แก่
- ถนนรัชดาภิเษก – แยกสุทธิสาร จำนวน 6 คน
- ถนนลาดพร้าว ซอย 101 จำนวน 5 คน
- ถนนวงแหวนรอบนอกฯ – ทางขึ้นสะพาน จำนวน 4 คน
- ถนนเพชรเกษม ช่วงแยกบางแค จำนวน 3 คน
- ถนนพระราม 2 – ซอยวัดยายร่ม จำนวน 3 คน

5 สาเหตุหลักอุบัติเหตุ เกิดจากสภาพถนนมากที่สุด
กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เผย 5 อันดับสาเหตุอุบัติเหตุที่เกิดจาก
- อันดับ 1 สาเหตุอุบัติเหตุที่มาจาก สภาพกายภาพของถนน ส่วนใหญ่จะเป็น ทางโค้ง สะพาน ทางยกระดับ ทางแยก ถนนลื่น ถนนลาดชันและแคบ และยังมีการก่อสร้างในพื้นที่
- อันดับ 2 สาเหตุอุบัติเหตุที่มาจาก พฤติกรรมของผู้ขับขี่ มักขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่ปฏิบัติตามป้ายหรือสัญญาณจราจร เปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ขับรถสวนเลนในช่วงเวลากลางคืน
- อันดับ 3 สาเหตุอุบัติเหตุที่มาจาก การออกจากซอยโดยไม่ระวัง หรือข้ามแยกผิด ส่วนใหญ่จะเป็นการจอดรถผิดกฎหมายและกีดขวางทางหลัก ข้ามแยกไม่ดูสัญญาณไฟ
- อันดับที่ 4 สาเหตุอุบัติเหตุที่มาจากการจอดกีดขวาง หรือใช้พื้นที่ถนนผิด จอดซ้อนคันบริเวณหน้าห้าง หน้าชุมชน ขณะที่รถรับส่งอาหารและวินรถจักรยานยนต์ รถส่งอาหารจอดรอรับ
- อันดับที่ 5 สาเหตุอุบัติเหตุที่มาจาก สภาพแวดล้อม ทัศนวิสัยไม่ดี เช่น ไฟส่องสว่างไม่พอ ต้นไม้บังทาง ไม่มีป้ายเตือน

5 แนวทางเบื้องต้นที่ กทม.เร่งแก้ไข
- ปรับปรุงกายภาพถนน ตีเส้นจราจรใหม่ ยกระดับพื้นทาง ลดความลาดชัน ช่วยแก้สาเหตุอุบัติเหตุ สภาพกายภาพของถนน
- ติดตั้งอุปกรณ์จราจร ด้วยการติดตั้ง ป้ายเตือน ไฟกระพริบ ยางชะลอ รั้วเหล็ก ช่วยแก้สาเหตุอุบัติเหตุ สภาพกายภาพของถนน สภาพแวดล้อม ทัศนวิสัยไม่ดี
- จัดการจุดกลับรถ/ออกซอย จัดทางเบี่ยง ขยายพื้นที่มองเห็น ช่วยแก้สาเหตุอุบัติเหตุ ออกจากซอยโดยไม่ระวัง ข้ามแยกผิด
- รณรงค์และกวดขันวินัยจราจร ตั้งด่าน ตรวจจับความเร็ว จับปรับ ช่วยแก้สาเหตุอุบัติเหตุด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ การจอดรถกีดขวางใช้พื้นที่ถนนผิด
- จัดการทัศนวิสัย ตัดต้นไม้บดบัง ปรับปรุงแสงสว่าง ช่วยแก้สาเหตุอุบัติเหตุ สภาพแวดล้อมและทัศนวิสัยไม่ดี

กทม.เสียชีวิตสูงจากอุบัติเหตุ 800-900 คนต่อปี
ธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า เมื่อก่อนกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต ประมาณ 900-1,000 ต่อปี และมีแนวโน้มลดลงมาเหลือประมาณ 800-900 คนต่อปี กทม.พยายามใช้นโยบายและปรับเสริมความปลอดภัยในหลาย จนทำให้ผู้เสียชีวิตลงลงในปี 2567
“แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงคือระดับ 800 คนต่อปี ผมก็ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูง ยังไม่ตรงกับเป้าหมายในทศวรรษที่ 2 ของของความปลอดภัยบนท้องถนน ที่มีความตั้งใจที่จะลดให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง 12 คนต่อแสนประชากรในภาพรวมประเทศ เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯก็เป็นหนึ่งจังหวัดที่จะต้องร่วมกับทุกจังหวัดในประเทศที่จะเป็นจังหวัดที่จะร่วมลดอุบัติเหตุ
และการเสียชีวิตของคนกรุงเทพมหานครด้วย”
BKK Risk Map แผนที่จุดเสี่ยงความปลอดภัยทางถนน ยกระดับความปลอดภัยคนกรุง
BKK Risk Map ตรวจสอบจุดเสี่ยงภัยแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น คือ ฐานข้อมูลดิจิทัล ที่รวบรวมข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ สามารถวางแผนการเดินทางและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, สำนักเทศกิจ, สำนักการจราจรและขนส่ง, สำนักการระบายน้ำ, สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล BKK Risk Map ให้ครอบคลุมและแม่นยำ ตรวจสอบ แผนที่จุดเสี่ยงอุทกภัย แผนที่จุดเสี่ยงอัคคีภัย แผนที่เสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แผนที่เสี่ยงภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และ แผนที่จุดเสี่ยงความปลอดภัยทางถนน ที่ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุ เพื่อขับขี่อย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงเส้นทางอันตราย
สิ่งสำคัญคือจุดเสี่ยงเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงต้องมีข้อมูลจุดเสี่ยงแบบไดนามิก คำว่า ไดนามิก คือมีการนำข้อมูลที่เกิดอุบัติเหตุ ไปทบทวนกับDATA เดิมว่าจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นจุดเดิมที่อยู่ในข้อมูลเดิมไหม ถ้าเป็นจุดใหม่ก็จะต้องนับเพิ่มเป็น 1 จุด เพราะฉะนั้นฐานข้อมูลที่เป็นจุดเสี่ยงของกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาในเรื่องของ จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ที่นำมาวิเคราะห์และแก้ไข
”ปัจจุบัน กทม.มีการทำ MOU กับ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ThaiRSC) เพราะฉะนั้นข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุก็จะเป็นการเสียชีวิต การบาดเจ็บ หรือจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจะถูกระบุจุดในแผนที่หมดแล้ว เราก็เห็น จุดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ในTOP 100 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มีนโยบายว่าเราจะใช้ข้อมูล 100 อันดับแรกที่เป็นจุดเสี่ยงของกรุงเทพมหานครเนี่ยเป็นค่าเป้าหมาย ในการกำหนดการแก้ไขจุดเสี่ยง เพื่อลดอุบัติเหตุ”

กทม. แก้ไขจุดเสี่ยงอย่างไร
ยกตัวอย่างบริเวณโค้ง จันทร์เกษม ถ.รัชดา ซึ่งสมัยก่อนเราจะเรียกว่าโค้งอันตรายเพราะจุดนี้ที่มีผู้เสียชีวิตมาก หรือ สน.พหลโยธิน คนในพื้นที่จะคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และจุดนี้ก็มีผู้เสียชีวิตสูง มากกว่า 50 คน กรุงเทพมหานครก็ทำการวิเคราะห์ถนนเส้นนี้ แล้วก็แก้ไข โดยใช้มาตรฐานความปลอดภัยเข้าไป อาจจะอิงมาตรฐาน iRAP ซึ่งแก้ปัญหามาต่อเนื่อง ใส่มาตรฐานการใช้วัสดุอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเข้าไป ปัจจุบัน สน.พหลโยธินก็ยืนยันกับกรุงเทพมหานคร ว่าจุดดังกล่าวยังไม่เกิดอุบัติเหตุอีก เพราะฉะนั้นการแก้ไขตรงนี้ถือเป็นต้นแบบให้กับการแก้ไขจุดเสี่ยงต่าง ๆ อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร พยายามแก้ปัญหาความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทั้งเรื่องของกายภาพถนน ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายเตือนผู้ขับขี่ และมีการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนระดับสากล iRAP โดยเกี่ยวข้องผู้ใช้ถนน 4 กลุ่ม คือ คนเดินเท้า ผู้ขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ และขับรถยนต์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้วิธีคิด แนวทางปรับปรุงกายภาพถนนต่าง ๆ ของ กทม. ให้เกิดความปลอดภัย ซึ่ง กทม.ไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยภาคีเครือข่าย ผ่าน ศปถ.กทม.
มาตรฐานถนนติดดาว กทม.
เครื่องมือหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและนํามาประยุกต์ใช้ต่างประเทศ คือ การประเมินระดับความปลอดภัยด้วยมาตรฐานนานาชาติ หรือเรียกว่า iRAP ซึ่งเป็นการให้คะแนนแบบดาว หรือ Star Rating และเป็นหนึ่งใน Road Safety System โดยเป็นแนวทางเชิงป้องกัน (Proactive Approach) มีพื้นฐานแนวคิดว่าอุบัติเหตุจราจรเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ การออกแบบถนนที่ปลอดภัยจะช่วยผู้ใช้ทางในการขับขี่ให้สามารถลดอันตรายจากความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น
การให้คะแนนแบบดาวเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถใช้เป็นมาตรวัดระดับความปลอดภัยทางถนน โดยพิจารณาจากมิติของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ถนนที่ได้ 5 ดาว จัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยสูงสุด และถนนที่ได้ 1 ดาว จัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยต่ำสุด ซึ่งมาตรฐานและค่าเป้าหมายของถนนที่ปลอดภัยที่นานาชาติยอมรับควรอยู่ที่ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป
สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับหน่วยงาน ThaiRAP ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นําผลลัพธ์ของการนําระบบการประเมิน iRAP มาใช้กับถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างองค์กรแห่งมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ด้วยการประเมินสภาพถนนปัจจุบันในโครงข่ายกรุงเทพมหานคร 530 กิโลเมตร และการประเมินถนนนําร่อง 1 เขต 1 ถนน 3 ดาว
รวมทั้งการร่างแบบความปลอดภัยสำหรับถนนวงแหวนรอบในกรุงเทพมหานครหรือวงแหวนรัชดาภิเษก ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดการออกแบบถนนในเมือง หรือ Urban Street Design เข้ามาใช้ในการปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งเป้าหมายหลักของการนำมาตรการจาก iRAP มาประยุกต์ใช้ ด้วยการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอย่างน้อย 3 ดาว สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย
ลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
“ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจกายภาพของกรุงเทพมหานครค่อนข้างมาก มีข้อจำกัดเรื่องความเป็นเมืองเช่นกัน ในการเข้าไปแก้ปัญหา ในแต่ละเขตก็มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน บางจุดติดร้านค้า ติดข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อม เชื่อได้ว่ากรุงเทพมหานครอาจจะรับมือทั้งถนนทั้งชุมชนไม่ได้ทั้งหมดเนื่องจากมันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลายที่ต้องทำงานเป็นทีม
มันคือข้อต่อสำคัญในการจัดการนโยบายที่ต้องฝ่ายต้องร่วมมือ อย่างน้อยเรามีชุดข้อมูลจำนวนมาก ทั้งจากการเก็บสถิติ การรับแจ้งจากประชาชนผ่าน Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์)”
วันนี้เราต้องยอมรับว่าผู้เสียชีวิตจาจักรยานยนต์เป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้จักรยานยนต์ 21-22 ล้านคัน ในการเดินทางในคนกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งแต่ปี 2566-2567 ได้ดำเนินการลดการเสียชีวิตจากผู้ใช้จักรยานยนต์ หากแยกกลุ่มมอเตอร์ไซค์ จะพบว่าคนที่อยู่บนท้องถนนวันละ 8 ชั่วโมง ถึง 10 ชั่วโมง เป็นกลุ่มคนที่ ใช้จักรยานยนต์ในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ในกลุ่มไรเดอร์ จักรยานยนต์รับจ้าง คนขับขี่อื่น ๆ ทั่วไป
เป้าหมายลดอุบัติเหตุไทย
ประเทศไทยได้สนับสนุนต่อปฏิญญากรุงสตอกโฮล์ม ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน (Stockholm Declaration) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนภายในปี 2030 ร้อยละ 50 สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร พยายามแก้ปัญหาต่อเนื่องทั้งการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ทั้งปัญหาด้านกายภาพของถนนที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน การประเมินและปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรฐานนานาชาติ
นับเป็นการเริ่มต้นปรับปรุงความปลอดภัยโครงข่ายถนนตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGS) และเป็นการตอบสนององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “เดินทางดี” และ “ปลอดภัยดี” และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้กําหนดให้ปี พ.ศ. 2564 – 2573 เป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ระยะที่ 2 ต่อไป