ชาวนา…ทำไม ? ต้องมาม็อบ เหตุผลสำคัญ คือ ปัญหาข้าวเปลือกเจ้าราคาตกต่ำ จนทำให้ชาวนาหลายจังหวัดแบกภาระไม่ไหว พวกเขาจึงนัดรวมตัวประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา
ทุกวันนี้เสียงสะท้อนจากชาวนา พบว่า ยังคงติดอยู่ในวังวนเดิม ๆ ปลูก ขาย และกู้หนี้มาชดเชยของเก่า นี่คือต้นทุนการทำนาที่พวกเขาต้องเผชิญ แล้วมันจะคุ้มค่า กับที่ชาวนายอมหลังขดหลังแข็งหรือไม่

The Active ชวนดูต้นทุนการทำนา ของชาวนาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อหาคำตอบว่า ทำไม ? พวกเขายังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้สักที
สำหรับชาวนาที่ต้องทำนาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำนองกรณีศึกษาของ จ.พระนครศรีอยุธยา ในกรณีการทำนาปรัง ก่อนวันที่ 15 กันยายนของแต่ละปี ชาวนาบริเวณทุ่งรับน้ำ จะต้องเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างรัฐ กับ ชาวนา เพราะหลังวันที่ 15 กันยายน กรมชลประทานจะระบายน้ำที่หลากทางตอนบนเข้าทุ่งรับน้ำเพื่อบรรเทาน้ำท่วมให้กับจังหวัดตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่าง ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร… นี่คือสิ่งที่ ชาวนาพระนครศรีอยุธยา ต้องเป็นผู้เสียสละรับน้ำ ก่อนจะได้ทำนา
พอเข้าสู่ช่วง เดือนพฤศจิกายน เมื่อน้ำเริ่มแห้ง ชาวนาถึงจะได้ทำนา และเริ่มค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เตรียมแปลง ถึงหว่านเมล็ดพันธุ์ เช่น
- ค่าเมล็ดพันธุ์ 25 กิโลกรัม ราคา 500 บาท/ไร่
- ค่าปั่นดิน 300 บาท/ไร่
- ค่าย่ำดิน 250 บาท/ไร
- ค่าหว่าน 60 บาท/ไร่
- ค่าจ้างฉีดยาคลุมเลน 60 บาท/ไร่
- ค่ายา 300 บาท/ไร่
- ค่าฉีดยาฆ่าหญ้า 300 บาท/ไร่
- ค่าจ้างคนฉีดยา 60 บาท/ไร่
รวม ๆ แล้วต้นทุนขั้นการเตรียมแปลงทั้งหมดที่ต้องจ่ายอยู่ราว ๆ 1,800 – 1,900 บาท/ไร่ ทำนาหลายไร่ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งทวีคูณ

มากันที่ เดือนธันวาคม เมื่อข้าวเริ่มงอก ก็มีค่าใช้จ่าย ทั้ง ค่าน้ำมันเพื่อสูบน้ำเข้านา ตกอยู่ที่ 500 บาท/ไร่ (20 ลิตร) ค่าหว่านปุ๋ย 3 สูตร ราคา 700 – 800 บาท (1 กระสอบ ได้ 50 กิโลกรัม และ 1 กระสอบ ใส่ได้ 3 ไร่) รวมถึงค่าจ้างหว่านปุ๋ย อีก 60 บาท/ไร่ รวมแล้วในช่วงนี้ต้องจ่ายอีก 2,500 – 2,600 บาท/ไร่
พอ เดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ข้าวเริ่มโต ก็ต้องใส่ปุ๋ยอีกรอบ และต้องไปซื้อยาฆ่าเชื้อรา มาใส่ข้าวด้วย รวมแล้ว 500 – 600 บาท/ไร่
ล่วงเลยมาจนถึง เดือนมีนาคม ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว จะมีค่าใช้จ่าย จ้างรถเกี่ยวข้าว 500 บาท/ไร่ พอเกี่ยวเสร็จก็ต้องจ้างรถบรรทุกขนข้าวไปขาย อยู่ที่ 200 บาท/ตัน
รวม ๆ แล้วตั้งแต่เตรียมแปลง เริ่มหว่าน มาจนถึงได้เกี่ยวข้าว กว่าจะได้ขาย ชาวนาก็เจอต้นทุนการผลิตไปแล้ว ประมาณ 5,000 – 6,000 บาท/ไร่
ปัจจุบันชาวนาพระนครศรีอยุธยา ยอมรับ พอได้ข้าวไปขาย เห็นราคาข้าวก็แทบเป็นลม เพราะอยู่ที่ 6,000 – 7,000 บาท/ตัน เท่านั้น เรียกได้ว่ามองไม่เห็นกำไร นี่คือต้นทุนที่ชาวนาต้องแบกเอาไว้

ยังมีอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อจำกัด คือ จริง ๆ แล้วในช่วงเดือนเมษายน ที่กำลังเตรียมแปลงปลูกข้าวรอบใหม่หลังเก็บเกี่ยว ชาวนาก็จะเจอกับมาตรการห้ามเผา แน่นอนว่ามีทางเลือกอื่น ๆ มากมาย เพื่อที่ไม่ให้ชาวนาเผาตอซังข้าว แต่ในความเป็นจริงชาวนาส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าทำยาก อย่าง ทางเลือกให้หมักฟาง ซึ่งในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือนก็หมักไม่ทัน เพราะฟางหนา ย่อยสลายไม่ทันกับฤดูฝน
อีกอย่าง ในระหว่างที่จะหมักฟาง ต้องมีน้ำเข้ามาในแปลงนา จึงจะใส่สาร หรือน้ำยาย่อยสลายไปพร้อมกันได้ แต่ก็พบว่าในช่วงเดือนมีนาคม และ เมษายน จะเป็นช่วงที่กรมชลประทาน ไม่ปล่อยน้ำให้ชาวนา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้ง ต้องเก็บน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค จึงทำให้ไม่มีน้ำเข้านามาหมักฟาง จึงต้องรอประกาศฤดูฝน นี่เป็นอีก หนึ่งข้อเรียกร้อง เพราะปัจจุบันในพื้นที่ 59 จังหวัดห้ามเผาลดฝุ่น แต่ชาวนาก็ไม่มีทางเลือกมากนัก