ใต้พรมแดง ‘ดิไอคอน’ จับให้ได้ ไล่ให้ทัน

เพียงปฐมบทแรกของ ‘ดิไอคอน’ กับการติดตามตัวจนได้ ’18 บอส’ มาฝากขัง ก็ทำให้อีกหลายคนเริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ จนอยู่ไม่สุข ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังสืบสาวหาตัวผู้กระทำผิดเพิ่มเติม ในวันที่ยอดผู้เสียหายสูงถึง 5,648 คน มูลค่าความเสียหาย 1,611 ล้านบาทเศษ

The Active ชวนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมวิเคราะห์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของคดีนี้ในมิติต่าง ๆ ไปจนถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้โมเดลธุรกิจที่อาศัยช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมาย หากินกับความโลภ อยากได้ อยากมี เติบโตอย่างรวดเร็วในยุค 5G ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ทับซ้อนอยู่ในสังคมไทย และถอดรหัสไปพร้อมกันว่าคดี ‘ดิไอคอน’ นี้เชื่อมโยงกับประเด็นใดบ้าง

ดิไอคอน

1.วงจรธุรกิจสีเทา
ถอดรหัสแรกกับรูปแบบพฤติกรรมและกระบวนการทางธุรกิจของเครือข่ายดิไอคอน ซึ่งเมื่อเจาะงบการเงินแล้วจะเห็นจุดน่าสงสัยที่อยู่ระหว่างการเร่งแกะรอยเส้นทางการเงิน 8 พันล้านบาท ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แย้มว่าเกี่ยวข้องบุคคลถึงหลักแสนคน ประเด็นที่ต้องติดตามคือคดีนี้เข้าข่ายเป็น ‘แชร์ลูกโซ่’ หรือไม่ และต้องสืบสาวต่อจะเข้าข่ายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ‘ฟอกเงิน’ ด้วยหรือไม่ และพัวพันไปถึงกลุ่มทุนสีเทาใดอีกบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจหลายแวดวง ในบริบทของสังคมยังอ่อนแอ คนจำนวนมากไม่มีความรู้ด้านการเงินจนถูกชักจูงหว่านล้อมและตกเป็นเหยื่อ

2.ทุจริตคอร์รัปชันรากเหง้าปัญหา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครือข่ายธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เชื่อมโยงไปถึงผู้มีอำนาจในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะแค่เรื่องเริ่มร้อนก็มีตัวละครและหน่วยงานโผล่เพียบ ทั้งคลิปเสียงที่พาดพิงไปถึงนักการเมือง เอ่ยถึง ‘เครื่องเซ่นเทวดา’ ที่ช่วยให้ธุรกิจราบรื่น รวมถึงประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยพบความไม่ชอบมาพากลของดิไอคอนตั้งแต่ปี 2561 แต่เรื่องกลับเงียบหายซ้ำจดทะเบียนให้ ตอกย้ำปมคลิปเสียงที่ชวนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สคบ.ให้การช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

ยังร้อนถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลัง เอกภพ เหลืองประเสริฐ เพจสายไหมต้องรอด ออกมาระบุว่าในช่วงขาขึ้นของดิไอคอนนั้น ‘เทวดา’ ได้ฝากฝังข้าราชการเข้ามาอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ทำงานเกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่ เพื่อคุ้มครองบริษัทหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ด้วยมูลค่าการเซ่นไหว้กว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่แล้ว หลายคนคงลุ้นว่าจะมีหลักฐานหรือชื่อหลุดมากกว่านี้อีกหรือไม่ หรือจะถูกตัดตอนเสียก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ ‘บอสพอล’ ยังคงยืนยันว่าไม่เคยจ่ายสินบนให้หน่วนงานใด

3.เกมโกงการตลาด
คดีแชร์ลูกโซ่ปรากฎให้เห็นมากว่า 40 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษเผยว่ามีรูปแบบการแอบแฝงหลอกลวงถึง 25 รูปแบบ ซึ่งกลโกงเหล่านี้มีการพัฒนาไปตามยุคสมัย ซับซ้อนแนบเนียนมากยิ่งขึ้น ‘ดิไอคอน’ ใช้หลายกลยุทธ์ในการจูงใจคน ผ่านพลังของการเล่าเรื่องหรือ Storytelling อย่างมีจิตวิทยา นำเสนอความหวังที่ถูกสร้างให้เชื่อว่าเป็นจริงได้ มีองค์ประกอบที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่สวมใส่เปลือกนอกของ Business Model แบบต่าง ๆ เช่น ธุรกิจขายตรง, Dropshipping, การตลาดออนไลน์ จนสร้างผลกระทบต่อผู้ที่ดำเนินธุรกิจสุจริตตัวจริง โดยดึงเอาคนที่มีความน่าเชื่อถือ Influencer มาช่วยยืนยันความมั่นใจจนหลายตัดสินใจก้าวสู่วงจรธุรกิจนี้


4. กลยุทธ์ออนไลน์ขยายวงเสียหาย
นอกจากรูปแบบการแอบแฝงหลอกลวงที่มีการพัฒนาแล้ว การมาถึงของยุคดิจิทัลยังกลายเป็นช่องทางที่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์จากการให้บริการของแพลตฟอร์มอย่างการลงโฆษณาที่กลายเป็นว่าช่วยยิงแอดเข้าถึงเหยื่อได้ตรงกลุ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีกรณีของการโฆษณาเว็บพนันออนไลน์และเพจปลอม ขณะที่ความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ยังทำให้พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป ความไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจอาจใช้เวลาสั้นเกินกว่าจะรู้เท่าทัน จึงอาจมีโอกาสที่การฉ้อโกงหลอกลวงในยุคนี้จะมีจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากกว่าในอดีต

เป็นอีกโจทย์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในยุคดิจิทัล ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการติดอาวุธแก่ประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)

5.ช่องโหว่ของกฎหมาย มีแต่ไม่บังคับใช้
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายคดีแชร์ลูกโซ่มีความล่าช้าที่สร้างผลกระทบและยากที่จะกวาดล้างให้หมดไปได้ ถึงแม้จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วแต่กฎหมายกลับมีช่องโหว่ด้านบทลงโทษ สอดคล้องกับนักกฎหมายที่ชี้ว่าถึงเวลาต้องรื้อกฎหมายแชร์ลูกโซ่เสียที

กฎหมายหลักเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ถูกใช้มานานกว่า 40 ปี คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในกรณี ‘ดิไอคอน’ ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับอื่น ๆ อีก เช่น พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

ล่าสุด จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังเตรียมประชุมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในการพิจารณาปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่

6.ความเหลื่อมล้ำ ต้นตอความอยากได้อยากมี
สิ่งสำคัญที่ยังคงทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงเรื่อยมาคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคมที่ยังคงรุนแรง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยที่กว้าง โครงสร้างไม่เอื้อต่อการลืมตาอ้าปากแม้จะขยันสักเพียงใด เป็นจุดอ่อนให้ถูกหยิบยกมาขายฝันสร้างความหวังว่าจะมีโอกาสหลุดพ้นจากความจน ความแร้นแค้น ในเพียงพริบตาจนกลายเป็นวลี “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” ท่ามกลางสังคมที่ถูกปลุกปั่นให้คล้อยตามไปกับกระแสวัตถุนิยมมากกว่าความถูกต้อง ให้คุณค่ากับความรวยมากกว่าความดี



7.เซเลบสงฆ์ เปลี่ยนศรัทธาเป็นโฆษณาชวนเชื่อ
นอกจากแวดวงบันเทิงหรือการเมืองแล้ว ‘ดิไอคอน’ ยังร้อนไปถึงวงการผ้าเหลือง เมื่อมีปมวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับงานเทศน์ของพระชื่อดัง ต่อเนื่องไปถึงลีลาการเทศน์ที่ปรับให้เข้ากับบริบทของสังคม ซึ่งถูกสังคมออกมาตั้งคำถามถึงแก่นและเนื้อหาสาระว่ายังยึดโยงกับหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน ก่อนจะลุกลามไปถึงคำถามถึงจุดยืนของพระสงฆ์กับธุรกิจในมุมมองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงดิไอคอนเท่านั้น แต่ถูกเชื่อมโยงหลายกรณีในอดีตที่เคยถูกนำมาใช้ในด้านการสร้างภาพลักษณ์คนดี สร้างความน่าเชื่อถือจากฐานความศรัทธา เงินบริจาค และโครงสร้างอำนาจของสงฆ์ที่เป็นแดนสนธยายากจะเข้าไปตรวจสอบ