มองทะลุความจน เพื่อหลุดพ้นความจนข้ามรุ่น

เดชรัต สุขกำเนิด

ความรู้สึกสะเทือนใจ ต่อเรื่องราวชีวิตของครอบครัวยากจน ในสารคดีชุด “คนจนเมือง” ตอน “คนจนข้ามรุ่น” อาจเป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์หลังเกิดการรับรู้ และเมื่อเห็นผู้อื่นทุกข์ ก็อยากหยิบยื่นความช่วยเหลือ เพื่อให้เขาพ้นทุกข์

ทว่าการช่วยเหลือเพื่อให้คนจนก้าวพ้นกับดักความยากจน อาจต้องยกระดับจากสำนึกความรู้สึกนี้ให้สูงขึ้นอีกขั้น และไปสู่การเสียสละของสังคมร่วมกัน ความเสียสละที่ว่านี้ อาจเริ่มต้นจาก จินตนาการ ความฝัน แรงผลักดันของทุกคน  ในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันในการสร้างต้นทุนที่คนจนไม่มี  ออกแบบวิธีการช่วยเหลือ เพื่อมอบโอกาสที่มากกว่าการบริจาค หรือรอรับการสงเคราะห์ 

The Active ถอดสลักวังวนความจน ผ่านชีวิตครอบครัว แม่คำผ่อง โยธาราช กับ ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)


ความจนข้ามรุ่น เดชรัต สุขกำเนิด

หลังได้รับชมสารคดีชุดคนจนเมือง ซีซัน 2 ตอน ”คนจนข้ามรุ่น” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานศึกษาและผลักดันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ‘เดชรัต’ กล่าวถึงความรู้สึกต่อเรื่องราวครอบครัวของ “คำผ่อง โยธาราช” ชาวบ้านบะไห  อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ว่า รู้สึกสะเทือนใจ

ที่ผ่านมา แม้จะทำงานด้านนี้ แต่ก็เป็นข้อมูลในเชิงสถิติตัวเลข แต่พอถ่ายทอดเป็นเรื่องราวชีวิตที่สามารถสะท้อนวังวนความยากจนข้ามรุ่น และเป็นความจนในทุกรูปแบบจากครอบครัวเดียว ซึ่งคนจนทั่วประเทศมีกับดักความยากจนคล้ายชีวิตของคำผ่อง 

หลังสารคดีออกอากาศ มีผู้ชมแสดงเจตจำนงขอร่วมบริจาคช่วยเหลือครอบครัวคำผ่องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเงินหรือสิ่งของ โดยเฉพาะในประเด็นที่ “เอ็มมี่” อิสริยาภรณ์ สุภะสอน หลานสาวของคำผ่อง ไม่มีเงินซื้อรองเท้าใหม่ และต้องทนสวมรองเท้าคู่เก่าที่คับ ใส่ทีไรต้องเจ็บเท้าทุกที รวมถึงยังมีข้อความอีกจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมรู้สึกสงสาร เป็นความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้น ปฏิกริยานี้ เดชรัต มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดีของสังคมหลังเกิดการรับรู้ แต่จะทำอย่างไรให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเปลี่ยนไปสู่การออกแบบวิธีการช่วยเหลือเพื่อให้ครอบครัวคำผ่องและอีกหลายครอบครัวที่สื่ออาจเข้าไม่ถึง ได้หลุดพ้นจากความยากจน

“การบริจาคเป็นปรากฏการณ์พื้นฐานที่ดีสำหรับสังคมมนุษย์ แต่เราจะเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้า จำเป็นต้องขบคิด เขยิบจากการบริจาคมาเป็นการลงทุน ทำให้สังคมมีภาพจินตนาการ วิสัยทัศน์ เพื่อสังคมที่ดีกว่านี้ ให้โอกาสคนจนหลุดพ้นความยากจน”


คนจนเมือง ความจนข้ามรุ่น

รูปแบบความจนที่สารคดีชิ้นนี้เชื่อมโยงจากครอบครัวคำผ่อง สู่ครอบครัวคนจนทั่วประเทศ เดชรัต ถอดสลักให้เห็นใน 5 มิติ

ความอบอุ่นในครอบครัว
รายได้
การศึกษา
โอกาสในการหารายได้
ที่ดินและการเกษตร

ทุกเงื่อนไขมีความเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่ง การศึกษา เป็นตัวแปรสำคัญ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาภาคบังคับให้กับทุกคน แต่ไม่ได้ห้ามให้รัฐบาลจัดหามากไปกว่าภาคบังคับ และระบบการศึกษาของประเทศไทยมีการลงทุน 7 – 8 แสนล้านบาทอยู่แล้ว โดยเป็นงบประมาณที่รัฐบาลลงทุนราว 4 – 5 แสนล้านบาท หน่วยงานอื่นลงทุนประมาณ 3 – 4 แสนล้านบาท แต่ต้องมีการลงทุนส่วนอื่นเพิ่ม เพื่อให้เข้าถึงการศึกษา เช่น ลงทุนให้มีรองเท้า มีรถโรงเรียน มีหนังสือ มีอาหารเพียงพอ เพื่อเข้าสู่การทำหน้าที่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ดีได้ จนถึงขั้นมหาวิทยาลัย 

สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนนี้ หากคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ จากคนจนที่มีอยู่ 5 ล้านคน หรือ 1 ล้านคน คือ คนรุ่นใหม่ อย่าง เอ็มมี่ หลานของคำผ่อง  จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 – 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพีทั้งหมดของประเทศ เท่ากับว่า  รายได้ 100 บาท จะนำมาลงทุนกับเด็กกลุ่มนี้ เพียง 4 – 5 บาทเท่านั้น ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยจินตนาการและความฝันร่วมกันของคนในสังคมในการจุดประเด็น ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง “หากลงทุนวันนี้เราจะเห็นผลที่คุ้มค่ากับสังคมในระยะยาว”

“ถ้าจะจบความยากจนที่รุ่นนี้ มันขึ้นอยู่กับความฝัน จินตนาการของสังคมไทย และการเสียสละขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ การลงทุนการศึกษาเพิ่มจากระบบที่มีอยู่แล้ว อีก 4 – 5 แสนล้านบาท ถ้าไม่ตัดวงจรคนจนข้ามรุ่น ยิ่งจะมีภาระใช้เงินมากขึ้น ตอนนี้เป็นจุดตัดที่สำคัญมากในแง่เวลา”

เดชรัต อธิบายเพิ่มเติมว่า ทำไมเงื่อนไขของเวลานี้จึงเป็นจุดตัดสำคัญ ถ้าเราแบ่งครอบครัว 10% บนตามชั้นรายได้ คนรวยกลุ่มนี้ มี ลูกร้อยละ 0.13 ต่อครัวเรือน ส่วน 10% ที่จนที่สุด มีลูก ร้อยละ 0.99 ต่อครัวเรือน เท่ากับว่า คนจนทุกครัวเรือนมีลูก 1 คน

เมื่อ 10 – 20 ปีที่แล้ว มีการกระจายตัวของการมีลูกมากกว่านี้ แต่ตอนนี้คนจนจะมีมากกว่า “ดังนั้น ชีวิตของเราจะดีขึ้นได้จากการตัดสินใจของเราร่วมกัน ฝันถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ฝันถึงการไม่มีความจนข้ามรุ่นอีกต่อไป” และตัวเลขนี้พูดถึงแค่การตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น ยังไม่ได้พูดถึงความเหลื่อมล้ำซึ่งยังคงอยู่แต่จะแคบลง จาก 10 เท่าเหลือเพียง 8 เท่า

เดชรัต เชื่อว่า นี่เป็นโอกาสที่ทุกคนจะเห็น และทำอะไรได้มากกว่าการบริจาค ส่วนข้อดีของการเป็นสังคมประชาธิปไตยคือการเปิดโอกาสให้มีคนมากกว่า 1 กลุ่ม เสนอเข้ามาเป็นตัวแทนรัฐบาล สร้างนโยบายที่แก้จนข้ามรุ่น หากสังคมฝันร่วมกันก็จะนำมาสู่การออกแบบนโยบายได้  


คนจนเมือง ความจนข้ามรุ่น

เดชรัต สะท้อนว่าสิ่งที่สารคดีฉายให้เห็นปัญหาในสังคมไทยอีกประการ คือ การลงทุนด้านการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเราด้อยค่าการดูแลซึ่งกันและกัน แล้วหันไปลงทุนด้านเศรษฐกิจ เหมือนที่ลูก ๆ คำผ่องไปทำงานในเมืองเพื่อหาเงินส่งเสียกลับมาทางบ้าน แต่รายได้ก็ไม่ได้มากพอที่จะทำให้สวัสดิการในชีวิตดีขึ้นอย่างที่คิด และยังลดการจัดสรรทรัพยากรรวมถึงเวลาในการดูแล กลายเป็นผลักภาระทั้งหมดให้ตกอยู่ที่คำผ่อง 

“ยายคำผ่องดูแลคนจำนวนมาก แต่ระบบตลาดถือว่าไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยายคำผ่องมีคุณค่าต่อ 9 ชีวิต เราต้องดีไซน์ออกแบบสังคมใหม่ ให้คนดูแลเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัว มีคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยระบบสวัสดิการ”

เดชรัต อธิบายเพิ่มเติมว่า คำผ่อง ดูแลผู้สูงอายุ ก็ควรได้รับการดูแลส่วนหนึ่ง แม้จะเป็นการดูแลคนในครอบครัวตนเองก็ตาม ระบบกลไกของรัฐไม่คิดเรื่องนี้ เพราะการดูแลคนในครอครัวของตัวเองต้องเสียสละเอง ในขณะเดียวกัน การว่าจ้างคนอื่นต้องใช้เงินเยอะมาก จึงเป็นระบบดูแลที่มีแต่ความทุกข์ ระบบของเราจึงเป็นระบบที่แปลกประหลาดมากที่ด้อยค่าการดูแลกันเองในครอบครัว นี่คือการออกแบบสังคมที่เราไม่เห็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่สุด มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ เติบโตทุกวันนี้ เพราะเราดูแลกันและกัน  แต่เราให้คุณค่าของการดูแลกันและกันน้อยที่สุด 

เขาเสนอให้มีการลงทุนเพิ่มเติมด้านสวัสดิการ หากเด็ก ๆ มีระบบสวัสดิการที่เข้าถึงได้ครอบคลุม ไม่ใช่แค่ 0 – 6 ขวบ แต่คำนึงถึงเด็กยากจนที่เป็นเด็กโต ซึ่งมีความต้องการที่มากขึ้น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ การดูแลกันเองในครอบครัวมีค่าตอบแทน มีสวัสดิการ 3,000 บาท  การตัดวงจรความจนจึงเป็นเรื่องของการลงทุน หากตัดสินใจวันนี้ อีก 20 ปี ข้างหน้า จะเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าที่สุด 


คนจนเมือง ความจนข้ามรุ่น

เดชรัต อธิบายว่า การหาอยู่หากินของคนจน พึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในทางเศรษฐศาตร์มองว่าเป็นรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน แต่มีความสำคัญในทางสถิติ สิ่งที่จะช่วยให้คนจนยังคงมีวิถีเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องทำ 3 เรื่องควบคู่กันไป

เรื่องแรก คือ องค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศ ระบบวัฒนธรรม ต่อมาคือ นโยบายที่ดูแลทรัพยากรเหล่านี้ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรได้ และสุดท้ายคือ ความสามารถที่จะแปลงทรัพยากรบางส่วน รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินให้มีมูลค่าเพื่มขึ้น  เช่น การพัฒนาสินค้า การท่องเที่ยว เขาเชื่อว่าหากช่วยให้คนจนสามารถพัฒนาการหาอยู่หากินให้มั่นคงได้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะรอด แต่ถ้าดูในสารคดีชีวิตของครอบครัวคำผ่องก็ยังยากอยู่

“โอกาสหารายได้จากสิ่งที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น การจับปลา การหาเห็ด หาหน่อไม้ คนจนพึ่งพาการหาอยู่หากินแบบนี้ แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะนโยบายการพัฒนาสร้างผลกระทบ และไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึงทรัพยากรได้” 

เดชรัต อธิบายเพิ่มเติมว่า การหาอยู่หากิน อาจไม่ได้เก็บตัวเลข หรือสะท้อนในจีดีพีมากนัก แต่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ช่วยได้ แม้ไม่ช่วยทั้งหมด จึงอยากเสนอให้รัฐบาลอย่าทำโครงการที่กระทบกับลักษณะวิถีชีวิตแบบนี้ และหากดูการพัฒนาที่ผ่านมาจะพบว่า มีโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนจน  เช่น โครงการเขื่อนกั้นในแม่น้ำโขง ลำน้ำสาขา และหากเชื่อมโยงประเด็นนี้สู่ปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ  ก็จะเห็นปัญหาคล้ายกัน คือ โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เขาพอหาอยู่หากินกันได้พอสมควร ถ้ารัฐบาลไปทำนิคมอุตสาหกรรมกระทบกับสิ่งที่เขาหาอยู่หากินได้ มาตรการที่จะเข้ามาช่วย ก็อาจจะไม่เพียงพอ

ความสามารถที่จะพลิกวิธีการหาอยู่หากิน เช่น เรื่องการท่องเที่ยวของชุมชน องค์ความรู้ที่จะทำให้ทรัพยากรสมบูรณ์ขึ้น ทำให้สิ่งที่มีอยู่มีมูลค่ามากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องช่วยเติมเข้าไป ถ้ารัฐบาลต่อยอดเติมเต็ม 2 ประเด็นนี้ คือการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และเพิ่มมูลค่า ก็จะมีโอกาสในการหลุดพ้นความยากจน ถึงแม้ว่าจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด  

เดชรัต ยังพูดถึงอีก 2 มิติของวังวนความจนที่สะท้อนชัดเจนผ่านสารคดีชุดนี้ คือการที่เด็ก ๆ อยู่ห่างไกลจากพ่อและแม่ มีรายงานจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุว่าแม่ที่มีฐานะยากจนมีโอกาสอยู่กับลูกยากกว่าพ่อแม่ที่มีฐานะปานกลาง ถึงค่อนข้างดี และมีผลการศึกษาชัดเจนว่า การได้อยู่กับพ่อแม่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ส่วนปัญหาไม่มีที่ดิน ที่ทำกิน โอกาสที่จะสะสมเงินทุนของครอบครัวคำผ่องหรือครอบครัวคนจน เพื่อที่จะซื้อที่ดินสักแปลง มียากขึ้น เพราะที่ดิน มีราคาสูงขึ้นมาก ทั้งหมดโยงมาหาที่จุดเดียวกัน  

“5 องค์ประกอบ สร้างกลายเป็นภาวะความยากจน อยู่นอกเหนือการควบคุมของยายผ่องและหลาน ๆ และก็จะทำให้หลาน ๆ หลุดพ้นจากความยากจนได้ยาก”

ในความยากจนแร้นแค้น สิ่งที่คำผ่องพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองทำได้  ไม่ว่าจะเรื่องการดูแลหลานด้วยความรัก ใส่ใจเต็มที่พยายามทำหน้าที่แทนพ่อแม่ มองเห็นโอกาสของการหลุดพ้นความจนจากการศึกษา จึงพยายามอยากให้หลานได้เรียนสูง ๆ แต่โอกาสที่จะเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยก็ยังยากอยู่ ส่วนพี่ชายคนโตจะหมดโอกาสไปแล้ว แต่คำผ่องก็พยายามหาโอกาสสุดท้ายด้วยการให้หลานบวชเรียน 

“ความจน” ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ต่อให้ดิ้นรนแค่ไหน “ความจนข้ามรุ่น” ยังกลายเป็นมรดกตกทอดที่ไม่รู้จะสิ้นสุดตรงไหน

หากจะยุติความจนในรุ่นนี้ อาจถึงเวลาที่สังคมจะสร้างจินตนาการร่วมกันตั้งแต่วันนี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์