เปิดวิสัยทัศน์ ทีม ส.ก. ก่อนปูพรมสำรวจเด็กหลุดระบบการศึกษา

กลไกสำคัญก่อนแปรงบประมาณ แก้มหานครเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ในงานแถลงข่าว ความร่วมมือสำรวจข้อมูลเด็กยากจน และเด็กหลุดระบบการศึกษาระหว่าง สภา กทม. และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. มี ทีม สก.จากหลากหลายพรรคการเมืองมาร่วมสะท้อนวิสัยทัศน์ และเล่าถึงกลไกรูปธรรมของการช่วยสำรวจข้อมูลเด็ก ๆ ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการแปรเป็นงบประมาณเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำร่องใน กทม. ทั้ง 50 เขต

The Active ได้รวบรวมข้อเสนอ และแนวทางการช่วยเหลือ จาก วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่มาร่วมเป็น Speaker เสนอแนวทางการแก้ปัญหาผ่านเวที “ยุติปัญหา กทม. เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ชั้น 1 ฝั่งเหนือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ เด็กยากจนเผชิญกับความยากลำบาก เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อ หรือ หยุดการเรียนกลางคัน ปัญหานี้เร่งด่วน และเป็นหน้าที่โดยตรงของ ส.ก.ทั้ง 50 เขต

ที่ผ่านมา รร.ในสังกัด กทม. 437 แห่ง ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเด็ก แต่โชคดีที่เรามีสมาชิก สภาฯ กทม. เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และเติมเต็มข้อมูลส่วนที่ขาดหายไป

สภากรุงเทพมหานคร และ ส.ก.จากทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง จะร่วมกันประกาศความพร้อมที่จะเป็น “กลไก” ประสานความร่วมมือ ยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้สำเร็จ”

วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร

วิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ เล่าถึงปัญหาที่เด็ก ๆ พบเจอว่าส่วนใหญ่แล้วได้รับผลกระทบจากการขาดอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 โดย ย้ำว่า นโยบายของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ 216 ข้อ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาอยู่แล้ว และพยายามาหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาอุดช่องว่างในระบบการศึกษา แต่เมื่อเทคโนโลยีไปไวก็ยังต้องการให้เด็ก ๆ ก้าวตามให้ทัน จึงอยากเห็นการพิจารณางบประมาณให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการศึกษา

“นโยบายของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ 216 ข้อ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาอยู่แล้ว และพยายาม หาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาอุดช่องว่างในระบบการศึกษา แต่เมื่อเทคโนโลยีไปไวก็ยังต้องการให้เด็ก ๆ ก้าวตามให้ทัน จึงอยากเห็นการพิจารณางบประมาณให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการศึกษา

วิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์

ณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ 15 ปี กำหนดให้เด็กได้เรียนจนจบระดับชั้น ม.3 มีงบประมาณอัดฉีดดูแลเด็กตั้งแต่อนุบาล จนถึงประถมศึกษา ตัวอย่างเช่น ในเขตหนองจอกมีโรงเรียนในสังกัด กทม. 37 โรงเรียน แต่มีโรงเรียนขยายโอกาสเพียง 7 โรงเรียน เป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา เพราะต้องย้ายที่เรียนไปไกลบ้าน มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทั้งค่าเดินทาง และค่าเล่าเรียน จึงมีข้อเสนอให้เพิ่มโรงเรียนขยายโอกาสในสังกัด กทม.เพิ่มเติมโดยดูตามบริบทของพื้นที่แต่ละเขตเป็นสำคัญ อีกทั้งการศึกษาภาคบังคับเด็กจบในวัย 15 ปี ยังไม่สามารถหางานทำได้ทันที ควรมีโรงเรียนขยายโอกาสทุกเขต ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง

เขตหนองจอก มีโรงเรียนในสังกัด กทม. 37 โรงเรียน แต่มีโรงเรียนขยายโอกาสเพียง 7 โรงเรียน

สภา กทม. มองเห็นปัญหาว่า การศึกษาภาคบังคับ 15 ปี เด็กจบออกมาทำไม่ได้ แต่ถ้าขยายโอกาสถึง ม.6 จะทำงนได้ทันที เสนอเพิ่มโรงเรียนขยายโอกาสในทุกเขต ป้องกันเด็กหลุดระบบการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง

ณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก พรรคพลังประชารัฐ

ณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล เห็นตรงกันว่าควรมีโรงเรียนขยายโอกาสใน กทม.เพิ่มขึ้น และปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น งบการอบรมบุคลากร กิจกรรมทัศนศึกษา เปลี่ยนมาสนับสนุนแก้ปัญหาการเรียนการสอน ขณะที่ข้อเสนอเร่งด่วน คือการสร้างหน่วยพิเศษ ตั้งเป็นทีมการศึกษาฉุกเฉิน ให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด

“ถ้าเด็กไม่สามารถเดินทางไป รร.ได้ ทำไมเราไม่จัดทีมฉุกเฉิน เป็นหน่วยพิเศษของ กทม. เข้าถึงประชาชน หากต้องการดูแลเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องดูเลยว่าปัญหาของแต่ละครอบครัวคืออะไร ขณะเดียวกันยังต้องจัดทีมเร่งด่วนเข้าไปช่วยจัดการเรียนการสอนเข้าถึงประชาชน”

ณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล

นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภา กทม. ส.ก.เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย มองว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับการจัดสรรงบประมาณ อาคารเรียน บุคลากร เสนอให้ดูต้นแบบโฮมสคูลต่างประเทศ กำหนดจำนวนนักเรียน และเพิ่มบุคลากรครู เพราะครู กทม.มีน้อย เมื่อสอบเข้ามาแล้วก็กลับไปบรรจุที่บ้านเกิด ส่งผลให้มีบุคลากรไม่เพียงพอ มีข้อเสนอให้เพิ่มบุคลากรครูใน กทม. เพื่อติดตามนักเรียนได้อย่างเต็มที่ และควรมีกฎหมาย หรือข้อบังคับ ให้ผู้ปกครอง มีส่วนรับผิดชอบ ให้เด็กอยู่ในระดับการศึกษาจนจบภาคบังคับ เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายที่จะบังคับให้นักเรียนอยู่ในระบบจนครบ ทำให้ผู้ปกครองไม่ได้ใส่ใจและปล่อยเด็กหลุดระบบได้

นฤนันมนต์ ยังย้ำด้วยว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ณ วันนี้ยังมีหลายภาคส่วนเสนอตัวเข้ามาร่วมช่วยเหลือ เช่น ข้าราชการบำนาญบางส่วนที่ยังคงเข้าไปช่วยสอนดูแลนักเรียน เช่นเดียวกัน หากมีกลไกศูนย์ฉุกเฉินฯ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีข้าราชการบำนาญ เข้ามาช่วยทำประโยชน์ได้ โดยหลังจบการพิจารณางบประมาณ ทีม ส.ก. จะเริ่มช่วยตรวจสอบประเด็นเหล่านี้ทันที

ครู กทม. มีน้อย เสนอให้กำหนดจำนวนนักเรียน และเพิ่มบุคลากรครู เพื่อติดตามนักเรียนได้อย่างเต็มที่ และควรมีกฎหมาย หรือข้อบังคับ ให้ผู้ปกครอง มีส่วนรับผิดชอบ ให้เด็กอยู่ในระดับการศึกษาจนจบภาคบังคับ เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายที่จะบังคับให้นักเรียนอยู่ในระบบจนครบ

และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงศักยภาพ ข้าราชการบำนาญ ที่มีความพร้อมเข้ามาอยู่ในกลไกการช่วยเหลือเด็กใน กทม.”

นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภา กทม. ส.ก.เขตคลองสามวา

ชวัลวิทย์ บุญช่วย คณะทำงานนโยบายพรรคก้าวไกล เล่าว่า ได้ลงพื้นที่และเห็นสภาพของโรงเรียนที่แม้จะตั้งอยู่ในเขตเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันอย่างมาก บางแห่งโรงเรียนเป็นอาคารเก่า ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ จึงอยากเน้นไปที่ทุนการศึกษาเพื่อรองรับนักเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษา เมื่อไม่สามารถสร้างโรงเรียนขยายโอกาสได้ทุกเขต ก็ควรส่งเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ได้ ไม่ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ผลักเด็กให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการเพิ่มความกดดัน สอบแข่งขัน ส่วนตัวมองว่า การปรับแนวคิดจึงสำคัญไม่แพ้เรื่องการปรับงบประมาณ หรือการให้ทุน อีกทั้ง สภา กทม. มีคณะกรรมการสามัญ คณะกรรมการการศึกษาของสภาฯ อยู่ร่วมแล้ว หากได้ร่วมมือกับ กสศ. และได้ฐานข้อมูลจำนวนเด็กทั้งหมดแล้ว น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้มากขึ้น

“โรงเรียนอยู่ในเขตเดียวกัน แต่มีสภาพอาคารต่างกันมากสะท้อนความเหลื่อมล้ำใน กทม.

หากเรายังไม่สามารถสร้างโรงเรียนขยายโอกาสได้ทุกเขต ควรส่งเด็กเข้าระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ได้ ผมมองว่า การปรับแนวคิดไม่ให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ผลักเด็กออกจากระบบการศึกษา สำคัญไม่แพ้เรื่องการปรับงบประมาณ หรือการให้ทุน”

ชวัลวิทย์ บุญช่วย คณะทำงานนโยบายพรรคก้าวไกล

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน