เมื่อต้องคุยกับคนแปลกหน้าที่เห็นต่างกัน?

ฟัง “คนต่าง” ฟัง “ความต่าง” | The Listening

อีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะดีกว่านี้ ใช่หรือไม่? หนึ่งในคำถามชวนแลกเปลี่ยนกันของคนแปลกหน้า

ไม่ว่าบริบทของประเทศในเวลานี้จะเป็นอย่างไร แต่เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงในอีก 5 ปีข้างหน้า มีมากมายจนนับไม่ถ้วน ในความเหมือนของคำตอบว่า “ดีกว่า” หรือ “แย่กว่า” เหตุผลของแต่ละคนก็อาจตอบจากเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ในความเหมือนมีความต่าง ขณะที่หลาย ๆ ความต่างย่อมมีความเหมือน…นี่คือสิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks ครั้งแรกเมื่อปี 2564 บอกกับเรา

แม้สังคมไทยวันนี้ เราพูดถึง “ความเห็นต่าง” กันมากขึ้น แต่มีไม่มากนัก ที่บรรยากาศของครอบครัว เพื่อนฝูง หรือที่ทำงาน จะเอื้อให้เราคุยกับคนที่คิดต่างจากเรา บางคนไม่เชื่อว่าบรรยากาศเหล่านั้นคือพื้นที่ที่ปลอดภัยเพียงพอ

The Active รวบรวมบทสัมภาษณ์ 6 คนเห็นต่างที่เคยเข้าร่วม Thailand Talks 2021, 3 สื่อมวลชน ที่พร้อมสนับสนุนการคุยกันของคนเห็นต่าง, 1 ตัวแทนผู้จัดกิจกรรม เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้คุย และอีก 1 นักวิชาการที่ช่วยให้คำนิยามและความเป็นไปได้ของการคุยกันระหว่างคนแปลกหน้าที่เห็นต่างกัน


“อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าคนแปลกหน้า ผมคิดเรื่องนี้อยู่พอสมควร อย่างง่ายที่สุด, คนแปลกหน้าคือตัวคนที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ได้ แต่ถ้าคิดไปมากกว่านั้น บางทีคนแปลกหน้า เป็นอาการลักษณะ ภาวะบางอย่างที่เราไม่คุ้นเคย แปลกไปจากสิ่งที่เรารับรู้ ดังนั้น คนที่เราเคยเจอหรือไม่เคยเจอ ในบางทีอาจจะมีมุมที่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเราได้“

“บทสนทนานั้นน่าจะต้องเริ่มจากคนสองคน ใคร คนใด คนหนึ่งต้องเริ่มก่อน…ความเงียบก็เป็นเรื่องปกติ สุดท้ายมันไม่เงียบไปตลอด

พิสูจน์งานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าคนต่างขั้วสุด ๆ ไม่ได้แตกต่างทางความคิดขนาดนั้น แต่เราแตกต่างกันที่อคติ เราจะรู้สึกว่าคนอีกขั้วตรงข้าม จะต้องต่างกับเราตรงกันข้ามเลย แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่เราคิด”

“แรก ๆ คุยกับคนที่เห็นต่างกันมาก ๆ ผมอึดอัดนะ ต้องจิกเบาะตลอด ผมเข้าไปสบถในห้องน้ำ หยาบคาย เพราะทนไม่ไหว ไม่เข้าใจว่าเขาคิดแบบนั้นได้ไง แต่ในกระบวนการมีข้อแม้ว่าเราต้องฟัง ก็อดทนฟังต่อไป ทุกวันก็ฟังไปเรื่อย ๆ ฝึกไปจนวันสุดท้ายเรารู้สึกว่าเออ…มันแปลก

เพราะผมรู้สึกดี อยากจะคุยกับคนที่ทำให้ผมอึดอัดตลอดหลายวันที่ผ่านมา”

“ข้อเสียคือคนอาวุโสกว่าจะมองว่าเด็กไม่ได้เรื่อง ไม่มีความคิด ปัญหาที่ตามมาคือคนรุ่นก่อนพยายามยัดเยียดความคิดของเขาให้เด็กรุ่นใหม่ แทนที่จะรับฟังความคิดเห็นเขาด้วย…

ส่วนคนรุ่นใหม่คุยอยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง ใครเห็นต่างก็ไม่ใช่พวก อย่างคนรุ่นผม ก็กลายเป็นสลิ่ม

ความต่างเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ที่เกิดปัญหาเพราะคิดว่าตัวเองถูก คนอื่นผิด ผมเชื่อว่าในความต่างมันไม่ต่างกันโดยสิ้นเชิง”

“ช่วงหลังพยายามให้พื้นที่กับคนที่เชื่ออีกแบบหนึ่ง ที่อาจจะไม่ตรงกับ The MATTER ได้มาสื่อสารว่าทำไมเขาเชื่อสิ่งนั้น เราอาจไม่ซื้อความคิดคุณนะ แต่เราให้พื้นที่คุณในการพูด เช่น ส.ว. แต่งตั้งบางคน คนสนับสนุนการรัฐประหารบางคน…

แต่ทั้งหมดต้องผ่านการออกแบบ นำให้ไปสู่การถกเถียงประเด็น มากกว่าเรื่องตัวบุคคล”

“อย่างแรกเราต้องเห็นร่วมกันก่อน ว่าสื่อทำงานรับใช้ประชาชน จุดยืนของคุณจะยืนอยู่ฝั่งไหน เป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ทุกคนคิดเหมือนกันไม่ได้ เชื่อว่า ถ้าเราเห็นตรงนี้ร่วมกัน เราทำงานด้วยกันได้ เราคุยกันได้…นี่เบอร์ผม 08x xxx xxxx โทรมาได้เลย”

“ผมคิดว่าคนไทยยังขาดเรื่องการฟังอย่างไม่ตัดสิน เราอาจจะไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ การฟังเพื่อเข้าใจวิธีคิดของอีกฝ่าย เราไม่จำเป็นต้องให้เขาคิดเหมือนเราก็ได้ แต่เขาควรจะมีข้อมูลที่หลากหลาย”

“เราชอบชุดคำถามของ Thailand Talks มันเป็นคำถามปลายเปิดที่ชวน dialogue สำหรับคนที่เปิดใจอยากคุยกับคนเห็นต่าง สำคัญคือการได้ทำความรู้จักความคิดคนเห็นต่าง มันเป็นสะพานและสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจ…

เราอยากคุยเรื่องที่นำไปสู่การคุยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง”

“ผมรู้ว่าคุยกับผู้ใหญ่เรายิ่งปะทะเขาแรง เขายิ่งไม่ยอม เขาร้อนมาเราต้องเย็นใส่ เพราะเขาเห็นเราเป็นลูกเป็นหลานเป็นเด็ก พูดยังไงเขาก็ไม่ฟังเราหรอก ต่อให้มีเหตุผลแบบไอสไตน์เขาก็ไม่ฟัง ผมก็เลยนิ่งรับฟัง เขาพูดอะไรมาผมก็ฟัง ไม่เถียง ฟังอย่างเดียว พอเขาเย็นลงผมก็ค่อยอธิบาย

ข้อดีของการคุยกับครอบครัวคือ ต่อให้ทะเลาะกันยังไง รุนแรงแค่ไหน เขาก็ไม่ทิ้งเราหรอกครับ ผมถึงคุยกับคนในครอบครัวทุกเรื่อง เรากลับมาดีกันได้เสมอ ผมสนิทกับแม่มาก คุยปรึกษากันทุกเรื่องตั้งแต่เด็ก กับแฟน เขาไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง แต่ผมก็เล่าให้เขาฟังเรื่อย ๆ เพราะเรื่องการเมืองมันมีผลย้อนกลับมาที่การใช้ชีวิตของเราเสมอ ตอนนี้เขาก็เริ่มสนใจบ้างแล้ว”

“หลังการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำครั้งแรกที่แยกปทุมวัน รู้สึกว่ามันมีอะไรที่ทำให้คนที่ปกติเป็นคนน่ารักสำหรับทุกคน พร้อมจะมองคนอื่นที่มีความเชื่อทางการเมืองต่างกัน เป็นศัตรู ที่เขามีความชอบธรรมในการทำร้ายและทำลาย

เราอยากเข้าใจในระดับปัจเจก ว่ามีกิจกรรมอะไรที่พาให้เราไปคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา โดยที่ไม่นำมาซึ่งผลกระทบแบบมองหน้ากันไม่ติด หรืออะไรก็ตาม”

“ผมมักจะบอกทีมว่า แม้คุณจะมีวัฒนธรรมหลากหลายแตกต่าง แต่การทำงานต้องยึดหลักเกณฑ์ขององค์กรเป็นหลัก เรื่องค่านิยมของตัวเองเป็นรอง ควรจะมีไม้บรรทัดอันเดียว เมื่อเรายึดกติกาของบริษัทเป็นหลัก การทำงานในบริษัทก็จะราบรื่น ทุกคนทำงานด้วยกันได้ด้วยหลักการอันเดียวกัน ถ้าใครบอกว่าทำไม่ได้ คน ๆ นั้นไม่เหมาะกับบริษัท

ในทีมเล็ก ๆ ก็มีความต่าง ทุกที่มีความต่าง ในหมู่บ้านก็ยึดหลักหมู่บ้าน ประเทศก็มีกฎหมายของแต่ละประเทศเหมือนกัน”


  • The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening
Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

1. ตอบคำถาม จำนวน 7 ข้อ

2. ยืนยันการสมัคร ผ่านทางอีเมล

3. รอรับผลการจับคู่ ภายในวันที่ 16 กันยายน

4. ยืนยันการพบคู่ ภายในวันที่ 19 กันยายน

5. แล้วพบกันในงาน Thailand Talks วันเสาร์ ที่ 24 กันยายน 2022!

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active