“เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โจทย์ยากการคลังประเทศ

เมื่อความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว 
ต้องแลกกับความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย 

ปิดฉากการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบ “ถ้วนหน้า” ที่ดำเนินมากว่า 14 ปี หลังหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่เผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 ส.ค. 2566 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” 

ย้อนกลับเมือช่วงปี 2564-2565 มีกรณีข่าวเรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุหลายราย หนึ่งนั้นคือ “ยายบวน” บวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี เป็นชาวบ้านใน ต.เจริญสุข  อ.เฉลิมพระเกียรติจ.บุรีรัมย์ แจ้งว่ากรมบัญชีกลางมีหนังสือเรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืนรวมดอกเบี้ย เป็นเงินจำนวน 84,000 บาท เนื่องจากได้รับบำนาญ กรณีลูกชายเป็นทหารเสียชีวิตจากเหตุคลังแสงระเบิด ที่สุดแล้วยายบวนต้องคืนเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ “ยายบวน” เพียงคนเดียว แต่เกิดทั้งประเทศ มีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุนับหมื่นราย หลังจากกระทรวงการคลังพบว่ามีการรับสิทธิทับซ้อนกับเงินบำนาญส่วนอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ โดยเป็นการเรียกคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2552 บางรายต้องนำส่งคืนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน

กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงทำหนังสือสอบถามปัญหากฎหมายไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 ประเด็น 1.ขอหารือว่าผู้สูงอายุจะรับสิทธิ์ประโยนช์จากหน่วยงานของรัฐมากกว่า หนึ่งทางได้หรือไม่ 2. ถ้าผู้สูงอายุรับสิทธิประโยชน์ได้หลายทาง เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เรียกคืนมาจะทำอย่างไร และ  3.การรับสิทธิประโยชน์หลายทาง จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ จ่ายอย่างไร  

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นหนังสือลงวันที่ 17 พ.ค. ​2564 ว่า 1.ผู้สูงอายุมีสิทธิ์รับประโยชน์ได้หลายทาง 2.ให้คืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุที่เรียกคืนมาโอนกลับที่ไปเจ้าตัวได้ และ 3.ตอบไปแล้วในข้อที่ 1 

หากดูตามนี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่นอกเหนือคำตอบ 3 ข้อ มีข้อเสนอแนะ ที่ระบุว่า …

อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรรีบดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ โดยเงื่อนไขในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพนั้น จะต้องจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งการพิจารณาว่ารายได้จำนวนเท่าใดจะถือว่าไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลของสรรพากร หรือจำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนจากฐานข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสอดคล้องกับมาตรา 48 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ 

กรมกิจการผู้สูงอายุ ก็สำเนาและส่งหนังสือเวียน ไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ตอบรับทันที มานำสู่การแก้ระเบียบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในที่สุด 

ระเบียบข้อนี้ มีผลแล้วนับตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2566 แต่ กรมกิจการผู้สูงอายุ บอกว่าอย่าตกใจ ผู้สูงอายุที่รับสิทธิประโยชน์หลายทาง ยังได้รับเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่ผู้สูงอายุกลุ่มใหม่ อายุ 60 ปีหลังวันที่ 12 ส.ค. 2566 จะเป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาตามระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่ คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพฯ 

สร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “รัชดา ธนาดิเรก” อธิบายการตัดสินใจครั้งนี้แทนรัฐบาลรักษาการว่า ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท ต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้ว ในปีงบประมาณ 2567

ดังนั้นการลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวยเพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว

สอดคล้อง กับการย้อนถามสังคม ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ว่า “ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่”  ตนก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าตนควรได้ไหม ตนมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าตนควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้ จึงย้ำว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ และอยู่ที่รัฐบาลใหม่จะเอาอย่างไร

เช่นเดียวกับ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ธนกร วังบุญคงชนะ” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงการได้รับเบี้ยสูงอายุ ว่า “อย่าพยายามบิดเบือนครับ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลได้เบี้ยสูงอายุด้วยมันยุติธรรมมั้ย? หรือคุณหญิงสุดารัตน์ได้ด้วยยุติธรรมมั้ย? ช่วยตอบหน่อยครับ”

เบี้ยผู้สูงอายุ

ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย คนธรรมดา – ข้าราชการ

หากพิจารณาข้อมูลจากสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบ “งบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” กับ “เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ” ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพฯ ตอนนี้ มีจำนวน 11.03 ล้านคน ใช้เงิน 87,580.10 ล้านบาท ขณะที่ งินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการจำนวน 8.1 แสนคน ใช้เงินสูงถึง 322,790 ล้านบาท 

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าเหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ ไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือ รัฐบาลเจตนานั่งทับไว้ เพราะกลัวว่า คนกลุ่มน้อยที่กอบโกยผลประโยชน์บนยอดปีรามิด จะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่าอนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร

เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม แต่ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ

ขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยคนจนผู้สูงอายุเต็มประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเต็มไปด้วยปัญหาสังคมที่เกิดจากคนจนล้นประเทศ หรือ รัฐบาลอยากจะวางรากฐานมั่นคงแข็งแรงให้เป็นสังคมที่ปรองดองและเป็นธรรม.

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์