การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งเสริมให้สถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ลดลง อีกทั้งการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN – Barisan Revolusi Nasional) ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่มีอิทธิพลมากที่สุดในพื้นที่ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ทำให้สถิติการก่อเหตุรุนแรงในช่วงล็อกดาวน์ 3 เดือนแรก ลดลงเป็นอย่างมาก
แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขต้องหยุดชะงักไปด้วย ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีระยะยาว ไม่เช่นนั้นหลังโรคระบาดสงบลง เหตุการณ์ความไม่สงบอาจลุกลามและขยายตัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้นและดูเหมือนสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้เริ่มทรงตัว ดังนั้น ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 คณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขในระดับพื้นที่จึงเคลื่อนไหวเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้นำเสนอความเห็นอีกครั้ง เพื่อชิงความก้าวหน้าจากฝ่ายตรงข้าม และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 24 องค์กรเครือข่ายด้านวิชาการและภาคประชาสังคมร่วมกันแถลงผลสำรวจ “Peace Survey” ครั้งที่ 6 ที่มีใจความสำคัญ เช่น ไม่เห็นด้วยงดละหมาดในมัสยิดช่วงโควิด มองไม่เห็นความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติสุข แต่ยังหวังว่าความรุนแรงชายแดนใต้จะลดลง นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น อีกทั้งให้มีพื้นที่ปลอดภัย หยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์
ห้วงยามที่คณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขยังให้ความสำคัญกับความเห็นของภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงและแสวงหาหนทางอยู่ร่วมกันในอนาคต และยังมีคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ สิระ เจนจาคะ เป็นประธานลงไปติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ช่วงวันที่ 20 – 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
The Active เปิดรายงาน “สถานการณ์เด็กเยาวชนและผู้หญิงชายแดนใต้” ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทย ที่ไม่ได้เปิดเผยวงกว้างนัก เพราะเป็นรายงานสำรวจประเด็นปัญหาที่มีต่อเด็ก เยาวชน และผู้หญิงในพื้นที่ความมั่นคง “เป็นการเจาะจง” เพื่อสะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังกว่า 17 ปี ตามแนวคิดของ “มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านสตรีและกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ซึ่งไทยในฐานะรัฐภาคีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW)โดยระทรวงการต่างประเทศต้องนำไปเสนอในเวทีระหว่างประเทศที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
วิกฤตความรุนแรงและข้อเสนอพื้นที่ปลอดภัย
ในรายงาน “สถานการณ์เด็กเยาวชนและผู้หญิงชายแดนใต้” ฉบับนี้ คณะทำงานที่ร่วมกันเขียนได้แถลงเปิดประเด็นก่อนว่า กระทรวงการต่างประเทศ ประสบความสำเร็จในการ “ถอดชื่อประเทศไทย” ทั้งชี้แจงและทำความเข้าใจต่อนานาชาติว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหา แม้จะ ‘ไม่’ นิยามสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “ความขัดแย้งทางอาวุธ” (Armed Conflict) ดังรายงานผลการดำเนินการไตรมาส 3 ประจำปี 2564 ของกลุ่มงานความมั่นคงระหว่างประเทศ สำนักนโยบายแลแผน ที่ถูกระบุไว้ในรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเด็กและการขัดกันทางอาวุธ (Children and Armed Conflict – CAAC) ประจำปี 2021 ที่เผยแพร่โดยผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ
ที่กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นฉบับแรกของประเทศไทยที่ไม่ได้เปิดเผยกว้างนัก เพราะว่ารายงานฉบับนี้สะท้อนการทำงานของ “ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ (ศป.ดส.) ที่ถูกจัดตั้งตามคำสั่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 และกว่าจะได้รายงานฉบับนี้ ต้องผ่านการพูดคุยจากที่ปรึกษา 12 คน และคณะกรรมการ 28 คน ที่มาจากองค์กรศาสนา หน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ สถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มี ‘โซรยา จามจุรี’ แกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม และคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เป็นประธานคณะกรรมการ ศป.ดส. คนแรก และ ‘ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ’ จากสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ร่วมเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ (ศป.ดส.) เป็นหน่วยงานกลไกอนุวัติการตาม “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” มีที่มาจากปี 2543 สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Security Council: UNSC) ผ่านมติ 1325 ว่าด้วยผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง (Woman, Peace and Security: WPS) อย่างเป็นเอกฉันท์ เพื่อกำหนดแนวนโยบายและดำเนินการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัวและการถูกข่มขืน เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการฟื้นฟู เยียวยา มีส่วนในกระบวนการยุติธรรม การเมือง และการสืบหาความจริง
ในส่วนของประเทศไทย, 5 กันยายน 2555 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย ต่อมา 15 ตุลาคม 2558 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ UN WOMEN (องค์การเพื่อผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้หญิง และตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงจากภาคประชาสังคมได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย โดยมี ดร. สายสุรี จุติกุล ที่ปรึกษาและอนุกรรมการด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยให้ข้อคิดเห็นร่วมกับตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ สาระสำคัญ คือ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นความสำคัญของมติ 1325 และมติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดทิศทางการนำมติ 1325 มาใช้ในประเทศไทยต่อไป
นับเป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติ 1325 ในปี 2543 และประเทศไทยเพิ่งจัดทำรายงาน “สถานการณ์เด็กเยาวชนและผู้หญิงชายแดนใต้” เป็นผลสำเร็จในปี 2564 โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
ในแง่ของจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง ข้อมูลจากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 4 ปีแรกระหว่างปี 2547-2560 จำนวนสถานความรุนแรงมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ช่วงระยะหลังนับจากปี 2555 เป็นต้นมาจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความสืบเนื่องของความไม่สงบที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง และพบว่า ตั้งแต่มีความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่ยืดเยื้อเรื้อรังกินเวลานานมากกว่า 17 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2563 นั้น มีเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 20,847 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บจำนวน 13,466 คน และเสียชีวิตมากถึง 7,021 คน
แม้โดยภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะลดลง แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการการสันติภาพ ครั้งที่ 5 โดย 24 องค์กรวิชาการและภาคประชาสังคม พบว่า คนในพื้นที่ยังรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะสถานการณ์ดูเหมือนสงบนิ่งบางขณะ แต่บางครั้งยังคงมีการใช้ความรุนแรงขยายตัวและมีความเข้มข้น เป็น “ความรุนแรงเชิงคุณภาพ” มากขึ้น เช่น มีการล้อมยิงและเหตุระเบิดที่โรงเรียน การวิสามัญฆาตกรรม การฆาตกรรมพระสงฆ์ และการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยระหว่างถูกควบคุมตัว เป็นต้น บางเหตุการณ์ความรุนแรงที่เหมือนเคยยุติไปแต่อาจกลับมาเกิดขึ้นอีกได้อย่างไม่เป็นแบบแผน
ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นพลเรือน (Soft target) มากกว่ากลุ่มเป้าหมายที่ถืออาวุธ (Hard target) ส่งผลให้ภาคประชาสังคมและประชาชนแสดงความห่วงใยต่อ “พื้นที่ปลอดภัย” บนฐานความต้องการมีชีวิตรอดปลอดภัย เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่สามารถคาดเดาได้
ทั้งนี้ หลังจาก ‘คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้’ (Peace Agenda of Women: PAOW) รณรงค์และยื่นข้อเสนอสู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ระหว่างรัฐไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม ‘มารา ปาตานี’ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ถนน ตลาด สถานศึกษา สถานพยาบาล ศาสนสถาน และบ้านพักอาศัยนั้นลดลงก็จริง แต่ก็ไม่อาจคาดเดาหรือเชื่อมั่นได้ว่าพื้นที่สาธารณะจะปลอดภัยอย่างแท้จริง
ทว่า คุณูปการจากข้อเสนอจาก ‘คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้’ ที่คาดหวังให้ยุติการทำร้ายพลเรือนและสร้างสภาวะแวดล้อมต่อการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ได้ช่วยผ่าทางตันบนโต๊ะการพูดคุยได้หลายครั้ง ทำให้ทั้งภาครัฐและภาควิชาการได้ไปสำรวจว่ารูปแบบของการมี “พื้นที่ปลอดภัย” (Safety Zone) สามารถทำได้กี่แบบบ้าง จนกระทั่งในยุคของ พลเอก อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ข้อยุติร่วมกันในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง 1 อำเภอ และยังต้องติดตามต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขรอบใหม่ ในยุคการนำของ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ยังให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่หรือไม่
รายงานฉบับนี้ ให้ความสำคัญข้อเรียกร้องเพื่อพัฒนา “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม “พื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัย” ทั้งทางกายภาพและทางสังคมของกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ความขัดแย้ง เพราะความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในชุมชนและโรงเรียน และ “พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก” ของเยาวชนและประชาชนที่มีจุดยืนทางการเมืองและอัตลักษณ์ที่หลากหลายในพื้นที่ ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงหากข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยทั้ง 3 รูปแบบได้รับการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติจริง มีศักยภาพที่จะเป็นกลไกสำคัญช่วยลดความสูญเสียและสร้างการมีส่วนร่วม มีเสรีภาพที่จะพัฒนาเติบโตและแสดงออกซึ่งความคิดและตัวตนที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และมีศักดิ์ศรี
ทั้งนี้ รศ.มารค ตามไท อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย ได้ทำงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์และถอดบทเรียนพัฒนาการของกลุ่มที่เคยใช้ความรุนแรงในการต่อต้านรัฐ 4 กรณีศึกษา คือ คาตาลุญญา ประเทศสเปน, ควิเบก ประเทศแคนาดา, สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร และโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น พบว่าจุดร่วมใน 4 กรณีศึกษานี้คือ เมื่อรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ให้พื้นที่การเมืองและมีการถกกันเองภายในอย่างเปิดเผย การเรียกร้องโดยใช้ความรุนแรงก็ค่อย ๆ สลายไป ความรุนแรงที่เหลือคือการแสดงอารมณ์แรงในการถกเถียงกัน
การให้พื้นที่ปลอดภัยในการมีเสรีภาพทางการแสดงความคิดอาจเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญช่วยลดความสูญเสียและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์และยั่งยืนขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็เป็นได้
ชะตากรรมเด็กกำพร้าและข้อท้าทาย
ผลกระทบที่สั่งสมจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง ส่งผลให้มีจำนวนผู้หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าสูงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลาด้วย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ ในช่วงระหว่างปี 2547-2563 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงจำนวน 655 คน และผู้ชายจำนวน 6,526 คน ยิ่งผู้ชายเสียชีวิตมาก ยิ่งเกิดวิกฤตแม่หม้ายเป็นเงาตามตัว และหากแยกตามวัย พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิตจำนวน 271 คน และมีเยาวชน อายุระหว่าง 18-25 ปี เสียชีวิตจำนวน 906 คน
17 ปี สถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 ข้อมูลจาก รายงาน สถานการณ์เด็ก เยาวชน และผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำโดย ศอ.บต. และ ศป.ดส. พบว่า ช่วงปี 2547 – 2560 มีเด็กกำพร้ารวมทั้งสิ้น 6,687 คน แยกย่อยได้ดังนี้
- เด็กกำพร้าในจังหวัดปัตตานี รวม 2,625 คน เป็นเด็กพุทธ 663 คน อิสลาม 2,158 คน
- เด็กกำพร้าจังหวัดยะลา รวม 1,578 คน
- เด็กกำพร้าจังหวัดนราธิวาส รวม 2,245 คน
- เด็กกำพร้าจังหวัดสงขลา 242 คน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ระบุว่า ยังมีเด็กกำพร้านอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีก 747 คนกระจายอยู่ทั่วประเทศจากพ่อแม่ที่มาทำงานในพื้นที่ชั่วคราว หรือพ่อเป็นทหารจากภาคอื่นมาเสียชีวิตจากภารกิจในพื้นที่ เป็นเด็กพุทธ 627 คน และอิสลาม 120 คน
เด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรงจะได้รับการดูแลจากรัฐ เมื่อได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ 3 ฝ่ายในพื้นที่เกิดเหตุ (ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง) หรือที่เรียกว่า “การรับรองสามฝ่าย” เด็กเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือทั้งเงินและทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี ที่ผ่านมา มีรายงานจำนวนสถานการณ์ที่ผ่านการรับรองสามฝ่าย โดยกลุ่มงานเยียวยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) นับตั้งแต่ปี 2547-2564 จำนวน 9,431 ครั้ง และมีผู้เสียหายมากถึง 23,982 คน
จากการทำงานกับเด็กกำพร้ามากกว่า 10 ปี สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ “กลุ่มลูกเหรียง” พบปัญหาที่เด็กกำพร้าเผชิญ ได้แก่ บาดเจ็บทางกาย เจ็บปวดจากการสูญเสียอวัยวะต่าง ๆ เพราะอยู่ในเหตุการณ์ ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียหัวหน้าครอบครัว ทำให้ต้องออกจากเรียนตั้งแต่อายุยยังน้อย เพื่อลดภาระของครอบครัว เด็กบางคนไร้ที่อยู่ ขาดความอบอุ่นเด็กต้องไปอยู่กับญาติพี่น้อง บางคนต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์ เกิดบาดแผลทางจิตใจ เช่น ความรู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว หวาดกลัว หวาดระแวง เก็บตัว รู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดภาวะเครียด หันไปพึ่งพายาเสพติด
เด็กกำพร้าจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ในใจเสมอ รู้สึกโกรธแค้นอยากเอาคืนยังเกิดขึ้นกับเด็กหลายคน รอเวลาที่จะแก้แค้น ถึงแม้ว่ายังไม่รู้วิธีการว่าจะทำอย่างไร กลุ่มลูกเหรียงจึงเสนอว่า นอกจากเงินช่วยเหลือและทุนการศึกษาแล้ว การเยียวยาที่ครอบคลุมถึงพัฒนาการคุณภาพชีวิตเด็ก เช่น การดูแลจิตใจกิจกรรมศิลปะบำบัด การจัดการกับอารมณ์และความเครียด การส่งเสริมทักษะชีวิต เรียนรู้และเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นผู้นำ การฝึกกอาชีพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและช่วยให้เด็กกำพร้าได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อช่วยให้ก้าวพ้นบาดแผลทางจิตใจอันเกิดจากการสูญเสียบิดาและ/หรือมารดา และความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่บันทอดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะเด็กกำพร้าที่มาจากครอบครัวที่ไม่ได้รับการรับรองสามฝ่าย (ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง)
เด็กไม่ได้รับการรับรองสามฝ่ายข้อท้าทายสำคัญ
มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานมูลนิธินูซันดาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่า ในจำนวนเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบจากจำนวนทั้งหมด มีเด็กกำพร้าประมาณ 1,000 กว่าคน ไม่เข้าข่ายการเยียวยาสามฝ่ายโดยรัฐ เพราะเป็นบุตรของผู้เห็นต่างจากรัฐ ในรายงานฉบับนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ตระหนักถึงเงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 และ 14 สิงหาคม 2555
“กรณีเด็กไม่ได้รับการรับรองามฝ่ายจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้ ศอ.บต. จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) ขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างส่วนนี้”
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มงานเสริมสร้างความร่วมมือได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ศอ.บต. เพื่อแสวงหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเด็กในครอบครัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงและกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ซึ่งหนทางเป็นไปได้เบื้องต้น ในขณะที่ยังไม่มีระเบียบการให้การช่วยเหลือโดยตรง คือ การนำกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาจัดสรรช่วยเหลือ เช่น กองทุนคุ้มครองเด็กภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นอกจากนั้น ยังผลักดันให้มีการทบทวนระเบียบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงทุกกลุ่มโดยพิจารณาตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ
ปัญหาตกหล่นเรื่องทุนการศึกษาและความช่วยเหลือครอบครัวไม่เข้าเกณฑ์การรับรองสามฝ่ายดูจะค่อย ๆ คลี่คลายขยับจากการเคยเป็นประเด็นที่ถูกละเลยไปสู่การช่วยเหลืออย่างจำกัด และกำลังก้าวไปสู่การเชื่อมโยงให้มีกลไกรัฐที่เป็นรูปธรรมขึ้น
เด็กและเยาวชนเติบโตในพื้นที่ความรุนแรงอย่างไร
ในรายงาน “สถานการณ์เด็กเยาวชนและผู้หญิงชายแดนใต้” ฉบับนี้ พบผลกระทบที่ส่งผลอีกประการที่น่ากังวลในอนาคตอย่างยิ่ง คือ เด็กและเยาวชนคิดเป็นร้อยละ 43 ของประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา) เป็นเด็กเล็กถึงอายุ 17 ปีจำนวน 720,106 คน หรือคิดเป็น 30% และเยาวชนอายุ 18-25 ปี จำนวน 305,233 คน หรือคิดเป็น 13% ที่เติบโตและใช้ชีวิตในพื้นที่เสี่ยงความรุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่เลือกเวลาและสถานที่ เด็กและเยาวชนจึงอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตหรือพิการขึ้นได้
กัลยา ดาราหะ ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ให้เห็นว่า การอาศัยอยู่ในพื้นที่ความรุนแรงเด็กอาจต้องเผชิญในสิ่งที่ไม่คาดฝัน เช่น เหตุการณ์เด็กนักเรียน 4 คนเห็นครูถูกยิงต่อหน้า หรือเหตุการณ์ที่เด็กเห็นแม่ของตนเองถูกชายเอาปืนจ่อศีรษะในบ้านของตนเอง เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างรุนแรง นักจิตวิทยาในพื้นที่ประมาณว่าบาดแผลทางจิตใจที่เป็นประจักษ์พยานความรุนแรงซึ่งหน้านี้อาจต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะผ่านพ้นไปได้
ในรายงานฉบับนี้ มีปัญหาที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและผู้หญิง 3 ประการที่เป็นข้อท้าทาย คือ
(1) เด็กกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ความรุนแรง:
ในปัจจุบันพบว่าผู้เป็นแนวร่วมจำนวนหนึ่งคือเยาวชนที่เติบโตมาในพื้นที่ในสภาพกดดันรู้สึกว่าตนเองและกลุ่มของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ปรากฏให้เห็นขึ้นเป็นระยะซึ่งอาจมีผลต่อพลวัตและเงื่อนไขใหม่ต่อสถานการณ์ในพื้นที่ในอนาคต ในขณะที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างครอบคลุมถึงจำนวนเด็กและลักษณะการมีส่วนร่วมกับแนวร่วม รวมทั้งไม่มีมาตรการคุ้มครองป้องกันการเข้าร่วมของเด็ก และขาดมาตรการรองรับที่จะช่วยให้เด็กที่เคยเข้าร่วมเป็นแนวร่วมหวนคืนสู่ครอบครัวและชุมชนเดิมหากพวกเขาเปลี่ยนใจ
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พยายามเกาะติดปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ในบันทึกภาคสนามของกลุ่มด้วยใจความระบุว่า “มีหลักฐานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปะทะและวิสามัญฆาตกรรมระหว่างปี 2560-2563 มีอายุระหว่าง 22-45 ปี ในจำนวนนี้มีเยาวชนเสียชีวิตจากการวิสามัญฯ 3 คน อายุของผู้เสียชีวิตเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเติบโตมาท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงด้วยอายุเพียง 9-15 ปี” และตั้งข้อสังเกตว่าการขัดเกลาในครอบครัวชุมชนส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าสู่แนวร่วมและการมีส่วนร่วมของเยาวชนยังได้รับความยอมรับและเป็นความภาคภูมิใจ แม้จะต้องเสียใจกับการจากไปก่อนวัยอันควรของลูกชาย แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวทุกชุมชนจะเห็นไปในทางเดียวกัน
ในส่วนภาครัฐ ด้วยประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการบรรจุเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้เป็นสมาชิกในชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งในทางวิชาการถือว่าเป็นการจัดตั้งพลเรือนติดอาวุธโดยรัฐ แต่กรณีนี้ก็ยังไม่ได้มีการป้องปรามในทางกฎหมายที่จะเอาผิดทางอาญาได้ หากมีผู้ฝ่าฝืน
(2) การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2521 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้สถานการณ์ไม่ขยายไปสู่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และให้ผู้ต้องหาความมั่นคงมอบตัว ทว่าในข้อเท็จจริงกลับส่งผลทั้งในเชิงบวกและลบ ผลกระทบส่วนหนึ่งอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่มีผลต่อเยาวชนชายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยถูกคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ บ้างสูญเสียโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ บ้างขาดเสรีภาพในการเดินทางและเลือกประกอบอาชีพ เพราะการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ
เนื่องจากเยาวชนถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่แนวร่วม จึงมักจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ การตรวจและเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) จึงเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสอบสวนที่ถูกนำมาใช้และอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงานในสถานการณ์นั้น ๆ แต่ในปัจจุบันผู้ถูกตรวจเก็บยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของตนที่สามารถปฏิเสธการถูกตรวจเก็บดีเอ็นเอ มาตรการนี้จึงยังถูกตั้งคำถามจากหน่วยงานด้านส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่ให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว
ผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในงานด้านความมั่นคง ส่งผลต่อสุขภาวะของครอบครัวที่มีสมาชิกถูกบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์และบทบาทในครอบครัวที่ต้องเปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน สมาชิกในครอบครัวต้องรับมือกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับสมาชิกอื่น ๆ ในชุมชน รวมทั้งการที่ภรรยาและพี่น้องที่เป็นผู้หญิงของผู้ต้องสงสัยถูกเชิญตัวไปซักถาม อันส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่ต้องหมายจับโดยตรง และสมาชิกในครอบครัวก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งไม่มีมาตรการชัดเจนในการเข้าช่วยเหลือเยียวยากับสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีความ
(3) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านเด็กและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องด้วยความเปราะบางที่มีอยู่ก่อนหน้าวิกฤตนี้ ผู้หญิงต้องรับผิดชอบครอบครัวมีความยากจนและยากลำบากยิ่งขึ้น ครอบครัวขาดรายได้และไม่สามารถประกอบอาชีพส่งผลต่อคุณภาพการดูแลเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาภาวะอดยาก ความพิการ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ภาพรวมการเข้ารับการศึกษาของเด็กในระดับประถมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราสูงก็จริง แต่อัตราการเรียนจนจบประถมและเรียนต่อระดับมัธยมต้นและปลายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11 สงขลา เมื่อปี 2563 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเป็นหนี้ของครัวเรือนโดยเฉลี่ย จังหวัดปัตตานี 7,425 บาทต่อครัวเรือน ยะลา 3,754 บาทต่อครัวเรือน และนราธิวาส 114 บาทต่อครัวเรือน แม้จะมีนโยบายอุดหนุนการศึกษาแต่ยังมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้รับการอุดหนุนที่ครอบครัวต้องรับผิดชอบอยู่
ในการเรียนออนไลน์ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่าหลายครอบครัวต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนของบุตรหลาน ขณะเดียวกันก็มีครอบครัวที่ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ได้เพียงพอต่อจำนวนของบุตรหลานที่เรียกต่างช่วงชั้น
และคาดการณ์ว่าในสถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและกักตัวเพื่อระงับการแพร่เชื้อ ส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเด็กและสตรีของแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทที่มีความท้าทายของการแพร่ระบาดโควิด-19
ชะตากรรมผู้หญิงหม้ายจากความรุนแรง
ความรุนแรงจากเหตุความไม่สงบส่งผลให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งสูญเสียสามีและกลายเป็นหม้ายมีจำนวนมากขึ้นกว่าปกติอย่างมาก ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในช่วงระหว่างมกราคม 2547 – ธันวาคม 2563 มีหญิงหม้ายจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ จำนวน 3,132 คน แบ่งเป็นจังหวัดนราธิวาส 848 คน ปัตตานี 1,238 คน ยะลา 917 คน และสงขลา 129 คน
หญิงหม้ายต้องประสบทั้งความรุนแรงทางตรง ทางโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ทุกภาคส่วนต่างควรให้ความใส่ใจ เช่น (ก) ปัญหาการเยียวยาในแง่ของระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ มีความซ้ำซ้อน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้ผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่มรู้สึกถูกลิดรอนสิทธิและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ (ข) ด้านจิตใจ พบว่าหลังประสบกับความสูญเสียและต้องเปลี่ยนบทบาทมานำครอบครัวเป็นหลักให้ลูกที่สูญเสียพ่อ โดยเฉลี่ยหญิงหม้ายใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการฟื้นฟูยอมรับความสูญเสีย ในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเธอใช้ความว่างเปล่าในการเลี้ยงดูลูกกำพร้า
(ค) ด้านเศรษฐกิจ ทันที่ที่สามีเสียชีวิตลง ผู้หญิงกลุ่มนี้ต้องปรับตัวดูแลเศรษฐกิจของครอบครัวแทนสามี ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) สำรวจความต้องการของหญิงหม้าย ตั้งแต่ปี 2555 พบว่าผู้หญิงให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจสูงเป็นลำดับต้น เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพื้นคืนชีวิตใหม่ ที่ผ่านมา หญิงหม้ายได้สร้างกลุ่มและมีโอกาสได้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพด้วยศักยภาพที่พัฒนาขึ้นมา เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นหลักชีวิตที่เข็มแข็งของตนเองและลูก ๆ นอกจากนี้ การรวมกลุ่มกันของหญิงหม้ายเป็น “พื้นที่ปะชุนความสัมพันธ์” ทางสังคมและเป็นหนึ่งในการก่อรูปของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและเครือข่ายผู้หญิงอีกด้วย
ข้อมูลสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ณ ธันวาคม 2563 พบว่า หญิงหม้ายมีอาชีพรับจ้างมากที่สุด 1,008 คน รองลงมาเป็นแม่บ้าน 875 คน เป็นเกษตรกร 628 คน ค้าขาย 297 คน รับข้าราชการ 245 คน ทำอาชีพอิสระ 75 คน
(ง) ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม การเป็นหญิงหม้ายทำให้เสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ เช่น การถุกพูดจาเกี้ยวพาราสีและถูกเนื้อต้องตัว งานวิจัยเรื่อง “การเป็น ‘หญิงหม้าย’ กับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมและโครงสร้างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” พบว่า หญิงหม้ายจำนวนหนึ่งรู้สึกกดดันเมื่อไม่มีคู่ จึงหาทางออกด้วยการสร้างกลไกต่อรองทางสังคมขึ้นมาด้วยการตัดสินใจแต่งงานใหม่ ซึ่งมักจะแต่งในฐานะภรรยาที่สองหรือสาม
การแต่งงานใหม่ของหลายคนต้องประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางจิตใจและทางกายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความกลัวว่าลูกสาวที่ติดมาจะถูกล่วงละเมิด การถูกสามีข่มขู่ว่าจะเลิก การใช้ความรุนแรงทางกายเพราะต้องการรีดไถเงินไปซื้อสิ่งเสพติด หรือผู้ชายบางคนมาแต่งงานด้วยเพราะหวังเงินเยียวยาจากหญิงหม้าย ไม่ได้แต่งด้วยความรัก รวมทั้งการดูถูกด้อยค่าในฐานะภรรยาลำดับสองหรือสามว่าเป็นภรรยาน้อย สามีบางคนเลือกที่จะปกปิดภรรยาคนที่หนึ่งไม่ได้รู้ว่าตนได้นิกาห์กับหญิงหม้าย ทำให้หญิงหม้ายที่แต่งงานใหม่ในสถานการณ์นี้ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลทางจิตใจและความเป็นอยู่ เพราะเมื่อภรรยาที่หนึ่งรู้ สามีก็เลือกที่จะขอหย่าจากภรรยาที่แต่งมาใหม่ เป็นการแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอด
ความกดดันเหล่านี้ ทำให้หญิงหม้ายจำนวนหนึ่งต้องแยกทางกับสามีใหม่ ที่พึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ต้องการหย่าคืออิหม่ามหรือผู้นำศาสนา และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างอำนาจและบทบาทตาม พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ที่ไม่มีกฎหมายรองรับทำให้อิหม่ามหรือผู้นำศาสนาไม่สามารถเรียกคู่กรณีและหลักฐาน ส่งผลให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิคุ้มครองในทางปฏิบัติ
หากกลไกในส่วนนี้ได้รับการแก้ไขให้มีอำนาจหน้าที่จะทำให้การเอื้ออำนวยให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเข้าถึงได้และให้ความเป็นธรรมกับหญิงหม้ายที่มีความทับซ้อนของปัญหานี้ได้จะมีส่วนช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้หญิงกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่ที่ถูกกดทับด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเช่นเดียวกันในวงกว้างได้ด้วย
ความก้าวหน้า: องค์กรศาสนาและรัฐช่วยดูแลผู้หญิงและเด็กอย่างไร
ความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการปรับตัวและวัสัยทัศน์ของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และเศรษฐกิจมีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ ประกอบกับความร่วมมือของผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ได้สร้างความเสมอภาคของเด็กและสตรีในพื้นที่อย่างน้อย 6 ด้าน เช่น
1. องค์กรศาสนาช่วยคุ้มครองปกป้องสิทธิเด็กและผู้หญิง: โดยออกระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 เพื่อป้องกันการแต่งงานวัยเด็ก ทั้งนี้ถ้ามีความจำเป็นต้องแต่งจริง จะต้องได้รับการรับรองจากศาลหรือดาโต๊ะยุติธรรม หรือมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองด้วย ทั้งนี้ รายงานสถานการเด็กและสตรีใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่าการแต่งงานในวัยเด็กอายุช่วง 15-19 ปี ในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุด คือ ร้อยละ 10.1 รองลงมา ปัตตานีคิดเป็นร้อยละ 5.8 ยะลาร้อยละ 2.3 ตามลำดับ รายงานฉบับนี้ระบุว่า “ในภาพรวมการแต่งงานในวัยเด็กลดจำนวนลงอย่างมากในรอบ 10 ปี”
ในชุมชนมุสลิมยังมีวิธีการป้องกันปัญหาการแต่งงานวัยเด็กโดยอาศัยการปกครองระดับชุมชนในบางพื้นที่มีการประกาศใช้กฎสังคม หรือกฏชุมชนร่วมกัน ที่เรียกว่า “ฮูกมปากัต” เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางศีลธรรมของวัยรุ่นชาย-หญิง เพราะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสถือว่าเป็นบาปใหญ่
แต่บางชุมชนใช้กฏ “ฮูกมปากัต” นี้เข้มข้นเพียงพบว่าเด็กเยาวชนชายหญิงพบปะพูดคุยตามลำพัง บางกรณีพบว่าทั้งเด็ก เยาวชนและผู้ปกครองต่างไม่ยินยอมพร้อมใจทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา คือการหย่าร้างและแม่วัยใส อังคณา นีละไพจิตร เห็นว่า การบังคับแต่งงานนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิในการเลือกคู่สมรส ซึ่งกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดก พ.ศ.2489 ซึ่งใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการสมรส การสิ้นสุดการสมรส และการจัดการทรัพย์มรดก แต่ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดในการบังคับให้หญิง หรือเด็กผู้หญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง “ศูนย์ปรึกษาเสริมพลังหญิง” ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและยะลา เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว
2. ภาครัฐกับการคุ้มครองสิทธิเด็ก ได้แก่ การระบุให้มีวิธีปฏิบัติต่อบุคคลต้องสงสัยกรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนในระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพื่อการคุ้มครองเด็ก และการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอันเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการของชุมชน
3. มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำหรับเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ “การบูรณาการเพศสภาพ” เข้าสู่นโยบายด้านสันติภาพและความมั่นคงเพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรีและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
4. ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ (ศป.ดส.) เป็นกลไกที่ตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวง พม. อนุวัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีอย่างมีประสิทธิผล
5. เครือข่ายเพื่อการคุ้มครองปกป้องสิทธิเด็กเพื่อผลักดันนโยบายและส่งเสริมการสร้างกลไกในระดับโรงเรียนและชุมชน ให้มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพในการปกป้องเด็กจากความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งในบ้านและในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมยุติธรรม มีโอกาสพัฒนาศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอนาคตของตน
6. การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะและในระดับการตัดสินใจทั้งในภาคความมั่นคง ภาคการเมือง และภาคประชาสังคม ผู้หญิงมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพและงานพัฒนาในพื้นที่มากขึ้น
การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
นับจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พบว่าผู้หญิงหลากหลายกลุ่มทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาครัฐ ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมในพื้นที่เข้ามามีบทบาทหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ยกตัวอย่างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ 3 ส่วน คือ
1. ผู้หญิงในภาคความมั่นคง ที่มีทหารพรานหญิง ซึ่งคนในพื้นที่มักกล่าวถึงพวกเธอในฐานะ “กองกำลังผู้หญิงติดอาวุธของฝ่ายรัฐ” โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนหญิง (ชป.กร.หญิง)” เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐในทุกเรื่อง ทุกเป้าหมาย ทุกพื้นที่ มุ่งชักชวนให้ผู้เห็นต่างยุติบทบาท เข้าไปปรับแนวคิดของกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนผู้ใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่สามารถพูดภาษามลายูคล่อง ทำให้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ได้ดี ผ่านการฝึกหลักสูตรพิเศษทั้ง การปฐมพยาบาล การทำคลอด การช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชป.กร.หญิง ได้ดำเนินกิจกรรมใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ในสถาบันตาดีกา ภายใต้โครงการ “ตาดีการักสถาบัน” 2) การประกอบอาหารและจัดส่งอาหารในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ “Army Delivery” 3) การช่วยเหลือเด็กกำพร้าภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้า เด็กยากจนในพื้นที่ 4) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 5) การเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงร่วมกับ อสม. ในพื้นที่ และ 6) การส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรี ๆ ในพื้นที่
นอกจาก ชป.กร.หญิงแล้ว ฝ่ายความมั่นคงยังจัดตั้งเครือข่ายสตรีกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน และร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนผ่านเวทีสภาประชาธิปไตยตำบล ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์เสริมสร้างประชาธิปไตย ศูนย์จิตสำนึกประชาชน ศูนย์จิตอาสา ศูนย์รักษาความปลอดภัย ศูนย์สานใจสู่สันติและศูนย์ประชาชนพันธุ์ดี เพื่อให้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับชุมชน
2. ผู้หญิงในภาคการเมือง เมื่อปี 2563 พาตีเมาะ สะดียามู ชาวยะลาเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การมีผู้หญิงมุสลิมเป็นข้าราชการระดับสูงเป็นลำดับสองของจังหวัดนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของผู้หญิงที่นี่
และกล่าวได้ว่า สถานการณ์ความไม่สงบเป็นเหตุผลเปิดให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นด้วย หากพิจารณาเชิงสถิติตัวเลขผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งล่าสุดในปี 2562-2564 ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ที่ผ่านมา จะพบว่าผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งเพียงหนึ่งคนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ แต่หากพิจารณาในแง่ความตื่นตัวในการเมือง จะพบว่าผู้หญิงมีความตื่นตัวเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก โดยพบว่าผู้หญิงสมัครรับเลือกตั้งรวม 71 คน คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของผู้สมัครในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งปี 2535 แพทย์หญิงพรทิพย์ พัฒนกุลเลิศ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จนกระทั่งปี 2548 และหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบฯ ประกอบกับการรัฐประหารทำให้การเลือกตั้งหบุดชะงักไป จึงไม่มีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองอีกเลย จนกระทั่ง แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองในปี 2562
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อเดือนธันวาคม 2563 และมีนาคม 2564 พบว่า ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ และนายกเทศมนตรีเป็นชายร้อยละ 93.9 เป็นหญิงร้อยละ 6.1 ในขณะที่มีผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลร้อยละ 12.3 ในขณะที่สัดส่วนที่ยอมรับในระดับสากลควรมีสัดส่วนผู้หญิงอยู่ในการเมืองร้อยละ 30 เป็นอย่างน้อย
การศึกษาของอิมรอน ซาเหาะ และยาสมิน ซัตตาร์ พบว่าปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้หญิงในการเมืองพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำกัดอยู่ คือ ข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับหลักการศาสนาระหว่าง “ความเป็นผู้แทน” กับ “ความเป็นผู้นำ” ดังปรากฏมีฝ่ายตรงข้ามนำมาใช้เป็นประเด็นการหาเสียงมีส่วนสำคัญในการตีตราผู้หญิงและยังเป็นอุปสรรคที่มีเพียงผู้หญิงจำนวนน้อยจะก้าวข้ามไปได้
3. ผู้หญิงภาคประชาสังคม มีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วง 10 กว่าปีที่ผานมานี้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพิ่มมากขึ้น มีผู้หญิงบางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อทำงานปกป้องคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความรู้และทักษะด้านสิทธิมนุษยชน งานด้านยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ที่เป็นจุดเปลี่ยนต่อ “กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” คือการเกิดขึ้นของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ที่ได้เข้าผลักดันวาระเรื่องพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งข้อการเสนอให้มีตัวแทนผู้หญิงในกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ
จนถึงปัจจุบัน แม้จะ ‘ไม่มี’ ผู้หญิงจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะพูดคุยฯ ที่สามารถอำนวยการกำหนดทิศทางการพูดคุยทั้งในส่วนภาครัฐและกลุ่มผู้เห็นต่าง (ทั้งระดับที่ 1 และ 2) แต่ก็มีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดับคณะประสานงานระดับพื้นที่ (ระดับที่สาม) ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมคิดเป็นร้อยละ 23.2 และในจำนวนนี้เป็นคณะทำงานและเลขานุการของคณะทำงานระดับพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 15.8
กล่าวโดยสรุป การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระดับตัดสินใจที่เป็นทางการนั้น มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับบทบาทของผู้ชาย และบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในภาคประชาสังคมระดับพื้นที่ ส่งผลอย่างยิ่งต่อโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่นโยบายคุ้มครองและปกป้อง “เด็กและเยาวชน” และ “ผู้หญิง”
ส่วนสุดท้ายของรายงานนี้ ได้นำข้อเสนอ “ข้อเสนอแนะ” ให้แก่หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมสถานภาพเด็ก เยาวชน และสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วยมากตรการ 5 ด้าน คือ
มาตรการที่ 1: การป้องกัน (Prevention) เสนอให้ร่วมกันผลักดันแนวคิดเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” ทั้งสามรูปแบบ ได้แก่ พื้นที่สาธารณะปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ปลอดภัย และพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและความหลากหลายให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติเพื่อเป็นกลไกการป้องกันความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และเยาวชน รวมทั้งการจัดทำระบบบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่รอบด้าน
มาตรการที่ 2: การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและการฟื้นฟูเยียวยา (Protection and recovery) เสนอให้ทบทวน ปรับปรุง และติดตามมาตรการเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบางและใส่ใจในมิติด้านจิตใจที่เป็นผลพวงจากผลกระทบของสถานการณ์ การพัฒนามาตรการเชิงรุกเพื่อดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่ต้องใช้ชีวิตและเติบโตในพื้นที่ที่มีความรุนแรงยืดเยื้อ การมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มที่ถืออาวุธ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือขบวนการแนวร่วมฝ่ายต่อต้านรัฐ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่มีความระมัดระวังรอบคอบโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้บริสุทธิ์และบุคคลในครอบครัวของผู้ต้องสงสัย/ผู้ต้องหา
มาตรการที่ 3: การพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) ควรจัดให้มีการส่งเสริมความรู้และทักษะสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมและความมั่นคงให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ พัฒนาบุคลากรและกลไกให้มีศักยภาพในการส่งเสริมและป้องกันสิทธิ และพัฒนาประชาชนให้มีความเข้าใจสิทธิมนุษยชนสามารถป้องกันตนเองและไม่ละเมิดผู้อื่น
มาตรการที่ 4: การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐภาคเอกชนภาคประชาสังคมและสตรี (Empowerment and Participation) เสนอให้มีมาตรการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งระดับบริหาร ในระดับการตัดสินใจ และการเตรียมความพร้อมด้วยการพัฒนาศักยภาพให้ผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น
มาตรการที่ 5: การส่งเสริมให้มีกลไกและการขับเคลื่อน (Mechanism and Implementation) เสนอให้พัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างระบบการส่งต่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือเมื่อเกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเด็กและสตรี พัฒนากลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีในพื้นที่ให้ครอบคลุม เอื้ออำนวยให้ทุกกลุ่มเข้าถึงได้โดยปราศจากข้อจำกัด รวมทั้งสร้างกลไกที่จะช่วยให้เกิดการคุ้มครองสิทธิที่ยั่งยืนสร้างหลักประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุในลักษณะเดิมซ้ำ และการผนวกรวมประเด็นเพศสภาพและสิทธิเด็กเข้าสู่นโยบายและแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับ โซรยา จามจุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) ระบุว่า การจัดทำรายงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงรายงานที่เป็นกระดาษ แต่มากกว่านั้น ก็คือกระบวนการจัดทำรายงานที่ทำให้เกิด ‘พื้นที่กลาง’ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างกรรมการภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม การคิดเหมือนคิดต่างถือเป็นเรื่องปกติแล้วก็เป็นเรื่องสวยงาม
“รายงานฉบับนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ภารกิจของ ศป.ดส. ตามอำนาจที่ได้กำหนดไว้ แต่จะเป็นประโยชน์ในการนำไปขับเคลื่อนองค์กรด้านเด็กและสตรีในพื้นที่ต่อไป”
ขณะที่ กนกรัตน์ เกื้อกิจ ตัวแทนกระทรวง พม. ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุไว้ในรายงานว่า ข้อมูลทุกบรรทัดในรายงานเล่มนี้ คือ ชีวิตของเด็กและสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการทุ่มเทการทำงานอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี ของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนา หวังว่าคนที่อ่านรายงานฉบับนี้จบแล้ว ต้องนำไปคิดและวางแผนการทำงานอย่างไม่หยุดนิ่งต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
- รายงาน “สถานการณ์เด็ก เยาวชนและผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ร่างที่ 11 ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564.
- ฟารีดา ปันจอร์. บทความพิเศษ “ความท้าทายของกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19. วารสารรูสิแล. ปีที่ 42 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2564.
- ภัสสรา บุญญฤทธิ์ และฉันทนา บรรพศิณิโชติ หวันแก้ว. ผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพ: คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) กับการขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้. วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา. 2562.
- มนวัธน์ พรหมรัตน์, ทวีลักษณ์ พลราชม, อัมพร หมาดเด็น. การเป็น ‘หญิงหม้าย’ กับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมและโครงสร้างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้. มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ปริทัศน์. 2558.
- ยาสมิน ซัตตาร์, อิมรอน ซาเหาะ และอับดุลเอาว์วัล สิติ. ข้อถกเถียงว่าด้วยการเป็นผู้นำทางการเมืองกับผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้. วารสารอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2564.
- Peace Survey เผยผลสำรวจคนแดนใต้ แย้งคำสั่งงดละหมาด-ปิดตลาด-ขนส่ง เสนอกระจายอำนาจสร้างสันติสุข.