สธ.ยันคนไทยได้วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกกุมภาพันธ์นี้ ภาคประชาชนติงราคาแพง-ยังไม่ได้รับใบรองประสิทธิภาพ วอนสาธารณชนช่วยกันตรวจสอบ
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหา/ซื้อและเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งเพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมายครอบคลุมประชาชนไทย ร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ผลการเจรจาภายในเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ไทยจะได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส ถ้าเป็นไปตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์จะได้รับวัคซีน 2 แสนโดสแรก ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง และในเดือนมีนาคมจะได้รับอีก 8 แสนโดส เดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมาย
ส่วนการทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดสนั้น จากเดิมจะได้รับวัคซีนในไตรมาสที่ 2 แต่จากการเจรจาจะได้วัคซีนมาเร็วกว่ากำหนด ทยอยส่งตามแผนการฉีดวัคซีน โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดส่งและกระจายวัคซีนไปยังสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ๆ จาก COVAX Facility อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง และได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่ม เพื่อให้ได้วัคซีนครอบคลุมประชาชนไทยร้อยละ 50 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch เปิดเผยกับ The Active ว่าท่ามกลางข้อจำกัดเรื่องงบประมาณต้องบริหารการจัดซื้อวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพและเจรจาให้ได้ราคาที่เป็นธรรมมากที่สุด โดยเบื้องต้นเห็นด้วยกับการจัดซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ในราคา 5 ดอลลาร์ต่อโดส เนื่องจากนอกจากได้วัคซีนแล้วยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ในระยะยาวหากจะซื้อล็อตใหม่ควรได้ราคาที่ต่ำกว่า เพราะมีการประเมินว่าในช่วงปลายปี 2564 วัคซีนโควิดจะล้นตลาดทำให้มีราคาถูกลง
ส่วนกรณีการซื้อวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน 2 ล้านโดส มีข้อกังวลว่าของจีนยังไม่ค่อยมีรายงานผลการทดลองในมนุษย์ แม้จีนจะใช้วัคซีนบริษัทนี้ฉีดให้กับประชากรประเทศตน แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่ทำงานด้านการฟื้นฟู การรักษา ก็ยังอยากเห็นว่าประสิทธิภาพประสิทธิผล เป็นอย่างไร
ครั้งนี้ การฑูตวัคซีนที่จีนทำไม่ได้ทำกับไทย แต่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ 2,000 โดสฟรี อินโดนีเซียได้เป็นล้านโดสแต่ของไทยเป็นการซื้อ และซื้อในราคาที่แพงประมาณ 1,000 บาทต่อโดส ก็อยากฝากสาธารณชนช่วยกันตรวจสอบ เพราะว่าการซื้อวัคซีนถึงแม้ว่าเป็นช่วงที่มีความจำเป็น แต่เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นประโยชน์สมเหตุสมผลมากที่สุดก็ต้องถูกตรวจสอบ
บริษัทวัคซีนก็มักจะใช้กลไกการตลาด บีบให้ประเทศต่าง ๆ ต้องทำสัญญาซื้อวัคซีนในราคาแพงแต่เนิ่น ๆ ในกลุ่ม FTA Watch ก็มีการคุยกันในประเด็นนี้โดยยกตัวอย่าง วัคซีนมะเร็ง ปากมดลูก หรือ HPV ประเทศแอฟริกา ลาว กัมพูชา ที่ฉีดหมดแล้วโดยไม่ต้องสั่งซื้อเขาก็จะแถมให้ แต่พอประเทศระดับกลาง ๆ ต้องซื้อในราคาแพงต่อรองลำบาก เพราะต่อรองมากไม่มีของให้ นี่เป็นกลยุทธ์ธรรมดาของบริษัทวัคซีน เพราะช่วงโอกาสแบบนี้ เป็นโอกาสทำเงินของเขาเพราะฉะนั้นเราต้องเท่าทัน
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า อยากให้ใจเย็น ๆ สักนิด ไม่ใช่ว่าเห็นตอนนี้ ที่ไหนเขาฉีดกันแล้วเราก็จะฉีดบ้าง ควรดูให้รอบคอบมากขึ้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของยา สารเคมี และความปลอดภัย รวมถึงเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วย โดยข้อมูลจาก CDC ระบุการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเมื่อฉีดให้กับประชากรจำนวน 80-85% ไล่เรียงมาตั้งแต่กลุ่มที่อยู่แนวหน้า กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป แต่ไม่ควรฉีดให้กับเด็ก
ล่าสุด สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท ซิโน ไบโอ ฟาร์มาซูทิเคิล ลิมิเตด ธุรกิจเวชภัณฑ์ ของบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติเคิล กรุ๊ป ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ได้ลงทุน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.54 หมื่นล้านบาทเข้าเป็นผู้ถือหุ้น 15% ของบริษัทซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ (Sinovac Life Sciences) ซึ่งเป็นหน่วยผลิตวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ในเครือ ซิโนแวค ไบโอเทค นอกจากบริษัทซีพีแล้ว ยังมีกองทุนของจีน แอดวานซ์เทค แคปิตอล และ กองทุนของสหรัฐ วีโว่ แคปิตอล ที่ร่วมลงทุนกับ ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนซ์ โดยเข้าถือหุ้นบริษัทละ 6.3%