โรงงานขยะรีไซเคิล จ.ปราจีนบุรี ฟ้องชาวบ้าน ไกล่เกลี่ยรอบ 2 ไร้ข้อยุติ EnLAW ตั้งข้อสังเกต ใช้วิธีปิดปากยุติการเคลื่อนไหว
วันนี้ (13 ส.ค. 2563) ‘สุเมธ เหรียญพงษ์นาม’ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ พร้อมทนายความและครอบครัว เดินทางไปที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี หลังมีการนัดไกล่เกลี่ยเป็นครั้งที่ 2 กรณี บริษัท เวสต์ 2 เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หรือฝ่ายโจทก์ ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านในฐานะจำเลย ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้มีการตรวจสอบการดำเนินกิจการของโจทก์ ซึ่งกลับกลายเป็นหลักฐานให้โรงงานฟ้องร้องชาวบ้าน
หนังสือฉบับดังกล่าว มีข้อความบางส่วนระบุว่า ชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นสารเคมีรุนแรง บางรายถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงกองขยะขนาดใหญ่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีการบดอัดกลบทับด้วยลูกรังและมีน้ำไหลซึมมาจากบ่อขยะลงสู่ไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นการจงใจใส่ความโจทก์ ทำให้บริษัทขาดความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานราชการ ประชาชนและคู่ค้า ซึ่งข้อความที่จำเลยหมิ่นประมาทไม่เป็นความจริง จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ฟ้อง
ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความจำเลย กล่าวว่า โรงงานเสนอเงื่อนไข 5 เรื่อง แต่ไม่ขอลงรายละเอียด แต่สรุปว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ จึงจะมีการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปในวันที่ 31 ส.ค. นี้
“สรุปโดยรวม คือ เขาอยากให้ยุติการเคลื่อนไหว แต่ว่าเงื่อนไขนี้ไม่สามารถยอมรับได้ จึงต้องเดินหน้าต่อตามกฎหมาย”
ด้าน สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนตามสิทธิที่พึงจะกระทำได้ ถือเป็นวิธีการหรือเทคนิคโต้กลับของเอกชน เพื่อให้ชาวบ้านยุติการเคลื่อนไหว
“ที่ผ่านมาเราจะบอกชาวบ้านเสมอว่า การปกป้องสิ่งแวดล้อมสามารถทำหนังสือทวงถามหน่วยงานหรือร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสิทธิ์สามารถทำได้ การถูกฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นหลายครั้งเพื่อปิดปากชาวบ้านให้หยุดเคลื่อนไหว”
ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยังระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างโรงงานรีไซเคิลขยะและชุมชนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ บางครั้งนักปกป้องสิทธิ์ถูกคุกคาม ข่มขู่ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต และไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ กรณีนี้ก็ใช้วิธีการเดียวกัน ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังติดตามประเด็นนี้และเรียกร้องให้รัฐไทยเร่งดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิชุมชน หรือ NAP