ศาลรับฟ้อง! คดีชาวบ้าน ร้องมลพิษโรงงานไทยเรยอนฯ กระทบการใช้ชีวิต

ชาวบ้าน จ.อ่างทอง ฟ้องเรียกค่าชดเชย 74 ล้าน ปมมลพิษสะสมยาวนาน ร้องศาล บังคับโรงงานเปิดข้อมูลสารพิษ ตามหลัก PRTR หลังเคยตั้งคณะกรรมแก้ไขปัญหาแต่พบว่าปัญหายังไม่ถูกแก้

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 68 ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม รับฟ้องคดีที่ชาวบ้านจากพื้นที่ ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) พร้อมกรรมการอีก 7 คน เพื่อเรียกค่าชดเชยรวมประมาณ 74 ล้านบาท หลังจากที่ชาวบานในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการปลดปล่อยมลพิษของโรงงาน บริษัทดังกล่าวมายาวนานหลายสิบปี

ศาลได้บรรจุคดีดังกล่าวเป็นคดีดำหมายเลข สว 1/2568 ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของปี 2568 โดยศาลได้นัดฝ่ายโจทก์ และจำเลยเพื่อทำการสืบพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัย รวมถึงให้ทั้ง 2 ฝ่ายรับฟัง และซักถามต่อกัน ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น.

การยื่นฟ้องในครั้งนี้ สืบเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ ม. 1, 2 และ 3 ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานผลิตเส้นใยของบริษัท ไทย เรยอน จำกัด (มหาชน) จำนวน 62 คน รวมตัวกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็นจากสารเคมี การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเรื่องเสียงดังรบกวนจากการประกอบกิจการ พร้อมชดใช้ค่าเสียหายต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สิน ที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ เป็นจำนวนเงินรวม 74,280,000 บาท ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 

นฤมล สุภาวดี ตัวแทนชาวบ้าน

นฤมล สุภาวดี ตัวแทนชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากล่าวถึงเหตุผลในการยื่นฟ้องบริษัท ไทยเรยอน ในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับกลิ่นเหม็นทางอากาศมาอย่างยาวนานหลายสิบปี กลิ่นในแต่ละวันที่ได้รับก็ไม่เหมือนกัน มีหลายกลิ่น เช่น กลิ่นก๊าซ, กลิ่นไข่เน่า, กลิ่นคล้ายกาแฟ จะได้กลิ่นรุนแรงในช่วงฤดูฝน บางครั้งเหม็นจนแสบจมูกหายใจไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีความสุข กับการที่อยู่บ้านของเราเอง”

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเคยมีการฟ้องคดีแบบกลุ่มไปเมื่อปี 2561 แต่สุดท้ายมีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์และจำเลยจนนำไปสู่การถอนฟ้อง อย่างไรก็ตาม มีชาวบ้านบางส่วนที่ร่วมฟ้องในครั้งนั้นเห็นว่า ข้อตกลงในการไกล่เกลี่ยดังกล่าวไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ในครั้งนี้จึงได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในวันนี้ด้วยอีกครั้ง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่สนับสนุนการยื่นฟ้องคดีในครั้งนี้ บอกว่า กรณีการได้รับผลกระทบจากโรงงานไทยเรยอน เป็นปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว โดยที่ชาวบ้านมีความพยายามเคลื่อนไหวให้เกิดการแก้ไขปัญหามานานเช่นกัน ทั้งนี้รวมถึงการฟ้องคดีแบบกลุ่มด้วย แต่คดีดังกล่าวกลับจบลงด้วยการเจรจาชดใช้เงินจำนวนน้อยให้กับชาวบ้านที่เป็นโจทก์ โดยที่มีโจทก์บางส่วนไม่ได้เห็นด้วย จึงได้ติดต่อขอให้ทางมูลนิธิช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ช่วงที่มีการฟ้องคดีเป็นคดีกลุ่ม ศาลได้แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในส่วนของชาวบ้าน มีการประนีประนอมยอมความกันไป และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งรับเงินไป จากการติดตามของทีมมูลนิธิฯ พบว่า การร้องเรียนของชาวบ้านมีส่วนทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมการเบญจภาคีแต่แก้ไขปัญหาไม่ได้

“การแก้ไขปัญหาไม่ได้มันสะท้อนอะไรบางอย่าง ว่ามันน่าจะมีความไม่ปกติบางอย่างในการกำกับดูแลในพื้นที่ หรือไม่จริงจังในการกำกับดูแล โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านสะสมมานาน แล้วมันกลายเป็นจุดที่ไม่พอใจ เราคิดว่า เรื่องนี้ กลไกรัฐทั้งหมดที่มีอยู่แก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทางออกสุดท้ายของชาวบ้านก็คือการฟ้องคดีใหม่ อันนี้เป็นที่มาของการฟ้องคดี”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ขณะที่ ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายอาสาด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังการยื่นฟ้อง ว่า คดีนี้เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายในการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการผลิตเส้นใยของบริษัทนี้ ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่าก๊าซไข่เน่า มีกลิ่นเหม็นมีฤทธิ์กับจิตประสาทของประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นกรดเรื่องระบบนิเวศ

นอกจากเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ชำนัญ ระบุว่า คดีนี้ยังมุ่งให้บริษัทปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดมลพิษด้วย ทั้งนี้ ทนายความ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้เคยถูกฟ้องเป็นคดีอยู่หลายคดี ทั้งที่มีคำพิพากษาไปแล้ว และที่มีการตกลงเจรจากับชาวบ้านไปบ้าง แต่ว่าในกระบวนการผลิตยังไม่ถูกแก้ไข ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดผลกระทบทางต่อประชาชน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านต้องใช้สิทธิทางศาลในครั้งนี้อีกครั้ง

เพ็ญโฉม เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาของโรงงานแห่งนี้ว่า บริษัทนี้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2519 นับถึงปัจจุบัน คือ 49 ปีแล้ว และตัวมลพิษหลักที่เกิดในพื้นที่คือมลพิษอากาศ โดยตัวที่เป็นอันตรายคือคาร์บอนไดซัลไฟด์ ที่ส่งผลกระทบทั้งระยะยาว คือแบบสะสม และแบบเฉียบพลันก็ได้ ซึ่งราชการหรือนักวิชาการได้เตือนให้แก้ไขปัญหาส่วนนี้มานานแล้ว

“เราเข้าใจว่าทางบริษัทเองไม่ยอมเปลี่ยนเทคโนโลยีด้วย ขณะเดียวกันก็ขยายกำลังการผลิตไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือว่า เรารู้ว่า ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท 97% เป็นการส่งออกไปหลายสิบประเทศ แต่ปัญหาที่ทางชุมชนรองรับอยู่ ก็คือเขารับผลกระทบด้านสุขภาพจากตัวมลพิษที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ ซึ่งอันนี้เรารู้สึกว่าเป็นความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก ๆ”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังเปิดเผยอีกว่า ในคำฟ้องครั้งนี้ได้ขอให้ศาลพิจารณาเพื่อนำไปสู่การตัดสินว่าให้โรงงานแห่งนี้จะต้องมีการรายงานชนิดของสารเคมี และชนิดของสารที่มีการปล่อยออกมา และให้มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นการนำหลักของ PRTR มาใช้ในการขอเป็นคำฟ้องในคดีครั้งนี้อีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active