หลังเอกชนฟ้องศาลปกครองเพิกถอนแบน 2 สาร เครือข่ายฯ หวัง ศาลคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากผลกระทบใช้พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
วันนี้ (18 ส.ค. 2563) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เดินทางไปที่ศาลปกครองกลาง ขอใช้สิทธิร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม จากกรณี บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จํากัด บริษัทผู้ประกอบการผลิตและนําเข้าสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวม 5 ราย ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 กําหนดให้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืช เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนําเข้า การส่งออก การนําผ่าน หรือการมีไว้ใน ครอบครอง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 ซึ่งกรณีการยื่นฟ้องนี้ ต้องการให้สามารถนําเข้าและจําหน่ายสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสได้ต่อไป
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี ในฐานะตัวแทน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช ซึ่งระบุว่าเป็นเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสาขา องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มเกษตรกรที่ได้ร่วมกันศึกษาติดตามข้อมูล ปัญหาความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส ที่ได้รณรงค์สื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการออกประกาศแบนสารเคมีทั้ง 2 ชนิด เป็นการดําเนินการที่สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการ ความเป็นอันตรายร้ายแรง อีกทั้งผลกระทบจากการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิด ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 แล้ว คือ เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันและระงับอันตรายที่อาจมีแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม
รวมถึงหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข สภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ แพทยสภา ก็ได้มีความเห็นข้อเสนอตรงกันให้แบนสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสแล้ว
เครือข่ายฯ จึงเห็นว่า มีความจําเป็นที่จะต้องใช้สิทธิร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้ เพื่อเข้าร่วมนําเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากที่หน่วยงานราชการชี้แจงต่อศาลปกครอง โดยยื่นคำร้องเมื่อเวลา 13.30 น. เพื่อให้ผลคําพิพากษานําไปสู่การคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ผู้บริโภค เกษตรกร และปกป้องประโยชน์ของสาธารณะและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง