แนะ ออกจาก State Quarantine ต้องกักตัวต่อ 14 วัน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้ หากเป็นซากเชื้อไม่แพร่กระจายต่อ เผย 200 เคสหายป่วยโควิด-19 พบเชื้อตาย 6% ไม่มีคนใกล้ชิดติดเชื้อ

วันนี้ (20​ ส.ค.​ 2563)​ ศ.นพ.ยง​ ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อรายเดิม 2 ราย ที่ตรวจพบสารพันธุกรรม​ (RNA)​ หลังกักตัวครบ 14 วันใน State Quarantine หรือสถานกักตัวของรัฐ ว่า หากสารพันธุกรรมที่พบดังกล่าวมีจำนวนน้อยนิด และเป็นเชื้อตายก็จะไม่แพร่กระจายเชื้อต่อ แต่หากสารพันธุกรรมเป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตแม้เพียงน้อยนิดก็ยังสามารถแพร่กระจายต่อได้

ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิด​-19 ใช้การทำ​ SWAB คือ เก็บเนื้อเยื่อโพรงจมูกเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม แต่การตรวจดังกล่าวก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเชื้อที่พบยังมีชีวิตอยู่​ หรือเป็นเชื้อตายไปแล้ว

“ที่ผ่านมาจากโครงการเก็บพลาสมาของผู้ป่วยโควิด ที่หายดีจำนวน 200 กว่าคน พบ​ RNA ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียง 12-13 คน​ หรือร้อยละ 6 เท่านั้น​ และคนรอบข้างก็ไม่มีใครติดต่อเชื้อ”


ส่วนระยะเวลาของการเพาะเชื้อโควิด-19 เป็นเวลานานเท่าไรนั้น บางรายอยู่ใน State Quarantine ก็ตรวจไม่พบเชื้อ จึงอยากแนะนำให้คนไทยที่เข้ารับการกักตัวเมื่อครบ 14 วันกลับมาถึงบ้านแล้วให้กักตัวต่อไปอีก 14 วัน เพื่อเก็บตกเชื้อที่อาจยังมีอยู่

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันผลการตรวจของผู้ติดเชื้อรายเดิมที่เป็นหญิงรายที่ 1 หลังนำสารพันธุกรรมมาเพาะเชื้อต่อปรากฏว่า เป็นเชื้อตาย​ ขณะที่อีกรายเตรียมแถลงข่าวในช่วงเวลา 18.00 น. วันนี้ ซึ่งทั้ง 2 รายดังกล่าว ก็ได้มอบหมายให้สาธารณสุขจังหวัด ของภูมิลำเนา​ ทั้ง 2 รายลงไปสืบสวนโรค และหาผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อรายเดิมเพื่อกักตัวดูอาการแล้ว​ โดยระบุยืนยันว่ายังไม่เป็นการระบาดรอบ 2​ เพราะยังเป็นผู้ป่วยรายเดิม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS