พายุ “โนอึล” นำน้ำเข้าเขื่อนใหญ่ไม่มาก

นักวิชาการด้านน้ำ ชี้ ส่วนใหญ่พายุทำฝนตกใต้เขื่อน ย้ำ เหลืออีกเพียง 40 วัน จะสิ้นสุดฤดูฝน เสี่ยงแล้งต่อเนื่องปีหน้า

หลัง “พายุโนอึล” สลายตัวในไทยในวันที่ 19 ก.ย. 2563 พบว่าส่งผลต่อน้ำในเขื่อนใหญ่ไม่มาก เพราะศูนย์กลางของพายุส่วนใหญ่พาดผ่านอีสานตอนกลางและตอนล่างมากกว่า จึงทำให้ฝนตกใต้เขื่อนเป็นส่วนใหญ่และทิ้งร่องรอยความเสียหายด้านวาตภัยและน้ำหลากหลายจังหวัด

แต่หากดูไทม์ไลน์เส้นทางเดินของพายุโนอึล ที่อยู่ในทะเล ตั้งแต่ 17-19 ก.ย. 2563 และเรื่อยมาเข้าประเทศไทย เริ่มจากศูนย์กลางของพายุโซนร้อนจากทะเลมาขึ้นฝั่งบนแผ่นดิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ก่อนช่วง 7.00 น. และเวลาไม่นานนักก็พาดพายุโซนร้อนเคลื่อนผ่านประเทศลาวที่แขวงสุวรรณเขต และมาเข้าประเทศไทยสู่จังหวัดมุกดาหาร ช่วง 14.00 น. เคลื่อนผ่านมาที่จังหวัดอำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และเปลี่ยนเป็นพายุดีเปรสชั่น เวลา 1.00 น. ของวันที่ 19 ก.ย. บริเวณจังหวัดขอนแก่น ก่อนเคลื่อนผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ พายุไม่เคลื่อนตัวและแช่นาน 6 ชั่วโมง พอถึงเวลาบ่ายโมง ของวันที่ 19.ก.ย. ก็อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ในจังหวัดพิษณุโลก และสลายตัวไปในที่สุด แต่ที่ผ่านมาก็ทิ้งร่องรอยความเสียหายกับทรัพย์สินในหลายจังหวัด ทั้งฝนหนักวาตภัย

สำหรับพายุโนอึล น่าสังเกตว่ากระทบไทยเพียงสั้น ๆ 2-3 วันเท่านั้น (18-19 ก.ย.) และยังได้น้ำไม่มากพอบรรเทาแล้ง ขณะที่กรมชลประทานสรุปปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนทั่วประเทศ ตั้งแต่ วันที่ 18-21 ก.ย. ที่ผ่านมา มีน้ำรวมในเขื่อนทั่วประเทศประมาณ 1,135 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น

นักวิชาการด้านน้ำอธิบายว่า ถ้าพายุก่อตัวในทะเลนาน ก็จะดึงน้ำจากทะเลเข้ามาสู่แผ่นดินมากอย่างซินลากู ที่อยู่ในทะเลนานกว่า จึงหอบน้ำในเมฆมามากและเคลื่อนตัวช้า จึงตกแช่นาน ขณะที่ พายุโนอึล ก่อตัวในทะเลไม่นาน จึงดึงน้ำจากทะเลมาได้ไม่มาก เคลื่อนตัวเร็ว ขึ้นฝั่งเร็ว จึงทำให้หอบน้ำเข้ามาน้อยนั้นเอง ประกอบกับปัจจัยเรื่องความกดอากาศสูงจากจีนมีผลดันให้พายุโนอึลมาพาดผ่านจังหวัดอีสานกลางและตอนล่างเป็นส่วนใหญ่จึงมีฝนตกใต้เขื่อนมากกว่า ขณะที่เขื่อนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือเป็นส่วนมากนั้นเอง

จากการรายงานตัวเลขน้ำในเฉพาะเขื่อนใหญ่รวม 35 แห่ง แต่วันนี้ มีเขื่อน 18 แห่ง ที่มีน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 อย่าง เขื่อนภูมิพล แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ มูลบน ล้าแชะ ล้านางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ คลองสียัด บางพระ แก่ง กระจาน และปราณบุรี ซึ่งน่ากังวลเพราะจะสิ้นสุดฤดูฝนอีก 41 วัน หรือประมาณกลางเดือนหน้าแล้ว

ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ไปถึงฤดูฝนปี 2564 สี่เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภค 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้ 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้การได้ 3,685 ลูกบาศก์เมตร ยังต้องการน้ำจากฝนมาเติมอีก 8,315 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะเพียงพอในปีหน้า ซึ่งก็น่ากังวลกับชาวนาที่ต้องปลูกข้าว และต้องใช้น้ำ ที่ไม่อยากงดทำนาปรังอีกครั้ง ขณะเดียวกัน คนกรุงเทพฯ ก็เป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหากน้ำน้อยเพราะอาจพบกับน้ำทะเลรุกสูง และกระทบต่อระบบผลิตประปาได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์